ข้ามไปเนื้อหา

ศาลฎีกา

พิกัด: 13°48′59″N 100°34′30″E / 13.816320849745578°N 100.575010423255°E / 13.816320849745578; 100.575010423255
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรไทย
ศาลฎีกา
Supreme Court
อาคารที่ทำการศาลฎีกา
แผนที่
สถาปนาพ.ศ. 2425
อำนาจศาลราชอาณาจักรไทย
ที่ตั้งเลขที่ 6 ถนนราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 
พิกัด13°48′59″N 100°34′30″E / 13.816320849745578°N 100.575010423255°E / 13.816320849745578; 100.575010423255
เว็บไซต์[1]
ประธานศาลฎีกา
ปัจจุบันชนากานต์ ธีรเวชพลกุล
ตั้งแต่1 ตุลาคม พ.ศ. 2567
อาคารศาลฎีกาหลังเดิม สร้างด้วยสถาปัตยกรรมคณะราษฎร

ศาลฎีกา เป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุด มีเขตอำนาจทั่วทั้งราชอาณาจักร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายอื่นบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือสั่งคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23) คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23)

องค์คณะ

[แก้]

ศาลฎีกามีองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27) แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญ เมื่อประธานศาลฎีกาเห็นว่าควรให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ หรือเมื่อเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะว่าให้คดีเรื่องใดวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 วรรคสอง) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีการจัดประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด

องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญ ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีการจัดประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด

แผนก

[แก้]

ศาลฎีกามีแผนกคดีพิเศษทั้งสิ้น 12 แผนก เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำแผนก ๆ ละ ประมาณ 10 คน ได้แก่

  • แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
  • แผนกคดีแรงงาน
  • แผนกคดีภาษีอากร
  • แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
  • แผนกคดีล้มละลาย
  • แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • แผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ
  • แผนกคดีสิ่งแวดล้อม
  • แผนกคดีผู้บริโภค
  • แผนกคดีเลือกตั้ง
  • แผนกคดีปกครอง(ภายใน)
  • แผนกคำสั่ง/คำร้อง/คำขออนุญาต

นอกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ศาลฎีกามีกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นคว้าปัญหาข้อกฎหมาย ตลอดจนช่วยตรวจและแก้ไขปรับปรุงร่างคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อเป็นหลักประกันในด้านความถูกต้องความรวดเร็ว และความเป็นธรรมแก่ประชาชน

นอกจากอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต่าง ๆ คือ

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 255 บัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีหน้าที่คัดเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 5 คน ไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 138 (2) บัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีหน้าที่สรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้งต่อไป
  3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) บัญญัติให้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีหน้าที่คัดเลือกผู้มีความรู้ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม จำนวน 1 คน ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
  4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไว้รวม 2 กรณี

กรณีแรก เป็นกรณีตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้วินิจฉัยว่ามีสิทธิรับเลือกตั้งหรือไม่ และศาลฎีกาต้องพิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน เมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกาโดยเร็ว

กรณีที่สอง เป็นกรณีตามมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ก่อนวันเลือกตั้งถ้าปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น ซึ่งในกรณีที่สองนี้หากถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่งหรือมีการยื่นคำร้องแล้ว แต่ศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัย ให้การพิจารณาเป็นอันยุติและให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง

สำหรับแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกานั้น จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 272 วรรคสองและวรรคสาม, มาตรา 308 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย

องค์คณะผู้พิพากษาในแผนกนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ที่คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขึ้นนั่งพิจารณาคดีเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่การพิจารณาคดีจะแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปเนื่องจากเป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ตามวิธีพิจารณาคดีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

ปัจจุบันศาลฎีกาตั้งอยู่ที่เลขที่ 6 ถนนราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยมีการรื้อถอนและสร้างใหม่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 จนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งระหว่างรื้อถอนนั้นศาลฎีกาได้ย้ายไปใช้ที่ทำการชั่วคราวภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

[แก้]

แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นแผนกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย

องค์คณะผู้พิพากษาในแผนกนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ที่คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขึ้นนั่งพิจารณาคดีเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่การพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไป ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ตามวิธีพิจารณาคดีที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

ข้อวิจารณ์

[แก้]

เดือนตุลาคม 2563 มีข่าวว่า เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยที่ทางหนังสือพิมพ์ ประชาไท ได้ลองติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีอำนาจตอบ[1] ในปี 2564 สืบเนื่องจากข่าวลือบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าประธานศาลฎีการับว่ามีคนนอกแทรกแซงการห้ามประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ทำให้เกิดความพยายามเชิญประธานศาลฎีกามาเข้าพบคณะกรรมาธิการกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร[2] ในช่วงไล่เลี่ยกัน มีการเปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โตโยต้าสาขาประเทศไทย ได้จ่ายสินบนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งข้าราชการศุลกากรคนหนึ่งเปิดเผยว่า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 11,000 ล้านบาท[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ว่อนเน็ต ภาพคนหน้าคล้าย ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ร่วมชุมนุม กปปส. เช็คหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่สามารถให้คำตอบได้". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2 October 2020.
  2. "'โรม'ลั่นข้อกฎหมายทำได้ เชิญประธานศาลฎีกาแจงกมธ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2 April 2021.
  3. Runyeon, Frank G. "Toyota Probed Possible Bribes To Top Thai Judges - Law360". www.law360.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 31 March 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]