ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะล้านช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระธาตุหลวง
วัดเชียงทอง
พระธาตุพนม
พระเสริม (องค์ใหญ่) และ พระแสน (องค์เล็ก) ภายในพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง

ศิลปะล้านช้าง คือศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–24 ครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขงในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ในดินแดนดังกล่าวจะมีลักษณะทางศิลปะและวัฒนธรรมร่วมกัน ศิลปะล้านช้างสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญา ความเชื่อ วิถีชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรม ทางพระพุทธศาสนา ที่เห็นชัดเจน พุทธศิลป์ที่โดดเด่น เช่น ฝั่งลาวมีพระธาตุหลวง พระธาตุอิงฮัง พระบาง เป็นต้นส่วนฝั่งไทย เช่น พระธาตุพนม พระธาตุเรณู พระธาตุศรีสองรัก พระใส เป็นต้น

สถาปัตยกรรม

[แก้]

สถาปัตยกรรมล้านช้างได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรล้านช้างมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนา โดยในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปปกครอง อาณาจักรล้านนาอยู่ 2 ปีหลังจากที่พระยาโพธิสาลราช ผู้เป็นพระบิดาซึ่งปกครองล้านช้างสวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐา จึงกลับมาปกครองอาณาจักรล้างช้าง พร้อมกับการนำพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์และพุทธรูปที่สำคัญอื่น ๆ จากล้านนามาด้วย หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรล้านช้างได้มีความสัมพันธ์กันเรื่อยมาจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศิลปะล้านช้างได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา ดังเช่น เจดีย์ทรงระฆัง เช่น พระธาตุหมากโม วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาซึ่งมีต้นแบบมาจาก พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกาม สืบสายต่อเนื่องมาจากลังกาอีกทอดหนึ่ง

รูปแบบสิมและวิหารแบบล้านช้าง คือ แผนผังมีทั้งแบบที่มีการยกเก็จหรือย่อมุม และผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่ยกเก็จ การซ้อนชั้นหลังคามีทั้งแบบซ้อน 2 ชั้น 2 ตับ แบบไม่ซ้อนชั้นแต่มีตับเดียว และแบบที่ซ้อน 3 ชั้น แต่ไม่ซ้อนตับหลังคา มีสัดส่วนของอาคารที่ค่อนข้างเตี้ย และใช้เส้นแอ่นโค้งของหลังคาที่แอ่นกว่าของล้านนา ส่วนตกแต่งอันมีลักษณะเฉพาะตน คือ โก่งคิ้ว/ฮังผึ้ง (รังผึ้ง) รูปครึ่งวงกลม มีฝาสาท (ปราสาท) หรือช่อฟ้ากลาง และมีคันทวยแบบหูช้างและคันทวยแขนนาง[1]

รูปแบบเจดีย์หรือธาตุอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านช้าง เจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม หรือที่เรียกว่า เจดีย์ทรงดอกบัวเหลี่ยม ศิลปะลาว เรียกว่า หัวน้ำเต้าหรือแบบหัวปลี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ย่อมุมของอยุธยาและพม่า แบบที่ 2 คือ เจดีย์ทรงปราสาทยอด เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านช้าง ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ที่เป็นเรือนธาตุมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป เหนือเรือนธาตุจะเป็นองค์ ระฆังสี่เหลี่ยมและมียอดแหลม[2] แบบที่ 3 คือ เจดีย์ที่มีเรือนธาตุซ้อนกันหรือแบบพระธาตุพนม เริ่มปรากฏในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ธาตุในรูปทรงนี้จะเป็นธาตุที่เกิดจากการมาต่อเติมอาคารทรงสี่เหลี่ยมหลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ แล้วเติมธาตุทรงบัวเหลี่ยมที่ส่วนยอด ธาตุแบบนี้ยอดทรงบัวเหลี่ยมจะถูกดึงให้สูงขึ้นเพื่อให้ส่วนยอดสมดุลกับเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมด้านล่าง และแบบที่ 4 คือ ธาตุที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะไทย สร้างขึ้นตามรูปแบบที่ได้รับจากแม่แบบไปโดยจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยจะปรากฏทั้งเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์ทรงเครื่องแบบรัตนโกสินทร์และเจดีย์ทรงกลม ธาตุในรูปแบบนี้มักปรากฎเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ไปแล้ว[3]

ประติมากรรม

[แก้]

พระพุทธรูปล้านช้างในช่วงแรก เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม จนกระทั่งรัชสมัยพระนางมหาเทวี มีต้นแบบจากพระพุทธรูปเขมรแบบบายน และมีการผสมผสานกับศิลปะของไทย เช่น เชียงแสน สุโขทัย เป็นต้น ลักษณะของพระพุทธรูปในช่วงนี้ มีลักษณะคล้ายภาพสามมิติ กล่าวคือ เหมือนการแหงนมองพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ ฝ่าเท้าที่วางทับกันจะมีลักษณะเปิดในแนวเอียงฝ่าเท้าออกมาด้านนอก

พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงกลาง ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วถึงสมัยพระเจ้าวิชุลราช แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นล้านช้างที่ค่อนข้างชัดเจน มีพุทธลักษณะ คือ พระเพลา (ตัก) กว้าง เส้นสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี (หน้าท้อง) พระอุระ (อก) แบน พระกรรณ (หู) มีเอกลักษณ์ชัดเจน เบ้าพระกรรณขนาดใหญ่ ติ่งพระกรรณขนาดเล็ก ยอดพระกรรณโค้งตามแบบศิลปะเขมรยุคปลาย และพระเศียร มีขนาดเล็กรับกับพระอังสา (บ่า)

พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงปลาย ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 มีการผสมผสานกับอิทธิพลจากศิลปะอื่น มีพุทธลักษณะ คือ พระเพลา (ตัก) กว้าง พระอุระ (อก) นูนล่ำสัน รับอิทธิพลจากศิลปะสุโทัย พระกรรณ (หู) มีเบ้าพระกรรณขนาดใหญ่ ติ่งพระกรรณห้อยยาวโค้งออกจากลำคอ พระเศียรส่วนมากมีลักษณะใหญ่ รับกับพระอังสาที่กว้างขึ้น และพระรัศมีประดับด้วยอัญมณี[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์. "โบสถ์-วิหารแบบล้านช้างในประเทศไทย". หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย.
  2. "พุทธศิลป์ล้านช้าง: แนวคิด พัฒนาการ คุณค่าทางศิลปะ และวัฒนธรรม*". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น.
  3. "ธาตุในอีสาน". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน.
  4. สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์, ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง, 2543.