ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าสามกรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมหมื่นจิตรสุนทร
พระองค์เจ้ามังคุด
ประสูติกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์วัดโคกพระยา กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ฝังพระศพวัดโคกพระยา
พระชายาพระองค์เจ้ากระแห
หม่อมหม่อมมูล
พระบุตรพระองค์เจ้าเต
พระองค์เจ้าสุทิน
พระองค์เจ้าแฉ่ง
หม่อมเจ้ามวน
หม่อมเจ้าสิริวัฒน์
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ศาสนาเถรวาท
ถูกกล่าวหากบฏ
รับโทษสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
กรมหมื่นสุนทรเทพ
พระองค์เจ้ารถ
ประสูติกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์วัดโคกพระยา กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ฝังพระศพวัดโคกพระยา
หม่อมพระองค์เจ้ายี่สุ่น
ชายาหม่อมทองอยู่
หม่อมชื่น
พระบุตรพระองค์เจ้ามวน
หม่อมเจ้าองุ่น
หม่อมเจ้าขี้หมู
หม่อมเจ้าสุนปุก
หม่อมเจ้าอำพัน
หม่อมเจ้าสุชน
หม่อมเจ้าชุมแสง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ศาสนาเถรวาท
ถูกกล่าวหากบฏ
รับโทษสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
กรมหมื่นเสพภักดี
พระองค์เจ้าปาน
ประสูติกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์วัดโคกพระยา กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ฝังพระศพวัดโคกพระยา
ชายาหม่อมเจ้าจัน
พระบุตรหม่อมเจ้าไพฑูรย์
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ศาสนาเถรวาท
ถูกกล่าวหากบฏ
รับโทษสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เจ้าสามกรม เป็นคำเรียกพระราชโอรส 3 พระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่พระสนม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี พระองค์เจ้าทั้ง 3 พระองค์เป็นพระราชโอรสที่มีพระชันษาเป็นผู้ใหญ่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าสามกรมถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทั้ง 3 พระองค์

พระประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระสนมหลายพระองค์ ที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มี 4 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าแขก พระองค์เจ้ามังคุด พระองค์เจ้ารถ และพระองค์เจ้าปาน ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์แล้ว พระองค์เจ้าทั้ง 4 พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรม ได้แก่

  • พระองค์เจ้าแขก ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นเทพพิพิธ
  • พระองค์เจ้ามังคุด ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นจิตรสุนทร
  • พระองค์เจ้ารถ ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นสุนทรเทพ
  • พระองค์เจ้าปาน ได้รับการสถาปนาที่ กรมหมื่นเสพภักดี

เจ้าสามกรมทรงขัดแย้งกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ขณะดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สาเหตุหนึ่งมาจากการที่กรมพระราชวังบวรมีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรมและนายเวรปลัดเวรของเจ้าสามกรมมาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์กันในกรมให้เป็นขุนซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้างคนละ 20 ทีบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หาพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรรับเป็นสัจแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระนลาฏแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขณะมีพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่ก่อนพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ อันเนื่องมาจากเจ้าสามกรมได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงขอให้พระราชาคณะ 5 รูป มีพระเทพมุนีเป็นประธาน ไปเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ ต่อมา เจ้าสามกรมถูกจับกุมตัวและสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ โดยนำพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี

พระโอรสธิดา

[แก้]

บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุพระนามพระโอรสธิดาของเจ้าสามกรมไว้ดังนี้[1]

พระองค์เจ้าชายมังคุด กรมหมื่นจิตรสุนทร

มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ ประสูติแต่พระองค์เจ้าหญิงกระแห คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงเต (ชะฎา)
  2. พระองค์เจ้าชายสุทิน (สูวดี)
  3. พระองค์เจ้าชายแฉ่ง (ชมภู)

พระธิดา 1 พระองค์ไม่ปรากฏนามหม่อมมารดา คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงมวน

และพระธิดาอีก 1 พระองค์ประสูติแต่หม่อมมูล คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงสิริวัฒน์
พระองค์เจ้าชายรถ กรมหมื่นสุนทรเทพ

มีพระธิดา 1 พระองค์ที่ประสูติแต่พระองค์เจ้าหญิงยี่สุ่น คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงมวน (ม่วง)

มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ประสูติแต่หม่อมทองอยู่ คือ

  1. หม่อมเจ้าหญิงองุ่น (อรุณ)
  2. หม่อมเจ้าชายขี้หมู (สูจี)
  3. หม่อมเจ้าชายสุนปุก (สีพี)
  4. หม่อมเจ้าหญิงอำพัน

และพระโอรสอีก 2 พระองค์ประสูติแต่หม่อมชื่น คือ

  1. หม่อมเจ้าชายสุชน
  2. หม่อมเจ้าชายชุมแสง
พระองค์เจ้าชายปาน กรมหมื่นเสพภักดี

มีพระโอรสธิดา 1 พระองค์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าจัน คือ

  1. หม่อมเจ้าชายไพฑูรย์

อ้างอิง

[แก้]
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. 2455.
  1. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 628-9. ISBN 978-616-7146-08-9