ข้ามไปเนื้อหา

แคทรินแห่งแลงคัสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคทเธอรีนแห่งแลงคัสเตอร์
พระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยาและเลออน
ครองราชย์ค.ศ. 1393–1406
ประสูติ31 มีนาคม ค.ศ. 1373
ปราสาทฮาร์ตฟอร์ดในฮาร์ตฟอร์ดเชอร์
สวรรคต2 มิถุนายน ค.ศ. 1418 (45 พรรษา)
ฝังพระศพอาสนวิหารโตเลโด แคว้นกัสติยา-ลามันชา
พระสวามีพระเจ้าเอนริเกที่ 3 แห่งกัสติยา
พระบุตรพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งกัสติยา
กาตาลินา ดัชเชสแห่งบิเยนา
มาริอาแห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน
ราชวงศ์แลงคัสเตอร์
พระบิดาจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์
พระมารดากอนส์ตันซาแห่งกัสติยา ดัชเชสแห่งแลงคัสเตอร์

แคทเธอรีนแห่งแลงคัสเตอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยาและเลออน (อังกฤษ: Catherine of Lancaster) หรือ แคทเธอรีน แพลนทาเจเนต (อังกฤษ: Catherine Plantagenet) เป็นพระธิดาของจอห์นแห่งกอนต์ ดยุคที่ 1 แห่งแลงคัสเตอร์กับกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา พระชายาพระองค์ที่สอง ทรงเป็นพี่น้องร่วมพระบิดาเดียวกันกับโจแอน โบฟอร์ต, พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ และฟิลิปปาแห่งแลงคัสเตอร์ พระองค์อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเอนริเกที่ 3 แห่งกัสติยาและเลออน และเป็นพระมารดาของพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งกัสติยา

สงครามการสืบบัลลังก์กัสติยา

[แก้]

แคทเธอรีนแห่งแลงคัสเตอร์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1373 ที่ปราสาทฮาร์ตฟอร์ด บิดาของพระองค์คือจอห์นแห่งกอนต์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ ซึ่งเป็นพระโอรสที่มีชีวิตรอดพระองค์ที่สามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษกับพระราชินีฟีลิปแห่งแอโน ส่วนมารดาของพระองค์คือกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา ชายาคนที่สองของจอห์นแห่งกอนต์ และเป็นพระธิดาของพระเจ้าเปโดรผู้โหดเหี้ยมแห่งกัสติยากับมาริอา เด ปาดิยา จอห์นแห่งกอนต์กับกอนส์ตันซามีบุตรชายอีกหนึ่งคนชื่อว่าจอห์นซึ่งเสียชีวิตในวัยทารก แคทเธอรีนได้รับการบรรยายไว้ว่ามีผิวสีขาวและดวงตาสีฟ้า ผมของพระองค์มีสีก้ำกึ่งระหว่างสีบลอนด์แดงกับสีน้ำตาลแดง

กอนส์ตันซาแห่งกัสติยา มารดาของแคทเธอรีนเป็นพระธิดาคนโตและทายาทของพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาที่ไม่มีทายาทชายไว้สืบทอดบัลลังก์ พระเจ้าเปโดรถูกเอนริเกแห่งตรัสตามารา พระอนุชาต่างมารดาซึ่งเป็นบุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยาสังหารและยึดสิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าเอนริเกที่ 2 จอห์นแห่งกอนต์ได้แสดงสิทธิ์ในกัสติยาและเลออนตามสิทธิ์ของภรรยาและยื่นมือเข้าไปแย่งชิงบัลลังก์กัสติยา ต่อมาเมื่อพระเจ้าเอนริเกที่ 2 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 ผู้ที่ขึ้นมาสืบทอดบัลลังก์กัสติยาต่อจากพระองค์คือพระเจ้าฆวนที่ 1 พระโอรส

ภาพการยอมจำนนต่อจอห์นแห่งกอนต์ของซานเตียโกเดกอมโปสเตลา หญิงสาวที่นั่งอยู่บนหลังม้าคือแคทเธอรีนแห่งแลงคัสเตอร์

จอห์นแห่งกอนต์ได้วางแผนการหลากหลายวิธีในการรุกรานกัสติยาเพื่ออ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ กระทั่งในปี ค.ศ. 1386 พระองค์ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสและยกทัพขึ้นฝั่งในคาบสมุทรไอบีเรีย วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1386 จอห์นแห่งกอนต์กับกอนส์ตันซาพร้อมด้วยกองเรืออังกฤษ-โปรตุเกสขนาดใหญ่ล่องเรือออกจากอังกฤษไปขึ้นฝั่งที่อาโกรุญญาทางตอนเหนือของสเปนในวันที่ 29 กรกฎาคม โดยแคทเธอรีนได้ร่วมเดินทางไปสเปนพร้อมกับบิดามารดาด้วย

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคม จอห์นแห่งกอนต์ได้ตั้งราชสำนักและสำนักงานสถานทูตขึ้นในโอว์แรนเซและได้รับการสวามิภักดิ์จากขุนนางกาลิเซียและเมืองส่วนใหญ่ในกาลิเซีย จอห์นมีความหวังว่าจะทำสงครามเอาชนะชาวกัสติยาได้แต่พระองค์ก็ไม่รีบร้อนที่จะทำสงครามจนส่งผลให้ต้องเสียทรัพย์จำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายในกองทัพ ในเดือนพฤศจิกายน พระองค์ได้พบปะกับพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสและได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการลงมือรุกรานกัสติยาตอนกลางในช่วงต้นปี ค.ศ. 1387 ข้อตกลงได้รับการผนึกความแน่นแฟ้นด้วยการสมรสของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 กับฟิลิปปาแห่งแลงคัสเตอร์ ธิดาของจอห์นที่มีกับบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ ชายาคนแรก

ทว่าทหารหลายคนของจอห์นเริ่มล้มป่วย เมื่อการรุกรานเริ่มต้นขึ้นอังกฤษจึงมีทหารจำนวนน้อยกว่าโปรตุเกสชาติพันธมิตร การสู้รบที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1387 ประสบความล้มเหลว ขณะเดียวกันกองทัพอังกฤษ-โปรตุเกสได้ถูกก่อกวนโดยทหารรับจ้างชาวฝรั่งเศสของพระเจ้าฆวนแห่งกัสติยา ทหารอังกฤษส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคร้ายและความเหนื่อยล้า ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้ทิ้งกองทัพหนีไป

การสมรส

[แก้]

จอห์นตัดสินใจรับข้อเสนอยุติความขัดแย้งจากพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยาที่เสนอให้ธิดาของพระองค์สมรสกับอินฟันเตเอนริเก พระโอรสของพระเจ้าฆวน เงื่อนไขข้อหนึ่งในข้อตกลงกำหนดให้กอนส์ตันซาแห่งกัสติยาสละการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์กัสติยารวมถึงสินเดิมติดตัวอย่างเมืองโซเรีย, อัลมาซัน, อาติเอนซา, เดซา และโมลินา ข้อตกลงได้รับข้อสรุปในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1388 ที่เมืองบายอนในกัสกอญ

แคทเธอรีนสมรสกับอินฟันเตเอนริเกแห่งกัสติยาวัย 9 พรรษาที่อาสนวิหารปาเลนเซีย ต่อมาเอนริเกได้สืบทอดบัลลังก์กัสติยาหลังพระบิดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1390 ปี ค.ศ. 1393 พระองค์ได้รับการประกาศว่าอยู่ในวัยที่เหมาะสมแก่การปกครองประเทศ สองสามีภรรยามีพระโอรสธิดาด้วยกันสามคน คือ

  1. มาริอาแห่งกัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1401) สมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอนและเนเปิลส์
  2. กาตาลินาแห่งกัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1403/1406) สมรสกับอินฟันเตเอนริเกแห่งอารากอน เคานต์แห่งอัลบูร์เกร์เกและอัมปูริอัส
  3. พระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งกัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1405)

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งกัสติยา

[แก้]

พระเจ้าเอนริเกที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1406 พินัยกรรมของพระองค์ระบุให้แคทเธอรีน พระมเหสีม่าย กับอินฟันเตเฟร์นันโด พระอนุชาทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินร่วมกันในช่วงที่พระเจ้าฆวนที่ 2 พระโอรสวัย 2 พรรษายังอยู่ในวัยเยาว์ สิทธิ์ในการดูแลกษัตริย์น้อยตกเป็นของขุนนางสองคนคือดิเอโก โลเปซ เด ซุญญิกา และฆวน เฟร์นันเดซ เด บาลัสโก ทว่าแคทเธอรีนไม่ต้องการปล่อยให้พระโอรสตกอยู่ในการดูแลของทั้งสอง จึงได้เตรียมการตั้งรับอยู่ที่ปราสาทอัลกาซาร์แห่งเซโกเบีย อินฟันเตเฟร์นันโดได้ช่วยเจรจาเพื่อให้แคทเธอรีนได้สิทธิ์ในการดูแลพระเจ้าฆวน

ความคิดเห็นที่ต่างกันของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้งสองส่งผลให้เกิดการแบ่งอาณาเขตกันปกครอง ต่อมาเมื่อพระเจ้ามาร์ตินที่ 1 แห่งอารากอน พระมาตุลาของอินฟันเตเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์โดยไร้ซึ่งทายาท พระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์อารากอนในปี ค.ศ. 1412 แม้จะยังคงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินร่วมในกัสติยาให้พระภาติยะน้อยต่อไป เมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1416 แคทเธอรีนได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียว

แคทเธอรีนได้พัฒนาความสัมพันธ์กับอังกฤษที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 พระเชษฐาต่างมารดาของพระองค์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1399 พระองค์กับพระเจ้าเฮนรีได้ส่งเสริมการค้าระหว่างกัสติยากับอังกฤษ สายสัมพันธ์กับโปรตุเกสที่ฟิลิปปา พระเชษฐภคินีต่างมารดาของพระองค์เป็นราชินีอยู่ก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน พระองค์ยังมีส่วนช่วยในการยุติความขัดแย้งทางตะวันตกด้วยการยอมรับในดำรงตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเฟร์นันโดทำให้อำนาจของแคทเธอรีนลดน้อยถอยลงเมื่อศัตรูของพระเจ้าเฟร์นันโดไม่ต้องการการสนับสนุนของพระองค์อีกต่อไป พระองค์สละสิทธิ์ในการดูแลกษัตริย์ผู้เป็นพระโอรสหลังประสบอาการเส้นเลือดในสมองตีบ

บั้นปลายชีวิต

[แก้]
หลุมฝังศพของแคทเธอรีนแห่งแลงคัสเตอร์ที่อาสนวิหารโตเลโดในประเทศสเปน

น้ำหนักตัวของแคทเธอรีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจนมากเกินไป อีกทั้งโรคเกาต์และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็ยิ่งย่ำแย่ บันทึกช่วงบั้นปลายชีวิตของแคทเธอรีนที่เขียนโดยเฟร์นัน เปเรซ เด กุซมัน ซึ่งหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันเล่าว่าพระองค์ตัวสูงมากเมื่อเทียบกับผู้หญิงทั่วไปและมีขนาดตัวที่อ้วน ทรงมีผิวสีขาว เด กุซมันยังกล่าวอีกว่าทรงมีลักษณะท่าทางคล้ายคลึงกับผู้ชาย

พระราชินีแคทเธอรีนสิ้นพระชนม์ที่บายาโดลิดในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1418 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกในวัย 45 พรรษา ร่างของพระองค์ถูกฝังเคียงข้างพระสวามีที่กาปิยาเดโลสเรเยสนูเอโบสในอาสนวิหารโตเลโด

พระเจ้าฆวนที่ 2 พระโอรสของพระองค์ได้สมรสกับอีซาแบลแห่งโปรตุเกส พระนัดดาของฟิลิปปาแห่งแลงคัสเตอร์ พระเชษฐภคินีต่างมารดาของแคทเธอรีน ทั้งคู่มีพระธิดาคือสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา ซึ่งต่อมามีพระธิดาคือกาตาลินาแห่งอารากอน พระมเหสีคนแรกของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามพระปัยกี (แคทเธอรีนในภาษาอังกฤษ = กาตาลินาในภาษาสเปน)

อ้างอิง

[แก้]