เฮนรี เบอร์นี
เฮนรี เบอร์นี | |
---|---|
เกิด | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2335 |
เสียชีวิต | 4 มีนาคม พ.ศ. 2388 (53 ปี) กัลกัตตา อินเดียภายใต้การปกครองบริติชราช |
อาชีพ | นักการทูต |
คู่สมรส | เจเน็ต แบนเนอร์แมน |
บุตร | 13 คน |
บิดามารดา |
|
เฮนรี เบอร์นี (อังกฤษ: Henry Burney; 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1792 — 4 มีนาคม ค.ศ. 1845)[1] หรือ หันตรีบารนี[2]
ประวัติ
[แก้]เฮนรี เบอร์นี เป็นพ่อค้าและทูตชาวอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ บิดาชื่อ ริชาร์ด ทอมัส เบอร์นี (1768-1808) ครูใหญ่โรงเรียนสอนเด็กกำพร้าที่คิดเดอร์พอร์ มารดาชื่อ เจน เบอร์นี (1772-1842)[3] เขาเป็นหลานชายของนักเขียน ฟรานซิส เบอร์นี (1752-1840) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1818 สมรสกับเจเน็ต แบนเนอร์แมน (1799-1865)[4] ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ในจอร์จทาวน์ ปีนัง มาลายา มีบุตรธิดาร่วมกัน 13 คน โดย 8 คนยังมีชีวิตอยู่เมื่อเขาเสียชีวิต[5] เจเน็ตเป็นหลานสาวของจอห์น อเล็กซานเดอร์ แบนเนอร์แมน ผู้เป็นผู้ว่าราชการปีนังในมาลายา[4]
เฮนรี เบอร์นี เสียชีวิตในทะเลเมื่อ ค.ศ. 1845 ร่างของเขาถูกฝังในสุสานมิชชันบนถนนพาร์กในกัลกัตตา[5]
การทำงาน
[แก้]ค.ศ. 1807 เบอร์นีได้เข้าร่วมกับบริษัทอินเดียตะวันออก ค.ศ. 1818 ปีเดียวกับที่เขาสมรสกับเจเน็ต แบนเนอร์แมน เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นร้อยโทและเสนาธิการกรมทหารราบพื้นเมืองเบงกอลที่ 20 รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองปีนัง และเลขานุการฝ่ายทหารให้แก่ผู้ว่าราชการแบนเนอร์แมน[4] ในภายหลัง เขาได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออก โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเทศพม่าและสยาม ระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1823-1826)
หลังจากเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนทูตการเมืองในสยามใน ค.ศ. 1825[4] เขาได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีต่อมา ซึ่งได้มีการทำสัญญาระหว่างทั้งสองประเทศในสนธิสัญญาเบอร์นี และข้อตกลงทางพาณิชย์ซึ่งกระตุ้นการพัฒนาการค้าระหว่างภูมิภาคสยามกับทวีปยุโรป เขายังได้เข้าร่วมในการเจรจาพรมแดนสองฝ่ายระหว่างสยามกับพม่าใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้มีเพียงพรมแดนบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ในจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้นที่ยังคงเป็นกรณีพิพาท
หลัง ค.ศ. 1829 เบอร์นีเป็นทูตชาวอังกฤษในราชสำนักของพระเจ้าจักกายแมงในอังวะ ที่ซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการเจรจาคืนหุบเขากาบอจากมณีปุระให้แก่พม่า[6]
ใน ค.ศ. 1834 เขาได้รับการเลื่อนยศให้เป็นพันโท[4] ในกองทัพเบงกอล[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Holmes and Co. (Calcutta), The Bengal Obituary, London: 1851, W. Thacker, p. 209
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 57
- ↑ ibid., p. 208
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Descendants of James Bannerman" — genealogy
- ↑ 5.0 5.1 The Bengal Obituary, p. 209
- ↑ Hall, D. G. E. (1950) "Chapter XIII: The First Residency and the Annexation of Pegu (1826-1855)" Burma เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Hutchinson University Library, London, p. 108, OCLC 513262
- ↑ D.G.E. Hall, Henry Burney: A Political Biography, Oxford Univ. Press, 1974