ข้ามไปเนื้อหา

เกมแอนด์วอตช์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Game & Watch
ชื่อเรียกอื่นG&W, Tricotronic (ออสเตรีย, เยอรมนีตะวันตก), Time-Out (อเมริกาเหนือ)
ผู้พัฒนา任天堂開発第一部 (Nintendo R&D1)
ชนิดชุดของเครื่องเล่นเกมพกพา
รุ่นที่เครื่องเล่นวิดีโอเกม ยุคที่สอง
วางจำหน่าย28 เมษายน ค.ศ. 1980 (1980-04-28) (บอล)
พร้อมการค้าปลีก
  • รุ่นดั้งเดิม:
  • ค.ศ. 1980–1991
  • รุ่นจอสี:
  • ค.ศ. 2020–2021
หน่วยขายป. 43.4 ล้านเครื่อง
พลังงานรุ่นดั้งเดิม:

ถ่านกระดุม

รุ่นจอสี:

1000 mAh ลิเทียม-ไอออน
หน่วยประมวลผลชาร์ป ตระกูล SM5xx
การแสดงผลจอภาพผลึกเหลว
การเชื่อมต่อรุ่นจอสี: USB Type-C
เกมขายที่ที่สุดดองกีคอง (8 ล้านเครื่อง)[1]
รุ่นต่อไปตระกูลเกมบอย

เกมแอนด์วอตช์ (Game & Watch; ญี่ปุ่น: ゲーム&ウオッチโรมาจิGēmu & Uotchi) เป็นตราสินค้าของชุดเครื่องเล่นเกมที่พัฒนา, ผลิต และจัดจำหน่ายโดยบริษัท นินเท็นโด (Nintendo) ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1980–1991 เป็นผลงานสร้างสรรค์ระดับตำนานของโยโกอิ กุมเป (ญี่ปุ่น: 横井軍平โรมาจิYokoi Gunpei) โดยได้ไอเดียจากการที่เขาเห็น คนนั่งในรถไฟฟ้าหยิบเอาเครื่องคิดเลขมากดเล่น[2]

ประวัติ

[แก้]
สิทธิบัตรการออกแบบของเกมแอนด์วอตช์รุ่น Multi Screen

เกมแอนด์วอตช์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องเล่นเกมพกพาแบบแรก ๆ ของโลก มีขนาดเล็กใส่กระเป๋าเสื้อ หยิบมาเล่นแก้เบื่อทันใจ และเป็นนาฬิกาด้วย (ตั้งแต่รุ่นปี ค.ศ. 1981 สามารถตั้งปลุกได้)[3] ใช้ถ่านกระดุม หนึ่งเครื่องคือหนึ่งเกม จอภาพเทคโนโลยีผลึกเหลว (LCD)[4][5] มักจะเป็นสีดำสีเดียว มีภาพตำแหน่งการเคลื่อนที่ตายตัว ผู้เล่นเพียงกดปุ่ม ซ้าย-ขวา หรือ บน-ล่าง สามารถเลือกเล่น Game A หรือ Game B ซึ่งยากขึ้น สะสมคะแนนสูงสุดได้ที่ 999 แล้วกลับไปเริ่ม 0 ใหม่ ตาย 3 ครั้งเป็นอันจบเกม โดยระหว่างนี้จะมี ป๊อก เพิ่มชีวิตเมื่อคะแนนถึง 200 และ 500

เกมแรกที่ผลิตออกมา คือ "เกมบอล (Ball : 28 เมษายน 1980)" เกมยอดฮิตอื่น ๆ เช่น

ไฟไหม้ (Fire : 31 กรกฎาคม 1980), เดินตกหลุม (Manhole : 29 มกราคม 1981), วิ่งเข้าบ้าน (Helmet : 21 กุมภาพันธ์ 1981), สิงโต (Lion : 29 เมษายน 1981), โดดร่ม (Parachute : 19 มิถุนายน 1981), ปลาหมึก (Octopus : 16 กรกฎาคม 1981), ป็อปอาย (Popeye : 5 สิงหาคม 1981), มิกกี้เม้าส์ (Mickey Mouse : 9 ตุลาคม 1981), ดองกีคอง (Donkey Kong : 3 มิถุนายน 1982) ฯลฯ

ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ในโอกาสที่ เกมแอนด์วอตช์เครื่องแรกออกมาครบรอบ 30 ปี นินเท็นโดก็ออกเกมแอนด์วอตช์ บอล (Ball : 30 เมษายน 2010 เริ่มส่งตั้งแต่ปลายปี 2009) สำหรับสมาชิกคลับนินเท็นโดเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป การเล่นเหมือนของเดิมทุกประการ แต่ปรับปรุงพัฒนาตัวเครื่อง ใช้ถ่านก้อนเดียว ผลิตในประเทศจีน

ต่อมาปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) เนื่องในโอกาสที่เกม Mario Bros. (ในเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม (Super Famicom) ครบรอบ 35 ปี (1985–2020) และเกมแอนด์วอตช์ก็ครบรอบ 40 ปีด้วย[6] นินเท็นโดก็ได้ผลิตซ้ำเกม Super Mario Bros. ย่อขนาดมาในรูปลักษณ์ของตัวเครื่องเกมแอนด์วอตช์จอสี Color screen, D-Pad controller, ปุ่ม A, B ภายในมีสามเกมให้เล่น คือ Super Mario Bros., Super Mario Bros. II the Lost Levels และ Mario Ball (เหมือนเกมแอนด์วอตช์ บอล แต่เปลี่ยนหน้าเป็นมาริโอ)[7] วางจำหน่าย 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020

เกมแอนด์วอตช์เป็นต้นกำเนิดไอเดียมากมายหลายอย่าง เช่น ปุ่มบังคับทิศทางรูปเครื่องหมายบวก "D-pad" (เดิมเรียก PLUS controller), ระบบฝาพับของเกมบอยแอ็ดวานซ์ SP, การเล่นเกมหลายจอภาพในนินเท็นโด ดีเอส ฯลฯ

เกมแอนด์วอตช์ของนินเทนโด เป็นเครื่องเกมที่ฮิตโด่งดังไปทั่วโลก ผลิตออกมาหลายซีรีส์ ขายได้กว่า 43.4 ล้านเครื่อง โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น 12.87 ล้านเครื่อง และต่างประเทศ 30.53 ล้านเครื่อง[8] ตัวเครื่องทำงานบนหน่วยประมวลผลกลางขนาด 4 บิต ของบริษัทชาร์ป ตระกูล SM5xx โดยมี ROM และพื้นที่ RAM ขนาดเล็ก รวมทั้งวงจรขับการแสดงผลจอภาพผลึกเหลว

นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทจากหลายประเทศ ที่ทำเกมในรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกับเกมแอนด์วอตช์ หรืออาจจะก้อปปี้ทั้งหมด รวมถึงดัดแปลงพัฒนาไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย

ซีรีส์

[แก้]

เกมกดออกมาด้วยกันถึง 9 ซีรีส์ คือ

  • Silver Series แผ่นเพลตหน้าเครื่อง โลหะสีเงิน
  • Gold Series แผ่นเพลตหน้าเครื่อง โลหะสีทอง
  • Wide Screen Series จอภาพกว้างขึ้น
  • Multi Screen Series ฝาพับ สองจอภาพ
  • Table Top (Color Screen) ภาพสี มีกระจกสะท้อน เครื่องใหญ่ขึ้นหน้าตาเหมือนเกมอาร์เคด วางบนโต๊ะ
  • New Wide Screen จอภาพกว้าง เพลตหน้าเครื่องหลากสี
  • Panorama Screen Series ภาพสี มีกระจกพับสะท้อนภาพ ทำขนาดเล็กสำหรับพกพา
  • Super Color จอสอดสี
  • Micro VS System เล่นได้ 2 คน
  • Crystal Screen Series จอใส เห็นพื้นหลัง
  • Special Edition รุ่นผลิตโอกาสพิเศษ คือ Super Mario Bros. (YM-901-S ปี 1987) ตัวเครื่องสีเหลือง ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุในกล่องเคสตัวการ์ตูน Disk-Kun สีเหลือง[9] ซึ่งผลิตออกมาเพียง 10,000 เครื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ Famicom Disk System และแจกสำหรับผู้ที่ชนะเกม Nintendo's F-1 Grand Prix tournament ไม่มีวางจำหน่ายและหายากมาก, Ball (2010 ทำซ้ำใหม่) และ Super Mario Bros. เหมือนในเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม จอภาพสี (2020)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Epstein, David (27 มิถุนายน 2019). "Chapter 9: Lateral Thinking with Withered Technology". Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. Pan Macmillan. p. 196. ISBN 978-1-5098-4351-0. The Donkey Kong Game & Watch was released in 1982 and alone sold eight million units.
  2. "Searching for Gunpei Yokoi | The Rainmakers | The Escapist". v1.escapistmagazine.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2020.
  3. "Feature: The History of the Nintendo Game & Watch". Nintendo Life (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 24 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2020.
  4. Cary (16 พฤษภาคม 2013). "Digital game + digital clock = Game & Watch!". Recollections of Play (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2020.
  5. "Game & Watch (Franchise)". Giant Bomb (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2020.
  6. Goldman, David (13 กันยายน 2020). "Nintendo is bringing back a super-retro handheld from the 1980s". CNN. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2020.
  7. Gilliam, Ryan (3 กันยายน 2020). "Mario gets a new Game & Watch for his 35th anniversary". Polygon. Vox Media. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2020.
  8. "Iwata Asks: Game & Watch: 4. Absorbed in Development". Nintendo of America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  9. Holy Grails – Game & Watch. Famicom World.

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]