ข้ามไปเนื้อหา

สถานีรถไฟหัวหิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หัวหิน

Hua Hin
สถานีรถไฟหัวหินแห่งเก่า ใช้งานจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งถนนพระปกเกล้า ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พิกัด12°34′02″N 99°57′17″E / 12.5673°N 99.9547°E / 12.5673; 99.9547
ผู้ให้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม
สาย
ชานชาลา2
ทางวิ่ง2
โครงสร้าง
ประเภทโครงสร้างระดับดิน (สถานีเดิม), ยกระดับ (สถานีใหม่)
ระดับชานชาลา2
ข้อมูลอื่น
รหัสสถานี4118 (หห.)
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 (112 ปี) (สถานีเดิม)
11 ธันวาคม พ.ศ. 2566 (0 ปี) (สถานีใหม่)
การเชื่อมต่อ
สถานีก่อนหน้า การรถไฟแห่งประเทศไทย สถานีต่อไป
ห้วยทรายใต้ สายใต้ หนองแก
มุ่งหน้า สุไหงโก-ลก
หัวหิน
Hua Hin
กิโลเมตรที่ 212.99
ห้วยทรายใต้
Huai Sai Tai
−11.35 กม.
หนองแก
Nong Kae
+3.97 กม.
ดูเพิ่ม: รายชื่อสถานีรถไฟ สายใต้
ที่ตั้ง
แผนที่

สถานีรถไฟหัวหิน (อังกฤษ: Hua Hin Railway Station) เป็นสถานีรถไฟระดับหนึ่งบนเส้นทางรถไฟสายใต้ (กรุงเทพ–สุไหงโกลก) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟห้วยทรายใต้ (เดิมระหว่างสถานีรถไฟหัวหินกับสถานีรถไฟห้วยทรายใต้เคยมีที่หยุดรถบ่อฝ้ายแต่ปัจจุบันได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว) กับสถานีรถไฟหนองแก โดยเป็นสถานีรถไฟแรกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อนั่งรถไฟเที่ยวไป และเป็นสถานีหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร

สถานีหัวหินก่อสร้างและเปิดเดินรถในสมัยรัชกาลที่ 6 ตัวสถานีและย่านเดิมมีจำนวนทาง 3 ทาง เป็นทางหลัก 1 ทาง ทางหลีก 2 ทาง โดยเป็นทางติดชานชาลา 2 ทาง ปัจจุบัน เป็นสถานียกระดับ ความสูง 2 ชั้น มีทางหลัก 2 ทาง ขนาบข้างด้วยชานชาลาด้านข้าง 2 ชานชาลา

สถานีรถไฟหัวหินเป็นสถานีหนึ่งในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ (สถานีกลางบางซื่อ) - ปาดังเบซาร์ ช่วงสถานีรถไฟกรุงเทพ - หัวหิน รหัสสถานี HS05 อยู่ระหว่างสถานีรถไฟเพชรบุรี กับสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ เปิดใช้งานประมาณปี พ.ศ. 2575

ประวัติ

[แก้]

สถานีรถไฟหัวหิน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีเปิดการเดินรถระหว่างสถานีรถไฟชะอำ ถึงสถานีรถไฟหัวหินในวันที 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 หลังจากนั้นสถานีรถไฟหัวหินกลายเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการลงมาท่องเที่ยวชายทะเลเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับอาคารสถานีรถไฟหัวหินหลังแรกนั้นเป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาใน พ.ศ. 2469 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงบัญชาการให้ยกอาคารไม้ที่ใช้สร้างศาลาในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีแผนจะจัดที่สวนลุมพินีเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 แต่ไม่ได้มีการจัดงานจริงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเสียก่อน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เลิกจัดงานดังกล่าว ศาลาหลังนี้จึงถูกถอดลงแล้วนำไปประกอบใหม่เป็นอาคารสถานีรถไฟหัวหินในปัจจุบัน[1]

สถานีรถไฟหัวหินเป็นสถานีชั้น 1 ภายในย่านสถานีรถไฟหัวหินมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างทที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์หลายหลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ พลับพลาพระมงกุฎเกล้า หอสัญญาณประแจกล อาคารที่ทำการต่างๆ และบ้านพักพนักงานการรถไฟ นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟมีห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินตั้งอยู่โดยห้องสมุดนี้สร้างขึ้นด้วยการดัดแปลงตู้รถไฟเก่า 2 คันมาเชื่อมต่อกันด้วยอาคารทางเข้าชั้นเดียวยกพื้นสูง และมีหัวรถจักรไอน้ำมิกาโด หมายเลข 305 ตั้งแสดงอยู่

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ

[แก้]

อาคารสถานี

[แก้]

อาคารสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบอาคารไม้แบบบังกะโลและศิลปะตะวันตก ผังพื้นสถานีเป็นรูปตัวอี(E) วางขนานไปกับทางรถไฟ ผังอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนสถานีและส่วนชานชาลา แต่ละส่วนมีหลังคาคลุมของตนเอง โดยส่วนสถานีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนด้านหน้าติดกับถนนทางเข้า ตรงกลางของส่วนนี้เป็นห้องรับรอง มุขปลายทั้ง 2 ด้านเป็นโถงโล่งเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินยาวตลอด แนวอาคารส่วนด้านหลังงติดกับส่วนชานชาลาเป็นเป็นห้องต่างๆ เรียงต่อกันโดยห้องซ้ายสุดเป็นห้องขายตั๋ว ถัดมาเป็นโถงพักคอย ห้องทำงานนายสถานีห้องปฏิบัติการเดินรถ ห้องรับส่งสินค้า และห้องขวาสุดเป็นห้องประชุม ระหว่างห้องรับรองหัองทำงานนายสถานี ห้องปฏิบัติการเดินรถ และโถงโล่งปลายอาคาร ทั้ง 2 ด้าน มีห้องโถงแจกขนาดเล็กทำหน้าที่เชื่อมต่อห้องต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน หลังคาส่วนสถานีเป็นหลังคาปั้นหยา ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่น 3 มุข หลังคาลดชั้นมีจั่วขนาดเล็กด้านบน หนับันใต้จั่วมีลายฉลุตกแต่งสวยงาม ส่วนชานชาลาเป็นโครงสร้างไม้เซาะร่อง หลังคาจั่วหัวตัดบริเวณตรงกลาง และด้านข้างทั้งสอง ด้านหน้าบันใต้จั่วมีลายฉลุตกแต่ง หลังคาอาคารทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว

พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ

[แก้]
พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ

พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นพลับพลาจตุรมุขสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมีชื่อว่า พลับพลาสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พลับพลานี้มีไว้ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รื้อถอนมาเก็บไว้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ต่อมาในปีพ.ศ. 2511 สมัยพันเอกแสง จุละจาริตต์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาเห็นว่าควรนำเครื่องอุปกรณ์ก่อสร้างของพลับพลาสนามจันทร์มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหินเพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การดำเนินการก่อสร้างนี้ใช้ช่างฝีมือคนไทยและได้มีการทำพิธีเปิดพลับพลาซึ่งได้ตั้งชื่อใหม่ว่า พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2517 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน

โรงแรมรถไฟหัวหิน

[แก้]

โรงแรมหัวหิน (โฮเต็ลหัวหิน) สร้างขึ้นโดยกรมรถไฟเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนชายทะเล และเป็นที่รักษาสุขภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ ชาวต่างประเทศและคหบดี ประกอบด้วยอาคารหลัก 1 หลัง กลุ่มบังกะโล และพื้นที่โดยรอบที่มีการจัดสวนอย่างสวยงาม มีการเปิดใช้โรงแรมอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมกับสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน 9 หลุมแรก ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2465 หลังจากนั้น ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466 จึงเปิดโรงแรมอย่างเป็นทางการ

อาคารหลักของโรงแรมออกแบบโดย เอ. ริกาซซิ (Mr. A. Rigassi) สถาปนิกชาวอิตาลี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) ประกอบด้วยโถงกลางรูปกลม สองข้างของโถงกลางเป็นปีกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำมุมฉากกัน พื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนต้อนรับและบริการ ห้องอาหาร และเดอะมิเซียมคอฟฟี่แอนด์ทีคอร์เนอร์ พื้นที่ชั้นบนเป็นส่วนห้องพักทั้งหมด โดยมีระเบียงและทางเดินกว้างขนาบทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพื้นที่ใช้สอยส่วนต่าง ๆ ระหว่างเสาระเบียงแต่ละช่วงมีแผงกันแดดบานเกล็ดไม้ แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกให้เข้ากับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย สำหรับบังกะโลเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงจั่ว ด้านหน้าเป็นระเบียงทางขึ้นขนาดใหญ่ พื้นที่ภายในมีลักษณะโปร่งโล่งทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน (Centara Grand Beach Resort & Villas Hua Hin) เป็นผู้เช่า ซึ่งได้มีการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารหลัก กลุ่มบังกะโล และสวนไม้ดัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่สำคัญไว้ได้[1]

ซึ่งในอดีตเคยมีทางรถไฟแยกเข้าไปทางโรงแรมแห่งนี้

แผนผังสถานี

[แก้]

สถานีเดิม

[แก้]
ถนนพระปกเกล้า
ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร, อาคารพักผู้โดยสาร, ชานชาลาด้านข้าง
มุ่งหน้า ห้วยทรายใต้ ----------|----------|----------|----------|------------|----------|----------|----------|----------|---------- มุ่งหน้า หนองแก
ชานชาลาเกาะกลาง
----------------|----------|----------|----------|----------|------ รางหลีก ------|----------|----------|----------|----------|----------------
----------------|----------|----------|----------|----------|------ รางหลีก ------|----------|----------|----------|----------|----------------
หอประแจ (ถูกรื้อถอนแล้ว), สนามกอล์ฟรอยัลหัวหิน

สถานีปัจจุบัน

[แก้]
U1
ชานชาลารถไฟทางไกล
ชานชาลาเกาะกลาง, ประตูรถจะเปิดทางด้านขวา
ชานชาลา 1 สายใต้ มุ่งหน้า สุไหงโก-ลก (หนองแก)
ชานชาลา 2 สายใต้ มุ่งหน้า กรุงเทพ (หัวลำโพง) หรือ กรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ ธนบุรี (ห้วยทรายใต้)
ชานชาลาเกาะกลาง, ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
G
ชั้นขายบัตรโดยสาร
ชั้นขายบัตรโดยสาร ทางออก 1-4, ศูนย์บริการผู้โดยสาร, ห้องขายบัตรโดยสาร, เครื่องขายบัตรโดยสาร, ร้านค้า
G
ระดับถนน
- ทางหลวงชนบท ปข.2043, ทางข้ามทางรถไฟเดิมไปยังสถานีรถไฟเดิมและถนนพระปกเกล้า

ตารางเดินรถ

[แก้]
ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

เที่ยวไป

[แก้]
ขบวนรถ ต้นทาง หัวหิน ปลายทาง หมายเหตุ
ชื่อสถานี เวลาออก ชื่อสถานี เวลาถึง
ดพ39 กรุงเทพอภิวัฒน์ 22.50 02.04 สุราษฎร์ธานี 07.50
ดพ41 กรุงเทพอภิวัฒน์ 22.50 02.04 ยะลา 13.40 งดเดินรถ
ดพ43 กรุงเทพอภิวัฒน์ 07.30 10.31 สุราษฎร์ธานี 16.20
น911 กรุงเทพ (หัวลําโพง) 06.30 10.54 สวนสนประดิพัทธ์ 11.33 เฉพาะวันหยุดราชการ
ธ255 ธนบุรี 07.20 11.46 หลังสวน 18.10
ธ261 กรุงเทพ (หัวลําโพง) 09.20 13.50 สวนสนประดิพัทธ์ 14.00
ธ251 ธนบุรี 13.10 17.31 ประจวบคีรีขันธ์ 19.10
ร171 กรุงเทพอภิวัฒน์ 15.10 18.44 สุไหงโก-ลก 10.10
ดพ45 กรุงเทพอภิวัฒน์ 16.10 19.45 ปาดังเบซาร์ 08.05
ดพ37 กรุงเทพอภิวัฒน์ 16.10 19.45 สุไหงโก-ลก 10.35
ดพ31 กรุงเทพอภิวัฒน์ 16.50 20.20 ชุมทางหาดใหญ่ 07.05
ร169 กรุงเทพอภิวัฒน์ 17.30 21.20 ยะลา 11.05
ด83 กรุงเทพอภิวัฒน์ 18.50 22.29 ตรัง 08.15
ด85 กรุงเทพอภิวัฒน์ 19.50 23.42 นครศรีธรรมราช 09.40
ร167 กรุงเทพอภิวัฒน์ 20.30 00.18 กันตัง 11.25
ร173 กรุงเทพอภิวัฒน์ 21.10 00.45 นครศรีธรรมราช 10.15 งดเดินรถ
หมายเหตุขบวนรถ: = สายเหนือ / = สายตะวันออกเฉียงเหนือ / = สายใต้ / = สายตะวันออก / = สายแม่กลอง
ดพ = รถด่วนพิเศษ / ด = รถด่วน / ร = รถเร็ว / ธ = รถธรรมดา / ช = รถชานเมือง / พช = รถพิเศษชานเมือง / ท = รถท้องถิ่น / น = รถนำเที่ยว / ส = รถสินค้า

เที่ยวกลับ

[แก้]
ขบวนรถ ต้นทาง หัวหิน ปลายทาง หมายเหตุ
ชื่อสถานี เวลาออก ชื่อสถานี เวลาถึง
ดพ44 สุราษฎร์ธานี 18.25 00.14 กรุงเทพอภิวัฒน์ 03.45
ร174 นครศรีธรรมราช 15.10 00.58 กรุงเทพอภิวัฒน์ 04.40 งดเดินรถ
ร168 กันตัง 14.15 01.26 กรุงเทพอภิวัฒน์ 05.10
ด86 นครศรีธรรมราช 16.00 02.20 กรุงเทพอภิวัฒน์ 06.10
ด84 ตรัง 17.00 03.07 กรุงเทพอภิวัฒน์ 07.05
ดพ42 ยะลา 15.35 03.23 กรุงเทพอภิวัฒน์ 06.50 งดเดินรถ
ร172 สุไหงโก-ลก 12.10 03.51 กรุงเทพอภิวัฒน์ 07.30
ดพ32 ชุมทางหาดใหญ่ 17.45 04.27 กรุงเทพอภิวัฒน์ 08.10
ดพ38 สุไหงโก-ลก 14.15 05.17 กรุงเทพอภิวัฒน์ 09.05
ดพ46 ปาดังเบซาร์ 17.00 05.17 กรุงเทพอภิวัฒน์ 09.05
ธ252 ประจวบคีรีขันธ์ 04.40 06.14 ธนบุรี 10.30
ร170 ยะลา 16.30 06.40 กรุงเทพอภิวัฒน์ 10.50
ธ254 หลังสวน 06.30 12.47 ธนบุรี 17.25
ดพ40 สุราษฎร์ธานี 09.00 14.36 กรุงเทพอภิวัฒน์ 18.05
ธ262 สวนสนประดิพัทธ์ 14.35 14.46 กรุงเทพ (หัวลําโพง) 19.20
น912 สวนสนประดิพัทธ์ 16.28 16.38 กรุงเทพ (หัวลําโพง) 21.40 เฉพาะวันหยุดราชการ
หมายเหตุขบวนรถ: = สายเหนือ / = สายตะวันออกเฉียงเหนือ / = สายใต้ / = สายตะวันออก / = สายแม่กลอง
ดพ = รถด่วนพิเศษ / ด = รถด่วน / ร = รถเร็ว / ธ = รถธรรมดา / ช = รถชานเมือง / พช = รถพิเศษชานเมือง / ท = รถท้องถิ่น / น = รถนำเที่ยว / ส = รถสินค้า

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ชูแก้ว, ปริญญา (2014). "การอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟ ในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของไทย" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2022-01-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)