เจ้าจอมสมบูรณ์ ในรัชกาลที่ 5
เจ้าจอม สมบูรณ์ ในรัชกาลที่ 5 | |
---|---|
เกิด | สมบุญ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2420 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (81 ปี) |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
บิดามารดา | ซุ้ย มันประเสริฐ บุญมา มันประเสริฐ |
เจ้าจอมสมบูรณ์ ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม มันประเสริฐ; 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2420 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2501) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติ
[แก้]เจ้าจอมสมบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2420 ที่บ้านถนนสำเพ็ง จังหวัดพระนคร เป็นธิดาคนโตของซุ้ย มันประเสริฐ (พ.ศ. 2404 – พ.ศ. 2470} และบุญมา มันประเสริฐ บิดานั้นสืบสกุลมาจาก หมื่นประเสริฐ หรือ เจ้าสัวมัน นายอากรในรัชกาลที่ 3 นามสกุลนี้จึงได้รับพระมหากรุณาพระราชทานว่า "มันประเสริฐ" เจ้าจอมสมบูรณ์มีน้องร่วมมารดา 4 คน ร่วมบิดาอีก 4 คน ถึงแก่กรรมครั้งยังเยาว์เกือบทุกคน มีน้องชายที่มีชีวิตจนโตเพียงคนเดียว คือ ใหม่ มันประเสริฐ แต่ก็ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้าจอมสมบูรณ์
เมื่อสมบูรณ์มีอายุพอสมควร บิดาจึงส่งเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าจอม รับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทมาตลอดทั้งในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังดุสิต กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมสมบูรณ์จึงกราบถวายบังคมทูลลาออกมาพำนักอยู่บ้านเดิมที่สำเพ็ง แต่ยังคงเข้าเฝ้าพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ที่วังสวนสุนันทาโดยตลอด กระทั่งพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472
เจ้าจอมสมบูรณ์ได้ดูแลบิดาซึ่งป่วยเป็นเส้นประสาทพิการเพราะตกภูเขาคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประพาสเกาะช้าง จนบิดาถึงแก่กรรมขณะอายุ 67 ปี ในปี พ.ศ. 2470 เจ้าจอมสมบูรณ์ยังได้สร้างและบริจาคสิ่งของให้แก่สถานที่ต่าง ๆ เช่น
- สร้างศาลาอุทิศให้เนย ศรุตานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2473 และสร้างกุฏิอุทิศให้แด่บรรพบุรุษ เมื่อปี พ.ศ. 2486 (ทั้งสองแห่งสร้างไว้ที่วัดนรนาถสุนทริการาม)
- รับเป็นแม่งานวาดภาพพระธาตุหริภุญชัย ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- บริจาคเงิน 120,000 บาท สร้างหอพักนิสิตหญิงให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว)
- บริจาคพระราชนิพนธ์เงาะป่า 100 เล่มให้ห้องสมุดเป็นวิทยาทาน เมื่อคราวทำบุญอายุครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2492
เจ้าจอมสมบูรณ์มักพยายามแสวงหาความรู้ใส่ตัวเสมอ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2499 ขณะอายุ 80 ปี ได้เดินทางโดยเครื่องบินไปเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก๊า กับกระสินธุ์ มันประเสริฐ บุตรบุญธรรม และครั้งหลังสุดก่อนอนิจกรรม ได้เดินทางไปล่องแก่งที่จังหวัดเชียงใหม่ กับคณะของคุรุสภา
เจ้าจอมสมบูรณ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2500 ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2501 จึงเริ่มป่วยด้วยเบาหวานกำเริบ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเวลา 20.45 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2501 สิริอายุ 81 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2500 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2449 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน) (ในราชกิจจานุเบกษาเขียนว่า เจ้าจอมสมบุญ)[1]
อ้างอิง
[แก้]- นิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5: ( พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมสมบุญ ท.จ. ในรัชกาลที่ 5 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 17 มกราคม 2502)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า (หน้า 894) เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน