ข้ามไปเนื้อหา

โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี
เจ้าหญิงแห่งอิหร่าน
ประสูติ22 มิถุนายน ค.ศ. 1932(1932-06-22)
อิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน[1]
สิ้นพระชนม์26 ตุลาคม ค.ศ. 2001(2001-10-26) (69 ปี)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
พระราชสวามีพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (1951–1956)
ราชวงศ์ปาห์ลาวี
พระบิดาคาลิล อัสฟานดิยารี
พระมารดาอีวา คาร์ล
ลายพระอภิไธย

เจ้าหญิงโซรยาแห่งอิหร่าน พระนามเดิม โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี (เปอร์เซีย: ثریا اسفندیاری بختیاری, UniPers: Sorayâ Asfandiyâri-Bakhtiyâri; 22 มิถุนายน ค.ศ. 1932 – 26 มิถุนายน ค.ศ. 2001) พระมเหสีองค์ที่สอง และอดีตพระมเหสีในพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ชาห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอิหร่าน

แม้อดีตพระสวามีของพระองค์จะมีพระอิสริยยศเป็นชาฮันชาห์ (ราชันย์ของราชา) เทียบเท่าสมเด็จพระจักรพรรดิ ใน ปี ค.ศ. 1967 ส่วนพระมเหสีจะมีพระอิสริยยศเป็น ชาห์บานู หรือเทียบเท่าสมเด็จพระจักรพรรดินี แต่การเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศนั้น เป็นไปภายหลังจากการหย่าของพระราชินีโซรยา กับพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีแล้ว พระยศเดิมของโซรยาจึงเป็นเพียงสมเด็จพระราชินี และภายหลังการหย่าพระราชินีโซรยาจึงมีพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงโซรยา โดยดำรงพระอิสริยยศนี้ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ออกพระนามของพระองค์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีซึ่งไม่ถูกต้องเท่าใดนักตามหลักความเป็นจริง

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าหญิงโซรยามีพระนามเดิมว่า โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ภายในครอบครัวว่า รยา ('Raya)[2] เป็นธิดาของนายคาลิล อัสฟานดิยารี-บักติยารี เป็นบุตรของนายอัสฟานเดียร์ คาน และนางบีบี มัรยัม[2] โดยนายคาลิลได้ดำรงตำแหน่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศเยอรมันตะวันตก ในปี ค.ศ. 1950 ส่วนพระมารดาคือนางอีวา คาร์ล ชาวเยอรมันที่เกิดในรัสเซีย ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายฟรานซ์ คาร์ล ซึ่งมีพี่น้องอีกสองคนคือ บาร์บารา และฟรานซ์[2] โดยทั้งพระบิดาและพระมารดาได้พบรักกันขณะที่ศึกษาในสาขารัฐศาสตร์ และได้สมรสกันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1926[2] ต่อมาอีก 2 ปีภายหลังจากการแต่งงาน ทั้งคู่ก็มุ่งหน้าเข้าสู่อิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน

เจ้าหญิงโซรยาประสูติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1932 ณ โรงพยาบาลมิชชันนารีอังกฤษ (English Missionary Hospital)[2] โดยพระองค์เป็นบุตรคนแรกของครอบครัว เมื่อแรกเกิดนั้นถือเป็นเด็กที่น่าตาน่ารัก และสุขภาพแข็งแรง และนอกจากนี้ยังมีพระอนุชาคือ บิจาน (Bijan)[3] โดยพระอนุชาเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1937 ที่เมืองอิสฟานฮานเช่นเดียวกัน[2] ต่อมาเมื่อโซรยามีอายุได้ 8 เดือน ครอบครัวก็ย้ายเธอไปอาศัยในประเทศเยอรมันโดยอาศัยอยู่ร่วมกับตาและยาย ต่อมาเมื่อเธอมีอายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายกลับมายังเมืองอิสฟานฮานอีกครั้งพร้อมกับการกำเนิดน้องชายของเธอ ส่วนคำว่าบักติยารีที่ต่อท้ายนามสกุล เป็นชื่อของชนเผ่าทางภาคใต้ของอิหร่านซึ่งพระบิดาของพระองค์ได้สืบเชื้อสายมาจากเผ่านี้

โดยครอบครัวของพระองค์มีบทบาทเกี่ยวกับการปกครอง และการทูตของประเทศอิหร่านมาอย่างยาวนาน อย่างเช่น พระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์ คือ ซาดาร์ อาซาด (เปอร์เซีย: سردار اسعد بختیاری Sardar As'ad Bakhtiari) ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในรัฐธรรมนูญอิหร่านแห่งศตวรรษที่ 20[4]

อภิเษกสมรส

[แก้]

โซรยาได้รู้จักกับพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี จากการแนะนำของนางฟารุฆ ซาฟาร์ บักติยารี[2] ขณะที่โซรยายังศึกษาอยู่ในโรงเรียนฟินนิชิง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[4] โดยทั้งคู่ได้ทำการหมั้นกัน โดยของหมั้นในงานนี้คือแหวนเพชร 22.37 กะรัต[5]

พระเจ้าชาห์และโซรยาได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 ณ พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace) กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน[1] ซึ่งเดิมทั้งสองมีแผนที่จะจัดงานอภิเษกสมรสในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1950 แต่พิธีได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากโซรยาได้ล้มป่วยลง[6]

แม้พระเจ้าชาห์จะประกาศขอความช่วยเหลือให้เงินเพื่อการกุศลสำหรับประเทศอิหร่านซึ่งยากจน แต่ของขวัญในงานอภิเษกสมรสนี้มีจำนวนมากมายหลายชิ้น และมีราคาสูง เช่น เพชรสีดำ ของนายโจเซฟ สตาลิน ถ้วยแก้ว Bowl of Legends ที่ออกแบบโดยซิดนีย์ วอ (Sidney Waugh) ของนายแฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และนางเบสส์ ทรูแมน สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และของขวัญที่สำคัญอีกชั้นคือ Silver Georgian candlesticks ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ[7] และของขวัญจากบุคคลอื่นๆอีกกว่า 2,000 ชิ้น รวมไปถึงของขวัญของสุลต่านอกา ข่านที่ 3

ในงานอภิเษกสมรสถูกประดับตกแต่งไปด้วยกล้วยไม้ ดอกทิวลิป และดอกคาร์เนชั่น กว่า 1.5 ตัน โดยนำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงมหรสพจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี[8] ฉลองพระองค์ของเจ้าสาวประกอบไปด้วยชุดครุยประดับไข่มุก และตกแต่งกับขนนกมาราบู (marabou stork)[9] ที่ออกแบบโดยคริสเตียน ดิออร์ นอกจากนี้โซรยายังสวมฉลองพระองค์สีขาวยาวอีกชุดหนึ่งในงานนี้ด้วย

ทรงหย่า

[แก้]
โซรยาและชาห์

แม้ว่าการอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์จะจัดขึ้นในช่วงหิมะตกหนัก แต่เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องที่ดี และในที่สุดชีวิตสมรสของทั้งสองพระองค์ก็สิ้นสุดลงในราวก่อนปี ค.ศ. 1958 เนื่องจากสมเด็จพระราชินีโซรยาทรงมีบุตรยาก และได้พยายามหาทางรักษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศฝรั่งเศส โดยพระเจ้าชาห์เองก็ทรงพูดเป็นนัยเกี่ยวกับพระราชินีโซรยาเกี่ยวกับการมีบุตรยาก[10] โซรยาได้ออกจากประเทศอิหร่านในราวเดือนกุมภาพันธ์โดยไปอาศัยอยู่ร่วมกับบิดามารดาที่เมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมัน เมื่อพระเจ้าชาห์ติดต่อโซรยาผ่านทางลุงของพระองค์คือซาดาร์ อาซาด ราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 1958 เพื่อที่จะพยายามโน้มน้าวให้โซรยากลับมาพำนักในประเทศอิหร่านต่อไป[11] ในวันที่ 10 มีนาคม มีการประชุมเพื่อหารือสนทนาเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสที่ไร้รัชทายาท 4 วันต่อมาได้มีการประกาศทรงหย่าอย่างเป็นทางการ หลังจากเหตุการณ์นี้อดีตราชินีโซรยาได้กล่าวว่า "บูชายัญความสุขของฉัน"[12] โดยโซรยาให้ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่าพระสวามีของเธอไม่มีทางเลือกที่ต้องหย่ากับเธอ[13]

ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1958 ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของอิหร่าน พระเจ้าชาห์ได้ประกาศเกี่ยวกับการหย่าร้างสู่สาธารณชนชาวอิหร่านออกรายการต่างๆทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ และพระเจ้าชาห์ได้กล่าวว่าจะยังไม่รีบเร่งที่จะอภิเษกสมรสอีกครั้ง ฟร็องซัว มัลเลต์-ชอร์ริส ได้นำเรื่องราวของโซรยามาแต่งเป็นเพลงป็อป Je veux pleurer comme Soraya โดยทั้งคู่ได้หย่ากันอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1958

มีการรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เกี่ยวกับการเจรจาต่อรองโดยโน้มน้าวให้ราชินีโซรยาอนุญาตในการหย่ากับพระเจ้าชาห์ และการที่จะมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น แต่อย่างไรก็ตามเธอก็เรียกการแต่งงานของพระองค์ว่า "การแต่งงานที่ศักดิ์สิทธิ์" และเธอก็ไม่ยอมรับเกี่ยวกับการสมรสใหม่กับหญิงอื่นของพระเจ้าชาห์ โซรยาได้กล่าวว่า "ฉันไม่สามารถที่จะรับความคิดของพระสวามีที่จะมีความสัมพันธ์รักกับหญิงคนอื่น"[10]

มีการมอบสิ่งจำเป็นให้แก่ชาวอิหร่านที่บ้านของพ่อแม่โซรยาในเยอรมัน โซรยาได้กล่าวว่า "ตั้งแต่ชาห์ เรซา ปาห์ลาวี มีอำนาจสูงสุด เขาคิดว่าสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์ไปจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ส่วนฉันเองก็จะมีแต่ความโศกเศร้าเสียใจอยู่ตรงส่วนลึกของอนาคตสภาพ และความสุขของประชาชนทุกคนตามความปรารถนาของพระเจ้าชาห์ที่ต้องบูชายัญความสุขของตัวฉันเอง"[12]

หลังจากการหย่า พระเจ้าชาห์ได้กล่าวเกี่ยวกับความความโศกเศร้าเสียใจของอดีตพระราชินีโซรยาโดยกล่าวเป็นโดยนัยว่า "ไม่มีใครที่จะสามารถถือไฟได้นานกว่าฉัน" และพระเจ้าชาห์ได้ให้ความสนพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับกับเจ้าหญิงมารีอา กาเบรียลลาแห่งซาวอย และพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 แห่งอิตาลี ซึ่งเรื่องราวของชาห์ที่พยายามจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิตาลีได้ถูกนำมาเรียกกันว่า "กษัตริย์มุสลิมกับเจ้าหญิงคาทอลิก" ส่วนหนังสือพิมพ์ L'Osservatore Romano ของสำนักวาติกันก็ได้เขียนล้อเลียนอีกเช่นกันว่า "องุ่นพิษ"[14]

โซรยาในปี ค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงหย่ากับพระเจ้าชาห์

การผันตัวมาเป็นนักแสดง

[แก้]

หลังจากการหย่าสมเด็จพระราชินีโซรยา ได้ลดตำแหน่งเป็นเจ้าหญิงโซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี และได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร เจ้าหญิงโซรยาได้เริ่มการอาชีพเป็นนักแสดง[3] โดยพระองค์ใช้พระนามจริงของพระองค์เป็นชื่อแรกในการแสดง โดยชื่อนี้ถูกประกาศในภาพยนตร์เรื่องแรกของพระองค์คือเรื่อง Catherine the Great ซึ่งเป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติของสมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งกำกับโดยดิโน เดอ ลอเรนติส แต่ภายหลังโครงการนี้ก็ล้มลง[15] ต่อมาในปี ค.ศ. 1950 เจ้าหญิงได้เริ่มการเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง I tre volti (The Three Faces)[16] และกลับมาร่วมงานกับผู้สร้างหนังชาวอิตาลีฟรันโก อินโดวีนา (Franco Indovina)[17] โดยในปี ค.ศ. 1965 พระองค์ได้เล่นในบทของโซรยา ในภาพยนตร์เรื่อง She[18]

หลังจากการเสียชีวิตของนายฟรานโก อินโดวีนา เจ้าหญิงโซรยาได้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่เป็นรายได้ที่เป็นส่วนที่เหลือไว้ใช้ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในยุโรป โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่เจ้าหญิงมาก โดยเจ้าหญิงได้นิพนธ์อัตชีวประวัติ le palais des solitudes (the palace of loneliness "ปราสาทเดียวดาย") ในปี ค.ศ. 1991

สิ้นพระชนม์

[แก้]
สุสานในพระตระกูลของเจ้าหญิงโซรยา ณ มิวนิก

เจ้าหญิงโซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2001 ภายในอพาร์ตเม้นต์ของพระองค์ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลการสิ้นพระชนม์ พระอนุชาของเจ้าหญิงโซรยาคือบิจานได้เศร้าโศกเสียใจ ซึ่งต่อมาบิจานได้เสียชีวิตลงหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าหญิงเพียงสัปดาห์เดียวในปารีส โดยก่อนบิจานเสียชีวิต เขาได้รำพึงรำพันว่า

หลังเธอเสียชีวิต ฉันไม่มีคำพูดสักคำที่จะเอ่ย

— บิจาน อัสฟานดิยารี-บักติยารี[19][20]

โดยพระศพของเจ้าหญิงโซรยาได้ทำการปลงพระศพ ณ มหาวิหารอเมริกัน ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ซึ่งมีผู้ร่วมงาน ได้แก่ เจ้าหญิงอัชราฟ ปาห์ลาวี, เจ้าชายโฆลาม เรซา ปาห์ลาวี, เคานต์และเคาน์เตสแห่งปารีส, เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเนเปิลส์, เจ้าชายมิเชลแห่งออร์เลอองส์ และเจ้าหญิงอีราแห่งเฟือร์เทินแบร์ก โดยท้ายที่สุดพระศพของเจ้าหญิงโซรยาได้ทำการฝัง ณ สุสานเวสต์ฟรีดฮอฟ (Westfriedhof) ในเขตมิวนิก ประเทศเยอรมัน โดยฝังร่วมกันกับพระบิดา พระมารดา และพระอนุชา[21]

ในปี ค.ศ. 2002 สุสานของพระองค์ได้ถูกคนมือดีเขียนว่า "ทนทุกข์กับปรสิต" (miserable parasite) และตามด้วยคำว่า "ไม่ทำงานตั้งแต่อายุ 25-60 ปี" (Didn't work from the ages of 25 to 60) ภายหลังถ้อยคำเหล่านี้ได้ถูกลบออก แต่ก็เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ทั่วยุโรป

เมื่อเจ้าหญิงโซรยาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว มีผู้หญิงจำนวนมากอ้างการเป็นบุตรสาวตามกฎหมายของเจ้าหญิง โดยตามรายงานอ้างว่าเกิดในปี ค.ศ. 1962 หนังสือพิมพ์ภาษาเปอร์เซียรายสัปดาห์ที่ชื่อนิมรูซ (Nimrooz) ก็มิได้ทำการยืนยันแต่อย่างใด[22] โดยในหนังสือพิมพ์ได้ลงหัวข้อข่าวในปี ค.ศ. 2001 กล่าวว่าเจ้าหญิงโซรยาและพระอนุชาได้ถูกลอบปลงพระชนม์[23]

หลังจากการสิ้นพระชนม์ได้มีการประมูลสิ่งของ ของอดีตพระราชินีโซรยา ซึ่งมูลค่ารวม 8.3 ล้านดอลลาร์ และชุดแต่งงานของพระองค์ที่ถูกออกแบบโดยคริสเตียน ดิออร์ มีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านดอลลาร์

พระอิสริยยศ

[แก้]
เจ้าหญิงโซรยา ในปัจฉิมวัย
  • โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี (22 มิถุนายน ค.ศ. 1932 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951)
  • เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีโซรยาแห่งอิหร่าน (12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 – 6 เมษายน ค.ศ. 1956)
  • เฮอร์อิมพีเรียลไฮนิส เจ้าหญิงโซรยาแห่งอิหร่าน (7 เมษายน ค.ศ. 1956 – 26 มิถุนายน ค.ศ. 2001)

พระนิพนธ์

[แก้]

เจ้าหญิงโซรยาทรงพระนิพนธ์หนังสืออกมา 2 เล่ม โดยเล่มแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1964 และตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาโดยดับเบิลเดย์ (Doubleday) ในชื่อ Princess Soraya: Autobiography of Her Imperial Highness และในช่วงทศวรรษก่อนการสิ้นพระชนม์ พระองค์และหลุยส์ วาเลนแตง (Louis Valentin) ได้ร่วมกันเขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยมีชื่อว่า Le Palais des Solitudes และต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Palace of Solitude (London: Quartet Books Ltd, 1992); ISBN 0-7043-7020-4.

ผลงานการแสดง

[แก้]
ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
ปี เรื่อง รับบท หมายเหตุ
1953 Zwischen Glück und Krone โซรยา Archive Footage
1965 I tre volti โซรยา/ลินดา/นางเมลวิลล์
1965 She โซรยา
1975 The Two Ronnies เบลลี แดนเซอร์ ภาค #4.6
1991 Doctor at the Top ภาค Kindest Cut
1998 Legenden โซรยา ภาค Soraya

สู่บทละคร

[แก้]

พระชีวประวัติของพระองค์ได้ถูกถ่ายทอดมาใน โดยนายฟรองซัวส์ แมลแลงด์ (François Meilland) ได้ทำออกมาในชื่อเรื่อง Empress Soraya[24]

ต่อมาช่องโทรทัศน์ของประเทศเยอรมันและอิตาลี ได้ผลิตออกมาในรูปแบบละครโดยกล่าวชีวิตชีวิตของเจ้าหญิงโซรยา ในชื่อเรื่อง Soraya (หรือ Sad Princess) โดยออกอากาศใน ค.ศ. 2003 นำแสดงโดยอันนา วอลล์ (Anna Valle) นางงามอิตาลีปี ค.ศ. 1995 รับบทเป็นโซรยา ประชันบทบาทกับดาราฝรั่งเศส มาทิลดา เม (Mathilda May) ซึ่งรับบทเป็นเจ้าหญิงชามส์ ปาห์ลาวี พระเชษฐภคินีในพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี[25]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "การอภิเษกสมรสของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-14. สืบค้นเมื่อ 2010-01-23.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Soraya Esfandiari Bakhtiari Bakhtiarifamily
  3. 3.0 3.1 Princess Soraya (Official page) About me:Soraya Esfandiary-Bakhtiari
  4. 4.0 4.1 Shah To Wed, Iran Hears, The New York Times, 10 October 1950, p. 12.
  5. The Tribune, Chandigarh, India – Business
  6. Wedding of Shah Postponed, The New York Times, 22 December 1950, p. 10.
  7. Teheran Awaits Wedding, The New York Times, 11 February 1951, p. 35
  8. Iran's Shah To Wed In Splendor Today, The New York Times, 12 February 1951, p. 6.
  9. Shah of Iran Wed in Palatial Rites, The New York Times, 13 February 1951, p. 14
  10. 10.0 10.1 Iran Shah Divorces His Childless Queen, The New York Times, 14 March 1958, p. 2.
  11. Shah's Plea to Queen Held Vain, The New York Times, 6 March 1958, p. 3.
  12. 12.0 12.1 Queen of Iran Accepts Divorce As Sacrifice, The New York Times, 15 March 1958, p. 4.
  13. Soraya Arrives for U.S. Holiday, The New York Times, 23 April 1958, p. 35.
  14. Paul Hofmann, Pope Bans Marriage of Princess to Shah, The New York Times, 24 February 1959, p. 1.
  15. Soraya Taking Screen Role, The New York Times, 8 October 1963, p. 48.
  16. I tre volti ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  17. "Princess Soraya, ex-wife of the Shah of Iran, dies in Paris". Hello! Magazine. 25 October 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  18. She ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  19. "ARTICLE WRITTEN BY DR ABBASSI FOR NIMROOZ NEWSPAPER". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-07. สืบค้นเมื่อ 2010-01-23.
  20. The Iranian Soraya Fragments of a life By Cyrus Kadivar June 25, 2002 The Iranian
  21. http://www.angelfire.com/de/verenasroyalty/Royalnews2001b.html.
  22. "Tabarzadi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-30. สืบค้นเมื่อ 2010-01-23.
  23. Online.net Hébergement Mutualisé Professionnel[ลิงก์เสีย]
  24. François Meilland, 46, The New York Times, 17 June 1958, p. 29.
  25. Soraya ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี ถัดไป
เจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์
สมเด็จพระราชินีแห่งอิหร่าน
(12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 – 6 เมษายน ค.ศ. 1956)
ฟาราห์ ดีบา