ข้ามไปเนื้อหา

แบร์นฮาร์ท ชมิท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แบร์นฮาร์ท ชมิท
กล้องโทรทรรศน์แบบชมิท ขนาด 2 เมตร ที่ หอดูดาวคาร์ล ชวาทซ์ชิลท์ ใน เทาเทินบวร์ค รัฐทือริงเงิน
พิพิธภัณฑ์ชมิทที่หอดูดาวแบร์เกอดอร์ฟ

แบร์นฮาร์ท ชมิท (เยอรมัน: Bernhard Schmidt, 30 มีนาคม 1879 – 1 ธันวาคม 1935) เป็นวิศวกรทางด้านทัศนศาสตร์ ชาวเยอรมัน เกิดที่เอสโตเนีย[1] ทำงานในเยอรมนี ในปี 1931 เขาได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์มุมมองกว้างซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่ากล้องโทรทรรศน์แบบชมิท เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายตามหอดูดาวหลายแห่งทั่วโลก

ดาวเคราะห์น้อย (1740) ชมิท ได้รับการตั้งชื่อตามเขา

ชีวประวัติ

[แก้]
  • 30 มีนาคม 1879 เกิดที่เกาะนัลเกิน ประเทศเอสโตเนีย ชาวเกาะพูดภาษาสวีเดน แต่บ้านของชมิทพูดภาษาเยอรมัน ตอนเด็ก ๆ เคยเล่นทรายทะเลบนชายหาดโดยเอาแก้วแบนสองชิ้นมาถูกันให้เกิดผิวเว้า ตอนอายุ 15 ปี เขาสูญเสียมือขวาไปเนื่องจากการทดลองดินปืนที่ล้มเหลว
  • ปี 1895 ย้ายไปทาลลินน์และทำงานเป็นช่างภาพจนถึงปี 1901
  • ปี 1900 ก่อตั้งโรงงานของตนเองที่เมือง มิทไวดา ราชอาณาจักรซัคเซิน ประเทศเยอรมนี และผลิตกล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 20 ซม.
  • ปี 1901 เริ่มศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่มิทไวดา
  • ปี 1904 เริ่มจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาในเมืองมิทไวดา โดยจัดการกับเลนส์และกระจกเงาของกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ในหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นหลัก
  • ปี 1905 - ผลิตกล้องโทรทรรศน์แบบกัสแกร็ง ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 ซม. รูรับแสงจริง 41 ซม. กระจกเงาปฐมภูมิทรงกลม F2.26 และ กระจกเงาทุติยภูมิทรงไฮเพอร์โบลาอันดับสูงสำหรับหอดูดาวพ็อทซ์ดัม โดยแฮร์มัน คาร์ล โฟเกิล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหอดูดาวตอนนั้นได้ยกย่องกระจกเงานี้ว่าเป็น "กระจกเงาที่ดีที่สุดในโลกในตอนนี้"
  • ปี 1909 ผลิตเฮลิโอสแตตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 ซม. และทางยาวโฟกัส 11 ม.
  • ปี 1914 เมื่อ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปะทุขึ้น ชมิทซึ่งมีพื้นเพมาจากเอสโตเนียซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของรัสเซีย ถูกคุมขังในฐานะพลเมืองประเทศศัตรูเป็นเวลาหกเดือน หลังจากนั้น เขาก็อยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจและได้รับความเดือดร้อนจากการถูกยึดอุปกรณ์บางส่วนของเขา แม้ว่าภายหลังสงครามจะสิ้นสุดลง เขาก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของงานเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในเยอรมนี
  • ปี 1920 ตามคำเชิญของ ริชาร์ท ช็อล เขาได้ผลิตกระจกเงาทรงพาราโบลาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 55 ซม. ความยาวโฟกัส 11 ม. และเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ซม. ทางยาวโฟกัส 30 ม. สำหรับ หอดูดาวแบร์เกอดอร์ฟ หลังจากนั้นด้วยเหตุผลทางการเงินเขาทำงานให้กับหอดูดาวจนกระทั่งเสียชีวิต
  • ปี 1927 ย้ายจากมิทไวดาไปฮัมบวร์คใกล้กับหอดูดาว
  • ปี 1928 เริ่มถ่ายภาพ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และ ดวงจันทร์ ด้วยอุปกรณ์สังเกตการณ์ที่สร้างขึ้นเอง
  • ปี 1930 - พัฒนากล้องโทรทรรศน์แบบชมิทขึ้นมา โดยกล้องตัวแรกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของหอดูดาวฮัมบวร์ค
  • 1 ธันวาคม 1935 - เสียชีวิตด้วย โรคปอดบวม ในฮัมบวร์คหลังจากกลับจากทำงานในเนเธอร์แลนด์ได้ไม่นาน ศพของเขาถูกฝังอยู่ใกล้หอดูดาวฮัมบวร์ค

อ้างอิง

[แก้]
  1. Barbara Dufner: Den Himmel fest im Blick. Eine wissenschaftliche Biografie über den Astro-Optiker Bernhard Schmidt. Stuttgart: Franz Steiner Verlag 2002, p. 18.