สมเด็จพระมหากษัตริยานี สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนา
สีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนา | |
---|---|
สมเด็จพระมหากษัตริยานี | |
สมเด็จพระราชินีเเห่งกัมพูชา | |
ดำรงพระยศ | 2 มีนาคม 2498 – 3 เมษายน 2503 |
พระราชสมภพ | 9 เมษายน พ.ศ. 2447 พนมเปญ อินโดจีนของฝรั่งเศส |
สวรรคต | 27 เมษายน พ.ศ. 2518 (71 ปี) ปักกิ่ง ประเทศจีน |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต |
พระราชบุตร | พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ |
ราชวงศ์ | ตรอซ็อกผแอม ราชสกุลสีสุวัตถิ์ (ประสูติ) ราชสกุลนโรดม (อภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ |
พระราชมารดา | นโรดม กานวิมาน นรลักข์เทวี |
สมเด็จพระมหากษัตริยานี สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนา[1] (เขมร: ស៊ីសុវត្ថិមុនីវង្ស កុសុមៈនារីរ័ត្នសិរិវឌ្ឍនា; 9 เมษายน พ.ศ. 2447 — 27 เมษายน พ.ศ. 2518) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ที่ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และได้เป็นพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ หลังการสวรรคตของพระราชสวามี
พระราชประวัติ
[แก้]สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ กุสุมะนารีรัตน์สิรีวัฒนา พระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2447 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ กับหม่อมเจ้านโรดม กานวิมาน นรลักข์เทวี (នរោត្តម កានវិមាន នរល័ក្ខទេវី) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้านโรดม สุรามฤตเมื่อปี พ.ศ. 2463 ทั้งสองมีพระโอรสเพียงคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์นโรดม สีหนุ
ครั้นในกาลต่อมาหม่อมราชวงศ์นโรดม สีหนุ ได้รับการเลือกจากฝรั่งเศสให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แทนสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศพระอนุชาของพระองค์ ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง[2] แต่ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้สละราชสมบัติแก่พระราชบิดาที่ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต เพราะทรงตั้งพระทัยที่จะเป็นนักการเมือง การสละราชสมบัติครานั้นพระนางกุสุมะและพระราชสวามีทรงกันแสงอย่างหนัก[3] ครั้นพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤตเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุจึงเป็นประมุขแห่งรัฐสืบมา (แต่มิใช่ในฐานะพระมหาษัตริย์)
ล่วงในปี พ.ศ 2513 สมาชิกสภาแห่งชาติที่วางแผนโดยหม่อมราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ ที่ลงมติถอดถอนพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุจากประมุขแห่งรัฐที่ขณะนั้นยังเสด็จเยือนต่างประเทศ โดยมีลอน นอลลงนามถอดถอนก่อนสถาปนาสาธารณรัฐเขมรขึ้น หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์พนมเปญแตก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 ที่เกิดการสังหารเชื้อพระวงศ์และราษฎรกัมพูชาจำนวนมาก ส่งผลให้สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ กุสุมะนารีรัตน์สิรีวัฒนา เสด็จลี้ภัยออกจากกัมพูชา ก่อนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 27 เมษายนปีเดียวกัน ณ ปักกิ่ง ประเทศจีน ขณะมีพระชนมายุ 71 พรรษา
ความสนพระทัย
[แก้]ช่วงปี พ.ศ. 2483 พระองค์ได้อุปถัมภ์ระบำเทพอัปสรขึ้นใหม่ โดยมีพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่คือสมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี เป็นตัวชูโรง และเป็นนางรำที่มีชื่อเสียง[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2559). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 218.
- ↑ ธิบดี บัวคำศรี. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2555, หน้า 84
- ↑ สุภัตรา ภูมิประภาส (30 ตุลาคม 2555). "เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (2): ชายาของพ่อ". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุภัตรา ภูมิประภาส (20 ตุลาคม 2555). "เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (1): เรื่องเล่าของเจ้าชายน้อย กับชีวิตที่พลัดพราก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)