โรงเรียนวิถีพุทธ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
โรงเรียนวิถีพุทธ (อังกฤษ: Buddhist Oriented Schools) หมายถึงโรงเรียนในระบบปกติทุกระดับ ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตามหลักไตรสิกขามาบูรณาการประยุกต์ใช้ในการบริหาร และการพัฒนาผู้เรียนในภาพรวมของสถานศึกษา โดยเน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม แสวงหาปัญญา และมีเมตตา [1] เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาของประเทศ[2]
โรงเรียนวิถีพุทธ มีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สังกัดสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธแห่งประเทศไทย (คขวท.) เป็นผู้ประสานงานและนิเทศส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธในปัจจุบัน [3]
โดยปัจจุบัน โรงเรียนวิถีพุทธ มีการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการนิเทศติดตามเพื่อคัดเลือกและมอบโล่รางวัลเกียรติยศโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ (ปัจจุบันมีการมอบถึง รุ่นที่ 6)[3] และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน[4] เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานแก่โรงเรียนที่ดำเนินงานภายใต้กรอบอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธทั้ง 29 ประการ[3] อีกด้วย
จากการดำเนินการในระยะแรกของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 79 โรงเรียน จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ รวมทั้งสิ้น กว่า 20,000 โรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ[5]
ประวัติ
[แก้]การก่อรูปแนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ
[แก้]แนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุม เรื่อง “หลักสูตรใหม่ เด็กไทยพัฒนา” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ให้เกียรติเป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อสนองตอบความสามารถที่แตกต่างกันของบุคคล เพื่อนำพาเด็กและเยาวชนไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในที่ประชุม ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช เสนอให้มีการนำหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับการบริหารจัดการในโรงเรียน[6]
โดยหลังจากการประชุม กระทรวงศึกษาธิการได้นำความเห็นของที่ประชุมมาหารือต่ออีกหลายครั้ง ในเวลาต่อมา ในต้นปี พ.ศ. 2546 ดร. สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้ไปกราบขอคำแนะนำเรื่องการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ จากพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ณ วัดญาณเวศกวัน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดอีกหลายครั้ง โดยมีพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมประชุมระดมความคิดด้วย[6]
จากการประชุมดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธเบื้องต้น ในสาระสำคัญ 3 ด้าน[2] คือ ภาพสรุปโรงเรียนวิถีพุทธ, กรอบความคิดรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ และแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในทางคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตา เป็นฐานการดำเนินชีวิตโดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตรแห่งการพัฒนา ภายใต้ปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ
โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ
[แก้]เมื่อมีการกำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธแล้วเรียบร้อยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เริ่มรับสมัครโรงเรียนที่สนใจ[5] และจัดให้มีการปฐมนิเทศ เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนได้เข้าใจ แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งเป็นโรงเรียนรูปแบบหนึ่งใน 5 รูปแบบ ที่กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น มุ่งพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมแห่งการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาของประเทศในสมัยนั้น[6] คือ
- โรงเรียนวิถีพุทธ
- โรงเรียนในกำกับของรัฐ
- โรงเรียนสองภาษา
- โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
- โรงเรียนต้นแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
ลักษณะและรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ
[แก้]โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นสถานศึกษาในระบบปกติ ที่นำหลักพุทธธรรม หรือองค์ความรู้ที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา ของสถานศึกษานั้น โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ การนำหลักธรรมมาใช้ในระบบการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา ซึ่งอาจเป็นการเรียนการสอนในภาพรวมของหลักสูตรสถานศึกษา หรือ การจัดเป็นระบบวิถีชีวิตในสถานศึกษาของผู้เรียนส่วนใหญ่ โดยนำไปสู่จุดเน้นของการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถ กิน อยู่ ดู ฟังเป็น คือใช้ปัญญา และเกิดประโยชน์แท้จริงต่อชีวิต และการจัดดำเนินการของสถานศึกษาจะแสดงถึงการจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ (ปรโตโฆสะ) ที่เป็นกัลยาณมิตรเอื้อในการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้านด้วยวิถีวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทั้งนี้การพัฒนาผู้เรียนดังกล่าวจัดผ่านระบบไตรสิกขา ที่ผู้เรียนได้ศึกษาปฏิบัติอบรม ทั้งศีล หรือพฤติกรรม หรือวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดีงามสำหรับตน และสังคม สมาธิ หรือด้านการพัฒนาจิตใจที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ มีจิตใจที่ตั้งมั่นเข้มแข็งและสงบสุข และปัญญาที่มีความรู้ที่ถูกต้อง มีศักยภาพในการคิด การแก้ปัญหาที่เหมาะสม (โยนิโสมนสิการ) โดยมีครู และผู้บริหารสถานศึกษา เป็นกัลยาณมิตรสำคัญที่รักและปรารถนาดี ที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างดีที่สุดด้วยความเพียรพยายาม ระบบพัฒนาผู้เรียนด้วยไตรสิกขา โรงเรียนควรจัดสภาพในทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรม อย่างบูรณาการ และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาชีวิตให้สามารถกิน อยู่ ดู ฟังเป็น มีวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทั้งนี้ การจัดสภาพจะส่งเสริมให้เกิดลักษณะของปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ
- สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี
- สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี
- โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
- ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ และดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามธรรม
ปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการนี้ จะส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ได้อย่างชัดเจน สำหรับแนวคิดเบื้องต้น ของการจัดสภาพในสถานศึกษา ที่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ด้านกายภาพ โรงเรียนจะจัดอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม ห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา เช่น มีศาลาพระพุทธรูป เด่นเหมาะสม ที่จะชวนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ มีมุม หรือห้องให้ศึกษาพุทธธรรม บริหารจิต เจริญภาวนาเหมาะสม หรือมากพอที่จะบริการผู้เรียน หรือการตกแต่งบริเวณให้เป็นธรรมชาติ หรือใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนมีใจสงบ และส่งเสริมปัญญา เช่น ร่มรื่น มีป้ายนิเทศ ป้ายคุณธรรม ดูแลเสียงต่าง ๆ ไม่ให้อึกทึก ถ้าเปิดเพลงกระจายเสียงก็พิถีพิถันเลือกเพลงที่ส่งเสริมสมาธิ ประเทืองปัญญา เป็นต้น
- ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต สถานศึกษาจัดกิจกรรมวิถีชีวิต ประจำวัน ประจำสัปดาห์ หรือในโอกาสต่าง ๆ เป็นภาพรวมทั้งสถานศึกษา ที่เป็นการปฏิบัติบูรณาการ ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา โดยเน้นการมีวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของการกิน อยู่ ดู ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นไปตามคุณค่าแท้ของการดำเนินชีวิต โดยมีกิจกรรมตัวอย่างดังนี้
- มีกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้าเรียน และก่อนเลิกเรียนประจำวัน (เพื่อใกล้ชิดศาสนา)
- มีกิจกรรมรับศีล หรือทบทวนศีลทุกวัน อาจเป็นบทกลอน หรือเพลง เช่นเดียวกับกิจกรรม แผ่เมตตา (เพื่อให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข)
- มีกิจกรรมทำสมาธิรูปแบบต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ ท่องอาขยานเพื่อสมาธิ สวดมนต์สร้างสมาธิ หรือทำสมาธิเคลื่อนไหวอื่น ๆ เป็นประจำวันหรือก่อนเรียน (เพื่อพัฒนาสมาธิ)
- มีกิจกรรมพิจารณาอาหารก่อนรับประทานอาหารกลางวัน (เพื่อให้กินเป็น กินอย่างมีสติ มีปัญญารู้เข้าใจ)
- มีกิจกรรมอาสาตาวิเศษ ปฏิบัติวินัยหรือศีล (เพื่อให้อยู่เป็น อยู่อย่างสงบสุข)
- มีกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) ประจำวัน (เพื่อให้อยู่เป็น)
- มีการสวดมนต์ ฟังธรรมประจำสัปดาห์ หรือในวันพระ (เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา)
- มีกิจกรรมบันทึก และยกย่องการปฏิบัติธรรม (เน้นย้ำและเสริมแรงการทำความดี)
- ทุกห้องเรียน มีการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน โดยเข้าใจเหตุผล และประโยชน์ที่มีต่อการอยู่ร่วมกัน (พัฒนาศีล/วินัย ด้วยปัญญา) ฯลฯ
- ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์
สถานศึกษาส่งเสริมบรรยากาศของการใฝ่เรียนรู้ และพัฒนาไตรสิกขา หรือส่งเสริมการมีวัฒนธรรม แสวงปัญญาและมีปฏิสัมพันธ์ ที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มีบรรยากาศของการเคารพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความเมตตา กรุณาต่อกัน ทั้งครูต่อนักเรียน นักเรียนต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อครูด้วยกันและโรงเรียนส่งเสริมให้บุคลากร และนักเรียนปฏิบัติตน เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เช่น การลด ละ เลิกอบายมุข การเสียสละ เป็นต้น
- ด้านการบริหารจัดการ สถานศึกษาโดยบุคลากรในสถานศึกษา ร่วมกับผู้ปกครอง และชุมชน สร้างความตระหนัก และศรัทธา รวมทั้งเสริมสร้างปัญญาเข้าใจในหลักการ และวิธีดำเนินการโรงเรียนวิถีพุทธร่วมกัน ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู และผู้บริหารเพียรพยายามสนับสนุนโดยลักษณะต่าง ๆ และการปฏิบัติตนเอง ที่จะสนับสนุน และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียน ตามวิถีชาวพุทธสถานศึกษาวิเคราะห์จัดจุดเน้น หรือรูปแบบรายละเอียดโรงเรียนวิถีพุทธ ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งแต่ละสถานศึกษา จะมีจุดเน้น และรายละเอียด รูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น บางสถานศึกษาจะมีจุดเน้น ประยุกต์ไตรสิกขาในระดับชั้นเรียน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้รายวิชา บางโรงเรียนเน้นประยุกต์ในระดับ
- กิจกรรมวิถีชีวิตประจำวัน แบบภาพรวม บางโรงเรียนอาจทำทั้งระบบทุกส่วนของการจัดการศึกษา
ตามหลักการจัดวิถีพุทธสู่วิถีการเรียนรู้ บูรณาการพุทธธรรม สู่การจัดการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริงที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อนำสู่การรู้ เข้าใจความจริง มีการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
- ประสานความร่วมมือระหว่างวัด/คณะสงฆ์ และชุมชน ในการจัดการเรียนรู้หลักธรรมสำคัญ สู่การจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ ตามหลัก ไตรสิกขา กัลยาณมิตตตา ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ใช้หลักทำแนวการจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ ประกอบด้วย หลักสูตรสถานศึกษาสอดแทรก เพิ่มเติม พุทธธรรมในวิสัยทัศน์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเพิ่มเติมคุณธรรม จริยธรรมในผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
- การบูรณาการพุทธธรรมในการจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ สอดแทรก ความรู้ และการปฏิบัติจริงในการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และสถานการณ์อื่น ๆ นอกห้องเรียน ได้แก่ บูรณาการในการเรียนรู้บูรณาการในวิถีชีวิต และบูรณาการไตรสิกขา เข้าในชีวิตประจำวัน
หลักเกื้อกูลสัมพันธ์โรงเรียนวิถีพุทธและชุมชน
โดยโรงเรียนวิถีพุทธกับชุมชน ซึ่งประกอบด้วยบ้าน วัด และสถาบันอื่น ๆ ในชุมชน มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เกื้อกูลร่วมมือกันและกันในการพัฒนานักเรียน และพัฒนาชุมชนสังคมในวิถีแห่งพุทธธรรม เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เพียรพัฒนาตน มีผลการพัฒนานักเรียนเป็นที่ยอมรับศรัทธาของชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน จัดระดมสรรพกำลังลักษณะต่าง ๆ อย่างหลากหลายในการพัฒนางานทุกด้านของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานักเรียน บริการวิชาการ อาคารสถานที่ ร่วมมือสนับสนุนกับชุมชน ในการพัฒนาภูมิธรรม ภูมิปัญญา คุณธรรมจริยธรรม และกิจกรรมสัมมาอาชีวะต่าง ๆ เป็นต้น แก่ชุมชนสังคม ด้วยเมตตาธรรมและด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามและสันติสุข โรงเรียนอาจพิจารณากำหนดและดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และแผนปฏิบัติการของโรงเรียน ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นวิถีพุทธอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จนบังเกิดผลที่ชัดเจนทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านลักษณะทางกายภาพ ด้านบุคลิกภาพและคุณธรรมของครู อาจารย์ นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนจนเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้บริหารมีคุณธรรม มีการบริหารจัดการโดยใช้หลักเมตตาธรรม ครูมีความเป็นกัลยาณมิตร นักเรียนมีกริยาวาจาสุภาพ มีน้ำใจ มีคุณธรรม เป็นลักษณะเด่นที่บุคคลทั่วไปเห็นได้ชัดเจน พร้อม ๆ กัน โรงเรียนวิถีพุทธมีลักษณะเปิดกว้างสู่ชุมชนและสังคม พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนสังคมด้วยความเกื้อกูลกันและกันอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมเสนอแนะหลักเกื้อกูลสัมพันธ์
- โรงเรียน บ้าน วัด ชุมชน ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันตามประเพณี เช่น กิจกรรมหล่อเทียนพรรษา การทอดกฐินทอดผ้าป่า กิจกรรมวันพ่อวันแม่ ฯลฯ
- โรงเรียนนำนักเรียนร่วมกิจกรรมของวัด และชุมชน เช่น กิจกรรมทำความสะอาดวัด ซึ่งอาจจัดในชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอื่น ๆ เช่น นำอาหารไปเลี้ยงคนชราที่บ้านพักคนชรา หรือบ้านเด็กกำพร้า ฯลฯ
- โรงเรียนต้องเป็นโรงเรียนของชุมชน โดยเปิดโรงเรียนต้อนรับผู้ปกครอง และชุมชนตลอดเวลา (Open House) เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสเสนอข้อคิดเห็น และมีส่วนร่วมในภารกิจต่าง ๆ เช่น ดูแลความสะอาดของโรงอาหาร ดำเนินการเชิญภูมิปัญญาทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาช่วยโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
- เปิดห้องสมุดเพื่อให้ชุมชนใช้บริการได้ในวันหยุด รวมทั้งสนามกีฬา หอประชุม ฯลฯ
- เป็นศูนย์กลางของชุมชนในด้านวิชาการ วิชาชีพ เช่น จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องอาชีพพิเศษต่างๆ จัดร้านค้าของโรงเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองนำผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาขาย โดยนักเรียนเป็นผู้ดูแลกิจการ
- ร่วมกับวัดในชุมชน จัดการเรียนธรรมศึกษา กิจกรรมทางด้านศาสนาต่าง ๆ เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาแสดงพระธรรมเทศนา เชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องต่าง ๆ ในวันหยุด หรือจัดกิจกรรมทัศนศึกษาทางธรรม เป็นต้น
- จัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่าง โรงเรียน บ้าน วัด ชุมชน เช่น จัดการแข่งขันกีฬา จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศโดยเชิญผู้ปกครองมาร่วมนำอาหารมารับประทานร่วมกัน จัดค่ายครอบครัว
- เสริมความเข้มแข็งของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เช่น การเยี่ยมบ้านนักเรียนช่วยเหลือนักเรียนแก้ไขปัญหาครอบครัว ฯลฯ
- ประชาสัมพันธ์ผลงานของโรงเรียน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดทำหนังสือพิมพ์โรงเรียน วารสารเผยแพร่แก่ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ชุมชน ฯลฯ
- ยกย่องเชิญชูเกียรติของผู้กระทำความดีทั้ง ครู อาจารย์ นักเรียน บุคลากรของโรงเรียนและบุคคลในชุมชน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้วิถีพุทธเป็นวิถีชีวิตของคนทั้งชุมชน
โรงเรียนวิถีพุทธในปัจจุบัน
[แก้]โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นการดำเนินการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ระบบสมัครใจ ตามแต่ละสถานศึกษาจะพิจารณาดำเนินการตามบริบทของโรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่จากผลการดำเนินการที่ส่งผลดีต่อผู้เรียน ผู้บริหาร คณะครู และชุมชนบ้านวัด ในบริบททางวัฒนธรรม ทำให้การดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเป็นที่สนใจจากสถานศึกษาจำนวนมาก
จากการที่ผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2547 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ปรารภว่า หากเจ้าคณะพระสังฆาธิการให้การสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และให้ความร่วมมือจัดกิจกรรมของโรงเรียน เป็นต้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ บ้านเมือง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิต โดยส่วนรวมของประชาชน มหาเถรสมาคมจึงมีมติเห็นชอบ ให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธ[1]
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงให้มี "ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ" ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต่อจากนั้นจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับสมัคร และจัดปฐมนิเทศ โรงเรียนวิถีพุทธ ในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จากในปีแรกที่มีโรงเรียนในทุกระดับและทุกสังกัดสมัครเข้าร่วมโครงการ รวม 79 โรงเรียน เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ รวมทั้งสิ้น 18,577 โรงเรียน[5]
หลักธรรมที่ใช้ในการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ
[แก้]๑.กัลยาณมิตร 7 ประการ
- 1.)น่ารัก เป็นที่วางใจและรู้สึกสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าใจ
- 2.) น่าเคารพ ประพฤติตนสมควรแก่ฐานะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
- 3.) น่ายกย่อง มีความรู้และภูมิปัญญาที่แท้จริง เป็นผู้ที่ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งใจ
- 4.) รู้จักพูด คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนเป็นที่ปรึกษาที่ดี
- 5.) อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำซักถามต่างๆอยู่เสมอ สามารถรับฟังได้ด้วยความอดทน ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
- 6.) สามารถชี้แจงเรื่องต่างที่ลึกซึ้งได้
- 7.) ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียเหลวไหล
๒.โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบภายในตัวบุคคลที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้จักการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี รู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆตามความจริง รู้จักคิดหาเหตุผล รู้จักแยะแยะให้เห็นตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้านตัณหา อุปาทานของตนเข้าจับ เพื่อให้ปรโตโฆสะนำไปสู่โยนิโสมนสิการ ทำให้คนรู้จักคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นที่จำป็นสำหรับการศึกษา จึงเสนอวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้ 10 วิธี ดังนี้
- 1.) วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ การคิดพิจารณาให้รู้สึกสภาวะที่เป็นจริงของสิ่งต่างๆและผลกระทบที่อาจตามมาภายหลัง เป็นวิธีคิดขั้นพื้นฐานของโยนิโสมนสิการ
- 2.) วิธีคิดแบบแยกส่วนประกอบ เป้นการคิดที่มุ่งเน้นให้มองถึงความเป็นจริง เมื่อพิจารณาถึงความเป็นอนัตตา เป็นสิ่งไม่มีตัวตน ไม่มีความแน่นอน สิ่งต่างๆเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่างมารวมกัน
- 3.) วิธีการคิดแบบสามัญลักษณ์ เป็นวิธีการคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา มองทุกสิ่งตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา หมายถึง สิ่งต่างๆเมื่อเกิดขึ้นมาไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป มีการเปลี่ยนแปลงและแตกดับไปเป็นธรรมดา
- 4.) วิธีคิดแบบแก้ปัญหาหรือคิดแบบอริยสัจ วิธีคิดแบบนี้มีหลักการที่สำคัญ คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือทุกข์โดยทำความเข้าใจปัญหาแล้วค้นหาสาเหตุ เพื่อเตรียมแก้ไขโดยกำหนดเป้าหมายให้แน่ชัด มีความเป็นไปได้แล้ววิธีที่จะกำจักสาเหตุของปัญหาให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้
- 5.) วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นความคิดในระดับลงมือทำ คือการกระทำตามหลักการใดๆจะต้องสร้างเข้าใจหลักการและความมุ่งหมายของเรื่องนั้นๆ ว่าจะดำเนินไปเพื่ออะไรและปฏิบัติให้ได้ผลตามความมุ่งหมายนั้น
- 6.) วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก เป็นการคิดที่มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงกล่าวคือ สิ่งทั้งหลายย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสียที่เป็นคุณและเป็นโทษ ดังนั้นการมองสิ่งทั้งหลายควรมองทั้ง 2 ด้าน และมองหาแนวทางที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ได้ประโยชน์สุงสุด การคิดแบบนี้มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ 1) มองตามที่เป็นจริง ทั้งด้านดีและด้านเสีย ทั้งคุณและโทษ ไม่ใช่มองแค่ด้านดีหรือด้านเสียเพียงด้านเดียว 2) เมื่อจะแก้ปัญหาจะต้องมองเห็นทางออกมองเห็นจุดหมายและรู้ว่าจุดหมายนั้นคืออะไร ดีกว่าส่วนเสียของสิ่งหรือภาวะที่เป็นปัญหาอยู่อย่างไร
- 7.)วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา ตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ วิธีการคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมีหลักว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพราะมีความต้องการและเห็นว่าสิ่งนั้น จะสนองความต้องการของเราได้และมีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- 7.1)คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่าที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่า เป็นคุณค่าที่สนองปัญญา
- 7.2)คุณค่าเทียม คือ คุณค่าที่พอกเสริม หมายถึง คุณค่าที่มนุษย์พอกเพิ่มให้เพื่อเสริมราคาคุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่า วัดราคา เรียกว่า คุณค่าที่สนองตัณหา
- 8.)วิธีคิดแบบปลุกเล้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดที่นำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตมาปรุงแต่งให้เกิดประโยชน์ ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิมพร้อมกับได้สร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน
- 9.)วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุปัน เป็นการคิดในแนวทางของความหรือคิดด้วยปัญญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอยู่ในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็จัดเป็นปัจจุบันทั้งสิ้น ดังนั้น การคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป้นการคิดในลักษณะของการมีสติสัมปัชญญะต่อสิ่งงที่กำลังคิด
- 10.)วิธีคิดแบบวิภัชชวาทหรือการคิดแบบแจกแจงหลายแง่มุม โดยพูดแยกแยะจำแนกแจกแจงหรือแถลงความแบบวิเคราะห์ หมายถึง การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะให้เห็นแต่ละแง่แต่ละด้านครบทุกด้าน ทำให้เกิดความคิดและการวินิจฉัยเรื่องต่างๆชัดเจนตรงตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ
การคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นการฝึกใช้ความคิดอย่างมีระเบียบ รู้จักวิเคราะห์ ไม่มองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผินเป็นการสร้างปัญญา ทำให้ทุกคนเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติมีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นและนำไปสู่จุดหมายของวิถีพุทธอย่างแท้จริง
ไตรสิกขา หลักการพัฒนามนุษย์รูปแบบไตรสิกขาว่า เป็นการฝึกอบรมกาย วาจา และจิตใจของมนุษย์ให้สามารถค้นพบ เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง โดยต้องมีปัญญาอยู่ในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ เมื่อเชื่อแล้วจะนำไปสู่การศึกษา ดังนั้นในขั้นเตรียมความพร้อมก็คือ การเตรียมปัญญาและปัญญาจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ต้องอาศัยอินทรีย์ เช่น ดู ฟัง อาศัยการเคลื่อนไหว ใช้วาจาสื่อสารได้ดีโดยมีทักษะ(ศีล) ต้องอาศัยภาวะและคุณสมบัติของใจ (สมาธิ) เช่น ความสนใจ ใฝ่ใจ ความมีใจเข้มแข็งสู้ปัญหา ความขยันอดทน มีใจแน่วแน่ มีสมาธิ จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาไตรสิกขาได้อย่างบูรณาการ
แต่ปัจจุบันกลายเป็นระบบการศึกษาไม่สามารถตามเหตุการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทัน จนสะท้อนออกทางผลผลิต คือ “สภาพบุคคลในสังคม” ต้องผจญกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นทั้งปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาชีวิต รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมอื่น ๆ รุมเร้าเข้ามารอบด้าน เป็นการศึกษาที่หย่อนยานด้านวินัยด้านคุณธรรมเพราะไม่สามารถพัฒนาให้สมดุลกับความรู้ได้ การพัฒนาด้านคุณธรรมของบุคคลจะให้เกิดผลดีนั้นจะต้องใช้วิธีการของศาสนาเข้ามาผสมผสาน เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่ออบรมสั่งสอน ปลูกฝังคุณธรรมแก่บุคคลให้เป็นคนดี มีปัญญามีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น แนวความคิดและคำสั่งสอนของทุกศาสนา จึงเป็นหลัก “ปรัชญาชีวิต” ที่ใช้เป็น “หลักการของชีวิต” ได้ดียิ่งเพราะได้วางกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติไว้อย่างละเอียดให้บุคคลได้ดำเนินชีวิตตามด้วยความราบรื่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีสันติสุข ซึ่งเป็นหลักการชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาชีวิตบุคคลไปในทิศทางเดียวกันกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาโดยทั่วไป ฉะนั้นเพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือแห่งกระบวนการที่ใช้พัฒนาบุคคลได้สมบูรณ์ยิ่งทั้งในด้านการพัฒนาจิตใจ การปลูกฝังวินัยคุณธรรม ให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อชีวิตตน สังคมเป็นบุคคลที่มีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายจึงควรนำหลักการศึกษาแบบ “ไตรสิกขา”ของศาสนามาผสานให้กลมกลืนเป็นกระบวนการเดียวกันกับระบบการศึกษาในปัจจุบันเพื่อ “พัฒนานิสัยทำงานด้วยใจรัก”ให้มากขึ้น จุดประสงค์หลักของการนำหลักไตรสิกขามาผสานเข้ากับระบบการศึกษา คือ
- เพิ่มเติมความสมบูรณ์ด้านวินัยคุณธรรมแก่บุคคลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- เพื่อพัฒนาจิตใจให้สงบ หนักแน่น เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นสูงขึ้น
- เพื่อเตรียมพลังจิตใจไว้รับการเรียนรู้ทุกสถานการณ์
- เพื่อพัฒนานิสัยให้เป็นนักสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างชีวิต
- เพื่อให้นำหลักวินัยคุณธรรมใช้เป็น หลักยึดในการดำรงชีวิต
เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาจิตใจ ตามกระบวนการของหลัก “ไตรสิกขา”ได้มั่นคงดีแล้วจึงให้เรียนความรู้ด้านวิชาการไว้เป็นพื้นฐานในการใฝ่เรียนวิชาชีพและใฝ่เรียนวิชากรขั้นสูงต่อไปอันเป็นการพัฒนาบุคคลด้วยความรู้ให้คู่กับคุณธรรม โรงเรียนวิถีพุทธดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในคุณค่าแท้ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตาเป็นฐานการดำเนินชีวิต โดยมีผู้บริหาร และคณะครูเป็นกัลยาณมิตร ช่วยกันพัฒนาดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีวิถีการทำงาน วิถีชีวิต วิถีการเรียนรู้ วิถีวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลัก “ไตรสิกขา” ที่นำไปสู่ “ปัญญา” วิถีชีวิตที่ดีงามตามหลักไตรสิกขาทั้ง ๓ ด้าน
- ศีล (พฤติกรรม)
- มีกิริยามารยาท กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น
- รู้จักพิจารณาเลือกเสพสิ่งบริโภค และสื่อต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ด้วยปัญญา
- รู้จักความพอดี พอประมาณ ในการแสวงหา บริโภค สะสมสิ่งต่าง ๆ
- ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ภายนอกที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดวินัยในตนเอง
- ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นโดยมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
- มีชีวิตที่สัมพันธ์ด้วยดีกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
- จิตใจ (สมาธิ)
- มีสมรรถภาวะที่ดี คือ มีสมาธิ มีความตั้งมั่น เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำดี ด้วยจิตใจกล้าหาญ อดทน สู้สิ่งยาก ขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อสามารถฟันฝ่าอุปสรรคผ่านความยากลำบากไปได้ พึ่งตนเองได้
- มีคุณภาวะ คือ มีความกตัญญูรู้คุณ มีจิตใจเมตตา กรุณาโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ละอายชั่วกลัวบาป ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ กล้ารับผิด เกิดจิตที่เป็นบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ
- มีสุขภาวะที่ดี คือ มีความสุข ความร่าเริง เบิกบาน มองโลกในแง่ดี มีกำลังใจ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ในการร่วมกิจกรรมงานต่าง ๆ
- ปัญญา
- มีศรัทธาเลื่อมใสและมีความเข้าใจในพระรัตนตรัย ในกฎแห่งกรรม และในหลักบาปบุญคุณโทษ
- มีทักษะและอุปนิสัยในการเรียนรู้ทีดี จูงใจ ใฝ่รู้ รู้จักการค้นคว้าการจดบันทึกให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การคิดวิเคราะห์ประมวลผลสามารถนำเสนอถ่ายทอดได้ทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล
- มีทักษะชีวิตเท่าทันต่อสิ่งเร้าภายนอกและกิเลสภายในตนสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้สามารถนำหลักธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้มีฐานชีวิตที่ดีมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติธรรม เกิดปัญญาเข้าใจในสัจธรรมในชีวิต
- ได้ตามวุฒิภาวะของตน สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่ปการปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไป
- เน้นการจัดสภาพทุกๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ
ปัญญาวุฒิธรรม ๔
คือ คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางสติปัญญาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ[7] ประกอบด้วย
- 1 สัปปุริสังเสวะ หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี กำหนดคุณลักษณะผู้สอนในโรงเรียนวิถีพุทธ[8] ดังนี้
- 1.1) เป็นตัวอย่างที่ดีในลักษณะ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” อย่างสม่ำเสมอ
- 1.2) เป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน มีเมตตาธรรม ความอ่อนโยน อดทนอดกลั่นและสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้เรียนอยู่เสมอ
- 2 สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง การมีหลักสูตรการสอนที่ดีดังนี้
หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนเพราะหลักสูตรเป็นเมือนแม่บทมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาทุกประเภท กำหนดแนวการจัดหลักสูตรสถาศึกษาโรงเรียนวิถีพุทธมีดังนี้
- 2.1) เพิ่มเติมพุทธธรรมในวิสัยทัศน์ คุณลักษณ์อันพึ่งประสงค์ของผู้เรียน
- 2.2) เพิ่มเติมคุณธรรม จริยธรรม ในตัวชี้วัดและคำอธิบายรายวิชา
- 2.3) มีการบูรณาการพุทธธรรมในการจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ
- 2.4) สอดแทรกความรู้และการปฏิบัติจริงทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนบูรณาการไตรสิกขาเข้าในชีวิตประจำวันทั้งในและนอกห้องเรียน
- 3 โยนิโสมนสิการ หมายถึง กระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาเหตุผลที่ดีและถูกวิธีมีความสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดโยนิโสมนสิการและธัมมานุธัมมปฏิปัตติ [9] ดังนี้
- 3.1) พัฒนาผู้เรียนรอบด้านทั้งกาย (กายภาวนา) ความประพฤติ (สีลภาวนา) จิตใจ (จิตภาวนา) ปัญญา (ปัญญาภาวนา)
- 3.2) ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติธรรมอย่างสอดคล้องกับชีวิต
- 3.3) สร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแสวงหาปัญญาและวัฒนธรรมเมตตา
- 3.4) เน้นให้เกิดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เข้าใจและค้นพบคุณค่าแท้
การเรียนรู้ตามนัยแห่งพุทธธรรม เป็นการจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์การจัดบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกับการฝึกหัดอบรมกาย วาจา ใจ การเผชิญสถาณการณ์ การแก้ไขปัญหาด้วยการรู้คิดอย่างถูกต้องและแยบคาย กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงจึงเกิดผลอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียน คือ สร้างความรู้ ความคิด ความสามารถและความดี วิถีการเรียนรู้ มีรากฐานที่สำคัญที่สุด คือ ความรักและความเข้าใจ
- 4.ธัมมานุธัมมปฏิปัติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดภาพแห่งความเจริญงอกงามแห่งปัญญา ตามที่ เมตตา ภิรมย์ภักดิ์ สรุปเป็นภาพดังภาพ[10]
ปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตามหลักไตรสิกขาได้อย่างชัดเจรสำหรับแนวคิดเบื้องต้นขิงการจัดสภาพในสถานศึกษาที่เหมาะสมในด้านต่างมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ด้านกายภาพ
สถานศึกษาจะจัดอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อมห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริม การพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา เช่น มีศาลาพระพุทธรูปเด่นเหมาะสมที่จะชวนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ มีมุมหรือห้องให้ศึกษาพุทธรรม บริหารจิตเจริญภาวนาเหมาะสม หรือมากพอที่จะบริการผู้เรียน หรือตกแต่งบริเวณให้เป็นธรรมชาติหรือใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนให้มีใจสงบ และส่งเสริมปัญญา เช่น ร่มรื่น มีป้ายนิเทศ ป้ายคุณธรรม ดูแลเสียงต่างๆ มิให้อึกทึก ถ้าเปิดเพลงกระจายเสียงก็พิถีพิถันเลือกเพลงที่ส่งเสริมสมาธิ ประเทืองปัญญา เป็นต้น
- ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต
สถานศึกษาจัดกิจกรรมวิถีชีวิต ประจำวันประจำสับดาห์ หรือในโอกาศต่างๆเป็นภาพรวมทั้งสถานศึกษา ที่เป็นการปฏิบัติบูรณาการทั้งศีล สมาธิ และปัญญา โดยเน้นการมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของการกิน อยู่ ดู ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นไปตามคุณค่าแท้ของการดำเนินชีวิต โดยมีกิจกรรมตัวอย่างดังนี้
- 1.) มีกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้าเรียนและก่อนเลิกเรียนประจำวัน (เพื่อใกล้ชิดศาสนา)
- 2.) มีกิจกรรมรับศีล หรือทบทวนศีลทุกวันอาจเป็นบทกลอนหรือเพลง เช่นเดียวกับกิจกรรมแผ่เมตตา (เพื่อให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข)
- 3.) มีกิจกรรมทำสมาธิรูปแบบต่าง เช่น นั่งสมาธิ ท่องอาขยานเพื่อสมาธิ สวดมนต์สร้างสมาธิ หรือทำสมาธิเคลื่อนไหวอื่นๆ เป็นประจำหรือก่อนเรียน (เพื่อพัฒนาสมาธิ)
- 4.) มีกิจกรรมพิจารณาอาหารก่อนรับประทานอาหารกลางวัน (เพื่อให้กินเป็น กินอย่างมีสติ มีปัญญารู้เข้าใจ)
- 5.) มีกิจกรรมอาสาตาวิเศษปฏิบัติวินัยหรือศีล (เพื่อให้เป็น อยู่อย่างสงบสุข)
- 6.) มีกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) ประจำวัน (เพื่อให้อยู่เป็น)
- 7.) มีการสวดมนต์ ฟังธรรมประจำสัปดาห์ หรือในวันพระ เพื่อการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา)
- 8.) มีกิจกรรมบันทึกและยกย่องการปฏิบัติธรรม (เน้นย้ำและส่งเสริมแรงการทำความดี)
- 9.) ทุกห้องเรียนมีการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ดดยเข้าใจเหตุผลประโยชน์ที่มีต่อการอยู่ร่วมกัน (พัฒนาศีล/วินัย ด้วยด้วยปัญญา) ฯลฯ
- ด้านการเรียนการสอน
สถานศึกษามีการจัดหลักสูตรสถานศึกษาหรือจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการพุทธธรรมเพื่อพัฒนาการผู้เรียนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการพัฒนาผู้เรียนด้วยหลักพุทธธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น
- 1.) หลักสูตรสถานศึกษามีการดำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ที่สะท้อนการพัฒนาไตรสิกขาไปพร้อมกัน
- 2.) การจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกชั้นให้มีการบูรณาการพุทธธรรมในการเรียนรู้และปฏิบัติ
- 3.) การจัดการเรียนรู้แต่ละครั้งนำพุทธธรรมมาเป็นฐานในการคิด หรือเป็นเกณฑ์ตรวจสอบการเรียนรู้การปฏิบัติ หรือเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่หลักธรมในการพัฒนาตนและผู้อื่น
- 4.) ประสานร่วมมือกับวัด/คณะสงฆ์ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งสารพระพุทธศาสนาและกลุ่มสาระหรือกิจกรรมอื่นๆเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนใกล้ชิดกบพระพุทธศาสนาในบริบทต่างๆ
ทั้งนี้กระบวนการจัดการเรียนรู้ควรมีลักษณะ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยนักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาทั้งด้านกาย (กายภาวนา) ด้านความประพฤติ (สีลภาวนา) ด้านจิตใจ (จิตตภาวนา) และด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) โดยมุ่งให้นักเรียนมีคุณลักษณะ “กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนและสังคมโดยไม่เบียดเบียนผู้ใดและเกื้อกูลในการพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญาและวัฒนธรรมเมตตา เช่น “การกิน อยู่ เป็น” เพื่อยังเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตที่อยู่ได้เหมาะสมเป็นไปตามคุณค่าแท้ หรือ “การดู ฟัง เป็น” เพื่อเน้นประโยชน์ในการเรียนรู้เพิ่มพูนปัญญา
- ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์
สถานศึกษาส่งเสริมบรรยากาศของการใฝ่รู้ และพัฒนาไตรสิกขา หรือส่งเสริมการมีวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลป์ยานมิตรต่อกัน มีบรรยากาศของการเคารพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความเมตตา กรุณาต่อกัน ทั้งครูต่อนักเรียน นักเรียนต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อครูด้วยกัน และสถานศึกษาส่งเสริมให้บุคลากรและนักเรียนปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เช่น การลด ละ เลิกอบายมุข การเสียสละ เป็นต้น
- ด้านการบริหารจัดการ
สถานศึกษาโดยบุคลากรในสถานศึกษาร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน สร้างความตระหนักและศรัทธา รวมทั้งเสริมสร้างปัญญาเข้าใจในหลักการและวิถีการดำเนินการโรงเรียนวิถีพุทธร่วมกันทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูและผู้บริหารเพียรพยายามสนับสนุนโดยลักษณะต่างๆและการปฏิบัติตนเอง ที่จะสนับสนุนและเป็นตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียนตมวิถีชาวพุทธ สถานศึกษาวิเคราะห์จัดจุดเน้นหรือรูปแบบรายละเอียดโรงเรียนวิถีพุทธ ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งแต่ละสถานศึกษาจะมีจุดเน้นและลายละเอียดรูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น บางสถานศึกษาจะมีจุดเน้น ประยุกต์ไตรสิกขาในระดับชั้นเรียน (การจัดกระบวนการเรียนรู้รายวิชา) บางสถานศึกษาเน้นประยุกต์ในระดับกิจกรรมวิถีชีวิตประจำวันภาพรวม บางสถานศึกษาอาจทำทั้งระบบทุกส่วนงานการจัดการศึกษาก็เป็นไปได้
อัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ 29 ประการ
[แก้]โรงเรียนวิถีพุทธ มีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สังกัดสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้วิเคราะห์ สังเคราะห์ แนวทางดำเนินการ รวมทั้งประสานงาน และนิเทศส่งเสริมการดำเนินงาน ตามเกณฑ์ตัวชี้วัดแนวทางในการประเมินตนเองตามอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ 5 ด้าน รวม 29 ประการ ซึ่งสร้างขึ้นจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แนวทางดำเนินการเดิมในปี พ.ศ. 2546 โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553[3] โดยใช้คำว่า "แนวทางดำเนินการ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ " ประกอบด้วย
ด้านกายภาพ 7 ประการ คือ มีป้ายโรงเรียนวิถีพุทธ, มีพระพุทธรูปหน้าโรงเรียน, มีพระพุทธรูปประจำห้องเรียน, พระพุทธศาสนสุภาษิต วาทะธรรม พระราชดำรัสติดตามที่ต่าง ๆ, มีความสะอาด สงบ ร่มรื่น, มีห้องพระพุทธศาสนาหรือลานธรรม และไม่มีสิ่งเสพติดเหล้าบุหรี่ 100 %
ด้านกิจกรรมประจำวันพระ 4 ประการ คือ ใส่เสื้อขาวทุกคน, ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์, รับประทานอาหารมังสวิรัติในมื้อกลางวัน และสวดมนต์แปล
ด้านการเรียนการสอน 5 ประการ คือ มีการบริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนเข้าเรียน เช้า บ่าย ทั้งครู และ นักเรียน, มีการบูรณาการวิถีพุทธ ทุกกลุ่มสาระ และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, ครู พานักเรียนทำโครงงานคุณธรรม กิจกรรมจิตอาสาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง, ครู ผู้บริหาร และ นักเรียน ทุกคน ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดเดือนละ 1 ครั้ง มีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ และครู ผู้บริหาร และ นักเรียนทุกคน เข้าค่ายปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ด้านพฤติกรรม ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน 5 ประการ คือ ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียนรักษาศีล 5, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียนยิ้มง่าย ไหว้สวย กราบงาม, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน ก่อนรับประทานอาหารจะมีการพิจารณาอาหาร รับประทานอาหารไม่ดัง ไม่หก ไม่เหลือ เป็นต้น, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน มีความประหยัด ออม ถนอมใช้เงินและสิ่งของ และครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน มีนิสัยใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก
ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ 8 ประการ คือ ไม่มีอาหารขยะขายในโรงเรียน, ครู ผู้บริหารโรงเรียนไม่ดุ ด่า นักเรียน, ครู ผู้บริหารโรงเรียน ชื่นชมคุณความดี หน้าเสาธงทุกวัน, มีโฮมรูมเพื่อสะท้อนความรู้สึก เช่นความรู้สึกที่ได้ทำความดี, ครู ผู้บริหาร และนักเรียน มีสมุดบันทึกความดี, ครู ผู้บริหาร และนักเรียน สอบได้ธรรมศึกษาตรีเป็นอย่างน้อย, ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน บริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนการประชุมทุกครั้ง และมีพระมาสอนอย่างสม่ำเสมอ[3]
รางวัลโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2553 สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธอย่างต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อนำเป็นคะแนนในตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ARS โดยมีการจัดการเยี่ยม ประเมิน เสนอแนะ เพื่อการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ ใน 2 ปีงบประมาณ จำนวนเกือบ 4,000 โรงเรียน โดยได้คัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ ปีละ 1 รุ่น ๆ ละ 100 โรงเรียน โดยได้ดำเนินการคัดเลือกมาจนถึงรุ่นที่ 4 ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำเหล่านั้น ให้เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนวิถีพุทธอื่น ๆ[3]
โดยโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ 100 โรงเรียน ในแต่ละรุ่น ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ชี้วัดอัตลักษณ์ 29 ประการ ซึ่งได้ผ่านการประเมินคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับประเทศ จะได้รับโล่โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ และใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[3]
รางวัลโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน
[แก้]ในปี พ.ศ. 2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ริเริ่มดำเนินการให้มีการประเมินคัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำดีเด่น จำนวน 27 โรงเรียน ทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับรางวัล "โรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน" ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของการดำเนินงานส่งเสริมโรงเรียนวิถีพุทธในประเทศไทย[4]
แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ 54 ตัวชี้วัด
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. (2557). มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2547 มติที่ 207 เรื่อง ส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.mahathera.org เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
- ↑ 2.0 2.1 คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา. (2557). โรงเรียนวิถีพุทธ . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.moe.go.th . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.). (2557). แนวทางดำเนินการ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.vitheebuddha.com . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
- ↑ 4.0 4.1 สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2557). รายงานการตรวจเยี่ยมประเมิน เพื่อคัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 5 โครงการศึกษาและพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธสู่อัตลักษณ์ 29 ประการ (ประจำปี พ.ศ. 2557) : โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำระดับโล่พระราชทาน . พระนครศรีอยุธยา : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อัดสำเนา
- ↑ 5.0 5.1 5.2 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.). (2557). ความเป็นมาโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.vitheebuddha.com . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
- ↑ 6.0 6.1 6.2 กระทรวงศึกษาธิการ. (2557). สู่เส้นทางโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.moe.go.th . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์โรงเรียนวิถีพุทธ. สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย