ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนามาณีกีแบบจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาณีกีแบบจีน
摩尼教
ภาพแขวนรูปพระมณีศิลปะจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14-15
ภาษาจีน
สาขาของศาสนามาณีกี
แยกออกพุทธนิกายสุขาวดี, ลัทธิบัวขาว
ชื่ออื่นเม้งก่า

ศาสนามาณีกีแบบจีน (จีน: 摩尼教; พินอิน: Móníjiào; เวด-ไจลส์: Mo2-ni2 Chiao4; แปลตรงตัว: "ศาสนาของหม่อหนี") หรือเป็นที่รู้จักตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า เม้งก่า[1][2] สำเนียงฮกเกี้ยนออกเสียงว่า เบ่งก่าว[3] (จีน: 明教; พินอิน: Míngjiào; เวด-ไจลส์: Ming2-Chiao4; แปลตรงตัว: "ศาสนาแห่งแสงสว่าง") ในวรรณกรรมแปลเป็น พรรคจรัส หรือ นิกายเรืองโรจน์ ก็ว่า[4] เป็นศาสนามาณีกีรูปแบบหนึ่งซึ่งตกทอดและได้รับการนับถือจากศาสนิกชนจีนผ่านการค้ากับโลกตะวันตกผ่านการพาณิชยนาวีและผ่านเส้นทางสายไหม พร้อม ๆ กับศาสนาคริสต์นิกายเนสเทอเรีย[5] ซึ่งได้รับมาตั้งแต่ช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 9 ดังปรากฏหลักฐานเอกสารตุนหวงในถ้ำมั่วเกา[6]

ศาสนามาณีกีแบบจีนเป็นศาสนาที่มีลักษณะแบบเอกเทวนิยม มุ่งมาดปรารถนาให้บูชาพระเจ้าเพียงองค์เดียวเรียกว่า ซ่างตี้ (上帝 "มหาเทพ"), หมิงซุน (明尊 "ผู้สว่างไสว") หรือเจินเฉิน (真神 "ผู้เที่ยงแท้") พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสิ่งต่าง ๆ จากจิตวิญญาณที่มีชีวิตของพระองค์เอง ก่อให้เกิดสรรพสิ่งที่มีชีวิตเช่นมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงพระมณี (摩尼) ซึ่งเป็นศาสดา[7] ต่อมาได้มีการรับความเชื่อนอกศาสนาเข้ามาผสานจนมีรูปแบบเป็นของตนเอง[8] รวมทั้งส่งอิทธิพลก่อให้เกิดศาสนาใหม่ขึ้น เช่น ลัทธิเมตไตรยและลัทธิบัวขาว และในขณะเดียวกันศาสนามาณีกีเองกลับกลืนกลายไปกับศาสนาพุทธและลัทธิเต๋าที่เฟื่องฟูกว่า หลังการปราบปรามศาสนาต่างด้าวเป็นต้นมา ศาสนามาณีกีก็อ่อนอิทธิพลลงและสูญหายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 14[9] ปัจจุบันมีศาสนิกชนจำนวนหนึ่งอ้างว่ายังนับถือศาสนามาณีกีหรือเม้งก่าอยู่[10][11]

แม้ศาสนามาณีกีแบบจีนสูญหายไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังคงหลงเหลือจารีต ประเพณี และวัตรปฏิบัติของศาสนามาณีกีแบบจีนให้เห็นอยู่ เช่น การสวมชุดขาว หรือแม้แต่การรับประทานอาหารเจของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย[2][12]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]
ภาพเทพีดรุโณภาส เทพีแห่งแสงสว่าง

เม้งก่า ในสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ หมิงเจี้ยว ในสำเนียงจีนกลาง มาจาก หมิง หรือ เม้ง () แปลว่า แสง กับ เจี้ยว หรือ ก่า () แปลว่า ศาสนา เมื่อรวมกันจะมีความหมายว่า ศาสนาแห่งแสง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ถาวร สิกขโกศล อธิบายไว้ว่า "...ลัทธิเม้งก้ารับความเชื่อเรื่องเทพแห่งแสงสว่าง (ความดี) และเทพแห่งความมืด (ความชั่ว) ไปเป็นหลักคำสอนพื้นฐาน คำว่า ‘เม้ง’ อันเป็นชื่อลัทธิแปลว่า ‘แสงสว่าง’ เกิดจากอักษร ‘พระอาทิตย์’ (日) กับ ‘พระจันทร์’ (月) ผสมกันเป็น ‘เม้ง’ (明) ลัทธินี้จึงมีพิธีไหว้พระอาทิตย์ไหว้พระจันทร์…"[1]

พจนานุกรมศัพท์ศาสนาของจีน ให้ความหมายไว้สองอย่าง ดังนี้[12]

  1. องค์กรลับทางศาสนาที่สืบเนื่องมาจากศาสนามาณีกีที่มีศาสนาพุทธและลัทธิเต๋ามาประสม
  2. ศาสนาของพระมณี

ในวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นภาษาไทย จะเรียกว่า พรรคจรัส หรือ นิกายเรืองโรจน์[4]

ประวัติ

[แก้]

ราชวงศ์ถัง

[แก้]

ศาสนามาณีกีเผยแผ่สู่ดินแดนจีนในยุคราชวงศ์ถัง[13] ผ่านประชาคมผู้อพยพจากเอเชียกลาง[13] แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่าศาสนามาณีกีเผยแผ่ครั้งแรกใน ค.ศ. 694 แต่แท้จริงแล้ว มีการเผยแผ่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ระบุไว้มาก[14] เพราะในเอกสารของชาวมาณีกีระบุว่ามีการเผยแผ่ศาสนาครั้งแรกในรัชกาลจักรพรรดิถังเกาจง (ค.ศ. 649–683) ต่อมาคณะศิษย์ของบิชอปโมซักแห่งมีฮร์ออร์แมซด์ (Mihr-Ohrmazd) ได้เดินทางไปยังประเทศจีนและได้เข้าเฝ้าจักรพรรดินีบูเช็กเทียน พวกเขานำหนังสือ ชาฮ์ปูรากัน (เปอร์เซีย: شاپورگان) มาเผยแพร่ และกลายเป็นเอกสารมาณีกีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดฉบับหนึ่ง[15]

ภาพนักบวชมาณีกีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 ที่เมืองเกาชาง

ค.ศ. 731 จักรพรรดิถังซวนจงมีพระราชโองการให้ชาวมาณีกีสรุปคำสอนทางศาสนาของตนเอง เพราะเป็นศาสนาต่างด้าว คือเอกสาร สรุปพิธีกรรมและคำสอนของพระมณีพุทโธภาสจากตุนหวง (敦煌本摩尼光佛教法仪略的) ผลปรากฏว่า พระมณีคือผู้ตื่นจากแสงสว่าง จากข้อความนี้บ่งว่าพระมณีคือการกลับชาติมาเกิดของเล่าจื๊อ ศาสดาของลัทธิเต๋า เพราะในขณะนั้นชาวมาณีกีมีปัญหากระทบกระทั่งกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน แต่คงสัมพันธภาพอันดีกับลัทธิเต๋าแทน สอดคล้องกับเอกสารลัทธิเต๋าคือ ฮว่าหูจิง (化胡經 "คัมภีร์เปลี่ยนศาสนาของพวกอนารยชน") ที่ระบุว่าเล่าจื๊อกลับชาติมาเกิดเป็นพระมณี เพื่อเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวตะวันตก ซึ่งขณะนั้นจีนมองว่าเป็นพวกอนารยชน[16][17]

ขณะที่รัฐข่านอุยกูร์รับศาสนามาณีกีจากชาวซอกเดีย จนกระทั่งเบอกือ คากัน (牟羽可汗; ค.ศ. 759–780) ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนามาณีกีใน ค.ศ. 763 หลังสนทนาธรรมกับนักบวชมาณีกีได้เพียงสามวัน และทรงยกย่องเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้สำนักงานใหญ่ของศาสนามาณีกีในบาบิโลนส่งนักบวชระดับสูงไปประจำที่ดินแดนของชาวอุยกูร์[18][19] แต่ก็ยังเป็นรองศาสนาพุทธที่ทรงอิทธิพลในดินแดนแถบนั้นมาช้านาน[4] ในช่วงเวลาที่ชาวจีนและชาวอุยกูร์ยังปรองดองกันอยู่ ราชวงศ์ถังผ่อนคลายข้อจำกัดบางประการแก่ชาวอุยกูร์ อนุญาตให้ชาวอุยกูร์ก่อสร้างอารามมาณีกีตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ ฉางอาน (长安) ลั่วหยาง (洛阳) เช่าซิง (绍兴) หยางโจว (扬州) หนานจิง (南京) และจิงโจว (荆州) โดยอารามมาณีกีแห่งแรกถูกสร้างใน ค.ศ. 768[20]

แต่ความเจริญรุ่งเรืองของศาสนามาณีกีกลับสะดุดลง เมื่อรัฐข่านอุยกูร์พ่ายสงครามแก่ชาวคีร์กีซใน ค.ศ. 840 ศาสนามาณีกีจึงย้ายศูนย์กลางศาสนาไปที่อื่น และเริ่มเกิดความไม่พอใจคนต่างด้าวที่ไม่ใช่คนจีน ศาสนามาณีกีซึ่งเป็นศาสนาของคนต่างด้าวจึงถูกปราบปรามและถูกห้ามนับถืออย่างเป็นทางการหลังเหตุการณ์การต่อต้านและประหารพุทธศาสนิกชนครั้งใหญ่ในรัชกาลจักรพรรดิถังอู่จงเมื่อ ค.ศ. 847 โดยรัฐบาลจะริบทรัพย์สินทั้งหมดในศาสนสถาน มีการเผาทำลายวัด เผาพระคัมภีร์ สังหารนักบวชและฆราวาส แต่ที่โหดร้ายที่สุดคือกรณีประหารนักพรตหญิงของมาณีกีจำนวน 70 รูปที่ฉางอาน[19] ต่อมารัฐบาลมีคำสั่งให้นักบวชมาณีกีสวมชุดฮั่นฝูตามธรรมเนียมจีน เพราะชุดดั้งเดิมของนักบวชนั้นเป็นชุดคนต่างด้าว และมีอีกกรณีที่รัฐบาลมีคำสั่งให้นักบวชมาณีกีแต่งกายแบบเดียวกับพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ นักบวชมาณีกีซึ่งไว้ผมยาวต้องโกนศีรษะทั้งหมด ประมาณการกันว่าชาวมาณีกีมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกสังหารจากการกดขี่ศาสนาครั้งใหญ่นี้[21] และสองปีหลังเหตุการณ์ข่มเหงทางศาสนา รัฐบาลประกาศปิดประเทศและต่อต้านชาวต่างชาติ ทำให้ศาสนามาณีกีต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่สู้รุ่งเรืองดังเก่าก่อน[22] นักบวชมาณีกีซึ่งเป็นคนต่างด้าวถูกประหาร บ้างก็ลี้ภัยไปถิ่นอื่น[23] หลังจากนั้นได้มีชาวจีนสืบศาสนาเป็นนักบวชแล้วลี้ภัยไปยังมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อหลบหนีการข่มเหงจากจีนตอนเหนือ[24] พวกเขาลงหลักปักฐานที่เมืองเฉวียนโจว ทำให้เมืองนั้นกลายเป็นศูนย์กลางของศาสนามาณีกีในจีนช่วงราชวงศ์ซ่ง[25] เมื่อศาสนามาณีกีเสื่อมอิทธิพลลงก็แปรสภาพเป็นลัทธิเม้งก่าที่รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและเต๋าสูงขึ้น[12]

ราชวงศ์ซ่งและหยวน

[แก้]
ภาพพระพุทธเยซู คริสต์ศตวรรษที่ 10

ชาวมาณีกีก่อการกบฏต่อต้านรัฐบาลราชวงศ์ซ่ง ทำให้ชาวมาณีกีถูกจักรพรรดิทุกรัชกาลพากันข่มเหงคะเนงร้ายอยู่เสมอ ข้าราชการขงจื๊อก็ไม่สนใจชาวมาณีกี และเรียกชาวมาณีกีว่า "พวกมังสวิรัติผู้บูชาปีศาจ" (食菜事魔)[26] เพราะศาสนิกชนมาณีกีล้วนนุ่งขาวห่มขาว กินมังสวิรัติตามศาสดา บูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์ เคารพเตียวก๊กและศาสดามณี[27] ลัทธิเม้งก่ามักมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกการกบฎต่อต้านรัฐบาลเสมอ[1] ทั้งยังมีการแปลงคำสอนให้ศาสนิกชนต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ทำให้เม้งก่าถูกเพ่งเล็งและปราบปรามมาตลอด[2] ด้วยเหตุนี้องค์กรของเม้งก่าจึงดำเนินการอย่างลับ เพราะราชสำนักไม่ชอบพอการดำรงอยู่ของเม้งก่านัก[1]

ครั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์หยวน ศาสนามาณีกีเฟื่องฟูขึ้น แม้ราชวงศ์หยวนจะยกย่องศาสนาพุทธแบบทิเบตนิกายสักยะขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยก็ตาม[28] ดังปรากฏการรังสรรค์ภาพจักรวาลวิทยาตามความเชื่อของศาสนามาณีกีซึ่งทำจากผ้าไหมแบบแขวนหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ จักรวาลวิทยามาณีกี (摩尼教宇宙圖) และ คำเทศนาและคำสอนเรื่องความรอดของพระมณี (冥王聖幀 "ม้วนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของยมราช") ปัจจุบันผืนผ้าไหมทั้งสองผืนถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น[29] ศาสนามาณีกีหรือเม้งก่ามีส่วนร่วมในการสนับสนุนจู หยวนจาง (朱元璋) เป็นผู้นำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์หยวนและก่อตั้งราชวงศ์หมิงได้สำเร็จ[2] ฌัก แฌร์เน (Jacques Gernet) นักจีนวิทยาชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าชื่อราชวงศ์หมิงที่แปลว่าแสงสว่างนี้ คงรับอิทธิพลมาจากลัทธิเม้งก่า[1]

สูญหาย

[แก้]

ศาสนามาณีกีแบบจีนหรือเม้งก่ายังคงดำรงอยู่ แม้หลงเหลือศาสนิกชนจำนวนไม่มากโดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ แต่ศาสนามาณีกีส่งอิทธิพลศาสนาพื้นบ้านจีนก่อให้เกิดเป็นลัทธิใหม่ เช่น ลัทธิเมตไตรย (弥勒教) และลัทธิบัวขาว (白蓮教)[30] ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ศาสนิกชนมาณีกีแบบจีนเริ่มปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับพุทธศาสนิกชนนิกายสุขาวดี ซึ่งเป็นมหายานรูปแบบหนึ่ง จนชาวมาณีกีไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างศาสนาทั้งสองได้[7] ศาสนามาณีกีก็อ่อนอิทธิพลลงและสูญหายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 14 นั้นเอง[9]

ปัจจุบันมีการอ้างว่ายังมีศาสนิกชนมาณีกีแบบจีนอาศัยอยู่มณฑลทางใต้ของจีนโดยเฉพาะเมืองเฉวียนโจว[31] แถบวัดเฉ่าอัน (草庵 "สำนักชีมุงจาก") ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาสนสถานของศาสนามาณีกีที่ถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถาน[32] ยังหลงเหลือเพียงแห่งเดียวมาจนถึงทุกวันนี้[33]

ความเชื่อ

[แก้]
ภาพสี่ศาสดาพยากรณ์ ได้แก่ พระมณี โซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้า และพระเยซู

ลัทธิมาณีกีแบบจีนเป็นศาสนาที่มีลักษณะแบบเอกเทวนิยม มุ่งมาดปรารถนาให้บูชาพระเจ้าเพียงองค์เดียวเรียกว่า ซ่างตี้ (上帝 "มหาเทพ"), หมิงซุน (明尊 "ผู้สว่างไสว") หรือเจินเฉิน (真神 "ผู้เที่ยงแท้") พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสิ่งต่าง ๆ จากจิตวิญญาณที่มีชีวิตของพระองค์เอง ก่อให้เกิดสรรพสิ่งที่มีชีวิตเช่นมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงพระมณี (摩尼) หรือเรียกว่า พระมานีพุทธจรัสแสง[3] ซึ่งเป็นศาสดา[7] ผู้ถือว่าตนเองเป็นผู้เผยแพร่พระวจนะคนสุดท้าย ต่อจากอาดัม โซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้า และพระเยซู ซึ่งพระมณีมองว่าเป็นการเผยแผ่ศาสนาก่อนหน้านี้ เป็นการเผยแผ่แค่จำเพาะกลุ่มชนย่อย ๆ เท่านั้น ไม่สู้แพร่หลายนัก[1]

ศาสนามาณีกีนับถือแสงสว่างเป็นตัวแทนแห่งความดีต่อสู้กับความมืดซึ่งเป็นตัวแทนของความชั่ว จึงบูชาแสงสว่างเช่นเดียวกับศาสนาโซโรอัสเตอร์[4] มีคำสอนที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธอย่างสูงมาตั้งแต่แรกเริ่ม[3][12] ทั้งยังปรับปรุงคติความเชื่อให้เข้ากับบริบททางวัฒนธรรมของจีนจนมีรูปแบบเฉพาะ[8] บรรดาสาวกของศาสนามาณีกีนำคำศัพท์และสัญลักษณ์ในศาสนาพุทธที่ประชาชนคุ้นเคยไปใช้ ดังจะพบว่าภาพเทวดาของมาณีกีมีลักษณะคล้ายพระโพธิสัตว์คือประทับสมาธิบนดอกบัว การสร้างประโยคและวลีของคัมภีร์ทางศาสนามีความใกล้เคียงกับพระสูตรในศาสนาพุทธอย่างยิ่ง และพบจารึกที่ตุนหวงที่ระบุข้อความไว้ว่า พระเยซูก็เป็นพุทธะ พระมณีก็เป็นพุทธะ[34] ในเวลาต่อมาทั้งศาสนาพุทธ ศาสนามาณีกี ลัทธิเต๋า และศาสนาคริสต์นิกายเนสเทอเรีย มีการหยิบยืมคำสอนทางศาสนาของกันและกันไปปรับใช้ จนศาสนามาณีกีในจีนซึ่งได้รับอิทธิพลจากคำสอนในศาสนาพุทธมากอยู่แล้วยิ่งมีความเป็นพุทธมากขึ้น ทำนองเดียวกันกับศาสนามาณีกีในยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์มากจนถูกกลืนกลายไปเช่นกัน[34]

ศาสนิกชนมาณีกีล้วนนุ่งขาวห่มขาว กินมังสวิรัติตามศาสดา บูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์ เคารพเตียวก๊กและศาสดามณี[12] หลังสิ้นยุคราชวงศ์ถัง ศาสนามาณีกียังคงดำรงอยู่และส่งอิทธิพลศาสนาพื้นบ้านจีนก่อให้เกิดเป็นลัทธิใหม่ เช่น ลัทธิเมตไตรย (弥勒教) และลัทธิบัวขาว (白蓮教)[30] แต่ตัวศาสนามาณีกีเองกลับผสานกลมกลืนไปกับศาสนาพุทธและลัทธิเต๋าไปเสีย[35] ดังพบว่ามีการแปลเอกสารมาณีกีเป็นสำนวนทางพุทธศาสนา[36] ส่วนพระมณีซึ่งเป็นศาสดานั้นถูกชาวจีนเรียกว่า พระพุทโธภาส (光明佛, 光佛 "พระพุทธเจ้าแห่งแสงสว่าง") เพราะมีประวัติใกล้เคียงกับพระโคตมพุทธเจ้า[37] ในเวลาเดียวกัน ลัทธิเต๋าได้ออกคัมภีร์ ฮว่าหูจิง (化胡經 "คัมภีร์เปลี่ยนศาสนาของพวกอนารยชน") ที่ระบุว่าเล่าจื๊อกลับชาติมาเกิดเป็นพระมณี[38] รวมทั้งมีการแปลงคำสอนให้ศาสนิกชนต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ทำให้มาณีกีหรือเม้งก่าถูกเพ่งเล็งและปราบปรามมาตลอด[2]

ธรรมเนียม

[แก้]
วัดเฉ่าอัน ศาสนสถานของศาสนามาณีกีที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีน

ปัจจุบันชาวบ้านในเมืองเฉวียนกู่ (钱库) มณฑลเจ้อเจียง ยังคงปฏิบัติตนตามประเพณีมาณีกีในวันที่ 1 และ 15 ในช่วงปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติสืบทอดลงมา ทั้งนี้เฉวียนกู่เคยเป็นศูนย์กลางของศาสนามาณีกีในจีน และยังตั้งอยู่ใกล้กับวัดเฉ่าอัน ซึงเป็นวัดมาณีกีแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ซึ่งถูกแปรเป็นวัดพุทธไปแล้ว[3] โดยชาวเมืองเฉวียนกู่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้[39]

  • รับประทานมังสวิรัติในวันดังกล่าว อาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะเป็นผักดอง ผักใบเขียว ดอกไม้จีน เห็ดต่าง ๆ และอาหารอื่น ๆ เช่น น้ำมันจากสัตว์ เป็นต้น
  • เผาเครื่องหอมถวายสักการะ
  • เว้นการใช้อุจจาระหรือปัสสาวะเพื่อทำปุ๋ย ช่วง ค.ศ. 1980–1990 เกษตรกรจะวางถังใส่น้ำปัสสาวะที่ข้างถนนเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้ ถ้าถังใกล้เต็มต้องรีบนำไปทิ้ง โดยเฉพาะก่อนวันที่ 1 และ 15 ในช่วงปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านต้องทำการตรวจสอบถัง หากพบว่าใกล้เต็มแล้วให้รีบนำไปทิ้งแม้ฝนจะตกก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางในวันดังกล่าว แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้คลายความเข้มงวดไปแล้ว
  • ชาวบ้านถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันมงคลสำหรับกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น นัดพบแพทย์ เปิดกิจการ หรือจัดพิธีสมรส ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ชาวบ้านในเฉวียนกู่มีวลีติดปากว่า "ไม่ต้องพลิกหนังสือเรียนมัธยมในวันแรกและวันที่สิบห้า" คือนักเรียนในท้องถิ่นจะหยุดเรียนวันสำคัญดังกล่าวนั่นเอง

นอกจากวันสำคัญดังกล่าวแล้ว ชาวประมงในท้องถิ่นยังมีประเพณี กินข้าวขาววันละสามคำ ซึ่งมีความหมายว่า รับประทานอาหารมังสวิรัติสามมื้อต่อวัน ซึ่งคล้ายกับกิจกรรมต้อนรับของชาวมาณีกีในอำเภอเซี่ยผู่ (霞浦) มณฑลฝูเจี้ยน ที่บูชาหลิน เผิง โดยเกษตรกรชาวเซี่ยผู่จะนำข้าวขาวสามถ้วยขนาดน้อยมาบูชาเทพยดา[39] และมีธรรมเนียมการสวมเครื่องแต่งกายสีขาวล้วนสำหรับไว้ทุกข์แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งตกทอดมาจากการแต่งกายของผู้ที่นับถือศาสนามาณีกีในอดีตที่จะสวมชุดและมงกุฎสีขาวล้วน[39] พวกเขายังคงนับถือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อย่างเหนียวแน่น แต่ชาวบ้านจะเรียกว่า พระพุทธสุริโยภาส (Sunlight Buddha) และ พระพุทธจันทโรภาส (Moonlight Buddha)[39]

ในประเทศไทย ชาวไทยเชื้อสายจีนยังสวมชุดขาว และรับประทานอาหารเจ อันเป็นธรรมเนียมที่ตกทอดมาจากลัทธิเม้งก่า[2][3][12] ที่โรงเจเปาเก็งเต๊ง ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีเทวรูปและรูปวาดของกวงเทียงฮุกโจ้ว (หรือ กองเทียนฮุด ในสำเนียงฮกเกี้ยน) ชื่อมีความหมายว่า "พระพุทธสว่างฟ้า" หรือ "พระพุทธจรัสนภา" ซึ่งคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แสดงความเห็นว่าอาจเป็นรูปเคารพของพระมณี ศาสดาของศาสนามาณีกีมากกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าในคติมหายาน[3]

เอกสารทางศาสนา

[แก้]
ภาพเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 เป็นภาพพระมณี รับสารจากโซโรอัสเตอร์ พระเยซู และพระพุทธเจ้า ตามหลักจักรวาลวิทยามาณีกี

เอกสารทางศาสนามาณีกีที่บ่งถึงหลักคำสอนและพิธีกรรมเป็นสิ่งที่หายากมาก องค์ความรู้ทางศาสนามาณีกีในจีนยุคปัจจุบันศึกษาและอ้างอิงจากเอกสารเก่าก่อนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 จำนวนสามเล่ม ได้แก่ พระคัมภีร์มาณีกีที่ขาดหาย เพลงสวดมาณีกีท่อนล่าง (摩尼教下部讚) และ สรุปพิธีกรรมของพระมณีพุทโธภาสจากตุนหวง (敦煌本摩尼光佛教法仪略的)[40]

เอกสารชิ้นแรก พระคัมภีร์มาณีกีที่ขาดหาย เป็นเอกสารทางศาสนาที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่เนื้อหาในช่วงแรกขาดหายไปสองสามบรรทัด เนื้อหาภายในเอกสารสอดคล้องกับเอกสารมาณีกีที่พบในประเทศอื่น ๆ ซึ่งกล่าวถึงพระมณีพุทโธภาสตอบคำถามกับศิษย์ชื่อ อาโถ (ตรงกับชื่อ Addā) เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาตามความเชื่อมาณีกีและหลักศีลธรรมจรรยา โดยอธิบายถึงการสร้างจักรวาลและมนุษย์ด้วยอำนาจแห่งแสง และต่อสู้กับเจ้าแห่งความมืด จนในที่สุดแสงสว่างก็มีชัยชนะเหนือความมืดทั้งปวง มีการใช้ภาพสัญลักษณ์ต้นไม้ และการจาระไนการนับกลางวันกลางคืนแบบเดียวกับเอกสารมาณีกีฉบับคอปติก และภาพวาดมีลักษณะใกล้เคียงกับเอกสารมาณีกีฉบับตุรกีมากที่สุด เมื่อ ค.ศ. 1983 แวร์แนร์ ซุนแดร์มันน์ (Werner Sundermann) ระบุว่า เอกสารมาณีกีฉบับจีน แปลมาจากฉบับตุรกีและซ็อกเดียที่เอเชียกลาง ซึ่งคัดลอกมาจากฉบับพาร์เทียซึ่งเป็นต้นฉบับ[41]

เอกสารชิ้นที่สอง เพลงสวดมาณีกีท่อนล่าง (摩尼教下部讚) ประกอบด้วยเนื้อเพลงสวดจำนวน 30 เพลง เข้าใจว่าเป็นการแปลมาจากภาษาพาร์เทียเป็นภาษาจีนโดยตรง เพราะบางบทเป็นภาษาพาร์เทียตามต้นฉบับ ซึ่งชาวจีนฮั่นไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ ท้ายหนังสือจบด้วยการขอพรจากพระเป็นเจ้า ทั้งนี้เอกสารนี้ถูกแปลและเรียบเรียงในเมืองตูร์ปัน ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

และเอกสารชิ้นที่สาม สรุปพิธีกรรมและคำสอนของพระมณีพุทโธภาสจากตุนหวง (敦煌本摩尼光佛教法仪略的) อธิบายถึงเรื่องราวเบื้องประสูติของพระมณีพุทโธภาสที่อิงมาจากพุทธประวัติมาโดยตรง หลังจากนั้นมีการสรุปคำสอนมาณีกี ในย่อหน้าแรกระบุว่าเริ่มเขียนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 731 ตรงกับยุคราชวงศ์ถัง และในตอนถัดมามีการระบุว่าเล่าจื๊อ ศาสดาของลัทธิเต๋า กลับชาติมาเกิดเป็นพระมณี [42]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 เมฆา วิรุฬหก (8 มิถุนายน 2560). ""ลัทธิเม้งก้า" แห่งดาบมังกรหยก มีจริงหรือไม่? เหตุใดจึงถูกมองเป็น "พรรคมาร" ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "สรุปงานเสวนาเรื่องจากเม้งก่าถึงอั้งยี่สู่ประเพณีกินเจไทย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 2 กุมภาพันธ์ 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (26 พฤศจิกายน 2566). "ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ 'สหาย' (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (28 มีนาคม 2562). "นิกายเม้งก่า ในซีรีส์ดาบมังกรหยก คือนิกายมาณีกี ที่บูชาแสงสว่าง". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. Woodhead, Linda; Kawanami, Hiroko; Partridge, Christopher H., บ.ก. (2009). Religions in the Modern World: Traditions and Transformations (2nd ed.). London: Routledge. ISBN 978-0415458900. OCLC 237880815.
  6. Schmidt-Glintzer, Helwig, Chinesische Manichaeica, Wiesbaden, 1987
  7. 7.0 7.1 7.2 Dr. Char Yar. "Monijiao (Manichaeism) in China". academia.edu. Lecture presented at the Worldwide Conference for Historical Research, 2012.
  8. 8.0 8.1 Ma (2011), p. 56.
  9. 9.0 9.1 Jason David BeDuhn The Manichaean Body: In Discipline and Ritual Baltimore: Johns Hopkins University Press. 2000 republished 2002 p.IX
  10. "Central Manichaean Temple". Manichaean.org. 2014-06-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2013. สืบค้นเมื่อ 2014-08-27.
  11. "Neo-Manichaeanism: Questions and Answers". Oocities.org. สืบค้นเมื่อ 2014-08-27.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 บาราย (2 พฤศจิกายน 2557). "ตำนานกินเจ". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. 13.0 13.1 Ma (2011), p. 55-56.
  14. Ching (1993), pp. 172–174.
  15. Lieu, Sammuel L. C. (2002). "Manicheism v. in China". Encyclopædia Iranica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 November 2017.
  16. Lieu 1992, pp. 258–259
  17. Ching, Julia (1993). Chinese Religions. Houndsmills; London: Macmillan. ISBN 9780333531747.
  18. Liu, Xinru (2001), "The Silk Road: Overland Trade and Cultural Interactions in Eurasia", ใน Michael Adas (บ.ก.), Agricultural and Pastoral Societies in Ancient and Classical History, Philadelphia: American Historical Association, Temple University Press, pp. 151–179, ISBN 978-1-56639-832-9
  19. 19.0 19.1 Ching (1993), p. 173.
  20. Liu, Xinru (2001), "The Silk Road: Overland Trade and Cultural Interactions in Eurasia", ใน Michael Adas (บ.ก.), Agricultural and Pastoral Societies in Ancient and Classical History, Philadelphia: American Historical Association, Temple University Press, pp. 151–179, ISBN 978-1-56639-832-9
  21. S.N.C.L. Lieu (1998). Manachaeism in Central Asia and China. Brill Publishers. pp. 115, 129, 130. ISBN 9789004104051.
  22. Liu, Xinru (2001), "The Silk Road: Overland Trade and Cultural Interactions in Eurasia", ใน Michael Adas (บ.ก.), Agricultural and Pastoral Societies in Ancient and Classical History, Philadelphia: American Historical Association, Temple University Press, pp. 151–179, ISBN 978-1-56639-832-9
  23. Lieu 1992, pp. 231–239, 263
  24. Lieu 1992, p. 264
  25. Lieu 1992, p. 267
  26. Lieu 1992, pp. 280–283, 298
  27. บาราย (2 พฤศจิกายน 2557). "ตำนานกินเจ". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. Samuel N.C. Lieu (1985). Manichaeism in the Later Roman Empire and Medieval China: A Historical Survey. Manchester University Press. p. 261. ISBN 9780719010880.
  29. Gulácsi, Zsuzsanna (2008). "A Visual Sermon on Mani's Teaching of Salvation: A Contextualized Reading of a Chinese Manichaean Silk Painting in the Collection of the Yamato Bunkakan in Nara, Japan". academia.edu. สืบค้นเมื่อ 27 November 2018.
  30. 30.0 30.1 Ma (2011), p. 19-56.
  31. Jennifer Marie Dan. Manichaeism and its Spread into China. University of Tennessee, 2002. pp. 17-18
  32. Lieu 1992, p. 303
  33. Wearring (2006), p. 260.
  34. 34.0 34.1 ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ. "ลัทธิมาณีกี" (PDF). ระบบคลังเอกสารออนไลน์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-02-16. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. Mair 1987, p. 316
  36. Mair 1987, pp. 317–318
  37. Lieu 1992, pp. 243, 255–257
  38. Lieu 1992, pp. 258–259
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 Lin Shundao; Cai Ting Tao (2017-08-18). 杨道敏 (บ.ก.). "There are Mingjiao ruins in the treasury-Xuanzhen Temple, right here..." sohu.com. สืบค้นเมื่อ 2018-12-28.
  40. Lieu, Samuel (1987). Manichaeism in the Later Roman Empire and Medieval China: A Historical Survey. Brill. pp. 212–13. ISBN 9783161458200.
  41. Lieu, Samuel (1987). Manichaeism in the Later Roman Empire and Medieval China: A Historical Survey. Brill. p. 206. ISBN 9783161458200.
  42. Schmidt-Glintzer, Helwig (1987). Buddistisches Gewand des Manichäismus. pp. 76–90.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]