ข้ามไปเนื้อหา

เพลงยาวบัตรสนเท่ห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


เพลงยาวบัตรสนเท่ห์
ชื่ออื่นเพลงยาวบัตรสนเท่ห์แต่งว่าจมื่นราชามาตย์
กวีพระมหามนตรี (ทรัพย์)
ประเภทบัตรสนเท่ห์
คำประพันธ์กลอนเพลง
ความยาว54 คำกลอน
ยุคต้นรัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งรัชกาลที่ 3
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

เพลงยาวบัตรสนเท่ห์ หรือ เพลงยาวบัตรสนเท่ห์แต่งว่าจมื่นราชามาตย์ เป็นเพลงยาว ที่ พระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (ระหว่าง พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2394) เพื่อเสียดสีและเปิดโปง จมื่นราชามาตย์ หรือ พระยามหาเทพ (เดิมชื่อนายทองปาน) เพลงยาวฉบับนี้ไม่มีชื่อ จึงเรียกตามเนื้อหาและลักษณะของกลอน นั่นคือแต่งเป็นบัตรสนเท่ห์แล้วไปทิ้งไว้ให้ผู้คนอื่นทั่วไปได้อ่าน เพื่อเป็นการประจานหรือเปิดโปงผู้ที่ถูกกล่าวไว้ในกลอน แต่เนื้อหาไม่หยาบคาย จึงเป็นที่กล่าวถึงและท่องจำกันได้ในหมู่ผู้นิยมกาพย์กลอน

ประวัติ

[แก้]

แม้เพลงยาวฉบับนี้จะเป็นบัตรสนเท่ห์ ซึ่งไม่ระบุชื่อผู้แต่ง แต่ผู้คนในเวลานั้นย่อมรู้ดีว่าเป็นฝีปาก หรือสำนวนของใคร ด้วยในสมัยนั้น การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย ผู้คนมีจำนวนไม่มาก พอจะรู้และคุ้นสำนวนกันอยู่ ว่ากลอนของใคร อีกอย่างหนึ่ง พระมหามนตรีก็เป็นกวีที่มีชื่อเสียงอยู่ในเวลานั้น (ท่านยังมีชื่อเสียงจากบทละครล้อเลียนเรื่อง ระเด่นลันได ด้วย) จึงโจษจันกันว่าผู้แต่งคือพระมหามนตรีนั่นเอง ทว่ามิได้มีการแจ้งความฟ้องร้องแต่อย่างใด

บัตรสนเท่ห์ฉบับนี้ แต่งแล้วได้นำไปปิดไว้ที่ระเบียงโรงตำรวจในวัง อันเป็นที่ทำการของจมื่นราชามาตย์นั่นเอง จมื่นราชามาตย์ผู้นี้ มีตำแหน่งเป็นปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ถือศักดินา 800 ภายหลังได้เลื่อนยศเป็นพระยามหาเทพเสพกษัตริย์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ถือศักดินา 2,000

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า ในครั้งนั้น น่าจะมีคนชังพระยามหาเทพ (ทองปาน) ผู้นั้นอยู่มาก เมื่อได้อ่านเพลงยาวบัตรสนเท่ห์ฉบับนี้ก็มิได้ฟ้องร้องแต่อย่างใด

เนื้อหาและคำประพันธ์

[แก้]

คำประพันธ์ในเรื่องเป็นกลอนเพลงยาว หรือกลอนแปด ขึ้นต้นด้วยวรรครับ มีความยาวเพียง 54 คำกลอน (27 บทกลอน) มีการใช้ภาษาที่ไพเราะ และรัดกุม เจาะจงเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อจมื่นราชามาตย์ เสียดสีและเยาะเย้ย ความหยิ่งยโส อวดดี การวางอำนาจ และยังเอ่ยชื่อโดยตรงทั้ง "ราชามาตย์" และ "นายทองปาน" นอกจากนี้ยังเอ่ยถึงบริวารอีกสามคน คือ "ไชยภักดี", "ศรีสังหาร" และ "แสนใจรบ" เมื่อเอ่ยถึงอย่างชัดเจนเช่นนี้ ผู้คนย่อมจะนึกออกได้ทันที ว่าหมายถึงผู้ใด ขณะเดียวกัน ก็ได้พรรณนาพฤติกรรมต่างๆ อย่างชัดเจนเช่นกัน