ไดโนเสาร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ไดโนเสาร์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย–ปัจจุบัน, 233.23 – 0 Mya (ขอบเขตรวมนก (สัตว์ปีก)) (อาจย้อนไปถึงยุคไทรแอสซิกตอนกลาง) | |||
---|---|---|---|
โครงกระดูกของไดโนเสาร์ประเภทพันธุ์ต่าง ๆ ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: Microraptor gui (เทโรพอดมีปีก), Apatosaurus louisae (ซอโรพอดยักษ์), Edmontosaurus regalis (ออร์นิโธพอดปากเป็ด), Triceratops horridus (เซราทอปเซียมีเขา), Stegosaurus stenops (สเตโกซอร์ที่มีแผ่นกระดูก), Pinacosaurus grangeri (แองคิโลซอร์ที่มีเกราะ) | |||
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |||
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota | ||
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia | ||
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata | ||
เคลด: | Dracohors Dracohors | ||
เคลด: | ไดโนเสาร์ Dinosauria Owen, 1842 | ||
กลุ่มหลัก | |||
|
ไดโนเสาร์ (อังกฤษ: dinosaur) เป็นชื่อเรียกโดยรวมของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในอันดับใหญ่ Dinosauria ซึ่งเคยครองระบบนิเวศบนพื้นพิภพ ในมหายุคมีโซโซอิก เป็นเวลานานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลาน แต่อันที่จริงไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในอันดับหนึ่งที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างสัตว์เลื้อยคลานและนก
คำว่า ไดโนเสาร์ ในภาษาอังกฤษ dinosaur ถูกตั้งขึ้นโดย เซอร์ ริชาร์ด โอเวน นักบรรพชีวินวิทยา ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นการผสมของคำในภาษากรีกสองคำ คือคำว่า deinos (δεινός) (ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว) และคำว่า sauros (σαύρα) (สัตว์เลื้อยคลาน)
หลายคนเข้าใจผิดว่า ไดโนเสาร์ คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหายุคมีโซโซอิกทั้งหมด แต่จริง ๆ แล้ว ไดโนเสาร์ คือสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเท่านั้น สัตว์บกบางชนิดที่คล้ายไดโนเสาร์ สัตว์น้ำและสัตว์ปีกที่มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เป็นเพียงสัตว์ชนิดที่อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์เท่านั้น
แม้ว่าไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปนานหลายล้านปีแล้ว แต่คำว่าไดโนเสาร์ก็ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไดโนเสาร์นั้นนับว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยปริศนาและความน่าอัศจรรย์เป็นอันมากนั่นเอง
ประวัติการค้นพบ
มนุษย์ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์มาเป็นเวลานับพันปีแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเศษซากเหล่านี้เป็นของสัตว์ชนิดใด และพากันคาดเดาไปต่าง ๆ นานา ชาวจีนมีความคิดว่านี่คือกระดูกของมังกร ขณะที่ชาวยุโรปเชื่อว่านี่เป็นสิ่งหลงเหลือของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ จนกระทั่งเมื่อมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในปี ค.ศ. 1822 โดย กิเดียน แมนเทล นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ไดโนเสาร์ชนิดแรกของโลกจึงได้ถูกตั้งชื่อขึ้นว่า อิกัวโนดอน เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์นี้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับโครงกระดูกของตัวอิกัวนาในปัจจุบัน
สองปีต่อมา วิลเลียม บักแลนด์ (William Buckland) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก็ได้เป็นคนแรกที่ตีพิมพ์ข้อเขียนอธิบายเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นไดโนเสาร์ชนิด เมกะโลซอรัส บักแลนดี (Megalosaurus bucklandii) และการศึกษาซากดึกดำบรรรพ์ของสัตว์พวกกิ้งก่า ขนาดใหญ่นี้ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากนักวิทยาศาสตร์ทั้งในยุโรปและอเมริกา
จากนั้นในปี ค.ศ. 1842 เซอร์ ริชาร์ด โอเวน เห็นว่าซากดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบมีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน จึงได้บัญญัติคำว่า ไดโนเสาร์[7] เพื่อจัดให้สัตว์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มอนุกรมวิธานเดียวกัน นอกจากนี้ เซอร์ริชาร์ด โอเวน ยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ขึ้น ที่เซาท์เคนซิงตัน กรุงลอนดอน เพื่อแสดงซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ รวมทั้งหลักฐานทางธรณีวิทยาและชีววิทยาอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบ โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซกซ์-โคเบิร์ก-โกทา (Prince Albert of Saxe-Coburg-Gotha) พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร
จากนั้นมา ก็ได้มีการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในทุกทวีปทั่วโลก (รวมทั้งทวีปแอนตาร์กติกา) ทุกวันนี้มีคณะสำรวจซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อยู่มากมาย ทำให้มีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ามีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขี้นหนึ่งชนิดในทุกสัปดาห์ โดยทำเลทองในตอนนี้อยู่ที่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศอาร์เจนตินา และประเทศจีน
ลักษณะทางชีววิทยา
ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ซึ่งพวกมันมีผิวหนังที่ปกคลุมเป็นเกล็ดเช่นเดียวกับ งู จระเข้ หรือ เต่า กระเพาะอาหารของไดโนเสาร์กินพืช มักมีขนาดใหญ่แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากเซลลูโลสของพืชทำให้บางครั้งมันจึงต้องกลืนก้อนหินไปช่วยย่อย ส่วนไดโนเสาร์กินเนื้อจะย่อยอาหารได้เร็วกว่า แต่กระนั้น ข้อมูลของไดโนเสาร์ยังไม่ทราบแน่ชัดนัก เนื่องจากไดโนเสาร์สูญพันธ์ไปหมดเหลือเพียงซากดึกดำบรรพ์ ดังนั้น นักบรรพชีวินวิทยาจึงต้องใช้ซากฟอสซิลนี้ในการสันนิษฐานของข้อมูลต่าง ๆ พฤติกรรม การล่าเหยื่อ และการดำรงชีวิตของไดโนเสาร์ขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไรนัก
วิวัฒนาการ
บรรพบุรุษของไดโนเสาร์คือ อาร์โคซอร์ (archosaur) ซึ่งไดโนเสาร์เริ่มแยกตัวออกมาจากอาร์โคซอร์ในยุค ไทรแอสซิก ไดโนเสาร์ชนิดแรกถือกำเนิดขึ้นราว ๆ 230 ล้านปีที่แล้ว หรือ 20 ล้านปี หลังจากเกิดการสูญพันธุ์เพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic extinction event|Permian-Triassic extinction) ซึ่งคร่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกสมัยนั้นไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
สายพันธุ์ไดโนเสาร์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วหลังยุคไทรแอสซิก กล่าวได้ว่าในยุคทองของไดโนเสาร์ (ยุคจูแรสซิก และยุคครีเทเชียส) ทุกสิ่งมีชีวิตบนพื้นพิภพที่มีขนาดใหญ่กว่าหนึ่งเมตรคือไดโนเสาร์ จนกระทั่งเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว การการสูญพันธุ์ครีเทเชียส-เทอร์เทียรี (Cretaceous-Tertiary extinction) ก็ได้กวาดล้างไดโนเสาร์จนสูญพันธุ์ เหลือเพียงไดโนเสาร์บางสายพันธุ์ที่เป็นบรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน ยุคต่าง ๆของไดโนเสาร์
มหายุคมีโซโซอิก (Mesaozoic Era) 65-225 ล้านปี ในยุคนี้มี 3 ยุค คือ ยุคไทรแอสซิก ยุคจูแรสซิก และยุคครีเทเชียส ในยุคไทรแอสซิกนี้ สภาพอากาศในขณะนั้นจะมี สภาพร้อนและแล้งมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ต้นไม้ใหญ่น้อยในเขตร้อนสามารถเจริญเติบโตได้ ดีมาก จนกระทั่ง ไดโนเสาร์ตัวแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ ไดโนเสาร์กลุ่มแรกที่ได้กำเนิดขึ้นมาจะมีขนาดเล็ก เดิน 2 เท้า และมีลักษณะพิเศษ คือ เท้ามีลักษณะคล้ายกับเท้าของนก ต่อมาในยุคจูแรสซิกนี้จัดว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก บรรดาพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ไดโนเสาร์จำนวนมากขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีร่างกายใหญ่โต ซึ่งส่วนใหญ่จะกินพืชเป็นอาหาร และนกยังได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุคนี้อีกด้วย ต่อมาในยุคครีเทเชียสนี้ จัดว่า เป็นยุคที่ไดโนเสาร์นั้นรุ่งเรื่องที่สุด เพราะยุคนี้ไดโนเสาร์ได้มีการพัฒนาพันธุ์ออกมาอย่างมากมาย
ยุคของไดโนเสาร์
ยุคไทรแอสซิก การครอบครองโลกของไดโนเสาร์ในยุคนี้โลกถูกปกคลุมด้วยป่าไม้จำนวนมาก พืชตระกูลที่ใช้สปอร์ในการขยายพันธ์ประสบความสำเร็จและมีวิวัฒนาการถึงขั้นสูงสุด ในป่ายุคไทรแอสซิกช่วงแรกนั้นมีสัตว์ใหญ่ไม่มากนักสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดคือแมลงปอยักษ์ที่ปีกกว้างถึง2ฟุตและได้ชื่อว่าเป็นนักล่าเวหาเพียงชนิดเดียวของยุคนี้ เนื่องจากในช่วงปลายของยุคเปอร์เมียนเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตทำให้พวกสัตว์เลื้อยคลานกึ่งเลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมาก สูญพันธุ์ไปพวกที่เหลือได้สืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงต้นยุคไทรแอสซิกในกลุ่มสัตว์เหล่านี้เจ้าซินนอกนาตัสเป็นสัตว์นักล่าที่น่าเกรงขามที่สุด ในหมู่พวกมันและในช่วงนี้เองไดโนเสาร์ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยพวกมันวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานที่เดินด้วยขาหลังอย่างเจ้าธีโคดอนซึ่งถือกันว่าเป็นบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ในยุคเปอร์เมียนทำให้พวกมันสามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้อย่างมากมายในช่วงต้นยุคไทรแอสซิกและกลายมาเป็นคู่แข่งของพวกสัตว์เลื้อยคลานกึ่งเลี้ยงลูกด้วยนมที่เหลือ ไดโนเสาร์ในยุคแรกเป็นพวกเดินสองขา เช่น พลาทีโอซอร์ ไดโนเสาร์กินพืชคอยาวที่เป็นบรรพบุรุษของพวก ซอโรพอด หรือเจ้าซีโลไฟซิส บรรพบุรุษของพวกกินเนื้อ นักล่าสองขาความสูง 1 เมตร การที่มันสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยสองขาหลังทำให้พวกมันมีความคล่องตัวในการล่าสูงกว่า ซินนอกนาตัส หรืออีรีโทรซูคัสที่ยาวถึง 15 ฟุตซึ่งมีกรามขนาด ใหญ่และแข็งแรงนักล่าเหล่านี้ได้เปรียบซินนอกนาตัสและสัตว์เลื้อยคลานกึ่งเลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆทำให้พวกนี้ต้องวิวัฒนาการให้มีขนาดเล็กลงเพื่อที่จะหลบหนีพวกไดโนเสาร์ และหลีกทางให้เผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ก้าวมาครองโลกนี้แทนในที่สุด
ยุคจูแรสซิก ไดโนเสาร์ครอบครองโลกได้สำเร็จในตอนปลายยุคไทรแอสซิก จนเมื่อเข้าถึงยุคจูแรสซิกพวกมันก็ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลกในยุคนี้ผืนแผ่นดินถูกปกคลุมด้วยพืชขนาดยักษ์จำพวกสนและเฟิร์น อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีพืชดอกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางของยุคนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มของการขยายพันธุ์รูปแบบใหม่ของพวกพืช ยุคจูแรสซิกนับได้ว่าเป็นยุคที่พวกไดโนเสาร์คอยาวตระกูลซอโรพอด (Sauropod) ขยายเผ่าพันธุ์อย่างกว้างขวาง ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์สายพันธุ์ที่รู้จักกันดีก็คือ แบรกคิโอซอรัส (Brachiosaurus) ดิปโพลโดคัส (Diplodocus) และอะแพโทซอรัส (Apatosaurus) หรืออีกชื่อคือบรอนโทซอรัส นอกจากนี้ยังมีชนิดอื่น ๆ อีกมากมายสัตว์ยักษ์เหล่านี้ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่โง่และไม่อาจป้องกันตัวจากสัตว์นักล่าได้ ทว่าในปัจจุบันนักโบราณคดีชีววิทยา (paleontology) เชื่อว่าพวกมันใช้หางที่หนาหนักศัตรูที่มาจู่โจมซึ่งนับว่าเป็นการตอบโต้ที่น่ายำเกรงไม่น้อย เพราะหางที่ยาวและมีน้ำหนักมากนี่เองที่ทำให้พวกมันต้องมีคอยาวเพื่อสร้างสมดุลของสรีระของมัน
ยุคครีเทเชียส ยุคครีเทเชียสเป็นยุคที่ต่อจากยุคจูแรสซิก สัตว์เลื้อยคลานเจริญมากในยุคนี้ ที่สหรัฐอเมริกาก็มีการค้นพบสัตว์ทะเลที่เคยอาศัยอยุ่ในช่วงเดียวกันกับไดโนเสาร์ได้แก่ พวกพลีสิโอซอร์เช่น อีลาสโมซอรัส พวกกิ้งก่าทะเลโมซาซอร์อย่างไฮโนซอรัส และอาเครอนเป็นพวกเต่าอาศัยอยู่ในทะเล บนท้องฟ้าก็มีเคอาร์โคโทรุสซึ่งมีขนาดปีกยาวถึง 15 เมตร บินอยู่มากมายยุคนี้เป็นยุคที่ไดโนเสาร์มีการพัฒนาตัวเองอย่างมาก พวกซอริสเชียนที่กินเนื้อมีตัวขนาดใหญ่ได้แก่ อัลเบอร์โตซอรัส ไทรันโนซอรัสปรากฏในยุคนี้มีลักษณะดังนี้ไทรันโนซอรัสนั้นมีเล็บที่ขาหลังใหญ่โตและมีฟันแหลมยาวประมาณ 13 เซนติเมตร เพื่อใช้จับเหยื่อพวกซอริสเชียนที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหารก็ได้แก่ ออนิโตมิมัสพวกออร์นิธิสเชียนมักจะเป็นพวกกินพืชพวกที่ถูกค้นพบครั้งแรกก็ได้แก่ อิกัวโนดอน แล้วก็พบ ฮิพุชิโรโฟดอน และฮาโดโรซอรัส พวกออร์นิธิสเชียน ได้แก่ ไทรเซอราทอปส์ แองคิโลซอรัส พบเจริญอยู่มากมาย แต่ว่าก่อนจะหมดยุคครีเทเชียส นั้นอากาศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไดโนเสาร์บางพวกเริ่มตายลงและสูญพันธุ์ หลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีบทบาทขึ้นมาบนโลก
การจัดจำแนก
ไดโนเสาร์ถูกแบ่งออกเป็นสองอันดับใหญ่ ๆ ตามลักษณะโครงสร้างของกระดูกเชิงกราน คือ Saurischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ซอริสเชียน) ซึ่งมีลักษณะกระดูกเชิงกรานแบบสัตว์เลื้อยคลาน มีทั้งพวกกินพืชและกินสัตว์ และ :en:Ornithischia|Ornithischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ออร์นิทิสเชียน) มีกระดูกเชิงกรานแบบนกและเป็นพวกกินพืชทั้งหมด[8]
- ไดโนเสาร์สะโพกสัตว์เลื้อยคลาน หรือ ซอริสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกสัตว์พวกกิ้งก่า) เป็นไดโนเสาร์ที่คงโครงสร้างของกระดูกเชิงกรานตามบรรพบุรุษ ซอริสเชียนรวมไปถึงไดโนเสาร์เทอโรพอด (theropod) (ไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา) และซอโรพอด (sauropod) (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว)
- ไดโนเสาร์สะโพกนก หรือ ออร์นิทิสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกนก) เป็นไดโนเสาร์อีกอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เดินสี่ขา และกินพืช
ไดโนเสาร์ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แม้ว่ายุคสมัยของไดโนเสาร์สิ้นสุดลงเป็นเวลาหลายสิบล้านปีแล้ว แต่ปัจจุบันไดโนเสาร์ยังคงปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยมและวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ นิยายหลายเล่มมีการกล่าวถึงไดโนเสาร์ เช่น เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน, เดอะลอสต์เวิลด์ (:en:The Lost World (Arthur Conan Doyle)|The Lost World) ของ เซอร์ อาเทอร์ โคแนน ดอยล์, และ "จูราสสิค พาร์ค" (ซึ่งถ้าสะกดตามหลักการถ่ายคำต้องสะกดเป็น จูแรสซิกพาร์ก) ของ ไมเคิล ไครช์ตัน (Michael Crichton) ไม่เพียงแต่ในหนังสือนิยายเท่านั้น การ์ตูนสำหรับเด็กก็มีการกล่าวถึงไดโนเสาร์ด้วยเช่นกัน เช่นในเรื่อง มนุษย์หินฟลินท์สโตน (The Flintstones) โดราเอมอน ตำรวจกาลเวลาและก๊องส์
นอกจากนี้ ไดโนเสาร์ยังได้ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น คิงคอง (ปี ค.ศ. 1933) และ จูราสสิค พาร์ค (ปี ค.ศ. 1993) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องหลังนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของ ไมเคิล ไครช์ตัน และประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นการปลุกกระแสไดโนเสาร์ให้คนทั่วไปหันมาสนใจกันมากขึ้น ในปีค.ศ. 2000 Walt Disney ได้นำไดโนเสาร์มาสร้างเป็น ภาพยนตร์แอนิเมชัน ชื่อเรื่องว่า Dinosaur
ในปี 2549 มีภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ชื่อ Night at the Museum ของ ชอน เลวี่ (Shawn Levy) มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องคำสาบให้กลับมีชีวิตขึ้นมาในตอนกลางคืน มีตัวเอกตัวหนึ่งเป็นไดโนเสาร์ชื่อซู (Sue) ซึ่งเป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ทีเร็กที่มีความสมบูรณ์ที่สุด มีขนาดลำตัวยาวกว่า 12.8 เมตร และความสูงถึงสะโพก 4 เมตร [9] ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Field Museum ที่ชิคาโก
ระหว่าง 23 กรกฎาคม - 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) ได้นำโครงกระดูกของซู มาจัดแสดงร่วมกับไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5 ปทุมธานี
ในประเทศไทย ไดโนเสาร์ได้รับเลือกให้เป็นสัตว์ประจำจังหวัดของจังหวัดขอนแก่น ส่วนในภาษาไทยนั้น ไดโนเสาร์มีความหมายนัยประวัติสำหรับใช้เรียกคนหัวโบราณ ล้าสมัย และน่าจะสูญพันธุ์ไปตั้งนานแล้ว บ้างก็ใช้ว่า ไดโนเสาร์เต่าล้านปี
ดูเพิ่ม
- ไดโนเสาร์ในประเทศไทย
- รายชื่อไดโนเสาร์
- บรรพชีวินวิทยา
- สัตว์เลื้อยคลาน
- การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
- สถานีย่อย:โลกไดโนเสาร์
- การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์
อ้างอิง
- ↑ Matthew G. Baron; Megan E. Williams (2018). "A re-evaluation of the enigmatic dinosauriform Caseosaurus crosbyensis from the Late Triassic of Texas, USA and its implications for early dinosaur evolution". Acta Palaeontologica Polonica. 63. doi:10.4202/app.00372.2017.
- ↑ Andrea Cau (2018). "The assembly of the avian body plan: a 160-million-year long process" (PDF). Bollettino della Società Paleontologica Italiana. 57 (1): 1–25. doi:10.4435/BSPI.2018.01.
- ↑ Ferigolo, Jorge; Langer, Max C. (January 1, 2007). "A Late Triassic dinosauriform from south Brazil and the origin of the ornithischian predentary bone". Historical Biology. 19 (1): 23–33. doi:10.1080/08912960600845767. ISSN 0891-2963. S2CID 85819339.
- ↑ Langer, Max C.; Ferigolo, Jorge (January 1, 2013). "The Late Triassic dinosauromorph Sacisaurus agudoensis (Caturrita Formation; Rio Grande do Sul, Brazil): anatomy and affinities". Geological Society, London, Special Publications (ภาษาอังกฤษ). 379 (1): 353–392. Bibcode:2013GSLSP.379..353L. doi:10.1144/SP379.16. ISSN 0305-8719. S2CID 131414332.
- ↑ Cabreira, S.F.; Kellner, A.W.A.; Dias-da-Silva, S.; da Silva, L.R.; Bronzati, M.; de Almeida Marsola, J.C.; Müller, R.T.; de Souza Bittencourt, J.; Batista, B.J.; Raugust, T.; Carrilho, R.; Brodt, A.; Langer, M.C. (2016). "A Unique Late Triassic Dinosauromorph Assemblage Reveals Dinosaur Ancestral Anatomy and Diet". Current Biology. 26 (22): 3090–3095. doi:10.1016/j.cub.2016.09.040. PMID 27839975.
- ↑ Müller, Rodrigo Temp; Garcia, Maurício Silva (August 26, 2020). "A paraphyletic 'Silesauridae' as an alternative hypothesis for the initial radiation of ornithischian dinosaurs". Biology Letters. 16 (8): 20200417. doi:10.1098/rsbl.2020.0417. PMC 7480155. PMID 32842895.
- ↑ ไดโนเสาร์ (ตอนที่ 1) เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ↑ ไดโนเสาร์ (ตอนที่ 3) เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ↑ "เว็บไซต์นิทรรศการไดโนเสาร์ ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-08-02.