ข้ามไปเนื้อหา

สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์
ဖက်ဆစ်ဆန့်ကျင်ရေး ပြည်သူ့လွတ်လပ်ရေး အဖွဲ့ချုပ
ประธานอู้นุ
ก่อตั้ง1–3 มีนาคม ค.ศ. 1945
ถูกยุบมิถุนายน ค.ศ. 1958
ก่อนหน้าองค์กรต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์
ถัดไปClean AFPFL, Stable AFPFL
อุดมการณ์Pro-independence movement
ชาตินิยมพม่า
สังคมนิยมแบบประชาธิปไตย
ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์
จุดยืนซ้าย
สี  สีแดง
ธงประจำพรรค
การเมืองพม่า
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (อังกฤษ: Anti-Fascist People’s Freedom League) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยกลุ่มชาตินิยมในพม่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนโยบายขับไล่ญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชให้พม่า กลุ่มนี้ได้บริหารประเทศหลังจากพม่าได้รับเอกราช จนถึง พ.ศ. 2505 จึงถูกทหารยึดอำนาจการปกครอง

การก่อตัว

[แก้]

กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยคนหนุ่มที่นิยมลัทธิชาตินิยมและเรียกตนเองว่า “ทะขิ่น” ทะขิ่นที่สำคัญได้แก่ อองซาน ถิ่นทุน เท่งเป บะส่วย ชูเมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเนวิน) ทะขิ่นส่วนใหญ่เคยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

ความร่วมมือกับญี่ปุ่น

[แก้]

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อองซานร่วมมือกับดร.บามอร์ตั้งกลุ่มเสรีภาพเพื่อเรียกร้องเอกราช เมื่อถูกอังกฤษกวาดล้าง อองซานหนีไปญี่ปุ่นและดำเนินการแบบใต้ดินนำทะขิ่นจำนวน 30 คนไปฝึกอาวุธในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2484 ทะขิ่นเหล่านี้กลับเข้าประเทศพร้อมกองทัพญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2485 และได้จัดตั้งกองทหารร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่า

จากจุดนี้ แนวคิดทางการเมืองของทะขิ่นเริ่มแตกต่างกันไป กลุ่มของอองซานสนับสนุนญี่ปุ่น ในขณะที่บางส่วนหันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์และจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าขึ้น ต่อมาเมื่อฝ่ายอองซานเรื่มแน่ใจว่าญี่ปุ่นไม่ได้จริงใจในการให้เอกราชแก่พม่า อองซานจึงเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นทั้งหมดเข้าเป็นสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ โดยมีหน่วยงานหลักคือ กองทัพแห่งชาติพม่า พรรคปฏิวัติพม่า และพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ภายหลังเมื่อทางญี่ปุ่นเริ่มไหวตัว สันนิบาตฯจึงจึงเปิดรับกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เข้าร่วมอีกมาก ดังนั้น เมื่อสงครามโลกยุติลง สันนิบาตฯจึงประกาศเป็นตัวแทนชาวพม่าทั้งหมดในการเรียกร้องเอกราช

การเรียกร้องเอกราช

[แก้]

อังกฤษไม่พอใจบทบาทของสันนิบาตฯในช่วงสงครามมากนักเพราะเคยร่วมมือกับญี่ปุ่นมาก่อน ดังนั้นเมื่อสงครามยุติลง อังกฤษจึงประกาศจะกลับมาปกครองพม่าต่อไป สันนิบาตฯจึงประกาศต่อต้านอังกฤษและจัดการชุมนุมอย่างสงบที่พระเจดีย์ชเวดากองเมื่อ พ.ศ. 2489 และไม่ให้ความร่วมมือกับตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ อย่างไรก็ตามแนวทางการต่อสู้ของผู้นำสันนิบาตฯก็มีความขัดแย้งกันเอง อองซานต้องการต่อสู้ด้วยสันติวิธีแต่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการสู้ด้วยอาวุธ พรรคคอมมิวนิสต์จึงถูกขับออกจากสันนิบาตฯในที่สุด

การเจรจาระหว่างพม่ากับอังกฤษส่งผลให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2490 และมีการลวนามในสนธิสัญญาเวียงปางหลวงกับชนกลุ่มน้อย ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ อูเซย์วางแผนยึดอำนาจโดยส่งมือปืนเข้าไปสังหารอองซานและรัฐมนตรีอื่น ๆ เมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 หลังจากนั้น อังกฤษตั้งให้อูนุเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญและดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญต่อไปจนแล้วเสร็จ อังกฤษให้เอกราชแก่พม่าเมื่อ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 สันนิบาตฯได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อมา

หลังได้รับเอกราช

[แก้]

การบริหารประเทศของสันนิบาตฯเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ และการก่อกบฏของรัฐกะเหรี่ยงและยะไข่ ฝ่ายของผู้นำเอง มีการแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนคือฝ่ายของนายกรัฐมนตรีอูนุ ทะขิ่นทิน และอูจอดุนฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายสังคมนิยมของบะส่วยกับจอเย่ง ความพยายามผ่อนปรนให้ชนกลุ่มน้อยและการส่งเสริมศาสนาพุทธที่ทำให้ผู้นับถือศาสนาอื่นไม่พอใจ เป็นเหตุให้นายพลเนวินทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2505 บทบาทของสันนิบาตฯจึงยุติลง

อ้างอิง

[แก้]
  • สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B. กทม. ราชบัณฑิตยสถาน. 2539