จังหวัดสระแก้ว
จังหวัดสระแก้ว | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Sa Kaeo |
(ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย): ละลุ, อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม, หัวจักรที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ, ร้ายขายรองเท้าในตลาดโรงเกลือ, สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ข้างตลาดโรงเกลือ | |
คำขวัญ: ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างามน้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดสระแก้วเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ปริญญา โพธิสัตย์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2564) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 7,195.436 ตร.กม. (2,778.173 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 27 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 562,902 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 44 |
• ความหนาแน่น | 78.23 คน/ตร.กม. (202.6 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 64 |
รหัส ISO 3166 | TH-27 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | มะขามป้อม |
• ดอกไม้ | แก้ว |
• สัตว์น้ำ | ปลาบ้า |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดสระแก้ว หมู่ที่ 3 ถนนสุวรรณศร ตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 27000 |
• โทรศัพท์ | 0 3742 1135 |
เว็บไซต์ | http://www.sakaeo.go.th/ |
สระแก้ว เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย แยกออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยในปัจจุบันถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในภาคตะวันออก และเป็นอีกหนึ่งจังหวัดพรมแดนที่มีการติดต่อค้าขายเป็นอย่างมาก
ชื่อ
[แก้]สระแก้ว เป็นชื่อที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีอยู่จำนวน 2 สระ ในสมัยกรุงธนบุรีราว พ.ศ. 2323 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและได้ขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว-สระขวัญ" และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์[3]: 126
ประวัติศาสตร์
[แก้]การเกิดชุมชนและการตั้งถิ่นฐาน
[แก้]ประมาณ 4,000 ปีก่อน บริเวณอ่าวไทยยังเป็นทะเลโคลนตมเว้าลึกเข้ามาในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน พื้นที่ที่เป็นจังหวัดสระแก้วยังไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ต่อมาเริ่มมีคนมาตั้งถิ่นฐานจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ผู้คนพากันตั้งหลักแหล่งบริเวณเชิงเขา ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอเขาฉกรรจ์ โดยเฉพาะบนสองฝั่งลำน้ำพระปรงและพระสะทึง จากนั้นผู้คนได้กระจายออกไปอยู่บริเวณที่ดอนกลางทะเลโคลนตม ที่ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม ในจังหวัดปราจีนบุรี
พ.ศ. 1000 ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระแก้วได้พัฒนาเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มลำน้ำพระปรง-พระสะทึง มีวัฒนธรรมแบบสุวรรณภูมิสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และแบบทวาราวดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เขาฉกรรจ์ และกลุ่มลำห้วยพรมโหด มีวัฒนธรรมแบบขอม ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทเขาน้อย-เขารังและบ้านเมืองไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ)
สมัยโบราณ สระแก้วมีความสำคัญในด้านเป็นเส้นทางคมนาคมทางตะวันตก-ตะวันออก (ระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับกัมพูชา) และทางเหนือ-ใต้ (ระหว่างเมืองในลุ่มน้ำโขง ชี มูล กับเมืองชายฝั่งทางจันทบุรี) กระทั่งหลัง พ.ศ. 1500 รัฐพื้นเมืองต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิมีการปรับตัวเนื่องจากการทำการค้ากับจีน ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณอ่าวไทยเปลี่ยนแปลงกลายเป็นแผ่นดินตื้นเขินขึ้น เส้นทางคมนาคมทางน้ำเปลี่ยนแปลง ผู้คนจึงอพยพย้ายถิ่นออกจากสระแก้ว
บริเวณลุ่มน้ำบางปะกงมีกลุ่มบ้านเมืองเกิดขึ้นราว พ.ศ. 1900 เป็นชุมชนขนาดเล็ก ผู้คนเสาะหาของป่าเพื่อส่งส่วยให้แก่ราชธานีต่าง ๆ ต่อมาพัฒนาเป็นเมืองชายแดน เป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปยังกัมพูชา
ในสมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวารวดี สระแก้วเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ)
สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
[แก้]สระแก้วเป็นเมืองชายแดน จึงเป็นทางผ่านของกองทัพในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง โดยในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งยังเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ได้ยกทัพมาปราบปรามอริราชศัตรูที่ลักลอบเข้าโจมตี กวาดต้อนผู้คนบริเวณชายแดน มีการตั้งค่ายคูเมืองและปลูกยุ้งฉางไว้ที่ท่าพระทำนบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอำเภอวัฒนานครในปัจจุบัน ต่อมาในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากทรงหนีพม่าไปเมืองจันทบุรี โดยพาไพร่คนสนิทหนีฝ่ากองทัพพม่าไปทางทิศตะวันออก ผ่านบริเวณ ดงศรีมหาโพธิ์ อันเป็นเขตป่าต่อเนื่องจากที่ราบลุ่ม ขึ้นไปถึงที่ลุ่มดอนของเมืองสระแก้ว แล้วไปยังชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี พร้อมบุตรชาย ยกทัพไปเสียมราฐและได้แวะพักแรมในบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า สระแก้ว สระขวัญ อันเป็นที่มาของชื่อจังหวัด และในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พักทัพก่อนยกไปปราบญวน โดยเมื่อเสร็จศึกญวนแล้ว ได้สร้างบริเวณที่พักนั้นเป็นวัดตาพระยา ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอตาพระยาในปัจจุบัน
สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]สระแก้วเคยมีฐานะเป็นตำบลขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดกบินทร์บุรี ซึ่งทางราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึง พ.ศ. 2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า กิ่งอำเภอสระแก้ว โดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอกบินทร์บุรี (ในตอนนั้นจังหวัดกบินทร์บุรีถูกยุบรวมกับจังหวัดปราจีนบุรีเรียบร้อยแล้ว) ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอสระแก้ว ขึ้นอยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด เป็นจังหวัดลำดับที่ 74 ของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในสามจังหวัดที่ได้รับจัดตั้งยกฐานะเป็นจังหวัดขึ้นในปีนั้น พร้อมกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอำนาจเจริญ
ภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออกตอนบนของประเทศ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13 องศา 15 ลิปดา ถึง 14 องศา 15 ลิปดาเหนือ กับประมาณเส้นแวงที่ 101 องศา 45 ลิปดา ถึง 103 องศาตะวันออก โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
- ทิศตะวันออก ติดกับปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา
- ทิศใต้ ติดกับจังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา
ภูมิประเทศ
[แก้]สภาพทั่วไป พื้นที่จังหวัดสระแก้วโดยรวมเป็นพื้นที่ราบถึงที่ราบสูงและมีภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 74 เมตร โดยทางด้านทิศเหนือ มีทิวเขาบรรทัดซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะเป็นป่าเขาทึบได้แก่ บริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทางด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีสภาพเป็นป่าโปร่ง ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำให้เกิดสภาพป่าเสื่อมโทรม ตอนกลางมีลักษณะเป็นที่ราบ ได้แก่ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวังสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อจังหวัดจันทบุรี ทางด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นที่ราบถึงที่ราบสูง และมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ทำไร่ ทำนา และทางด้านทิศตะวันออก นับตั้งแต่อำเภอวัฒนานคร มีลักษณะเป็นสันปันน้ำและพื้นที่ลาดไปทางอำเภอเมืองสระแก้วและอำเภออรัญประเทศ เข้าเขตประเทศกัมพูชา
ลำคลองสายสำคัญมีดังนี้
- คลองพระปรง มีต้นกำเนิดจากเขาในอำเภอวัฒนานคร แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำหนุมานในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี กลายเป็นแม่น้ำปราจีนบุรี ความยาว 180 กิโลเมตร
- คลองพระสะทึง มีต้นกำเนิดจากเขาทึ่งลึ่งในอำเภอมะขาม และเขาตะกวดในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ไหลไปลงแม่น้ำพระปรงที่บ้านปากร่วม ตรงแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กับอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ความยาว 164 กิโลเมตร
- คลองน้ำใส มีต้นกำเนิดจากเขาตาเลาะและเขาตาง็อกในอำเภอวัฒนานคร และภูเขาในประเทศกัมพูชา ความยาว 74 กิโลเมตร ใช้เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
- คลองพรมโหด มีต้นกำเนิดจากเขาในตำบลช่องกลุ่ม อำเภอวัฒนานคร ไหลไปลงคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ที่หลักเขตแดนที่ 50 ความยาว 62 กิโลเมตร ถือเป็นแนวเขตอนุรักษ์ของไทยและกัมพูชา
จังหวัดสระแก้วมีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งทั้งคู่ได้รับการจดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก
ภูมิอากาศ
[แก้]สภาพภูมิอากาศแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล
- ฤดูร้อน เริ่มต้นแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,296-1,539 มิลลิเมตร
- ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27.5-28.78 องศาเซลเซียส
การเมืองการปกครอง
[แก้]การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 59 ตำบล 731 หมู่บ้าน
ประชากร
[แก้]กลุ่มชาติพันธุ์
[แก้]จังหวัดสระแก้วเป็นศูนย์รวมของคนหลายเชื้อชาติซึ่งอพยพเข้ามาพำนักอาศัยในจังหวัด
ชาวเขมรอพยพเข้ามาในสระแก้ว เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง อพยพชาวเขมรให้เข้ามาในฝั่งไทยภายหลังเหตุการณ์ที่ไทยเข้าปกครองกัมพูชาและจัดตั้งมณฑลบูรพาขึ้น แล้วถูกฝรั่งเศสยึดกัมพูชารวมทั้งมณฑลบูรพาคืนไปได้ นอกจากนี้เมื่อเกิดสงครามเวียดนามและสงครามกัมพูชาขึ้น ก็มีการอพยพชาวกัมพูชาเข้ามาในบริเวณชายแดนฝั่งไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตอำเภออรัญประเทศ
ชาวเวียดนามหรือญวนอพยพมายังจังหวัดสระแก้ว เพื่อหนีภัยสงครามเวียดนามในยุคที่เวียดนามใต้แตก โดยเดินทางผ่านประเทศกัมพูชาเข้ามา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภออรัญประเทศ
ชาวลาวมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไทยโยนกหรือลาวพุงดำ เป็นกลุ่มล้านนาเดิม อาศัยอยู่ที่อำเภอวังน้ำเย็น รวมทั้งชาวญ้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองปันนา แล้วไปตั้งรกรากที่แขวงไชยบุรีของลาว ต่อมาถูกทัพไทยกวาดต้อนลงมาที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยบางส่วนได้อพยพต่อมายังอำเภออรัญประเทศ นอกจากนี้ยังมีชาวอีสานอพยพเข้ามาประกอบอาชีพในเกือบทุกอำเภอของจังหวัดสระแก้ว
การศึกษา
[แก้]
|
ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ
|
การสาธารณสุข
[แก้]ด้านการสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ประกอบไปด้วย
- โรงพยาบาลรัฐบาล 10 แห่ง,โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 2 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง
- โรงพยาบาลรัฐบาล 10 แห่ง
- โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว (โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งแรก) อำเภอเมืองสระแก้ว
- โรงพยาบาลคลองหาด
- โรงพยาบาลตาพระยา
- โรงพยาบาลวังน้ำเย็น
- โรงพยาบาลวัฒนานคร
- โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ อำเภอวัฒนานคร
- โรงพยาบาลอรัญประเทศ
- โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์
- โรงพยาบาลวังสมบูรณ์
- โรงพยาบาลโคกสูง
- โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 2 แห่ง
- โรงพยาบาลค่ายสุรสิงหนาท อำเภออรัญประเทศ
- โรงพยาบาลกองบิน 3 อำเภอวัฒนานคร
- โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง
- โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 9 แห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 107 แห่ง
- สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี 1 แห่ง
- สถานีกาชาดที่ 6 อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
-
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว
-
ภาพมุมสูงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว
การขนส่ง
[แก้]การขนส่งทางถนน จังหวัดสระแก้วมีถนนสำคัญหลายสาย ซึ่งเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ถนนสุวรรณศร เชื่อมต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 เชื่อมต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์ และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 เชื่อมต่อกับจังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทาง โดยเส้นทางส่วนใหญ่จะผ่านอำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าที่สำคัญ
การขนส่งทางราง มีทางรถไฟสายตะวันออกพาดผ่าน โดยขบวนรถที่ให้บริการมีเฉพาะรถธรรมดาเท่านั้น เส้นทางสายนี้ไปเชื่อมต่อกับสายปอยเปตของกัมพูชาที่สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก โดยได้มีพิธีเปิดเดินรถระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562
การท่องเที่ยว
[แก้]สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในจังหวัดสระแก้วเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ มีร่องรอยอารยธรรมโบราณปรากฏอยู่ในรูปของปราสาทหิน แหล่งหินตัด และซากสิ่งก่อสร้าง กรมศิลปากรสำรวจพบปราสาทขอมในจังหวัดสระแก้วมากถึง 40 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางผ่านช่องเขา หันไปทางทิศตะวันออก (หันหน้าเข้าหานครวัด) จากหลักฐาน พบว่าปราสาทเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนจากสองฝั่งภูเขาที่ไร้เส้นเขตแดนในอดีต และตัวปราสาทยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณอีกด้วย
ปราสาทหินที่สำคัญในจังหวัดสระแก้ว ได้แก่
- อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ปราสาทหินสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกสูง เป็นปราสาทอารยธรรมเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานและประสานงานกับจังหวัดสระแก้ว เพื่อบริหารจัดการและปรับภูมิทัศน์เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งใหม่ แห่งที่ 11 ของประเทศไทย
- ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตั้งอยู่ที่อำเภออรัญประเทศ มีการค้นพบจารึกเขาน้อยและทับหลังศิลปะสมโบร์ไพกุก
อุทยานแห่งชาติที่สำคัญในจังหวัดสระแก้ว ได้แก่
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา ตั้งอยู่ในท้องที่ของอำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์และ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
การท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา
- ตลาดชายแดนบ้านคลองลึก หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ
- ตลาดการค้าชายแดนบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด
โครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา
- โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อำเภอเมืองสระแก้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกกระบือ และเป็นแหล่งเรียนให้แก่ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
อ่างเก็บน้ำ/สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- เขื่อนพระปรง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดสระแก้ว มีความจุถึง 97 ล้านลูกบาศก์เมตร จนเกือบจะเรียกว่าเขื่อน เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ที่ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร
- อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
- อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก ตั้งอยู่ระหว่างเขตติดต่อ ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว กับตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร อยู่เลยอุทยานแห่งชาติปางสีดา ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
- สวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์ เป็นภูเขาหินปูนที่มีความโดดเด่นตระหง่านอย่างเห็นได้ชัด และยังเป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเขาฉกรรจ์ บริเวณวัดยังมีลิงป่าอาศัยอยู่นับพันเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารลิงได้ มีบันไดประมาณ 300 ขั้น เพื่อขึ้นยอดเขาไปดูจุดชมวิว
การท่องเที่ยววัด/การกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
- วัดรีนิมิตร ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมืองสระแก้ว มีพระรูปเหมือน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) องค์ขนาดใหญ่ มีรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่ ให้ประชาชนสักการะ เหมาะแก่การพักผ่อน และเหมาะแก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายรูปเชิงธรรมะ
- ศาลหลักเมืองสระแก้ว ตั้งอยู่ภายในสวนกาญจนาภิเษก ตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว
- วัดแม่ย่าซอม ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด เป็นวัดที่ใหญ่และสวยงาม มีพระราหูองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพระพิฆเนศองค์ขนาดใหญ่ มีหลวงพ่อทันใจ ที่หลายๆ คนมักจะไปขอโชคลาภอยู่เสมอ และจะต้องกลับมาแก้บนอีกครั้งเพราะต่างก็สมหวังในสิ่งที่ขอ
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ริมเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอวัฒนานคร มีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ การจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯ นี้ เนื่องมาจากในอดีตกาลอำเภอวัฒนานคร เป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เคยเสด็จมาประทับในการสงครามแถบดินแดนบูรพา เมื่อปี พ.ศ.2136 พระบรมรูปประทับยืน มีความสูง 280 เมตร ชูดาบเหนือศิรเศียร แสดงพระราชอำนาจในการปกครอง ปกป้องรักษาพสกนิกรของพระองค์
- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอำเภออรัญประเทศ ประดิษฐาน อยู่ด้านข้างใกล้กับสนามไดร์ฟกอล์ฟ ค่ายสุรสิงหนาท อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดดเด่นด้วยหลังคารูปทรงมาลา (หลังคารูปหมวก) เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการรบ การปกครอง และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อปวงชนาวไทย และเพื่อน้อมระลึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามกอบกู้เอกราช ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยและขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ตกทอดมาจนถึงพวกเราชาวไทยจวบจนปัจจุบัน
- พระสยามเทวาธิราช องค์จำลอง ขนาดสูงประมาณ 1.29 เมตร ประดิษฐานอยู่บนช้างสามเศียร มีบุษบกครอบเป็นที่ประทับ อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 โดยพระครูอุทัย ธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่ามะไฟ จังหวัดปราจีนบุรี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต (สมัย ร.9) สร้างเหรียญจำลองในปี พ.ศ.2508 และได้หล่อพระสยามเทวาธิราชจำลอง ซึ่งในขณะนั้นมีเหตุการณ์สู้รบกันตามแนวชายแดนด้านอำเภออรัญประเทศการศึกสงครามมีเวลานานกว่า 7 ปี พระครูอุทัย ธรรมธารี จึงมอบองค์พระสยามเทวาธิราชจำลองให้แก่อำเภออรัญประเทศ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจ พลเรือนและประชาชน พระสยามเทวาธิราช จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแก่ชาวอำเภออรัญประเทศและจังหวัดใกล้เคียงมาจวบจนปัจจุบัน
- วัดพุทธิสาร ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร วัดนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองหมากฝ้าย ซึ่งค่อนข้างไกลจากอำเภอวัฒนานคร แม้จะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่เป็นวัดเก่าแก่เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพโบราณสถานเนื่องจากวัดนี้มีโบสถ์ไม้โบราณ อายุกว่า 120 ปี เป็นโบสถ์ไม้ที่ใช้การสลักในการสร้าง ไม่ใช้ตะปูในการก่อสร้างโบสถ์ทั้งหลัง ภายในวัดมีรูปเหมือนพระครูศีลคุณวัฒนาทร หรือหลวงปู่โห สำหรับให้พุทธศาสนิกชนกราบไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล (หลวงปู่โห ท่านเป็นเกจิดังแห่งปราจีนบุรีในอดีต) (ครั้งเมื่อตั้งแต่ที่จังหวัดสระแก้วยังเป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นกับจังหวัดปราจีนบุรี)อีกด้วย นอกจากนี้ทุกวันพฤหัส และวันอาทิตย์ ราวๆ เวลา 16.00 น. ชมนวัตวิถีชีวิตชาวบ้านมีการนำสินค้าพื้นบ้านมาขายเป็นตลาดนัดชุมชนเล็กๆภายในวัดอีกด้วย
การท่องเที่ยวแนวผจญภัย (Adventure)
- ถ้ำน้ำเขาศิวะ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ถ้ำน้ำเขาศิวะ ปี 2566 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการโหวตจากคนไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม - 18 มิถุนายน 2566 ผ่านเว็บไซต์ unseennewchapters.com โดยมีผู้เข้าร่วมโหวต กว่า 325,000 คน จนได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 25 แห่งจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในถ้ำน้ำเขาศิวะมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม รูปทรงแปลกตา มีน้ำไหลตลอดทั้งปี บางบริเวณมีลักษณะคล้ายม่านและยังมีน้ำตกเล็กๆ อยู่ภายในถ้ำอีกด้วย เหมาะสำหรับผู้รักการผจญภัยที่ว่ายน้ำ เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยว และยังมีตำนานพญานาคสีแดง ที่ชาวบ้านเคยพบเห็นแหวกว่ายอยู่ภายในถ้ำ จึงเป็นที่มาของศาลพ่อปู่นาคาที่ตั้งอยู่บริเวณปากถ้ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นศิริมงคล
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]นักร้อง
[แก้]- ตรี ชัยณรงค์
- เพลิน พรมแดน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำ พ.ศ. 2555
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดสระแก้ว
- รายชื่อวัดในจังหวัดสระแก้ว
- รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว
- รายชื่อโรงภาพยนตร์ในจังหวัดสระแก้ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. จังหวัดสระแก้ว. "เกี่ยวกับจังหวัดสระแก้ว: ที่ตั้งและอาณาเขต." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sakaeo.go.th/chapter/data2.htm [ม.ป.ป.]. สืบค้น 21 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 25 มกราคม 2565.
- ↑ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. น้ำอภิเษก. 2562.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2016-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หนังสือ สระแก้ว-เมืองชายแดนเบื้องบูรพา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว
13°49′N 102°04′E / 13.82°N 102.07°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดสระแก้ว
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย