ข้ามไปเนื้อหา

อาคารอีสต์เอเชียติก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาคาร อีสต์ เอเชียติก)
อาคาร อีสต์ เอเชียติค
The East Asiatic Company Thailand Headquater (former)
อาคารอีสต์เอเชียติกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทอาคารอนุรักษ์
สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกทรงปัลลาดีโอ
เมืองซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างราว พ.ศ. 2434 (ราว 133 ปี )
ปรับปรุงพ.ศ. 2544
ผู้สร้างเดนมาร์ก บริษัท อีสต์เอเชียทิค
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกอันนีบาเล รีกอตตี

อาคารอีสต์เอเชียติก หรือ ตึกเก่า บริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นอาคารอนุรักษ์ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 (ซอยโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์) ติดกับท่าเรือโอเรียนเต็ล ตรงข้ามกับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ในอดีตอาคารแห่งนี้ เคยเป็นที่ทำการของบริษัทค้าไม้ บริษัทอีสต์เอเชียติก (The East Asiatic Company: EAC) จากเดนมาร์ก ประจำกรุงเทพมหานคร อาคารได้รับการออกแบบโดยอันนีบาเล รีกอตตี (Annibale Rigotti) ในช่วงปี พ.ศ. 2434 โดยก่อสร้างตามรูปแบบนีโอคลาสสิกทรงปัลลาดีโอ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อเปิดเป็นโรงแรมในกลุ่มพลาซาแอทธินี ของกลุ่มแอสเสท เวิรด์ คอร์ป[1]

ประวัติ

[แก้]

อาคารหลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นมาราวปี พ.ศ. 2434 เพื่อใช้เป็นสำนักงานของบริษัทอีสต์เอเชียติก บริษัทสัญชาติเดนมาร์กประจำประเทศไทย ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2427 โดย มร.เอ็ช เอ็น แอนเดอร์เซ่น กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก

เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโกดังเก็บสินค้าของบริษัท ต่อมาได้รื้อและสร้างอาคารนี้ขึ้นมาใหม่เพื่เป็นสำนักงานแห่งใหม่จากสำนักงานเดิมซึ่งเช่าพื้นที่อยู่ในโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 บริษัทได้ย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่ที่ลุมพินี ทาวเวอร์บนถนนสาทร[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ได้ลงนามร่วมกับกลุ่มโรงแรมโนบุในการพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นโรงแรม "เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงค็อก" โดยกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2569[3]

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

ภายหลังที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และมีการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2544 อาคารจึงอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เจริญกรุงสตูดิโอ จำกัด[4] โดยให้บริการให้เช่าสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์, โทรทัศน์, ถ่ายภาพ และผลิตผลงานเชิงพาณิชย์ จึงไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปถ่ายภาพด้านในและด้านหน้าอาคาร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 อาคารนี้จึงเปิดให้สาธารณะได้เข้าชมด้านใน ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]
อาคารอีสต์เอเชียติก (ซ้าย) โดยมี สเตท ทาวเวอร์ อยู่ทางด้านหลัง

รูปแบบของอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ของยุโรป

ตัวอาคารทางเข้าหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีบันไดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ชั้น 2 บริเวณกึ่งกลางอาคาร มีการก่ออิฐฉาบปูน 3 ชั้น ด้านบนเป็นดาดฟ้า การประดับตกแต่งอาคารค่อนข้างเรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย การทำบันไดทางขึ้นด้านหน้าลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

ผนังด้านหน้าอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางทำเป็นส่วนเน้น ของอาคาร โดยออกแบบให้ยื่นออกมาจากผนังด้านข้างเล็กน้อย และมีขนาดกว้างกว่าผนังอีก 2 ส่วนที่ขนาบข้าง ด้านบนเป็นผนังที่ก่ออิฐฉาบปูน ทำสัญลักษณ์เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ยอดโค้งครึ่งวงกลม ภายในปั้นปูนลายสมอเรืออยู่ภายในธง

อาคารชั้น 1 และชั้น 2 ผนังส่วนกลางอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 3 ซุ้ม (ส่วนละซุ้ม) และผนังที่ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ข้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 2 ซุ้ม ผนังชั้น 2 ของอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้น บริเวณระหว่างซุ้มโค้งของผนังชั้น 3 แบ่งเป็นส่วนๆ ตามชั้น 1 และ 2 แต่ละส่วนเจาะเป็นซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกันส่วนละ 2 ซุ้ม

อ้างอิง

[แก้]
  1. AWC จับมือ Nobu Hospitality เตรียมพัฒนาตึกเก่าริมน้ำเจ้าพระยา เป็นโรงแรมระดับอัลตร้าลักซ์ชูรี่
  2. สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
  3. อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "AWC จับมือ Nobu Hospitality พัฒนา `Plaza Athenee` นิวยอร์ก-กรุงเทพฯ โรงแรมระดับอัลตร้าลักซ์ชูรี่". efinancethai.com.
  4. https://facebook.com/media/set/?set=a.1621588194764504.1073741834.1509344475988877&type=3

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]