ทางวิ่ง เส้นทางเดินรถ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส มีเส้นทางเดินรถ 2 เส้นทาง รวมระยะทางโดยประมาณ 68.25 กิโลเมตร รวม 60 สถานี

สายสุขุมวิท ให้บริการจากเคหะสมุทรปราการถึงคูคต
เส้นทางเริ่มจาก เคหะสมุทรปราการ มาตามถนนสุขุมวิท ผ่านแยกบางนา เรื่อยมาจนถึง ถนนเพลินจิต ถนนพระรามที่1 ถนนพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าสู่ถนนพหลโยธิน สนามเป้า สะพานควาย ผ่านจตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน แยกเกษตรศาสตร์ วงเวียนหลักสี่ สะพานใหม่ แยกคปอ.ไปถึงคูคต เป็นการเดินทางเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ และครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้สายสุขุมวิทมีระยะทาง รวมทั้งสิ้นประมาณ 54.25 กิโลเมตร มี 47 สถานี รวมสถานีร่วม (สถานีสยาม)
สายสีลม ให้บริการจากบางหว้าถึงสนามกีฬาแห่งชาติ
เส้นทางเริ่มจากแยกถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนเพชรเกษม ไปตามถนนราชพฤกษ์ ผ่านแยกถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนวุฒากาศ ผ่านแยกรัชดา - ตลาดพลู ผ่านแยกตากสิน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานตากสิน ไปตามถนนสาทร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนช่องนนทรี ผ่านถนนสีลม สวนลุมพินี ถนนราชดำริ และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 1 ไปสิ้นสุดที่บริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สายสีลมมีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 14 กิโลเมตร มี 14 สถานี รวมสถานีร่วม (สถานีสยาม) และสถานีเซนต์หลุยส์

โครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ามีลักษณะเป็นทางยกระดับ (Viaduct) วางบนเสาเดี่ยว ซึ่งโดยทั่วไปจะสร้างอยู่ในเกาะกลางถนน ทางยกระดับนี้กว้างประมาณ 9 เมตร อยู่สูงจากพื้นโดยทั่วไปประมาณ 12 เมตร เป็นคอนกรีตหล่อสำเร็จแบบชิ้นส่วน (Segment) มาประกอบกันทีละช่วงเสา (Span-by-Span) มีรอยต่อแบบ Dry Joint และยึดด้วยลวดแรงดึงสูงแบบภายนอก (External Post-Tensioning) อยู่ภายในช่องว่างของ Segment สาเหตุที่เลือกใช้ระบบการก่อสร้างแบบนี้ เนื่องจากวิธีดังกล่าวมีความรวดเร็วในการติดตั้งและหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการจราจรที่คับคั่งในเมือง สำหรับเสารองรับทางยกระดับสร้างด้วยคอนกรีต มีความกว้างประมาณ 2 เมตร มีระยะห่างช่วงเสาประมาณ 30 – 35 เมตร
สำหรับส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสินถึงบางหว้า (ราชพฤกษ์-เพชรเกษม) นั้น ทางยกระดับเป็นแบบหล่อในที่ (Cast-in-situ) วางบนเสาเดี่ยวบริเวณเกาะกลางถนนเช่นกัน ในส่วนของส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทนั้น ทางยกระดับเป็นแบบคอนกรีตหล่อสำเร็จแบบชิ้นส่วน (Segment) แล้วนำมาประกอบกันต่อเนื่องทุกสามช่วงเสา รองรับด้วยเสาเดี่ยว