ข้ามไปเนื้อหา

ไซเลนต์ฮิลล์: ออริจินส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Silent Hill: Origins
ผู้พัฒนาClimax Studios
ผู้จัดจำหน่ายKonami Digital Entertainment
กำกับMark Simmons
อำนวยการผลิตWilliam Oertel
ออกแบบSam Barlow
เขียนบทSam Barlow
แต่งเพลงAkira Yamaoka
ชุดไซเลนต์ฮิลล์
เครื่องเล่นPlayStation Portable, PlayStation 2
วางจำหน่ายPlayStation Portable
PlayStation 2
แนวSurvival horror
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

ไซเลนต์ฮิลล์: ออริจินส์ (อังกฤษ: Silent Hill: Origins, หรือแผลงการสะกดเป็น Silent Hill: Ørigins) หรือในชื่อ ไซเลนต์ฮิลล์ ซีโร สำหรับวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น เป็นเกมแนวสยองขวัญลำดับที่ห้าในชุดไซเลนท์ฮิลล์[2] (แต่มีเนื้อหาตามลำดับเวลาเป็นอันดับแรก)[3] จัดจำหน่ายโดย โคนามิ ดิจิตอล เอนเตอร์เทนเมนท์ และพัฒนาโดย ไคลแม็กซ์ สตูดิโอส์ สำหรับเครื่อง Play Station Portable ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 และภายหลังพอร์ตลงเครื่องเพลย์สเตชัน 2 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551

เรื่องราวในภาคนี้ย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์ก่อนเกมภาคแรก จับความไปที่ทราวิส แกรดี้ คนขับรถบรรทุกซึ่งโชคชะตานำพาให้ไปเกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นของลัทธิประหลาดในเมืองไซเลนท์ฮิลล์ ซึ่งจะกลายเป็นจุดกำเนิดของเกมภาคแรกในหลายปีให้หลัง

ไซเลนท์ฮิลล์ ออริจินส์ เวอร์ชัน PSP ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี โดยผู้เล่นส่วนมากชื่นชมระบบการเล่นและกราฟิกที่จัดว่าสวยงามสำหรับเครื่องเกมมือถือ ส่วนคำติติงจะเป็นการวิจารณ์ในเรื่องความยาวของเกม และรูปแบบการเล่นที่ค่อนข้างซ้ำกับเกมภาคก่อนๆมากเกินไป สำหรับเวอร์ชัน PS2 ได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่า โดยคำวิจารณ์จะเน้นที่เรื่องของคุณภาพกราฟิกที่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรมากนัก ซึ่งถือว่าค่อนข้างแย่สำหรับเครื่องเกมคอนโซล

ระบบการเล่น

[แก้]

Silent Hill: Origins ยังมีรูปแบบการเล่นหลักๆ เช่นเดียวกับเกมภาคก่อนๆ ตัวเกมจะใช้มุมมองบุคคลที่สามเป็นหลัก ผู้เล่นจะได้ผจญภัยไปพร้อมกับต่อสู้กับสัตว์ประหลาด และไขปริศนาต่างๆ โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งของภาคนี้คือ ระบบการต่อสู้ ผู้เล่นยังสามารถใช้อาวุธได้ทั้งระยะใกล้ และอาวุธปืนเช่นเดิม แต่อาวุธระยะใกล้จะมีให้เลือกหลากหลายขึ้น เช่นท่อนไม้ โคมไฟ ประแจเหล็ก ฯลฯ ซึ่งเมื่อใช้ไปแล้วก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงจนพังไปในที่สุด และยังมีอาวุธประเภทที่ใช้ได้ครั้งเดียวด้วย แต่จะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะสร้างความเสียหายให้ศัตรูมากกว่าปกติ ผู้เล่นจะสามารถเก็บอาวุธเหล่านี้ได้ทั่วไป ในการต่อสู้ยังมีการเพิ่มระบบ Quick Time Event เข้ามาด้วย ศัตรูบางตัวจะสามารถจับตัวผู้เล่นไว้เพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องได้ ผู้เล่นจะต้องกดปุ่มที่ปรากฏขึ้นให้ตรงตามที่กำหนดเพื่อเอาตัวรอด

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของภาคนี้คือการที่สามารถข้ามไปมาระหว่างโลกปกติ และมิติของฝันร้ายได้ตลอดเวลาผ่านทางการแตะที่กระจกในเกม ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินเกมและไขปริศนาอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เส้นทางที่ถูกปิดกั้นไว้ในโลกปกติ อาจสามารถผ่านไปได้ในมิติของฝันร้าย หรือการเปิดประตูในมิติของฝันร้าย จะทำให้ประตูในโลกปกติถูกเปิดไปด้วย เป็นต้น

ตัวเกมยังใช้ไฟฉายและวิทยุพกพาเป็นไอเทมเด่นของเกมเช่นเดิม ไฟฉายจะใช้ส่องทางในความมืด และวิทยุจะส่งสัญญาณเตือนออกมาเมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้

ระบบต่อสู้

[แก้]

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเกมก็คือระบบการต่อสู้ ในภาคนี้ ทราวิสสามารถใช้มือเปล่าต่อยศัตรูได้ อาวุธที่ใช้โจมตีระยะใกล้จะเกิดความเสียหายมากขึ้นและอาจพังได้เมื่อใช้ต่อสู้ไปนาน ๆ ศัตรูบางตัวสามารถเข้าจับผู้เล่นเพื่อทำร้ายได้วย โดยตัวเกมจะมีระบบควิกไทม์อีเวนท์ ที่แสดงปุ่มต่างๆขึ้นมาบนหน้าจอ หากผู้เล่นกดปุ่มได้ถูกต้องก็จะหลุดพ้นจากศัตรูนั้นๆได้ เกมภาคนี้ยังให้ความสำคัญกับค่าความเหนื่อยของทราวิสด้วย ซึ่งทราวิสจะหายใจหอบและวิ่งได้ช้าลง หากทำการวิ่งหรือต่อสู้กับศัตรูติดต่อกัน จำเป็นต้องหยุดพักสักระยะหรือใช้ไอเทมเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพื่อให้หายเหนื่อย และต่อสู้กับศัตรูได้ดีดังเดิม

พล็อตเรื่อง

[แก้]

ทราวิส แกรดี้ คนขับรถบรรทุกส่งของ ตัดสินใจเลือกใช้เส้นทางผ่านเมืองไซเลนท์ฮิลล์ สำหรับเป็นทางลัด ระหว่างทาง เขาได้หักรถหลบเด็กสาวคนหนึ่งที่เดินตัดหน้า ด้วยความเป็นห่วงเด็กสาวคนนั้น ทราวิสจึงจอดรถไว้ข้างทางและเดินตามเด็กคนนั้น ก่อนจะมาถึงบ้านหลังหนึ่งที่กำลังถูกเพลิงไหม้อย่างหนัก เมื่อได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ เขาจึงตัดสินใจฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปช่วยเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งถูกไฟไหม้ทั้งตัวในบ้านออกมาได้ ทราวิสสลบไปพร้อมกับเสียงรถพยาบาลที่กำลังจะมาถึง

เมื่อได้สติอีกครั้ง ทราวิสพบตัวเองตื่นขึ้นบนม้านั่งในเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยหมอกหนาทึบและไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เขานึกถึงเด็กสาวที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อคืนก่อนได้ จึงเดินทางไปยังโรงพยาบาลอัลเคมิล่า และถามถึงเด็กสาวคนนั้นจากนายแพทย์ไมเคิล คอฟแมนน์ แต่นายแพทย์กลับบอกให้ทราวิสไปจากที่นี่เสีย เพราะไม่มีใครอยู่อีกแล้ว ทราวิสไม่เชื่อและค้นหาเด็กคนนั้นต่อ จนได้พบกับเด็กสาวคนที่เดินตัดหน้ารถในเงาสะท้อนของกระจก ซึ่งภาพของสภาพแวดล้อมที่เห็นในกระจกนั้นเต็มไปด้วยสนิมเลือด ทราวิสถูกดึงเข้าสู่มิติแห่งฝันร้ายในทันทีที่เขาสัมผัสกับกระจกเงา และต้องเอาตัวรอดจากปิศาจทั้งหลายในมิตินั้น ซึ่งหลังจากเอาชนะปิศาจตัวหนึ่งได้ เขาก็พบกับเด็กสาวคนนั้นอีกครั้ง พร้อมทั้งชิ้นส่วนปิรามิดขนาดเล็กที่ทำให้เขาหมดสติไปอีก

เมื่อฟื้นขึ้นมา เขากลับมาอยู่ในมิติมนุษย์ดังเดิม และพบกับลิซ่า การ์แลนด์ เธอบอกทราวิสว่าเด็กสาวคนนั้นชื่ออัลเลสซ่า กิลเลสพี เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งคู่ออกจากโรงพยาบาลและเดินทางต่อไปยังสถานบำบัดอาการทางจิตซีดาร์กรูฟ ที่นี่ ทราวิสได้พบกับดาเลีย กิลเลสพี แม่ของอัลเลสซ่า และจากการดูบันทึกของผู้ป่วย เขาก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าเฮเลน แกรดี้ แม่ของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว เคยเข้ารับการบำบัดอาการทางจิตที่นี่ โดยเฮเลนอ้างว่าตัวเธอสามารถคุยกับผู้คนแห่งโลกกระจกได้ พวกเขาบอกให้เธอฆ่าลูกชายเสียเนื่องจากจะเป็นผู้นำซาตานมาจุติที่โลกใบนี้ หลังจากเอาชนะความทรงจำของแม่ตัวเองได้แล้ว ทราวิสก็พบกับชิ้นส่วนปิรามิดอีกชิ้นหนึ่ง

ยิ่งทราวิสเดินทางสำรวจสถานที่ต่างๆในเมืองมากขึ้น เขาก็ได้เจอกับอัลเลสซ่าและชิ้นส่วนปิรามิดชิ้นอื่นๆ เขารู้สึกว่าอัลเลสซ่าพยายามจะบอกอะไรบางอย่างแก่เขา พร้อมๆกับที่ความทรงจำอันน่าสยดสยองในวัยเด็กของทราวิสเริ่มแจ่มชัดมากขึ้น รายกับเป็นการเดินทางตามรอยอดีต จนเมื่อเขาเดินทางมาถึงริเวอร์ไซด์ โมเตล เขาก็จำได้ว่า ณ ที่แห่งนี้ หลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตในสถานบำบัดซีดาร์ กรูฟ พ่อและเขาเดินทางมาพักที่นี่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งพ่อของเขาจมอยู่กับความทุกข์โศกที่ต้องสูญเสียภรรยาซึ่งเป็นที่รักไป จนสุดท้ายก็ได้ผูกคอตายในห้องหมายเลข 500 ซึ่งในวัยเด็กนั้น ทราวิสยืนมองศพพ่อของเขาอยู่นานนับชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่โรงแรมจะมาพบ เนื่องจากเขาไม่อยากจะยอมรับการตายของพ่อ ในที่สุด ทราวิสก็เอาชนะปิศาจความทรงจำของพ่อตนเองได้ และเจอปิรามิดชิ้นสุดท้าย

ทราวิสประกอบปิรามิดทุกชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นผลให้อาคมที่สะกดพลังของอัลเลสซ่าไว้คลายลง และเปลี่ยนตัวเมืองให้กลายเป็นมิติแห่งฝันร้าย ทราวิสเดินทางตามแผนที่ที่อัลเลสซ่าให้ไว้จนไปถึงรังประกอบพิธีกรรมของลัทธิลับ และพบว่าสมาชิกของลัทธินี้ (รวมทั้งนายแพทย์คอฟแมน และดาเลียด้วย) ทำการเผาร่างของอัลเลสซ่า เพื่อใช้บูชาเทพเจ้า โดยอัลเลสซ่าใช้พลังนำทราวิสมาที่นี่เพื่อขัดขวางนั่นเอง คอฟแมนหลบหนีไปโดยเรียกปิศาจจากห้วงนรกขึ้นมาขัดขวางทราวิส เมื่อทราวิสสู้กับปิศาจจนพลังมันอ่อนลง อัลเลสซ่าก็ผนึกปิศาจนั้นไว้ใน 'ฟลูรอส' ปิรามิดขนาดเล็กที่ทราวิสประกอบขึ้นในที่สุด

ฉากจบ

[แก้]
Good Ending

(ฉากจบจริงของเนื้อเรื่อง) ฟลูรอสได้ผนึกปิศาจไว้ โดยแบ่งภาคพลังส่วนหนึ่งออกมาเป็นเด็กทารกเพศหญิงคนหนึ่ง ซึ่งภายในมีครึ่งวิญญาณของอัลเลสซ่าสถิตย์อยู่ ทราวิสกลับมายังรถบรรทุกของตัวเอง และหมุนเข็มไมล์รถกลับไปที่ศูนย์อีกครั้ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้นจากฝันร้ายในวัยเด็กที่ตามหลอกหลอน ก่อนจะขับรถออกมา ทราวิสสังเกตเห็นอัลเลสซ่าผ่านทางกระจกมองข้าง ยิ้มให้เขาในขณะที่อุ้มทารกนั้นเดินจากไป เกมจะจบลงด้วยเสียงของแฮรี่ เมสัน ตัวเอกจากภาคแรก และภรรยา พูดคุยถึงเรื่องการรับเด็กทารกมาเป็นบุตรบุญธรรม และตั้งชื่อให้ว่าเชอริล ขณะเดียวกัน นายแพทย์คอฟแมนและดาเลียก็ตกลงกันว่าจะต้องใช้พลังเวทมนตร์เรียกเอาวิญญาณอีกครึ่งหนึ่งของอัลเลสซ่า (ที่แบ่งไปอยู่กับเชอริล) กลับมายังไซเลนท์ฮิลล์ แม้จะต้องรอเวลาอีกหลายปีก็ตาม

Bad Ending

ทราวิสได้สติคืนมาอีกครั้งในห้องที่ดูคล้ายห้องผ่าตัด ร่างกายถูกมัดติดกับเตียง และถูกฉีดยาบางอย่างเข้าร่างกาย เมื่อมองไปในกระจกเงา ทราวิสก็พบว่าเงาสะท้อนของเขานั้นกลายเป็นปิศาจร้ายที่รู้จักกันในนามของ "เจ้าคนแล่เนื้อ" (The Butcher) ซึ่งเหตุการณ์นี้สามารถอนุมานได้ว่า ทราวิสหลอนประสาทแต่งเรื่องอดีตอันเลวร้ายของตนขึ้นมา และกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องออกฆ่าผู้คนในเมืองไซเลนท์ฮิลล์

Dog Ending

เมื่อทราวิสใช้กุญแจรูปพระจันทร์เสี้ยวไขเข้าไปในห้องหมายเลข 505 ที่ริเวอร์ไซด์ โมเตล ก็มียานอวกาศ UFO ลำหนึ่งบินลงมาหา พร้อมกับมนุษย์ต่างดาวและสุนัขที่อยู่ในฉากจบแบบ UFO ของเกมภาคอื่นๆ มนุษย์ต่างดาวบอกว่าพวกเขาเก็บรถบรรทุกของทราวิสไว้ที่ดาวเคราะห์ของพวกเขาเอง และเชื้อเชิญทราวิสให้ลองขับ UFO ดู จากนั้นทั้งหมดก็บินออกจากโลกไปด้วยกัน

การพัฒนา

[แก้]

หลังจากการออกฉายของภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากตัวเกม ทางโคนามิก็ได้พิจารณาแผนการนำเกมภาคแรกมาสร้างใหม่อีกครั้ง[4][5] โดยจะใช้ตัวละครโรส ดา ซิลวามาแทนที่แฮรี่ เมสัน ตัวเอกในเกมต้นฉบับ ซึ่งแผนการนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นทั้งจากการให้สัมภาษณ์ของคริสโตเฟอร์ เกนส์ ผู้กำกับ และข่าวรั่วจากทางโคนามิเองเรื่องเกมภาคต่อที่จะใช้ชื่อว่า Silent Hill: Original Sin สำหรับลงบนเครื่อง PSPอ้างอิงผิดพลาด: พารามิเตอร์ในป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง โดยในภายหลังโปรดิวเซอร์ของเกมภาคออริจินส์ วิลเลี่ยม โอเรเทล ได้ยินยันว่าไอเดียเรื่องการรีเมคเกมภาคแรกเคยได้รับการพิจารณาจากทางโคนามิจริง แต่ก็ถูกยกเลิกไป[6][7]

ออริจินส์มีข่าวประกาศเป็นครั้งแรกในงาน E3 ประจำปี พ.ศ. 2549 โดยเปิดเผยรูปแบบการเล่นหลักๆ และเนื้อเรื่องคร่าวๆ นอกจากนี้ยังมีการประกาศเรื่องของทีมสร้างที่จะไม่ใช่ Team Silent ของโคนามิอีกต่อไป แต่เป็น Climax Studio แทน[8] พล็อตเรื่องของเกมเขียนขึ้นโดยแซม บาร์โลว์[9] ซึ่งตกลงกับทาง Team Silent ให้ชื่อเรื่องเป็นที่ยอมรับ[10] ประกอบเกมภาคนี้ยังคงประพันธ์โดยอากิระ ยามาโอกะเช่นเดิม[6][8] ตัวอย่างการเล่นแรกของเกมเปิดเผยว่าจะยังคงใช้ระบบหลักๆเช่นการต่อสู้กับศัตรูแบบเดียวกับเกมภาคก่อนๆ แต่เพิ่มรูปแบบมุมกล้องเช่นเดียวกับเกม Resident Evil 4 เข้ามา[11][12] ทราวิสสามารถใช้อาวุธได้ 6 แบบ ประกอบด้วยอาวุธระยะประชิด 3 แบบ และอาวุธปืนอีก 3 แบบ ระบบอื่นๆของเกมที่เคยมีการวางแผนกันไว้เช่น การติดศูนย์เล็งด้วยเลเซอร์ลงบนอาวุธปืน และการใช้ระบบสิ่งกีดขวาง โดยเอาวัตถุในฉากมาช่วยป้องกันการโจมตีของศัตรูได้[11][13] ระบบเกมทั้งหมดนี้ทำให้เกมนี้มีแผนวางจำหน่ายในปลายปี พ.ศ. 2549[14]

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ทางทีมไคลแม็กซ์อเมริกาซึ่งดำเนินการสร้างอยู่นั้น มีข่าวลือว่าถูกระงับ เนื่องจากการวางแผนงานที่แย่และเป็นไปได้ยาก ซึ่งอาจทำให้ท้ายสุดแล้วตัวเกมมีความยาวในการเล่นอยู่เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น[15][16] ต่อมาจึงได้มีการย้ายงานผลิตไปสู่ทีมงานอื่นในสหราชอาณาจักรแทน เพื่อเป็นการยืนยันว่าตัวเกมที่ออกมาจะมีความรัดกุมมากขึ้น วันเปิดตัวยังได้ถูกเลื่อนออกไป[17] และให้บรรยากาศของความเป็นไซเลนท์ฮิลล์ในแบบที่แฟนเกมต้องการ ตัวอย่างการเล่นที่เปิดเผยต่อมาแสดงให้เห็นว่า ตัวเกมมีการเปลี่ยนแปลงจากครั้งแรกค่อนข้างมาก ย้อนกลับไปคล้ายเกมภาคก่อนหน้ามากขึ้น ตัดมุมกล้องแบบ Resident Evil 4 ออกไป[16][18] ตัวอย่างการเล่นนี้ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมค่อนข้างดี[18][19]

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ตัวเกมเวอร์ชันเดโมถูกปล่อยให้ดาวน์โหลดกันบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทางไคลแม็กซ์สตูดิโอปฏิเสธว่าเป็นแหล่งของไฟล์ที่หลุดรอดออกมา[20] ตัวเกมจริงออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ส่วนประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นลำดับถัดมาในเดือนธันวาคม[1] (ซึ่งในญี่ปุ่นวางจำหน่ายในชื่อ Silent Hill Zero)[1] ในเดือนเดียวกันนั้น เว็บไซต์ Kotaku ได้รายงานข่าวเรื่องเกมนี้จะถูกพอร์ตลงบนเครื่องเพลย์สเตชัน 2 เพื่อเป็นการกระจายตัวเกมให้ถึงผู้เล่นส่วนมากมากขึ้น โดยจะวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551[21] เมื่อถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 เว็บไซต์ แอมะซอน.คอม ก็เริ่มเปิดให้สั่งจองตัวเกมเวอร์ชันเครื่อง PS2 แม้ว่าทางโคนามิและไคลแม็กซ์จะยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการในเวลาก็ตาม[22] โดยโคนามิประกาศยืนยันเวอร์ชัน PS2 ในวันที่ 22 มกราคม 2008[23]

ดนตรีประกอบ

[แก้]

Silent Hill Zero Original Soundtracks ประพันธ์โดยอากิระ ยามาโอกะ และวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นวันที่ 25 มกราคม 2008 โดย Konami Music Entertainment[24]

เสียงตอบรับ

[แก้]
การตอบรับ
คะแนนรวม
ผู้รวมคะแนน
เกมแรงกิงส์78.10% (PSP)[29]
72.41% (PS2)[30]
เมทาคริติก78/100 (PSP)[31]
70/100 (PS2)[32]
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
เกมโปร4.5/5[27]
เกมสปอต6.5/10[3]
เกมสปาย4/5[28]
ไอจีเอ็น8.0[26]
นิตยสารเพลย์87/100[25]

เสียงตอบรับโดยรวมของภาค Origins จัดอยู่ในระดับดี โดยในเวอร์ชัน PSP ได้คะแนนจาก Metacritic อยู่ที่ 78/100 และจาก Game Ranking อยู่ที่ 78.10%[29][31] ในขณะที่เวอร์ชัน PS2 ได้คะแนนลดลงมาอยู่ที่ 70/100 และ 72.41% ตามลำดับ[30][32]

คำติติงของเกมส่วนมากจะเน้นไปที่เรื่องของ "การดำเนินตามสูตรสำเร็จของซีรีส์" มากเกินไป[25] ความเห็นจากการรีวิวของ GameSpot บอกว่า "เมืองหมอกนี้ควรจะมีมุขใหม่ๆบ้าง" และบอกว่าเกมนี้ "ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่า ได้จ่ายเงินซื้อการผจญภัยแบบเดิมๆที่ยึดติดกับแฟรนไชส์อายุ 8 ปี ในราคาที่น่าจะซื้ออะไรใหม่ๆได้"[3] มุมกล้องบางส่วนในเกมยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามองได้ลำบาก[26][27] โดยเฉพาะในฉากที่เป็นทางเดินแคบๆ[28]

สำหรับเวอร์ชัน PS2 บทวิจารณ์ยังแสดงความผิดหวังในเรื่องของกราฟิก ซึ่งจัดว่าด้อยกว่าเกมภาคก่อนหน้าที่ลงบนเครื่อง PS2 มาก[33][34] ทาง IGN ยังวิพากษ์เรื่องของการไม่ใส่ระบบควบคุมมุมกล้องได้เองมาด้วย[34]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Silent Hill: Origins, Release Summary". GameSpot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2007-10-26.
  2. Haynes, Jeff (November 12, 2007). "Silent Hill: Origins Review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  3. 3.0 3.1 3.2 VanOrd, Kevin (2007-11-22). "Silent Hill: Origins Review". GameSpot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  4. Klepek, Patrick (2006-03-16). "Silent Hill 1 Re-release?". 1UP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  5. Haynes, Jeff (April 23, 2007). "Silent Hill Origins Impressions and Interview". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ April 5, 2011.
  6. 6.0 6.1 Reed, Kristan (2006-05-11). "Silent Hill: Origins Preview". Eurogamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  7. Vore, Bryan (2006-07-24). "CC06: Silent Hill: Origins - The William Oertel Interview". GameInformer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  8. 8.0 8.1 GameSpot (2006-05-10). "Konami Announces Silent Hill: Origins". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  9. MobyGames Game Credits for Silent Hill: 0rigins
  10. Eurogamer, Silent Hill Origins Preview
  11. 11.0 11.1 Dunham, Jeremy (2006-08-23). "GC 2006: Silent Hill: Origins Hands-on". IGN. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  12. Torres, Ricardo (2006-08-24). "Silent Hill: Origins Hands-On". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  13. Torres, Ricardo (2006-05-10). "E3 06: Silent Hill: Origins First Impressions". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  14. Reed, Kristan (2006-05-11). "Silent Hill: Origins, page 2". Eurogamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  15. Crecente, Brian (2006-10-23). "Rumor: Climax Hobbles Silent Hill: Origins". Kotaku. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  16. 16.0 16.1 Fahey, Rob (2007-07-10). "Silent Hill: Origins 2007 Preview". Eurogamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  17. Reed, Kristan (2007-04-30). "Silent Hill: Origins Interview". Eurogamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-27. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  18. 18.0 18.1 Liang, Alice (2007-04-23). "CC06: Silent Hill: Origins PSP preview". 1UP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  19. Shoemaker, Brad (2007-04-24). "Silent Hill: Origins Updated Hands-On". GameSpot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  20. Martin, Matt (2008-08-21). "Silent Hill PSP demo leaked online". Gamesindustry.biz. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
  21. McWhertor, Michael (2007-12-07). "Unconfirmed: Silent Hill 0 Gets Inevitable PS2 Port". Kotaku. สืบค้นเมื่อ 2007-12-07.
  22. McWhertor, Michael (2008-01-15). "Playstation 2: Retailers All But Confirm Silent Hill Ørigins PS2 Port". Kotaku. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  23. Geddes, Ryan (2008-01-22). "Silent Hill Origins Coming to PS2". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  24. "Silent Hill Zero Original Soundtracks" (ภาษาญี่ปุ่น). Konamistyle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  25. 25.0 25.1 Gilmore, Craig (2008-04-17). "Review - Silent Hill Origins". Play Magazine. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  26. 26.0 26.1 Haynes, Jeff (2007-11-12). "IGN: Silent Hill Origins Review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  27. 27.0 27.1 Burt, Andy (2007-11-07). "Review : Silent Hill Origins PSP". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-16. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  28. 28.0 28.1 Chapman, David (2007-11-19). "GameSpy: Silent Hill Origins Review". GameSpy. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  29. 29.0 29.1 "Silent Hill: Ørigins Reviews". Game Rankings.
  30. 30.0 30.1 "Silent Hill: Origins Reviews". Game Rankings.
  31. 31.0 31.1 "Silent Hill Origins (psp: 2007): Reviews". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-20. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  32. 32.0 32.1 "Silent Hill Origins (ps2: 2007): Reviews". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-23. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  33. VanOrd, Kevin (2008-04-08). "Silent Hill: Origins (PS2)". GameSpot. สืบค้นเมื่อ April 5, 2011.
  34. 34.0 34.1 "Silent Hill: Origins review (PS2)". IGN. 2008-04-17. สืบค้นเมื่อ April 5, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]