ข้ามไปเนื้อหา

อาร์นอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในปกรณัมชุด มิดเดิลเอิร์ธ ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน อาร์นอร์ (Arnor) หรือ อาณาจักรเหนือ เป็นอาณาจักรของมนุษย์ชาวดูเนไดน์ ในดินแดนแห่ง เอเรียดอร์ ในมิดเดิลเอิร์ธ ชื่อดังกล่าวน่าจะแปลว่า "ดินแดนแห่งกษัตริย์" มาจากภาษาซินดารินว่า อารา (Ara-) (แปลว่า สูงส่ง, เกี่ยวกับกษัตริย์) + (น)ดอร์ ((n) dor) (แปลว่า ดินแดน) ปรากฏอยู่ในนิยายทั้ง ซิลมาริลลิออน และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์

ในช่วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น อาณาจักรอาร์นอร์แผ่กว้างไกลครอบคลุมดินแดนเกือบทั้งหมดของเอเรียดอร์ ตั้งแต่แม่น้ำบรุยเนน กวาโธล ไปจนถึงแม่น้ำลูห์น รวมทั้งดินแดนซึ่งต่อมารู้จักในนามว่า ไชร์ ด้วย ประชากรของอาร์นอร์ประกอบด้วยชาวดูเนไดน์ในดินแดนตะวันตกตอนกลางของอาณาจักร และชาวพื้นเมืองหรือลูกครึ่ง (รวมทั้งพวกต่อต้าน)

ประวัติศาสตร์

[แก้]

อาร์นอร์ถูกตั้งขึ้นในปลาย ยุคที่สอง โดย เอเลนดิล ส่วนโอรสทั้งสองคืออิซิลดูร์และอนาริออนได้ตั้ง กอนดอร์ขึ้นในทางใต้ ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรทั้งสองแห่งนี้ประสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เรียกว่าเป็นอาณาจักรแห่งชาวดูเนไดน์ผู้ลี้ภัย

ก่อนอาณาจักรอาร์นอร์จะตั้งขึ้น ได้มีประชากรชาวนูเมนอร์จำนวนหนึ่งมาตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว อันเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นอย่างช้า ๆ ของชาวนูเมนอร์ซึ่งเริ่มในสมัยของ ทาร์-เมเนลดัวร์ และมีการอพยพอย่างจริงจังในรัชสมัยของ ทาร์-อัลดาริออน กษัตริย์นักเดินเรือ แต่ก่อนหน้าที่พวกดูเนไดน์จะมาถึง อาร์นอร์เป็นที่อยู่ของพวก 'มิดเดิล' คือบรรพบุรุษกลุ่มหนึ่งของชาวเอไดน์ ที่ได้ลงหลักปักฐานและแต่งงานกับชนพื้นเมืองในแถบนี้ แว่นแคว้นแห่งนี้เป็นดินแดนที่น่ารื่นรมย์มากกว่าดินแดนทางใต้ (เช่นแถบกอนดอร์) เนื่องจากเหล่าเอลฟ์ ประชากรของ กิลกาลัด อาศัยอยู่ใกล้เพียงข้ามแม่น้ำลูห์นเท่านั้น อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาหลังจากที่ชาวนูเมนอร์ตกอยู่ภายใต้เงาอันชั่วร้ายของเซารอน พวกเขามักไปตั้งรกรากในดินแดนทางใต้ตามเมืองท่าต่างๆ เช่นเพลาร์เกียร์และอัมบาร์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเอเลนดิลมาถึงดินแดนทางเหนือ ผู้คนที่นั่นจึงยังเป็นมิตรกับเหล่าพราย ไม่เหมือนกับชาวนูเมนอร์พลเมืองของเขาเอง ศิลปวิทยาการต่างๆ แห่งยุคบรรพกาลก็ถูกเก็บรักษาไว้ในอาณาจักรอาร์นอร์ มากกว่าในกอนดอร์ทางใต้

กษัตริย์แห่งอาร์นอร์องค์ที่สอง คือ อิซิลดูร์ (พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกอนดอร์เช่นกัน) ถูกสังหารโดย ออร์ค ซึ่งซุ่มโจมตีกองกำลังของพระองค์ในเหตุการณ์วิบัติแห่ง ทุ่งแกลดเดน โอรสองค์ใหญ่สามองค์ของอิซิลดูร์ หนึ่งในนั้นคือ เอเลนดูร์ ผู้ที่สามารถเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งพวกดูเนไดน์ผู้ลี้ภัย ได้ถูกสังหารพร้อมกับพระองค์ คงเหลือเพียงโอรสองค์ที่สี่ที่เยาว์วัยที่สุด คือ วาลันดิล รอดชีวิต เนื่องจากเวลานั้นอยู่ในอารักขาของเอลรอนด์ในริเวนเดลล์ ต่อมาวาลันดิลจึงได้กลายเป็นกษัตริย์แห่งอาร์นอร์

เนื่องจากวาลันดิลและทายาทไม่ได้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์แห่งกอนดอร์ อาณาจักรทั้งสองจึงแยกออกจากกัน แต่ผู้ปกครองแห่งอาร์นอร์ยังคงนับว่าเป็น จอมกษัตริย์ (High King) ในขณะที่ทางใต้ ผู้ปกครองเป็น 'เพียง' กษัตริย์ (King) เท่านั้น

เมืองและสถานที่สำคัญในอาร์นอร์

[แก้]
  • อันนูมินัส เมืองหลวงของอาณาจักร ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบ เนนนุยยัล
  • อะโครโปรลิส
  • ลิสบาส
  • แซนเกียร์
  • คาร์นดูม ภายหลังถูกฝ่ายอธรรมยึดไปตั้งเป็นเมืองหลวงของอังก์มาร์
  • ไมอาร์นิส

การล่มสลายและการรวมอาณาจักรใหม่

[แก้]

อาณาจักรอาร์นอร์ถึงกาลล่มสลายเมื่อเหล่าภูตแหวน บริวารของเซารอน นำโดยวิชคิง บุกเข้าโจมตีอาณาจักรและยึดครอง อังก์มาร์ ไปได้ ก่อตั้งเป็นอาณาจักรอังก์มาร์ ทำให้อำนาจของอาร์นอร์ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกษัตริย์องค์สุดท้าย คือ อาร์เวดุย ทรงสูญหายไปในระหว่างการเดินทัพเรือ เป็นอันสิ้นสุดอาณาจักรเหนือที่เคยเกรียงไกร

ทายาทวงศ์กษัตริย์แห่งอาร์นอร์คงสืบสายต่อมาอย่างลับๆ ในหมู่ พรานป่า หรือคนจรแห่งแดนเหนือ ภายใต้การสนับสนุนคุ้มกันของริเวนเดลล์ จนกระทั่งถึงยุคสมัยของ อารากอร์น บุตรแห่งอาราธอร์น จึงเป็นยุคสมัยของสงครามแหวน อารากอร์นเป็นกำลังสำคัญในการนำเหล่าอิสระชนแห่งมิดเดิลเอิร์ธเข้าต่อกรกับเซารอน หลังสิ้นสุดสงครามแหวน พระองค์จึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาร์นอร์และกอนดอร์ เป็นการรวมอาณาจักรทั้งสองเข้าด้วยกันอีกครั้งหลังจากต้องแยกออกจากกันเป็นเวลากว่าสามพันปี

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Unfinished Tales
    • เหตุการณ์ว่าด้วย ทาร์-อัลดาริออน กษัตริย์นักเดินเรือ และการบุกเบิกมิดเดิลเอิร์ธของชาวนูเมนอร์ ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ตอน "อัลดาริออนและเอเรนดิส : ชายานาวิก"
    • งานเขียนเรื่อง "เหตุวิบัติแห่งทุ่งแกลดเดน" ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้

อ้างอิง

[แก้]
  • เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน, ซิลมาริลลิออน, ลอนดอน:สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์
  • เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน, ลอร์ดออฟเดอะริงส์, ลอนดอน:สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์