เอลิซาเบธแห่งยอร์ก
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก | |
---|---|
สมเด็จพระราชินีเเห่งอังกฤษ | |
ดำรงพระยศ | 8 มกราคม ค.ศ. 1486 - 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503 |
ประสูติ | 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1466 พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน |
สิ้นพระชนม์ | 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503 (37 ปี) พระราชวังริชมอนด์ ลอนดอน |
พระราชสวามี | พระเจ้าเฮนรีที่ 7 |
พระบุตร | อาเทอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มาร์กาเร็ต ทิวดอร์ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แมรี ทิวดอร์ |
ราชวงศ์ | ยอร์ก |
พระบิดา | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 |
พระมารดา | เอลิซาเบธ วูดวิลล์ |
ลายพระอภิไธย |
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Elizabeth of York) (11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1466 - 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503)
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก[1]ประสูติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1466 ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน เป็นพระธิดาองค์โตในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษและสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์ พระราชินีเอลิซาเบธแห่งยอร์กทรงเสกสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 7 เมื่อปี ค.ศ. 1486 เป็นพระราชินีตั้งแต่ วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1486 จนสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503 ที่พระราชวังริชมอนด์ ลอนดอน พระราชินีเอลิซาเบธเป็นพระเชษฐภคิณีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แห่งอังกฤษ และพระราชมารดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ
วัยเยาว์
[แก้]เอลิซาเบธแห่งยอร์ก หรือ เอลิซาเบธ แพลนทาเจเนต เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1466 ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระองค์เป็นพระธิดาคนโตในบรรดาพระโอรสธิดาแปดคนของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ พระมเหสี การสมรสของพระบิดามารดาของพระองค์ได้สร้างปัญหาใหญ่ที่ทำให้พระบิดาของพระองค์ถูกปลดออกจากตำแหน่งเป็นระยะสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1470 ในปี ค.ศ. 1471 ผู้แย่งชิงบัลลังก์กับพระบิดาของพระองค์ถูกปราบและสังหาร ชีวิตช่วงแรกของเอลิซาเบธค่อนข้างสงบแม้ว่าความขัดแย้งและสงครามจะดำเนินอยู่รอบตัวพระองค์
ในปี ค.ศ. 1469 ได้มีการตกลงกันว่าจะให้เอลิซาเบธวัย 3 พรรษาหมั้นหมายกับจอร์จ เนวิลล์ แต่การหมั้นหมายถูกเลื่อนออกไปจนกระทั่งจอร์จเสียชีวิต เนื่องจากจอห์น เนวีล บิดาของจอร์จได้ประกาศตนเป็นศัตรูกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในช่วงที่มีการก่อจราจล ซึ่งเป็นยุคแห่งความวุ่นวายและสงครามกลางเมืองระหว่างราชวงศ์ยอร์กและราชวงศ์แลงคาสเตอร์ สงครามแย่งชิงบัลลังก์อังกฤษที่เกิดขึ้นนี้ถูกเรียกว่า "สงครามดอกกุหลาบ" เดือนกันยายน ค.ศ. 1470 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ต้องหนีเมื่อเอิร์ลแห่งวอริคและมาร์เกอรีตแห่งอ็องฌูจากฝั่งแลงคาสเตอร์คุกคามชีวิตของพระองค์ เอลิซาเบธ วูดวิลล์หลบภัยอยู่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์เพื่อคุ้มกันความปลอดภัยให้ลูก ๆ
เอลิซาเบธน่าจะได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการในพระราชวังตอนพระชนมายุ 5-6 พรรษา ทรงศึกษาประวัติศาสตร์และการเล่นแร่แปรธาตุจากพระบิดาและห้องสมุดของพระบิดา พระองค์กับพี่น้องหญิงเรียนรู้ทักษะที่พระราชินีในอนาคตควรมีจากนางกำลังและจากการดูเอลิซาเบธ วูดวิลล์เป็นตัวอย่าง หนึ่งในทักษะเหล่านั้นคือการอ่านเขียนภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และการบริหารครัวเรือน รวมถึงการเย็บปักถักร้อย, การขี่ม้า, ดนตรี และการเต้นรำ พระองค์พูดภาษาฝรั่งเศสได้แต่ไม่ค่อยคล่อง ทรงเป็นเด็กสาวผู้อ่อนโยนและเป็นที่รักของพระบิดามารดาและพี่น้อง และศรัทธาในพระเจ้าอย่างที่สุด
ปี ค.ศ. 1475 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสได้หมายตาบัลลังก์อังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงบุกฝรั่งเศสเป็นการตอบโต้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศสตัดสินใจทำสนธิสัญญาสันติภาพโดยมีเงื่อนไขว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะต้องยกพระธิดาให้ดูแฟ็งชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งฝรั่งเศส เอลิซาเบธวัย 11 พรรษาถูกจับหมั้นหมายกับดูแฟ็งชาร์ลส์ พระโอรสวัย 5 พรรษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1475 ตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาปิกคีนญี ทว่าในปี ค.ศ. 1482 การหมั้นหมายเป็นอันยุติเมื่อกษัตริย์ฝรั่งเศสไม่เคารพข้อตกลงและทำผิดสัญญา
การสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
[แก้]ปี ค.ศ. 1483 การสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้นำพัดพาพายุร้ายมาสู่ราชวงศ์ยอร์กของอังกฤษ พระมารดาของเอลิซาเบธได้พาลูก ๆ ไปอยู่ในสถานที่คุ้มภัย ขณะที่พระอนุชาของพระองค์ถูกประกาศให้เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แต่เนื่องด้วยกษัตริย์มีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา ริชาร์ด แพลนทาเจเนต พระปิตุลาของพระองค์จึงถูกประกาศชื่อเป็นผู้พิทักษ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก่อนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 จะได้รับการสวมมงกุฎ ริชาร์ดได้จองจำพระองค์กับริชาร์ด พระอนุชาของพระองค์ที่หอคอยแห่งลอนดอน ริชาร์ด แพลนทาเจเนตได้ยึดบัลลังก์อังกฤษมาครอบครองเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และได้ประกาศให้การสมรสของพระบิดามารดาของเอลิซาเบธแห่งยอร์กไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทรงอ้างว่าในตอนที่ทำการสมรสพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้หมั้นหมายอยู่กับหญิงอื่น
หลังพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ขึ้นครองราชย์ได้ระยะหนึ่ง เจ้าชายทั้งสองซึ่งเป็นทายาทชายที่ยังมีชีวิตอยู่ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ก็ได้หายตัวไป แม้เอลิซาเบธจะถูกประกาศให้เป็นบุตรนอกสมรสแต่มีข่าวลือว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มีแผนที่จะสมรสกับพระองค์ การทรยศหักหลังของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทำให้เลดีวูดวิลล์เกลียดชังพระอนุชาของพระสวามีเป็นอย่างมาก พระองค์หันไปร่วมมือกับมาร์กาเร็ต โบฟอร์ตแห่งราชวงศ์แลงคาสเตอร์ซึ่งเป็นมารดาของเฮนรี ทิวดอร์ ผู้อ้างตนเป็นทายาทในบัลลังก์ เอลิซาเบธถูกจับหมั้นหมายกับเฮนรี ทิวดอร์ มีคนตั้งข้อสันนิษฐานว่าเอลิซาเบธ วูดวิลล์คงรู้หรืออย่างน้อยก็พอจะเดาได้ว่า "เจ้าชายในหอคอย" พระโอรสทั้งสองของตนสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์จึงพยายามจับพระธิดาสมรสกับเฮนรี ทิวดอร์
พระราชินีแห่งอังกฤษ
[แก้]เฮนรี ทิวดอร์โจมตีกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และปราบพระองค์ที่สมรภูมิบอสเวิร์ธ จากนั้นได้ยึดบัลลังก์แห่งอังกฤษตั้งตนเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 พระองค์ได้ลบล้างมลทินและประกาศให้ลูก ๆ ของเลดีวูดวิลล์เป็นพระโอรสธิดาที่เกิดจากการสมรสอย่างถูกต้องของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กับเลดีเอลิซาเบธ วูดวิลล์
การสมรสของพระองค์กับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก ทายาทแห่งราชวงศ์ยอร์กถูกเลื่อนออกไปหลายเดือนเพื่อให้พิธีราชาภิเษกของพระองค์เรียบร้อยเสียก่อน สุดท้ายทั้งคู่ก็สมรสกันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1486 การสมรสได้รวมราชวงศ์แลงคาสเตอร์ที่มีตัวแทนคือพระเจ้าเฮนรีที่ 7 (ซึ่งอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษจากการพิชิต ไม่ใช่จากชาติกำเนิด) กับราชวงศ์ยอร์กที่มีตัวแทนคือเอลิซาเบธเข้าด้วยกัน สัญลักษณ์ของกษัตริย์แลงคาสเตอร์ที่สมรสกับพระราชินียอร์กได้รวมกุหลาบแดงแห่งแลงคาสเตอร์กับกุหลาบขาวแห่งยอร์กเข้าด้วยกัน ถือเป็นการจบสิ้นสงครามดอกกุหลาบ พระเจ้าเฮนรีได้นำเอากุหลาบทิวดอร์ที่มีทั้งสีแดงและสีขาวมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์
แหล่งข้อมูลบางฉบับกล่าวว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ไม่ได้มีใจรักเอลิซาเบธ พระองค์นับถือพระนางที่เป็นคนอ่อนโยน, มีจิตใจเอื้อเฟื้อ และเป็นบุคคลแสนวิเศษผู้เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน เอลิซาเบธวางตัวอยู่ห่างจากการเมืองแต่ก็ให้การสนับสนุนพระสวามีอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าผู้ภักดีต่อราชวงศ์ยอร์กส่วนหนึ่งจะยังคงมองว่าพระนางคือทายาทโดยชอบธรรมในบัลลังก์ก็ตาม เอลิซาเบธใช้เวลามากมายไปกับการเดินทาง บางครั้งก็มีพระสวามีร่วมเดินทางด้วย แต่โดยส่วนมากพระองค์มักเดินทางเพียงลำพังไปในดินแดนซึ่งอยู่ห่างไกลของราชอาณาจักร หลังสมรสไม่นานพระองค์ได้ตั้งครรภ์และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1486 พระองค์ได้ให้กำเนิดพระโอรสชื่ออาร์เธอร์ที่ต่อมาได้รับการสวมมงกุฎเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์
วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1487 เอลิซาเบธได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระราชินีแห่งอังกฤษ การสมรสของพระองค์กับพระเจ้าเฮนรีที่ 7 เป็นจุดเริ่มต้นในราชบัลลังก์บริเตนของราชวงศ์ทิวดอร์
พระโอรสธิดา
[แก้]เอลิซาเบธแห่งยอร์กมีชีวิตสมรสที่สงบสุข พระองค์กับพระเจ้าเฮนรีมีพระโอรสธิดาด้วยกันแปดคน คือ
- อาร์เธอร์ (ประสูติ 19 กันยายน ค.ศ. 1486) เจ้าชายแห่งเวลส์และรัชทายาท สิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา
- มาร์กาเร็ต ทิวดอร์ (ประสูติ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1489) พระราชินีคู่สมรสแห่งสกอตแลนด์จากการสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 4 และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระเจ้าเจมส์ที่ 5 พระโอรส เป็นพระอัยกีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์และเฮนรี สจวต ลอร์ดดาร์นลีย์
- พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (ประสูติ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1491)
- เอลิซาเบธ ทิวดอร์ (ประสูติ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1492) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
- แมรี ทิวดอร์ (ประสูติ 18 มีนาคม ค.ศ. 1496) พระราชินีแห่งฝรั่งเศสจากการสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 เป็นพระอัยกีของเลดีเจน เกรย์
- เอ็ดเวิร์ด ทิวดอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1498)
- เอ็ดมุนด์ ทิวดอร์ (ประสูติ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1499) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
- แคทเธอรีน (ประสูติ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503) สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
ปี ค.ศ. 1501 อาร์เธอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระโอรสคนโตของทั้งคู่สมรสกับกาตาลินาแห่งอารากอน ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สามของทั้งพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และเอลิซาเบธแห่งยอร์ก หลังจากนั้นไม่นานกาตาลินากับอาร์เธอร์ล้มป่วยด้วยโรคเหงื่อออกซึ่งทำให้อาร์เธอร์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1502 สร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้แก่สองสามีภรรยา
พระเจ้าเฮนรีรักพระโอรสของพระองค์มากกว่าสิ่งใดในโลก ความรักของพระองค์พังลงเมื่อพระโอรสสิ้นพระชนม์ บันทึกหลายฉบับกล่าวว่าพระองค์เศร้าเสียใจอย่างรุนแรง และเมื่อเอลิซาเบธ พระมเหสีเข้ามาปลอบโยนพระองค์ ความรักของทั้งคู่ก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พระนางได้บอกแก่พระองค์ว่าทั้งตนและพระองค์ยังอายุน้อย สามารถมีพระโอรสธิดาได้อีกหลายคนเท่าที่ต้องการ คำพูดดังกล่าวปลอบใจกษัตริย์ได้เป็นอย่างดี
การสวรรคต
[แก้]สันนิษฐานกันว่าเอลิซาเบธได้ตั้งครรภ์อีกครั้งหลังพยายามจะมีทายาทชายในบัลลังก์อีกคนหลังอาร์เธอร์สิ้นพระชนม์ เผื่อกรณีที่เฮนรี พระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่อีกคนเกิดสิ้นพระชนม์ การตั้งครรภ์ทายาทเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของพระราชินีคู่สมรส โดยเฉพาะสำหรับราชวงศ์ใหม่อย่างทิวดอร์ แต่ระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงทำให้ร่างกายของพระองค์อ่อนแออย่างมากจนเกิดภาวะติดเชื้อหลังคลอดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1503 เอลิซาเบธแห่งยอร์กวัย 37 พรรษาได้สวรรคตในหอคอยแห่งลอนดอนด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดพระโอรสธิดาคนที่แปดซึ่งเป็นพระธิดานามว่าแคทเธอรีนที่สิ้นพระชนม์หลังการคลอดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ในตอนที่สวรรคตพระองค์เหลือพระโอรสธิดาอยู่เพียงสามคน คือ มาร์กาเร็ต, เฮนรี และแมรี ร่างของเอลิซาเบธแห่งยอร์กถูกฝังที่โบสถ์น้อยของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ในวิหารเวสต์มินสเตอร์
หลักฐานทางเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 กับเอลิซาเบธแห่งยอร์กมีอยู่ไม่มาก แต่เอกสารที่หลงเหลืออยู่หลายฉบับกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่เป็นความรักที่นุ่มนวลอ่อนโยน ตลอดชีวิตสมรส กษัตริย์ไม่เคยมีสนมลับ พระองค์อยู่กับพระมเหสีและมีสายสัมพันธ์รักใกล้ชิดร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในสายตาของที่ปรึกษาผู้จงรักภักดีที่มองว่ากษัตริย์ไม่ควรมีความรู้สึกต่อคู่สมรสมากเกินไป แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 หาได้สนใจ พระองค์ยังคงรักและใส่ใจพระมเหสีจนถึงวันสุดท้ายของพระนาง
นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งอ้างว่าหลังการสวรรคตของเอลิซาเบธ พระเจ้าเฮนรีปลีกวิเวกเพียงลำพังและสั่งห้ามไม่ให้ใครมารบกวนการไว้อาลัยให้แก่การจากไปของพระมเหสีของพระองค์ พระองค์เริ่มล้มป่วยและไม่สามารถดึงตัวเองออกมาจากความเศร้าโศกได้ สมาชิกหลายคนในราชสำนักของพระองค์เริ่มมองพระองค์เป็นผู้ปกครองและคนที่ไร้ความสามารถ พระองค์เอาแต่สะอื้นและกลายเป็นคนไม่พูดไม่จา สมาชิกราชสำนักแนะนำให้พระองค์สมรสใหม่และมีข้อเสนอสมรสถูกยื่นเข้ามามากมาย แต่พระองค์ก็ยังครองตนเป็นม่ายและสวรรคตในปี ค.ศ. 1509 ร่างของพระองค์ถูกฝังเคียงข้างกับเอลิซาเบธ พระมเหสีผู้ล่วงลับของพระองค์ในโบสถ์น้อยของพระองค์เอง