ข้ามไปเนื้อหา

เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องบินขับไล่ เอฟ-22 แร็พเตอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐ สกัดกั้น Tu-95 ของรัสเซียใกล้อลาสก้า

เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ[1] (อังกฤษ: Air defense identification zone: ADIZ) คือพื้นที่ทางอากาศเหนือเขตแดนทางบกและทางทะเลรวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล หรือพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ถูกกำหนดขึ้นมาโดยละประเทศ เพื่อสังเกตเห็นและเฝ้าระวังอากาศยาน รวมถึงเข้าควบคุมอากาศยานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ[2]

หลายครั้งเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศถูกขยายออกไปนอกเส้นเขตแดนของประเทศซึ่งแม้ในหลักการยังถือว่าพื้นที่นั้นเป็นน่านฟ้าสากลอยู่[2] ซึ่งเส้นแนวเขตดังกล่าว ไม่ได้มีกฎหมายหรือระเบียบระหว่างประเทศใด ๆ ให้การรับรองแต่อย่างใด แต่มักจะมีระบุในเอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publications: AIP) ของแต่ละประเทศ

เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามเย็น กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดหรืออาวุธนิวเคลียร์[1] โดยสหรัฐอเมริกาประกาศใช้หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติระหว่างสงครามเกาหลี[3]

เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศมักจะถูกสับสนกับอาณาเขตแถลงข่าวการบิน (Flight information region: FIR) ซึ่งใช้สำหรับการจัดการจราจรทางอากาศในการบินพาณิชย์โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ระยะขอบเขต

[แก้]

ระยะขอบเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศนั้นในแต่ละประเทศจะถูกกำหนดแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่และผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายครั้งมีการประกาศทับซ้อนกันระหว่างประเทศ

เอเชียตะวันออก

[แก้]

ญี่ปุ่น

[แก้]
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเหนือญี่ปุ่น (สีน้ำเงิน), เกาหลีใต้ (สีเขียว), จีน (สีชมพู), และไต้หวัน/สาธารณรัฐจีน (สีส้ม)

ประเทศญี่ปุ่นมีเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ ถูกกำหนดโดยกองกำลังสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรมแดนของเขตด้านตะวันตกสิ้นสุดที่ 123° องศาตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะโยะนะกุนิเท่านั้น และทางฝั่งตะวันตกครึ่งหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ญี่ปุ่นได้ประกาศขยายเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศออกไปโดยรอบเกาะโยะนะกุนิออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร เพื่อสอดคล้องกับน่านน้ำอาณาเขตของตน จนเกิดการทับซ้อนกับเขตของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองประเทศได้พูดคุยถึงแนวปฏิบัติบริเวณดังกล่าวร่วมกันเรียบร้อยแล้ว[4]

ในขณะเดียวตามรายงานของไชนาเน็ทเวิร์กเทเลวิชั่นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ประเทศจีนและรัสเซียประกาศว่าไม่ยอมรับเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่น

ไต้หวัน

[แก้]
แผนที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน แสดงการจู่โจมในเดือนกันยายน 2563 ทางตะวันตกเฉียงใต้และการข้ามเส้นกลางของช่องแคบไต้หวันโดยกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน

ไต้หวันมีเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ช่องแคบไต้หวันเกือบทั้งหมด ครอบคลุมไปถึงส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง และเจียงซีของจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนหนึ่งของทะเลจีนตะวันออก

น่านฟ้าของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไต้หวันถูกออกแบบโดยกองทัพสหรัฐเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[5] โดยพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นข้อมูลฐานของอาณาเขตแถลงข่าวการบินไทเปอีกด้วย[6]: 15 

ถึงแม้การประกาศเขตจะครอบคลุมไปยังพื้นที่แผ่นดินของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เที่ยวบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจะไม่ถูกรายงานว่าเป็นภัยคุกคาม จนกว่าจะมาถึงเส้นคั่นกลางระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันบริเวณช่องแคบไต้หวัน โดยงบประมาณประมาณ 9 เปอร์เซ็นในการป้องกันประเทศของไต้หวันถูกใช้เพื่อตอบโต้สกัดกั้นการก่อกวนของประเทศจีน[7] บริเวณพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ที่ล้ำเส้นคั่นกลางช่องแคบไต้หวัน คือช่องแคบ Bashi ระหว่างไต้หวันและฟิลิปปินส์[7][2]

เกาหลีใต้

[แก้]

ประเทศเกาหลีใต้มีพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกือบครอบคลุมน่านฟ้าทั้งหมด[8] ยกเว้นบางพื้นที่ที่ห่างไกล[8] ซึ่งก่อตั้งโดยกองทัพอากาศสหรัฐในระหว่างสงครามเกาหลีเมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อใช้สำหรับสกัดกั้นกองกำลังของลัทธิคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น[8]

ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อตอบโต้การประกาศเขตที่ครอบคลุมพื้นที่พิพาทโดยประเทศจีน เกาหลีใต้ประกาศขยายเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะมาราโดและฮองโด และไอโอโด (Socotra Rock) ซึ่งเป็นกลุ่มหินใต้น้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งมีเนื้อที่ทับซ้อนกันกับประเทศจีน[8]

แนวปฏิบัติเมื่ออากาศยานมีเส้นทางบินเข้าสู่หรือตัดผ่านพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกาหลี (KADIZ) จะต้องส่งแผนการบินล่วงหน้า 1 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สำหรับเครื่องบินพลเรือนที่มีเส้นทางการปินปกติจะต้องยื่นแผนการบินไปยังศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศทุก ๆ ครั้ง ซึ่งหากทำตามแผนการบินที่ได้ยื่นไว้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงแผนหรือเส้นทางการบินอย่างกระทันหัน กองทัพอากาศเกาหลีใต้จะนำเครื่องบินขึ้นเพื่อติดตามและพร้อมที่จะสกัดกั้น

หลังจากการปรับปรุงเขตระหว่างจีนและเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2556 ความตรึงเครียดบริเวณพื้นทีทับซ้อนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่ออาณาเขตแถลงข่าวการบินของทั้งสามชาติที่อยู่บริเวณนั้นทับซ้อนกัน คือเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น[9] โดยเครื่องบินรบจีนได้ล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกาหลี (KADIZ) ถึง 5 ครั้งในปี พ.ศ. 2561[10]

จีน

[แก้]

ประเทศจีนมีพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศหลักอยู่เหนื่อแผ่นดินจีน ซึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จีนได้ประกาศจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรก เป็นการประกาศเขตในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาในการประกาศเขตขณะนั้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ครอบคลุมหมู่เกาะเซ็งกากุที่อยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น และไอโอโด (Socotra Rock) ซึ่งเป็นกลุ่มหินใต้น้ำที่พิพาทกับเกาหลีใต้ รูปแบบที่สอง คือเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของจีนที่ทับซ้อนกับเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศประเทศเพื่อนบ้าน โดยบังคับใช้พื้นที่ดังกล่าวกับทั้งอากาศยานพลเรือนและอากาศยานทางทหารที่บินผ่านเข้าไป โดยไม่คำนึงถึงปลายทางของอากาศยานนั้น[11][12]

ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธรายงานที่ระบุว่ากำลังพิจารณาเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ที่คล้ายคลึงกันในทะเลจีนใต้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนนั้นไม่ใช่ภัยคุกคามของตน[13]

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[แก้]

ไทย

[แก้]
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (TADIZ)

ประเทศไทยกำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (Thailand Air Defense Identification Zone: TADIZ) ในบริเวณเหนือพื้นดินและผืนน้ำของประเทศไทย โดยกองทัพอากาศได้กำหนดเขตออกเป็น 2 ชั้น[14] ประกอบไปด้วย

  • เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศล่วงหน้า (Thailand Air Defense Identification Buffer Zone: TAD-BUZ) กำหนดระยะ 100 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ เป็น 2 ชั้นคือ
    • เขตนอก (Twilight Zone: TIZ) คือระยะตั้งแต่ 50-100 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ
    • เขตใน (Midnight Zone: MIZ) คือระยะตั้งแต่ 0-50 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ
  • เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (Thailand Air Defense Identification Zone: TADIZ) กำหนดเป็นเส้นเหนือเขตแดนประเทศไทยบนพื้นดิน รวมไปถึงบนผืนน้ำลากคลุมพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ

สำหรับเครื่องบินที่จะเข้ามาในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (TADIZ) หากอากาศยานอยู่ภายในพื้นที่จะต้องยื่นแผนการบิน IFR หรือ VFR ต่อศูนย์ควบคุมการบินในสนามบินนั้น ๆ เพื่อดำเนินการส่งต่อมายังศูนย์ควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (VTBBZRZX) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อากาศยานที่เดินทางจากภายนอกเขต TADIZ จะต้องยื่นรายงานต่อผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศอย่างน้อย 10 นาที หากไม่สามารถติดต่อหอควบคุมการบินได้อาจจะติดต่อกับสถานีควบคุมการสกัดกั้นภาคพื้นในพื้นที่ดังกล่าว[15]

เครื่องบินขับไล่และโจมตีของกองทัพอากาศไทย

สำหรับการปฏิบัติเมื่อมีอากาศยานไม่สามารถระบุตัวตนเข้ามาในระยะของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (TADIZ) หรืออากาศยานปฏิบัตินอกแผนการบิน ออกนอกเส้นทางการบิน หรือเบี่ยงออกจากเส้นทาง 10 ไมล์ทะเลเหนือพื้นดิน 20 ไมล์ทะเลเหนือพื้นน้ำจากเส้นทางที่กำหนดให้ กองทัพอากาศไทยจะดำเนินการส่งอากาศยานขึ้นบินเพื่อสกัดกั้น และพิจารณาการใช้อาวุธได้หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเจ้าของเครื่องบินจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภารกิจสกัดกั้น[15]

ในกรณีอากาศยานจากภายนอกเขต หากอากาศยานนั้นบินเข้ามาในระยะเขตนอก (Twilight Zone) อากาศยานนั้นจะถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ทราบฝ่าย และหากเข้ามาในระยะเขตใน (Midnight Zone) และยังพิสูจน์ทราบไม่ได้จะดำเนินการสั่งการให้อากาศยานขึ้นติดต่อสื่อสารด้วยสายตา เพื่อแสดงตัวตน และดำเนินการผลักดันหรือดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป[15]

เอเชียใต้

[แก้]

บังคลาเทศ

[แก้]
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของบังคลาเทศ

ประเทศบังคลาเทศมีการประกาศเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเหนือจากพรมแดนออกไปทางทะเลตามพิกัดต่อไปนี้

  1. 21°07′44.80″N 89°13′56.50″E / 21.1291111°N 89.2323611°E / 21.1291111; 89.2323611
  2. 18°15′54.12″N 89°21′47.56″E / 18.2650333°N 89.3632111°E / 18.2650333; 89.3632111
  3. 16°43′28.74″N 89°25′54.37″E / 16.7246500°N 89.4317694°E / 16.7246500; 89.4317694
  4. 20°13′06.30″N 92°00′07.60″E / 20.2184167°N 92.0021111°E / 20.2184167; 92.0021111
  5. 20°03′32.00″N 91°50′31.80″E / 20.0588889°N 91.8421667°E / 20.0588889; 91.8421667
  6. 17°52′34.06″N 90°15′04.66″E / 17.8761278°N 90.2512944°E / 17.8761278; 90.2512944

ทุกเที่ยวบินของอากาศยาน ทั้งอากาศยานพลเรือน อากาศยานทหาร ทั้งของบังคลาเทศเองและต่างชาติที่มีต้นทางภายในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ และเที่ยวบินที่จะเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ จะต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้าและผ่านกระบวนการ Air Defense Clearance (ADC)

หากอากาศยานที่ล่วงล้ำเข้ามาและไม่ผ่านขั้นตอนการยืนยันตัวตนหรือกระบวนการ Air Defense Clearance (ADC) จะถูกกองทัพอากาศบังคลาเทศบินขึ้นสกัดกั้น[16]

อินเดีย

[แก้]

ประเทศอินเดียกำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โดยอากาศยานที่จะบินผ่านเข้ามาจะต้องแจ้งล่วงหน้า 10 นาทีก่อนเข้าเขต โดยแบ่งเป็น 6 เขต[17] เหนือเขตแดนประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบไปด้วย

  1. เหนือพรมแดนปากีสถาน
  2. เหนือพรมแดนเนปาล
  3. เหนือพรมแดนจีน
  4. เหนือพรมแดนด้านตะวันออกที่ติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน พม่า
  5. เหนือทะเลทางตอนใต้ของประเทศ
  6. เหนือทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

การบังคับใช้เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของประเทศอินเดียนั้นเป็นหน้าที่ของกองทัพอากาศอินเดีย โดยตรวจสอบผ่านระบบเรดาร์ และดำเนินการด้วยอากาศยานหรือจรวดพื้นสู่อากาศในพื้นที่ดูแลเฉพาะของกองทัพบกและกองทัพเรืออินเดีย สำหรับการสกัดกั้นตามสถานการณ์[17]

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การบินพลเรือนจะช่วยยืนยันหมายเลข Air Defense Clearance (ADC) ให้กับอากาศยานที่บินเข้ามาในพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเพื่อจัดการจราจรทางอากาศในกรณีที่มีความจำเป็น[18]

อเมริกาเหนือ

[แก้]

สหรัฐและแคนาดา

[แก้]
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ระหว่างสหรัฐและแคนาดาในปี พ.ศ. 2553

ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้กำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศร่วมกันในภาคพื้นทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐดูแล 2 เขตในอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐ และเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศบริเวณรัฐอลาสก้า และอีก 2 เขต นอกทวีปอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศฮาวาย และเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศกวม

ในขณะที่แคนาดาดูแลอีก 2 เขตในทวีปอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศนอกชายฝั่งทะเลแปซิฟิกเหนือชายฝั่งบริติชโคลัมเบีย และอีกส่วนครอบคลุมหมู่เกาะอาร์กติกของแคนาดาและเมืองในมหาสมุทรแอตแลนติก

ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ พื้นที่ดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ที่ต้องการเข้าสู่น่านฟ้าสหรัฐเท่านั้น[19] สำหรับการบัญชาการและควบคุมการป้องกันภัยทางอากาศนั้นถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยแบ่งเขตเป็น 5 เขตในทวีปอเมริกาเหนือ หากการตรวจสอบทางวิทยุสื่อสารไม่สามารถทำได้จะส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐขึ้นตรวจสอบผู้บุกรุกด้วยสายตา

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี (2563). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ความชอบด้วยกฎหมายของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ เขตอำนาจรัฐและบทบาทขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะนิติศาสตร์. คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย.
  2. 2.0 2.1 2.2 "จีนส่งเครื่องบินรบ 38 ลำเข้าเขตป้องกันของไต้หวัน". BBC News ไทย. 2021-10-02.
  3. R. P. Anand, Origin and Development of the Law of the Sea (Martinus Nijhoff, 1983) p171
  4. "Japan extends ADIZ into Taiwan space". taipeitimes.com. Taipei Times. 26 June 2013. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  5. "Chinese aircraft enters Taiwan's ADIZ for 7th time in 8 days | Taiwan News | 2020-09-25 10:59:00".
  6. 許書耕、賴威伸、胡智超、李宇欣、陳春益、林東盈、李威勳、陳佑麟、袁永偉、盧立昕 (2018). "第三章 我國空域與桃園國際機場空側". 構建空域模擬模式之研究 : 以臺北終端管制區域為例 (ภาษาจีนตัวเต็ม). 臺北市: 交通部運輸研究所. ISBN 9789860557862.
  7. 7.0 7.1 Shattuck, Thomas J. (April 7, 2021). "Assessing the Patterns of PLA Air Incursions into Taiwan's ADIZ - Foreign Policy Research Institute". Global Taiwan Brief. 6 (7).
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "Seoul considers southward expansion of air defense zone". The Korea Herald. December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  9. "Air defense zones of China, S. Korea overlap", Yonhap news, November 24, 2013
  10. "Chinese military jet enters S. Korean air defense zone". Yonhap News. 29 August 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "Air Defense Identification Zone". GlobalSecurity.org. สืบค้นเมื่อ 29 November 2013.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. Rick Gladstone and Matthew L. Wald (27 November 2013), China's Move Puts Airspace in Spotlight The New York Times
  13. Xuequan, Mu (2 February 2014). "China dismisses ADIZ reports, optimistic about South China Sea situation". xinhuanet.com. Xinhua News Agency. สืบค้นเมื่อ 1 February 2014.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "F-16ของไทยเราถัาประเทศเพื่อนบ้านส่งเครื่องบินรบมา". Pantip.
  15. 15.0 15.1 15.2 "AIR TRAFFIC SERVICES". aip.caat.or.th (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-04-09.[ลิงก์เสีย]
  16. "ESTABLISHING AIR DEFENCE IDENTIFICATION ZONE OVER BANGLADESH" (PDF). www.caab.gov.bd. Civil Aviation Authority, Bangladesh. 1 February 2018. สืบค้นเมื่อ 25 November 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. 17.0 17.1 http://glcmumbai.com/lawreview/volume9/03JoshuaAbhayPatnigere.pdf
  18. "Integrated Air Defence for the Indian Airspace".
  19. Abeyratne, Ruwantissa (2011-09-13). "In search of theoretical justification for air defence identification zones" (PDF). Journal of Transportation Security. Springer Nature. 5 (1): 87–94. doi:10.1007/s12198-011-0083-2. ISSN 1938-7741. S2CID 153873530. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-07-09.