ข้ามไปเนื้อหา

โฮเอลุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โฮเอลุง
ภาพวาดแสดงรูปของโฮเอลุง จากภาพประกอบใน ประวัติศาสตร์ลับของชาวมองโกล ฉบับภาษามองโกเลียที่ตีพิมพ์ในปี 1989
พระนามเต็ม
  • อักษรมองโกล: ᠥᠭᠡᠯᠦᠨ Ö’elün Üjin
  • ซีริลลิกมองโกล: Өэлүн
พระสมัญญานาม
จักรพรรดินีซวนยี่ (皇后)
การปริวรรตเป็นอักษรจีน
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ

โฮเอลุง (อักษรโรมัน: Hö'elün) หรือ โอเอลุง (มองโกเลีย: ᠥᠭᠡᠯᠦᠨ, Ö’elün Üjin, แปลว่า แม่นางโฮเอลุง; ราว 1162–1210) เป็นสตรีชนชั้นสูงชาวมองโกเลีย มารดาของเทมุจิง (หรือที่รู้จักในนามชิงกิสข่าน) เธอมีบทบาทอย่างมากต่อการก้าวเข้าสู่อำนาจของเขา ดังที่ปรากฏบรรยายใน ประวัติศาสตร์ลับของชาวมองโกล

โฮเอลุงเกิดมาในตระกูลอ็อลฮอนด์ของชนเผ่าฮองีรัด แรกเริ่มเธอสมรสกับชิเลโด (Chiledu) ชนชั้นสูงชาวเมร์คิต แต่ไม่นานหลังแต่งงานก็ถูกจับกุมตัวไปโดยเยซุเกย์ สมาชิกคนสำคัญของเผ่ามองโกลซึ่งลักพาตัวเธอไปเพื่อเป็นภรรยาเอก ทั้งคู่มีบุตรสี่คนและธิดาหนึ่งคน ได้แก่ เทมุจิง (Temüjin; หรือที่รู้จักในนาม ชิงกิสข่าน), กาซาร์, ฮาชิอน, เทมุเก และเทมุเล็ง หลังเยซุเกย์เสียชีวิตจากการวางยาพิษ และเผ่ามองโกลทิ้งครอบครัวของเธอจากเผ่า โฮเอลุงต้องเลี้ยงดูลูกทั้งหมดของเธอจนเติบใหญ่ด้วยตนเองภายใต้สถานะยากจน นักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการไม่ย่อท้อและทักษะการบริหารจัดการของเธอเป็นพิเศษ เธอยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเทมุจิงหลังแต่งงานกับโบร์เท โฮเอลุงและโบร์เทเป็นสตรีสองคนที่คอยบริหารค่ายของเทมุจิงและให้คำปรึกษาแก่เขา

โฮเอลุงสมรสกับมูงลิก (Münglig) อดีตผู้ติดตามของเยซุเกย์ เพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือที่เขามีให้หลังการพ่ายแพ้ในสงครามเมื่อปี 1187 ในช่วงทศวรรษต่อ ๆ มา โฮเอลุงจัดการแต่งงานแบบคลุมถุงชนและคงสัมพันธไมตรีที่ดีกับฝั่งเยซุเกย์ ในปี 1206 เมื่อเทมุจิงสถาปนาตนเป็นเจงกิส ข่าน เป็นไปได้ว่าโฮเอลุงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจากการได้รับรางวัลน้อยกว่าความพยายามที่เธอได้ทุ่มเทให้เมื่อเทียบกับสามี นอกจากนี้เธอยังมีส่วนในข้อพิพาทระหว่างเจงกิสข่าน พี่น้องของเขา และ บรรดาลูกชายของมูงลิก เธอเสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากความเครียดในการประสานข้อขัดแย้งระหว่างคนรอบตัวเธอ กระนั้นไม่ปรากฏว่าเธอเสียชีวิตเมื่อไรอย่างชัดเจน

ชื่อและที่มา

[แก้]

เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีระบบการแปลงเป็นอักษรโรมันสำหรับภาษามองโกเลียที่ใช้กันอย่างเป็นสากล ทำให้มีการสะกดชื่อของเธอเป็นอักษรโรมันอยู่หลายรูปแบบที่มีคำออกเสียงต่างกันพอสมควรจากชื่อเดิม[1] ชื่อ โฮเอลุง (Hö'elün) ในภาษาอังกฤษมีการเขียนเป็น โอเอลุง (Ö’elün) และบางครั้งมีการนำหน้าชื่อด้วยคำว่า อูจิง (Üjin) อันแปลว่า "แม่นาง" (Lady)[2]

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตของเธอส่วนใหญ่มีที่มาจาก ประวัติศาสตร์ลับของชาวมองโกล มหากาพย์กวีจากกลางศตวรรษที่ 13 ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการก่อตั้งของจักรวรรดิมองโกล ในมหากาพย์นี้บอกเล่าโฮเอลุงในฐานะผู้ให้คำแนะนำและให้ความมั่นคงแก่ลูกของเธอ และมีเนื้อหาเอนเอียงไปในทางบวก จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ประพันธ์นิรนามของมหากาพย์เล่มนี้อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเธอ[3] แม้ว่าลำดับเวลาที่ปรากฏมักจะใหม่สมบูรณ์แบบ และในมหากาพย์ยังเต็มไปด้วยการสอดแทรกองค์ประกอบทางกวีนิพนธ์เข้าไปในบท แต่มหากาพย์กวีนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่า เพราะปราศจากการไม่พูดถึงรายละเอียดที่ไม่น่าพูดถึง ต่างจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เช่น จอมิอ์แอลแทวอรีก ของนักประวัติศาสตร์เปอร์เซียจากยุคศตวรรษที่ 14 แรชีแดลดีน[4]

ชีวประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงแรกและการแต่งงาน

[แก้]
แผนที่บรรดาชนเผ่ามองโกล ป. 1207 เผ่าอ็อลฮอนด (Olkhonud) อาศัยอยู่ทางฟากตะวันออกไกล ใกล้กับชาวฮีทัน; ชาวมองโกลโบร์จิกิง เช่น เยซุเกย์ อาศัยอยู่ระหว่างอ็อลฮอนดกับเมร์กิต

ตามมหากาพย์ ประวัติศาสตร์ลับ ระบุว่า โฮเอลุงเกิดมาในตระกูลอ็อลฮอนด ในชนเผ่าฮ็องกิรัด ซึ่งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาฮิงังใหญ่ ทางใต้ของแม่น้ำอาร์กน บริเวณที่ปัจจุบันคือมองโกเลียใน โดยที่โฮลโอนุดอาศัยอยู่บริเวณใกล้กับต้นธารของแม่น้ำฮัลฮีง[5] โฮเอลุงเทิบโตมาเป็นสตรีโฉมงาม พ่อแม่ของเธอได้ทำการบังคับแต่งงานกับชิเลโด (Chiledu) พี่/น้องชายของหัวหน้าเผ่าเมร์กิต การแต่งงานเป็นไปด้วยดี โดยพิธีแต่งงานจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในดินแดนของอ็อลฮอนด ขณะนั้น เธออายุราวสิบห้าปี[6] ขณะทั้งสองกำลังเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของชิเลโด ทั้งสองถูกซุ่มโจมตี ชาวมองโกล[a] ซึ่งกำลังทำการล่าเหยี่ยวสังเกตเห็นความงดงามและสุขภาพอันดีของโฮเอลุง ซึ่งในพงศาวดาร อัลทันท็อบชิ จากสมัยศตวรรษที่ 17 อ้างว่า พวกมองโกลมีความมั่นใจว่าเธอจะสามารถผลิตลูกหลานให้ได้มาก สังเกตจากสีของพื้นดินที่เธอปัสสาวะใส่ ผู้นำของชาวมองโกลที่ซึ่งเป็นชนชั้นสูง บักฮาโทร์ จากตระกูลบอร์จิกิง นามว่าเยซุเกย์ ตัดสินใจที่จะนำโฮเอลุงไปเป็นภรรยาของเขา[8] เนื่องด้วยสามีของเธอจะต้องพ่ายแพ้ในการสู้รบกับมองโกลและถูกสังหารแน่หากยังคงอยู่กับเธอ โฮเอลุงจึงร้องขอให้เขาหลีกหลีไป และยังให้เสื้อคลุมเธอติดไปด้วย เพื่อให้เขาจดจำกลิ่นของเธอ[9]

การปฏิบัติการลักพาตัวเจ้าสาวไม่ได้เป็นเรื่องแปลกในแถบทุ่งหญ้าสเทปป์ แต่นักประวัติศาสตร์ แอน บรอดบริดจ์ (Anne Broadbridge) ระบุว่าการปฏิบัตินี้ทำให้เกิด "ความอ่อนแอทางสังคมในระยะยาว" ต่อชนเผ่าต่าง ๆ ดังที่สามารถเห็นได้จากเหตุการณ์ในภายหลังของช่วงชีวิตโฮเอลุงเอง[10] แม้ว่าชีเลดูจะไม่มีความพยายามในการตามหาเธอกลับมา แต่เขาก็ได้ทุ่มเทเวลาและเงินทองเพื่อต่อรองขอเธอคืน อาจจะเป็นไปได้ว่าเยซุเกย์เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้นำที่เป็นที่รู้จัก กระนั้น ชาวเมร์กิตก็ยังคงมีความแค้นนี้อยู่ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างสายตระกูลที่กินระยะเวลายาวนาน[11] ส่วนโฮเอลุงเองถูกตัดขาดให้ห่างเหินจากครอบครัวชาวอ็อลฮอนดของเธอ ซึ่งเยซุเกย์เองไม่เคยพบหน้าด้วย และต่อมาในชีวิตของเธอ เธอยังไม่สามารถร้องขอให้ครอบครัวชาวอ็อลฮอนดของเธอช่วยเหลือเธอและลูกที่เธอมีกับเยซุเกย์ในช่วงชีวิตที่ยากลำบากในภายหลัง[12] เรื่องราวการลักพาตัวของโฮเอลุงถูกนำออกไปจากพงศาวดารอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ และปรากฏอยู่แค่ใน ประวัติศาสตร์ลับ เท่านั้น[13] ก่อนหน้านี้ เยซุเกย์ได้แต่งงานกับสตรีอีกคน ซึ่งนักประวัติศาสตร์มักให้ชื่อคือซอชิเกล ทั้งสองมีลูกด้วยกันคือ เบห์เทร์[14] กระนั้น โฮเอลุงกลายมาเป็นภรรยาเอกของเยซุเกย์ ทั้งนี้เหตุผลไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บรอดบริดจ์ตั้งข้อสงสัยว่าด้วยการเลี้ยงดูของเธอในวัยเด็ก ทำให้เธอเป็นภรรยาที่มีมูลค่าที่สุดสำหรับพี่/น้องชายของหัวหน้าเผ่ามองโกล ทำให้เธอมีตำแหน่งสูงส่งกว่าสตรีชนชั้นต่ำคนหนึ่ง ๆ ในสายตาของเยซุเกย์[15]

ออวูและอนุสรณ์ตรงจุดที่เชื่อว่าคือเดลูงบ็อลด็อก ซึ่งเป็นที่โฮเอลุงให้กำเนิดของเทมุจิง ในจังหวัดเฮนที

โฮเอลุงและเยซุเกย์ให้กำเนิดบุตรคนแรกตรงจุดที่ในมหากาพย์ ประวัติศาสตร์ลับ บันทึกไว้ว่าคือ เดลูงบ็อลด็อก บนแม่น้ำออน็อน พื้นที่นี้ต่อมามีการระบุไว้ว่าเป็นดาดัลในจังหวัดเฮนที หรือตอนใต้ของอากิง-บูร์ยัต อ็อครูก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย[16] สำหรับปีที่ให้กำเนิดนั้นก็เป็นประเด็นถกเถียงเช่นเดียวกัน โดยนักประวัติศาสตร์มีความเอนเอียงไปทางปี 1155, 1162 หรือ 1167[17] บุตรคนแรกมีนามว่า เทมุจิง คำที่ซึ่งไม่เป็นที่ทราบถึงความหมายแน่ชัด[18] ในบรรดาตำนานหลากหลายที่เกี่ยวกับการกำเนิดของเทมุจิง เรื่องเล่าที่ปรากฏมากที่สุดบอกว่าตอนเกิดเขาได้กำก้อนเลือดที่แข็งตัวอยู่ในมือ อันตรงกับคติชาวบ้านเอเชียที่ว่า ชายคนนั้นจะเติบใหญ่ไปเป็นนักรบ[19] ในขณะที่บางส่วนบอกเล่าเรื่องราวว่าโฮเอลุงตั้งท้องด้วยรังสีปริศนาซึ่งประกาศถึงเป้าหมายปลายทางชีวิตของบุตรในท้องของเธอ ตำนานนี้เหมือนกันกับของบรรพชนในตำนาน อาลังโกอา[20] เยซุเกย์และโฮเอลุงมีบุตรชายด้วยกันอีกสามคน คือ กาซาร์, ฮาชิอง และ เทมุเก และมีธิดาหนึ่งคน คือ เทมุเล็ง พี่น้องทั้งหมดเติบโตมาในค่ายหลักของเยซุเกย์บนชายฝั่งแม่น้ำออน็อน และเรียนรู้การขี่ม้าและใช้ธนู และยังมีสหายคือเบห์เทร์ (Behter) และน้องชายเบ็ลโกเทย์, บุตรชายทั้งเจ็ดของมูงลิก (Münglig) ผู้ติดตามที่เยซุเกย์ไว้วางใจ และเด็ก ๆ คนอื่นของชนเผ่า[21]

เมื่อเทมุจิงอายุได้แปดปี เยซุเกย์ตัดสินใจหมั้นเขากับเด็กหญิงที่เหมาะสม เยซุเกย์พาเทมุจิงออกไปยังทุ่งหญ้าของชนเผ่าอ็องกิรัตที่เลอค่าของโฮเอลุง และจึงคลุมถุงชนแต่งงานระหว่างเทมุจิงกับโบร์เท ลูกสาวของหัวหน้าเผ่าอ็องกิรัตนามว่า เดย์ เซเช็ง [ru][22] ขณะกำลังขี่ม้ากลับบ้านด้วยตัวคนเดียว เยซุเกย์ได้ร้องขออาหารมื้อหนึ่งจากกลุ่มชาวทาทาร์ที่เขาบังเอิญเจอ ตามลักษณะธรรมเนียมความเอื้อเฟื้อต่อคนแปลกหน้าของชาวทุ่งหญ้าสเตปป์ แต่ชาวทาทาร์จดจำเยซุเกย์ซึ่งเคยต่อสู้กับพวกทาทาร์ในอดีต จึงแอบวางยาพิษในอาหารของเขา เยซุเกย์กินยาพิษเข้าไปจนป่วยแต่ก็ยังกลับถึงบ้านได้ในสภาพใกล้ตาย เขาได้เรียกขอให้มูงลิกไปพาตัวเทมุจิงกลับมาจากอ็องกิรัต ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา[23]

ในฐานะมารดาและที่ปรึกษา

[แก้]

การเสียชีวิตของเยซุเกย์ทำลายความเป็นปึกแผ่นของผู้คนของเขา ซึ่งรวมถึงสมาชิกของตระกูลบอร์จิกิง (Borjigin), ทายิชิอด และตระกูลอื่น ๆ เทมุจิงในเวลานั้นอายุเพียงสิบปี ส่วนเบห์เทร์อายุแก่กว่าสองปี ทั้งคู่ไม่แก่พอที่จะขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งปกครองแทนบิดา ฝั่งทายิชิอดได้ตัดเอาโฮเอลุงออกจากพิธีการบูชาบรรพชนซึ่งมีขึ้นหลังการเสียชีวิตของผู้นำ และไม่นานก็ขับไล่เธอออกจากค่าย ในมหากาพย์ ประวัติศาสตร์ลับ บรรยายว่าต่อมาตระกูลบอร์จิกิงก็ทำตาม แม้ว่าโฮเอลุงจะพยายามทำให้พวกเขาอับอายด้วยการเรียกร้องถึงเกียรติยศของพวกเขา[24] อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลบางส่วนเช่น Rashid al-Din ระบุเป็นนับว่าพี่น้องของเยซุเกย์ยังคงหยัดยืนข้างเธอ เป็นไปได้ว่าโฮเอลุงอาจปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการแต่งงานกับพี่/น้องชายของผู้วายชนม์ หรือเป็นไปได้ว่าผู้นิพนธ์ ประวัติศาสตร์ลับ เขียนเล่าเรื่องราวเกินจริง[25] แหล่งข้อมูลทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าผู้คนของเยซุเกย์ส่วนมากประกาศตัดขาดจากครอบครัวของเขา แลกกับการเข้าหาฝั่งทายิชิอด และครอบครัวของโฮเอลุงต้องเผชิญกับสถานการณ์ชีวิตที่แร้นแค้น[26] โฮเอลุงและลูก ๆ ต้องปรับมาใช้ชีวิตแบบผู้ล่าและหาของป่า เก็บรากพืชและถั่ว ล่าสัตว์เล็ก และจับปลา[27] ความกล้าหาญของเธอและลักษณะที่เธอสามารถปรับชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ได้นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่รอดของครอบครัวเธอ[28]

เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นก็เริ่มเกิดความระหองระแหงระหว่างกัน ทั้งเทมุจิงและเบห์เทร์มีสิทธิ์อ้างเป็นผู้สืบทอดบิดาทั้งคู่ แม้ว่าเทมุจิงจะเป็นลูกของภรรยาเอก แต่เบห์เทร์แก่กว่าเทมุจิงอย่างน้อยสองปี นอกจากนี้ยังเป็นไปได้เช่นกันว่าภายใต้กฎการแต่งงานกับพี่/น้องที่เสียชีวิต (levirate law) เบห์เทร์สามารถจะแต่งงานกับโฮเอลุงหากได้รับเสียงสทวนมากสนับสนุนและกลายมาเป็นพ่อเลี้ยงของเทมุจิง[29] ความเสียดทานยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากการขัดแย้งกันเป็นประจำถึงการแบ่งเขตล่าสัตว์ระหว่างทั้งสอง ท้ายที่สุดเทมุจิงและน้องชาย กาซาร์ รวมตัวกันลอบโจมตีและสังหารเบห์เทร์ ข้อเท็จจริงอันขัดต่อจารีตนี้ถูกตัดออกจากพงศาวดารทางการ แต่ยังคงอยู่ใน ประวัติศาสตร์ลับ ซึ่งยังบอกเล่าต่ออีกว่า โฮเอลุงได้ว่ากล่าวเทมุจิงและกาซาร์อย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่มองถึงผลแค่ในระยะสั้น และเธอคิดว่าเป็นการกระทำเลียนแบบบรรพชนที่ทำไปอย่างวีรชนที่โง่เง่า[30]

ชิงกิสข่านเข้าพบท็อกฮรล ภาพเขียนในจอมิอ์แอลแทวอรีก, ศตวรรษที่ 15

เมื่อครั้นเทมุจิงแต่งงานกับโบร์เทตอนอายุได้สิบห้าปี พ่อแม่ของเธอมอบเสื้อคลุมเซเบิลสีดำแก่โฮเอลุง เธอยินยอมให้เทมุจิงนำเสื้อคลุมนี้ไปมอบแก่ท็อกฮรล ข่านแห่งชาวเคราไอต์ เพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสอง[31] โฮเอลุงอาจยอมให้ความรับผิดชอบบางอย่างในแง่ของการใช้แรงงานแก่ลูกสะใภ้คนใหม่นี้ ทั้งโฮเอลุงและลูกสะใภ้ร่วมกันบริหารเศรษฐกิจและทรัพยากรในค่ายของเทมุจิง ช่วยให้เขาสามารถมีรากฐานในการเดินหน้าสู้รบต่อไปได้[32] โฮเอลุงเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ขณะโบร์เทและโซชิเก็ลถูกลักพาตัวโดยชาวเมร์คิตเพื่อแก้แค้นที่พวกตนถูกลักพาตัวไปเมื่อหลายปีก่อน ต่อมาโบร์เทได้ถูกพาตัสคืนกลับมาในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี[33] คำแนะนำจากโฮเอลุงมีคุณค่าอย่างมากต่อเทมุจิง เมื่อเขาแยกทางกับจามุกา เขาได้หันกลับมาหาเธอและโบร์เทเพื่อขอคำปรึกษา[34] ตามที่ระบุใน ประวัติศาสตร์ลับ เธอยังรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจำนวนมากในฐานะลูกเลี้ยงเพื่อเป็นพี่น้องกับลูก ๆ ของเธอ อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาเชิงลำดับเวลาทำให้เป็นที่เชื่อกันว่าแท้จริงแล้ว ลูกเลี้ยงคนสำคัญที่สุด ซึ่งคือชิกิ โกโตโก รับเลี้ยงดูโดยโบร์เท[35]

หลังจามุกาเอาชนะเทมุงจิงได้ที่การยุทธที่ดาลันบัลจตในปี 1187 ผู้ติดตามของเขาจำนวนมากไม่พอใจกับการปฏิบัติต่อผู้ติดตามของเทมุจิงอย่างโหดร้าย ในบรรดาคนเหล่านี้รวมถึงมุงลิก (Münglig) และลูกของเขา ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาทิ้งครอบครัวไปได้ถูกลืม และพวกเขาได้รับการต้อนรับกลับมาถึงขั้นที่โฮเอลุงแต่งงานกับมุงลิก ซึ่งถือเป็นการแต่งงานครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายของเธอ[36] ในปีให้หลัง ที่ซึ่งเหตุการณ์และสถานที่ของครอบครัวเทมุจิงแทบไม่เป็นที่ทราบเลยนั้น มีความเป็นไปได้ว่าโฮเอลุงทำการคลุมถุงชนแต่งงานให้กับลูกชายคนเล็กสุด เทมุเก และลูกสาวเทมุงเล็ง ตามที่พ่อของเขามักจะทำ เธอยังคงมีบทบาทอย่างมากในการคงซึ่งความสัมพันธ์ต่าง ๆ กับพันธมิตร ขณะที่เทมุจิงหลีกหนีไปพึ่งการปกป้องของราชวงศ์จินในจีน[37] เธออาจจะเดินทางเคียงข้างไปกับเขาเมื่อครั้นเทมุจิงเดินทางกลับมาสู่ทุ่งหญ้าสเตปป์ในปี 1196[38]

เทมุจิงสถาปนาตนขึ้นเป็นชิงกิส ข่าน ในปี 1206 ภาพเขียนใน จอมิอ์แอลแทวอรีก, ศตวรรษที่ 15

การสถาปนาของเทมุจิงขึ้นเป็นชิงกิส ข่านในปี 1206 เกิดขึ้นก่อนที่ชีวิตส่วนตัวของโฮเอลุงจะต้องเผชิญกับความโกลาหล ระหว่างการจัดโครลไท (kurultai; การประชุมพบปะใหญ่) ชิงกิส ข่าน ซึ่งพึ่งขึ้นสู่บัลลังก์ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลึอเขาในการก้าวเข้าสู่อำนาจ ยี่สิบเอ็ดย่อหน้าใน ประวัติศาสตร์ลับ หมดไปกับการบันทึกรายละเอียดการตบรางวัลครั้งนี้[39] ส่วนโฮเอลุงมีรายงานว่าเธอได้รับรางวัลเป็นผู้ติดตาม 10,000 คน แต่เป็นรางวัลที่มอบให้ร่วมกับลูกชายคนเล็ก เทมุเก เธอรู้สึกว่ารางวัลนี้น้อยไปสำหรับส่วนร่วมที่เธอมี ในทางกลับกันนั้น มุนลิกกลับได้รับสิทธิพิเศษในการนั่งประจำทางขวามือของข่าน ทำให้เขาเป็นชายผู้ทรงอิทธิพลที่สุดเป็นอันดับสองในทุ่งหญ้าสเตปป์นี้ ด้วยเหตุการณ์นี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของโฮเอลุงกับมุนลิกระหองระแหงลง[40]

หนึ่งในลูกชายของมุนลิก ชามานนามว่า โคเคชอ (Kokechu) ยังมีความพยายามจะท้าทายบัลลังก์ของชิงกิส ข่าน โคเคชอสามารถทำให้ชิงกิสแตกแยกกับน้องชาย กาซาร์ และ เทมุเก โดยที่มีโฮเอลุงพยายามต้านทานอย่างขยันขันแข็ง ต่อมา เธอและโบร์เทสามารถชักจูงให้ชิงกิสเชื่อว่าโคเคชอควรจะถูกกำจัด ที่ซึ่งเทมุเกกำจัดเขาสำเร็จในการแข่งขันมวยปล้ำที่จัดฉากขึ้นมา[41] ใน ประวัติศาสตร์ลับ กล่าวอ้างว่าโฮเอลุงซึ่งเหนื่อยล้ากับความพยายามทุ่มเทของเธอ เสียชีวิตลงไม่นานหลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางส่วน เช่น อีกอร์ เด ราเชวิลทซ์ เรียกเนื้อความช่วงนี้ว่าเป็นบทกวีเกินจริง (poetical melodrama) และเรื่องราวชีวิตของเธอที่เหลือไม่เป็นที่ทราบเท่านั้น[42] โฮเอลุงได้รับชื่อหลังเสียชีวิตว่าเป็น จักรพรรดินีซวนยี่ (宣懿皇后) ในสมัยราชวงศ์หยวน[43]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในช่วงเวลานั้น คำว่า “ชาวมองโกล” มีไว้เรียกสมาชิกของเผ่าเดียวในมองโกเลียตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น เนื่องจากเผ่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อการสถาปนาจักรวรรดิมองโกล ในภายหลังชื่อ “ชาวมองโกล” นี้จึงถูกนำมาใช้เรียกชนเผ่าทั้งหมด[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ratchnevsky 1991, pp. x–xi.
  2. Atwood 2004, p. 415.
  3. Atwood 2004, pp. 492–493.
  4. Ratchnevsky 1991, pp. xiv–xvi.
  5. Ratchnevsky 1991, p. 15; Atwood 2004, p. 456; May 2018, p. 20.
  6. Broadbridge 2018, pp. 44–45.
  7. Atwood 2004, pp. 389–391.
  8. Ratchnevsky 1991, pp. 14–15; Broadbridge 2018, p. 45.
  9. Broadbridge 2018, p. 45; May 2018, p. 21.
  10. Broadbridge 2018, p. 47; May 2018, p. 20.
  11. Broadbridge 2018, pp. 46–47; May 2018, pp. 21–22.
  12. Broadbridge 2018, p. 45.
  13. Ratchnevsky 1991, p. 15.
  14. Broadbridge 2018, pp. 45–46; Ratchnevsky 1991, pp. 15–16.
  15. Broadbridge 2018, p. 46.
  16. Atwood 2004, p. 97.
  17. Ratchnevsky 1991, pp. 17–19; Pelliot 1959, pp. 284–287; Morgan 1986, p. 55.
  18. Pelliot 1959, pp. 289–291; Man 2004, pp. 67–68; Ratchnevsky 1991, p. 17.
  19. Brose 2014, § "The Young Temüjin"; Pelliot 1959, p. 288.
  20. Ratchnevsky 1991, p. 17.
  21. Ratchnevsky 1991, pp. 15–19.
  22. Ratchnevsky 1991, pp. 20–21; Broadbridge 2018, p. 49.
  23. Ratchnevsky 1991; Broadbridge 2018, pp. 50–51.
  24. Ratchnevsky 1991, p. 22; May 2018, p. 25; Secret History, trans. Atwood 2023, § 71–73.
  25. Ratchnevsky 1991, pp. 22–23; Atwood 2004, pp. 97–98.
  26. Brose 2014, § "The Young Temüjin"; Atwood 2004, p. 98.
  27. May 2018, p. 25.
  28. Veit 2019, pp. 120–121, 129.
  29. May 2018, pp. 25–26.
  30. Ratchnevsky 1991, pp. 23–24; Secret History, trans. Atwood 2023, §76–78; Veit 2019, p. 129.
  31. Ratchnevsky 1991, p. 31; Broadbridge 2018, p. 57.
  32. Broadbridge 2018, p. 58.
  33. May 2018, pp. 29–30; Broadbridge 2018, pp. 58–59.
  34. Broadbridge 2018, p. 64.
  35. Atwood 2004, p. 492; Ratchnevsky 1993, pp. 76–77.
  36. Broadbridge 2018, p. 65.
  37. Broadbridge 2018, pp. 65–66; Ratchnevsky 1991, pp. 48–50.
  38. Broadbridge 2018, pp. 66–67.
  39. Broadbridge 2018, p. 69; Ratchnevsky 1991, p. 90.
  40. Broadbridge 2018, p. 69; Ratchnevsky 1991, pp. 95, 98.
  41. Biran 2012, pp. 44–45; Broadbridge 2018, pp. 69–70.
  42. Atwood 2004, p. 416; Broadbridge 2018, p. 71.
  43. Ke 1920, vol. 104.

บรรณานุกรม

[แก้]