ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทอตนัมฮอตสเปอร์
ฉายาThe Lilywhites
ไก่เดือยทอง (ไทย)
ชื่อย่อสเปอร์
ก่อตั้งค.ศ. 1882 (ในชื่อ "สโมสรฟุตบอลฮอตสเปอร์)
สนามสนามกีฬาทอตนัมฮอตสเปอร์
ความจุ62,062 ที่นั่ง[1]
เจ้าของอีเอ็นไอซีกรุ๊ป
ประธานแดเนียล เลวี
ผู้จัดการแอนจ์ พอสเตคอกลู
ลีกพรีเมียร์ลีก
2022–23อันดับที่ 8
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ (อังกฤษ: Tottenham Hotspur F.C.) เป็นสโมสรฟุตบอลของอังกฤษซึ่งตั้งอยู่ในย่านทอตนัมในกรุงลอนดอน ปัจจุบันเล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ รู้จักในนามสั้น ๆ ว่า "สเปอร์" (Spurs) มีสนามเหย้าคือสนามกีฬาทอตนัมฮอตสเปอร์ ความจุกว่า 62,850 ที่นั่งซึ่งถูกใช้งานมาตั้งแต่ ค.ศ. 2019 แทนสนามเดิมอย่างไวต์ฮาร์ตเลน

สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1882 มีคำขวัญว่า "To dare is to do" ("จงกล้าที่จะทำ") สัญลักษณ์ของสโมสรเป็นรูปไก่ยืนอยู่บนลูกฟุตบอล สีประจำสโมสรคือเสื้อสีขาวและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินซึ่งใช้มาตั้งแต่ฤดูกาล 1898–99 สเปอร์ชนะเลิศเอฟเอคัพสมัยแรกใน ค.ศ. 1901[2] ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรจากลีกสมัครเล่นเพียงทีมเดียวถึงปัจจุบันที่คว้าแชมป์ได้นับตั้งแต่สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ก่อตั้งระบบการแข่งขันแบบลีกขึ้นใน ค.ศ. 1888[3] สเปอร์ยังเป็นสโมสรแรกในศตวรรษที่ 20 ที่ชนะเลิศฟุตบอลลีกและเอฟเอคัพได้ในฤดูกาลเดียวกัน (ฤดูกาล 1960–61)[4] และยังเป็นสโมสรแรกจากอังกฤษที่ชนะเลิศถ้วยยุโรป ภายหลังชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพใน ค.ศ. 1963 รวมทั้งเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลยุโรป 2 รายการแตกต่างกันภายหลังชนะเลิศยูฟ่าคัพใน ค.ศ. 1972 สเปอร์ยังเป็นหนึ่งในสองสโมสรของอังกฤษร่วมกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลได้อย่างน้อย 1 รายการ 6 ทศวรรษติดต่อกัน (ค.ศ. 1950–2000)[5]

ในการแข่งขันในประเทศ สเปอร์ชนะเลิศลีกสูงสุด 2 สมัย, เอฟเอคัพ 8 สมัย, ลีกคัพ 4 สมัย และ เอฟเอคอมมูนิตีชีลด์ 7 สมัย ในการแข่งขันระดับทวีป พวกเขาชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย และ ยูฟ่าคัพ 2 สมัย และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกใน ค.ศ. 2019 สเปอร์มีสโมสรคู่ปรับสำคัญคือ อาร์เซนอล โดยการแข่งขันระหว่างสองทีมเรียกว่า ดาร์บีลอนดอนเหนือ สโมสรมีกลุ่มอีเอ็นไอซีกรุ๊ปบริษัทด้านการลงทุนของอังกฤษเป็นเจ้าของทีมตั้งแต่ ค.ศ. 2001 สเปอร์เป็นสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ด้วยมูลค่า 1.9 พันล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2022 และมีรายรับมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยรายได้ 442 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2022[6]

ประวัติ

ยุคก่อตั้ง (ค.ศ. 1882–1908)

ผู้เล่นของสเปอร์ใน ค.ศ. 1885

สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1882 โดยกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยม 11 คนซึ่งเป็นสมาชิกชมรมคริกเกต นำโดย บ็อบบี บัคเคิล[7] โดยใช้ชื่อ ฮอตสเปอร์ เอฟซี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ออกกำลังกายในช่วงปิดภาคเรียน หนึ่งปีต่อมา กลุ่มนักเรียนได้ร้องขอให้ จอห์น ริพเชอร์ คุณครูสอนคัมภีร์ไบเบิลในโบสถ์ประจำโรงเรียนเป็นประธานสโมสรคนแรก[8] โดยริพเชอร์ได้ช่วยเหลือทีมทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและการฝึกซ้อม[9] ใน ค.ศ. 1884 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น ท็อตนัมฮอตสเปอร์ เอฟซี เพื่อให้ไม่เกิดความสับสนกับสโมสรอื่น ๆ ในกรุงลอนดอนที่ใช้ชื่อว่าฮอตสเปอร์[10] และมีการตั้งชือเล่นสโมสรว่า "สเปอร์" และมีฉายาว่า "ดอกลิลลี่สีขาว (The Lily Whites)"[11]

ในช่วงแรกทีมยังไม่ลงแข่งขันระดับทางการโดยมีเพียงการเตะอุ่นเครื่องกับสโมสรท้องถิ่น การแข่งขันอาชีพนัดแรกของสเปอร์คือการพบกับทีมท้องถิ่นชื่อว่า Radicals ซึ่งพวกเขาแพ้ไปด้วยผลประตู 0–2 ต่อมา สเปอร์ได้ร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยทางการครั้งแรกในถ้วยการกุศลของกรุงลอนดอน ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1885 เอาชนะทีม เซนต์ อัลบาน ด้วยผลประตู 5–2[12] ต่อมา สเปอร์ได้จดทะเบียนเป็นสโมสรอาชีพในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1895 และได้ร่วมแข่งขันลีกเป็นครั้งแรกในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก

สโมสรมีสนามเหย้าแห่งแรกคือทอตนัม มาร์เชส แต่ใน ค.ศ. 1897 สนามได้ถูกระงับการใช้งานอย่างถาวรเนื่องจากเกิดสงคราม โดยสเปอร์ได้เช่าบริเวณย่านนอททัมเบอร์แลนด์ และขอเช่าสนามนอททัมเบอร์แลนด์ พาร์คเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่จะย้ายไปยังไวต์ฮาร์ตเลน ในปี 1898 และแต่งตั้ง แฟรงค์ เบรดเทลล์ ชาวอังกฤษเป็นผู้จัดการทีมคนแรก โดยนักเตะคนแรกที่เบรดเทลล์ซื้อมาร่วมทีมคือ จอห์น คาเมรอน จากสโมสรควีนส์พาร์ก และในปีนั้น สโมสรได้จดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ[13] หลังจากคุมทีมได้ฤดูกาลเดียว เบรดเทลล์ได้ย้ายไปคุมพอร์ตสมัท และผู้ที่มาคุมทีมแทนก็คือ จอห์น คาเมรอนซึ่งเบรดเทลล์เพิ่งซื้อตัวเขามานั่นเอง คาเมรอนได้เซ็นสัญญาในฐานะผู้เล่น–ผู้จัดการทีมโดยยังลงเล่นให้กับสโมสรในตำแหน่งกองหน้า

คาเมรอนนำสเปอร์คว้าแชมป์เซาเทิร์นฟุตบอลลีกได้ในปี 1900 ตามด้วยแชมป์เอฟเอคัพสมัยแรกในปี 1901 โดยเอาชนะเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดในนัดแข่งใหม่ 3–1 หลังจากเสมอกันในนัดแรก 2–2[14] ทำให้สเปอร์เป็นสโมสรจากลีกสมัครเล่นเพียงทีมเดียวจนถึงทุกวันนี้ที่ได้แชมป์เอฟเอคัพ นับตั้งแต่เริ่มมีการนำระบบลีกอาชีพมาใช้ในปี 1888[15] คาเมรอนยังพาสเปอร์ได้รองแชมป์ลีกอีก 2 ครั้งในปี 1902 และ 1904 ต่อมา ในปี 1908 คาเมรอนลาออก และ เฟรด เคิร์กแฮม เข้ามาคุมทีมต่อ ในปีนั้นสเปอร์ได้ย้ายไปเล่นในดิวิชันสองและได้รองแชมป์[16]

ยุคตกต่ำ และแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรก (ค.ศ. 1912–57)

อาเทอร์ กริมส์เดล กัปตันทีมของสเปอร์กับถ้วยเอฟเอคัพใน ค.ศ. 1921

ในช่วง ค.ศ. 1912–27 สเปอร์มี ปีเตอร์ แม็ควิลเลียม อดีตนักฟุตบอลชาวสกอตแลนด์เป็นผู้จัดการทีม และพวกเขาจบอันดับสุดท้ายในดิวิชันหนึ่งฤดูกาล 1914–15 ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลลีกจะหยุดไป 5 ปีเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมา ฟุตบอลอังกฤษได้กลับมาแข่งขันในฤดูกาล 1919–20 สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีมติเพิ่มจำนวนทีมในลีกสูงสุดจากเดิม 20 ทีม เป็น 22 ทีม โดยให้สิทธิ์ทีมอันดับ 1 และ 2 ในดิวิชันสองเลื่อนชั้นขึ้นมาโดยอัตโนมัติซึ่งได้แก่ ดาร์บีเคาน์ตี และเพรสตันนอร์ทเอนด์ และในส่วนของโควตาทีมสุดท้ายนั้น สมาคมได้โหวตเลือกอาร์เซนอลซึ่งอยู่ในดิวิชัน 2 เลื่อนชั้นขึ้นมาในลีกสูงสุด และให้สเปอร์ซึ่งได้อันดับ 20 ในดิวิชันหนึ่งฤดูกาลล่าสุดต้องตกชั้นไปเล่นดิวิชัน 2 แทน แม้สเปอร์จะยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลแต่ก็ไม่เป็นผล[17] แต่สเปอร์ก็เลื่อนขั้นกลับขึ้นมาลีกสูงสุดได้ในเวลาเพียงแค่หนึ่งฤดูกาล

ใน ค.ศ. 1921 สเปอร์คว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ โดยเอาชนะวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ 1–0 ตามด้วยรองแชมป์ลีกใน ค.ศ. 1922 โดยเป็นรองลิเวอร์พูล ทีมมีผู้เล่นชื่อดังในสมัยนั้นคือ อาเทอร์ กริมส์เดล กัปตันทีม แต่หลังจากนั้นพวกเขาเริ่มเข้าสู่ยุคตกต่ำโดยเป็นทีมกลางตารางในอีก 5 ฤดูกาลถัดมา และตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1927–28 และแม็ควิลเลียมลาออก ถัดมา ในช่วงทศวรรษ 1930–40 สเปอร์เล่นอยู่ในดิวิชันสองเป็นส่วนมาก ต่อมา ใน ค.ศ. 1949 สโมสรมีผู้จัดการทีมคือ อาเทอร์ โรเวย์ ชาวอังกฤษ ซึ่งเข้ามาปฏิวัติแผนการเล่นของทีมให้เน้นเกมรุกเอาใจแฟน ๆ ด้วยลีลาการเล่นที่เร้าใจโดยผู้เล่นทุกคนต้องเคลือนที่ด้วยความรวดเร็ว จนได้รับฉายาว่า The "push and run"[18] โรเวย์พาสเปอร์เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้งในปี 1950 และคว้าแชมป์ลีกสูงสุดอย่างดิวิชันหนึ่งได้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1950–51[19] ก่อนจะลาออกในปี 1955 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ยุคทองแห่งความสำเร็จ (ค.ศ. 1958–74)

ผู้เล่นของสเปอร์ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีบิล นิโคลสัน เป็นผู้จัดการทีม
สเปอร์ชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ค.ศ. 1963

บิล นิโคลสัน ตำนานผู้เล่นของสโมสร[20] ได้มาคุมทีมใน ค.ศ. 1958 และถือเป็นยุคทองของสโมสร ซึ่งนิโคลสันยังถือเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จกับสโมสรมากที่สุดมาถึงปัจจุบัน ในยุคของเขาประกอบไปด้วยผู้เล่นแกนหลักหลายราย เช่น เดฟ มักเคย์, จอห์น ไวท์, รวมถึง จิมมี กรีฟส์ ผู้ซึ่งกลายเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่ทำประตูสูงสุดตลอดกาลในลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ[21]

ความสำเร็จในยุคของนิโคลสันเริ่มจากการพาทีมคว้าดับเบิลแชมป์ (ดิวิชันหนึ่งและเอฟเอคัพ) ในฤดูกาล 1960–61 สโมสรทำสถิติใหม่ในขณะนั้นด้วยการทำผลงานในช่วง 16 นัดแรกในลีกสูงสุดของอังกฤษได้ดีที่สุด เริ่มจากการชนะ 11 นัดติดต่อกัน ตามด้วยการเสมอหนึ่งนัด และชนะอีก 4 นัด[22] พวกเขาคว้าแชมป์อย่างเป็นทางการหลังจากเปิดบ้านเอาชนะเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ซึ่งกลายเป็นรองแชมป์ในปีนั้นด้วยผลประตู 2–1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1961 ทั้งที่ยังเหลือการแข่งขันอีกสามนัด และยังเอาชนะเลสเตอร์ซิตีในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพด้วยผลประตู 2–0 ส่งผลให้สเปอร์เป็นสโมสรแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 20 ที่คว้าดับเบิลแชมป์ได้ และเป็นทีมแรกที่ทำได้นับตั้งแต่ ค.ศ. 1897 ก่อนจะป้องกันแชมป์เอฟเอคัพได้อีกครั้งในฤดูกาลต่อมา โดยเอาชนะเบิร์นลีย์ด้วยผลประตู 3–1[23]

ในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1963 สเปอร์เป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลยุโรป หลังจากคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพวินเนอร์คัพ โดยเอาชนะอัตเลติโกเดมาดริดในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตู 5–1 และยังทำสถิติเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลยุโรปสองรายการแตกต่างกัน หลังคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพในฤดูกาล 1971–72 โดยเอาชนะสโมสรชาติเดียวกันอย่างวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ ด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–2 ซึ่งนิโคลสันสร้างทีมด้วยผู้เล่นอย่าง มาร์ติน ชิเวอรส์, แพท เจนนิงส์ และ สตีฟ เพอร์รีแมน นิโคลสันยังพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพเพิ่มใน ค.ศ. 1967 รวมทั้งแชมป์ลีกคัพอีกสองสมัย (ค.ศ. 1971 และ 1973), รองแชมป์ดิวิชันหนึ่งฤดูกาล 1962–63 และรองแชมป์ยูฟ่าคัพฤดูกาล 1973–74 นิโคลสันคว้าถ้วยรางวัลรวม 8 รายการตลอดระยะเวลา 16 ปีที่คุมทีม

คีธ เบอร์คินชอว์ และ เทอร์รี เวนาเบิลส์ (ค.ศ. 1974–92)

นิโคลสันอำลาทีมในฤดูกาล 1974–75 หลังจากทำผลงานย่ำแย่ตั้งแต่ต้นฤดูกาล หลังจากนั้นทีมก็ตกต่ำลงโดยตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1976–77 ในยุคของผู้จัดการทีมอย่าง คีธ เบอร์คินชอว์ แต่เขาก็พาทีมกลับสู่ลีกสูงสุดได้ และสร้างทีมใหม่ด้วยนักเตะอย่าง เกล็น ฮอดเดิล รวมถึงสองนักเตะอาร์เจนตินาอย่าง ออสวัลโด อาร์ดิเลส และ รีการ์โด วิลลา ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพสองสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1981 และ 1982 ตามด้วยแชมป์ยูฟ่าคัพใน ค.ศ. 1984[24] โดยในช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงของสเปอร์อย่างแท้จริง นอกจากผลงานในสนามแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายบริหาร โดย เออร์วิง โชลา เข้ามาซื้อกิจการสโมสรและดำรงตำแหน่งประธาน และเป็นผู้นาการตลาดรูปแบบใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารทีม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของสโมสรอังกฤษในยุคนั้น[25] ก่อนที่เบอร์คินชอว์จะลาทีมในปี 1984 จากนั้น ปีเตอร์ ชรีฟส์, เดวิด พลีท และ ดัก ลิเวอร์มอร์ เข้ามาคุมทีม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เทอร์รี เวนาเบิลส์ อดีตผู้เล่นของสโมสรเข้ามาคุมทีมในปี 1987 โดยพาสเปอร์คว้าแชมป์เอฟเอคัพและเอฟเอคอมมูนิตีชีลด์ได้ในฤดูกาล 1990–91 และเป็นทีมแรกที่ได้แชมป์เอฟเอคัพครบ 8 สมัย นักเตะตัวหลักของทีมในช่วงนั้นได้แก่ พอล แกสคอยน์ และ แกรี ลินิเกอร์

ยุคพรีเมียร์ลีก (ค.ศ. 1992–ปัจุจบัน)

ในช่วงปี 1993–2000 สเปอร์คว้าแชมป์เพิ่มได้รายการเดียวคือลีกคัพในฤดูกาล 1998–99 ภายใต้การคุมทีมของจอร์จ เกรแฮม เอาชนะเลสเตอร์ซิตี 1–0 ในยุคนั้นนั้นทีมมีผู้เล่นชื่อดังหลายราย เช่น เท็ดดี เชอริงแฮม, เยือร์เกิน คลีนส์มัน, คริส อาร์มสตรอง และ ดาวีด ฌีโนลา แต่ผลงานในลีกก็ไม่ดีนักโดยเป็นเพียงทีมกลางตาราง ในทศวรรษถัดมา ทีมยังคงมีผลงานไม่สม่ำเสมอ และเปลี่ยนผู้จัดการทีมหลายคน เช่น เกล็น ฮอดเดิล, เดวิด พลีท, ฌัก ซ็องตีนี และ มาร์ติน โยล ก่อนที่ ฆวนเด รามอส จะเข้ามาคุมทีม และพาทีมได้แชมป์ลีกคัพ ปี 2008 เอาชนะเชลซี 2–1 ในช่วงต่อเวลา[26] แต่ก็ถูกปลดในปีต่อมา[27][28] แฮร์รี เรดแนปป์ เข้ามาคุมทีมต่อในฤดูกาล 2008–09 และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศลีกคัพกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแต่แพ้จุดโทษ[29] ต่อมาในฤดูกาล 2009–10 สเปอร์ซึ่งมีผู้เล่นตัวหลักอย่าง แกเร็ท เบล และ ลูกา มอดริชจบอันดับ 4 ในลีกได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1961–62[30][31]

ในฤดูกาล 2010–11 สเปอร์ผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกก่อนจะแพ้เรอัลมาดริด และเรดแนปป์ได้ลาทีมในปีต่อมาเนื่องจากเจรจาสัญญาฉบับใหม่ไม่ลงตัว[32] อังแดร วีลัช-โบอัช และ ทิม เชอร์วูด เข้ามาคุมทีมต่อในปี 2012 และ 2013 และพาทีมจบอันดับ 5 และ 6 ตามลำดับได้สิทธิ์แข่งขันยูโรปาลีก[33]

ผู้เล่นสเปอร์ชุดคว้ารองแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2016–17 ประกอบด้วยนักเตะตัวหลักได้แก่ แฮร์รี เคน, เดลี แอลลี, ซน ฮึง-มิน, เครสแจน อีเรกเซิน และ ยัน เฟอร์โตงเงิน

เมาริซิโอ โปเชติโน[34] เข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 2014–15 และพาทีมจบอันดับ 5 รวมทั้งเข้าชิงชนะเลิศลีกคัพก่อนจะแพ้เชลซีด้วยผลประตู 0–2[35] ในปีต่อ ๆ มา สเปอร์ซึ่งมีกองหน้าคนสำคัญอย่าง แฮร์รี่ เคน ยังคงทำอันดับในพรีเมียร์ลีกได้อย่างยอดเยี่ยม โดยจบอันดับสามในฤดูกาล 2015–16 และคว้ารองแชมป์ได้ในฤดูกาล 2016–17 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ฤดูกาล 1962–63 ในสมัยฟุตบอลดิวิชันหนึ่งก่อนจะจบอันดับสามอีกครั้งในฤดูกาล 2017–18 และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกในฤดูกาล 2018–19 แต่แพ้ลิเวอร์พูลด้วยผลประตู 0–2 ต่อมา โปเชติโนถูกปลดในฤดูกาล 2019–20 โชเซ มูรีนโยเข้ามาคุมทีมต่อ ก่อนจะถูกปลดในฤดูกาล 2020–21 แม้จะพาทีมเข้าชิงชนะเลิศอีเอฟแอลคัพได้[36] ไรอัน เมสัน อดีตผู้เล่นสโมสรเข้ามารักษาการต่อ แต่พาทีมแพ้แมนเชสเตอร์ซิตีในรอบชิงชนะเลิศอีเอฟแอลคัพด้วยผลประตู 0–1

ในฤดูกาล 2021–22 สเปอร์แต่งตั้ง นูนู อึชปีรีตู ซังตู เป็นผู้จัดการทีม[37] แต่ก็ถูกปลดหลังคุมทีมได้เพียง 4 เดือน[38] และ อันโตนีโอ กอนเต เข้ามาคุมทีมต่อ[39] ซึ่งเขาพาทีมจบอันดับ 4 ได้ไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก อย่างไรก็ตาม กอนเตก็ถูกยกเลิกสัญญาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 ภายหลังจากตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและเอฟเอคัพ รวมทั้งกรณีให้สัมภาษณ์วิจารณ์ผู้เล่นและการบริหารของสโมสรหลังจากทีมเสมอเซาแทมป์ตันด้วยผลประตู 3–3[40][41][42] กริสเตียน สเตลลีนี ผู้ช่วยของกอนเตได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมชั่วคราว แต่ก็ถูกปลดหลังจากคุมทีมเพียง 4 นัด เนื่องจากผลงานย่ำแย่รวมถึงแพ้นิวคาสเซิลขาดลอย 1–6 ก่อนที่ ไรอัน เมสัน จะกลับมาคุมทีมอีกครั้งจนจบฤดูกาล[43] แต่สโมสรก็จบฤดูกาลด้วยอันดับ 8 ทำให้ในฤดูกาล 2023–24 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่สเปอร์ไม่ได้แข่งขันฟุตบอลยุโรป

ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2023 สโมสรแต่งตั้งแอนจ์ พอสเตคอกลู เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ด้วยสัญญาสี่ปี โดยเขาถือเป็นผู้จัดการทีมชาวออสเตรเลียคนแรกที่ได้คุมทีมในพรีเมียร์ลีก[44][45]

ตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรทอตนัมฮอตสเปอร์เป็นรูปไก่ตัวผู้ที่มีเดือยแหลมคมเหยียบลูกฟุตบอล จึงได้ฉายาในภาษาไทยว่า "ไก่เดือยทอง" ตราสัญลักษณ์นี้มีที่มาจากนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพในปี 1901 เมื่อแฮร์รี เพอร์ซี ฮอตสเปอร์ บุคคลที่เชื่อกันว่าทางสโมสรได้นำนามสกุลของเขาตั้งขึ้นเป็นชื่อสโมสร ใส่รูปไก่ตัวผู้ลงไปในตราสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้เล่นเกิดความฮึกเหิม ต่อมาอีก 8 ปี วิลเลียม เจมส์ สก๊อต อดีตผู้เล่นของสโมสรได้ทำรูปหล่อสำริดไก่ตัวผู้เหยียบลูกฟุตบอลขึ้นมา จึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสโมสรนับตั้งแต่บัดนั้น

โดยสัญลักษณ์รูปนี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้งในหลายยุคสมัย โดยในยุคทศวรรษที่ 1920 เป็นรูปลักษณ์ที่เรียบ ๆ ต่อมาสมัยก็มีรูปลูกโลกรวมถึงสิงโตคู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลนอร์ททัมเบอร์แลนด์ของแฮร์รี ฮอตสเปอร์ ทั้งปราสาทบรูซซึ่งตั้งอยู่ใกล้สนามไวท์ฮาร์ทเลน รวมทั้งต้นไม้ 7 ต้น สื่อถึงเซเวนซิสเตอร์ส์ ย่านหนึ่งในลอนดอนเหนือที่ตั้งของสโมสรด้วย พร้อมคติภาษาละตินที่ว่า "Audere Est Facere" (จงกล้าที่จะทำ) ต่อมาในยุคทศวรรษที่ 1980 ได้ตัดรายละเอียดต่าง ๆ ออกไป เหลือเพียงไก่กับสิงโตและคติภาษาละตินเท่านั้น

โดยสัญลักษณ์แบบปัจจุบันเกิดขึ้นในปี 2006[46]

สนามเหย้า

ในยุคแรก ทอตนัมฮอตสเปอร์มีสนามประจำสโมสรคือ ทอตนัม มาร์เชส แต่เนื่องจากเกิดปัญหาสงครามขึ้นใน ค.ศ. 1897 ทอตนัม มาร์เชส ได้ถูกระงับการใช้งานอย่างถาวร โดยสโมสรได้ไปเช่าบริเวณย่าน นอททัมเบอร์แลนด์ และขอเช่าสนาม นอททัมเบอร์แลนด์ พาร์ค เป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่จะย้ายไปยังสนาม ไวต์ฮาร์ตเลน ในปี 1899[47] ความจุ 36,230 ที่นั่ง และยังได้รับเลือกให้เป็นสนามฟุตบอลที่สะอาดที่สุดในประเทศอังกฤษ[48] โดยสนามเป็นพื้นหญ้ายาว 100 เมตร กว้าง 67 เมตร ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ อาชิบัลด์ ลีตช์ ชาวสกอตแลนด์ และสโมสรได้ใช้สนามแห่งนี้จนถึงต้นทศวรรษที่ 2000 ผู้บริหารจึงมีแนวคิดที่จะสร้างสนามแห่งใหม่เพื่อรองรับแฟนบอลที่เพิ่มขึ้น[49] โดยมีความพยายามที่จะย้ายสนามใหม่ตั้งแต่ปี 2001 โดยจะย้ายไปยังสนามกีฬาในเขตพิคเกตส์ล็อก แต่ไม่ได้รับอนุมัติจากกรุงลอนดอนเนื่องจากสภาพการจราจรที่แออัด รวมถึงแผนการย้ายไปยังเวมบลีย์ในปี 2007 แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

สนามทอตนัมฮอตสเปอร์สเตเดียม สนามเหย้าปัจจุบัน
ห้องแต่งตัวของสนามทอตนัมฮอตสเปอร์สเตเดียม

ในเดือนตุลาคม 2008 สโมสรประกาศแผนการสร้างสนามใหม่ทางทิศเหนือแทนที่ไวท์ฮาร์ทเลน เนื่องจากต้องการเพิ่มความจุและความทันสมัย โดยทางใต้ของสนามใหม่จะมีเนื่อที่ครึ่งหนึ่งทับซ้อนกันกับทางตอนเหนือของเดอะเลน[50] โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า "นอร์ธัมเบอร์แลนด์" สโมสรเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2009 แต่หลังจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านทำเลที่ตั้งและค่าใช้จ่าย สโมสรก็ถูกเพิกถอนโครงการชั่วคราว แต่ผู้บริหารสเปอร์ได้เสนอแผนงานใหม่อีกครั้งโดยมีการเสนอไปที่องค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษ และเลขานุการของรัฐบาล โดยบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในขณะนั้นได้อนุมัติในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2010

ในปี 2011 ระหว่างการดำเนินการโครงการ นอร์ธัมเบอร์แลนด์ ผู้บริหารของสเปอร์มีแนวคิดที่จะย้ายไปยังสนามกีฬาลอนดอน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และในปีเดียวกัน ได้มีการยื่นข้อเสนอขอใช้สนามจากสองสโมสรคือสเปอร์กับเวสต์แฮมยูไนเต็ด โดยสเปอร์ได้ชนะในการเสนอราคาครั้งแรก แต่ถอนตัวในภายหลังเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่าย ทำให้เวสต์แฮมได้ใช้สนามกีฬาโอลิมปิกลอนดอนแทน

ภายหลังจากความล่าช้าต่าง ๆ ในที่สุด การก่อสร้างสนามแห่งใหม่ได้เริ่มขึ้นในปี 2016 และมีกำหนดเปิดในช่วงฤดูกาล 2018–19 และในระหว่างการก่อสร้าง เกมในบ้านของสเปอร์ทั้งหมดในฤดูกาล 2017–18 ได้ย้ายไปเล่นที่เวมบลีย์[51] หลังจากการทดสอบระบบที่ประสบความสำเร็จสองครั้ง สเปอร์ได้ย้ายเข้าสู่สนามใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2019[52] ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกกับคริสตัลพาเลซ ซึ่งสเปอร์ชนะ 2–0 สนามใหม่นี้มีชื่อว่า สนามกีฬาทอตนัมฮอตสเปอร์ และเป็นบ้านหลังใหม่ของสเปอร์ถึงปัจจุบัน

แฟนคลับ

แฟนบอลสเปอร์ในสนามทอตนัมฮอตสเปอร์สเตเดียมปี 2019

สเปอร์เป็นสโมสรเก่าแก่ที่มีผู้ติดตามมายาวนาน[53] และมีฐานแฟนคลับที่ใหญ่ในกรุงลอนดอน[54] พวกเขาเคยมียอดผู้ชมเกมในสนามเฉลี่ยมากทีสุดในประเทศในช่วงปี 1950–62 และมียอดจำหน่ายบัตรเข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของพรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาล 2008–09 และสเปอร์เป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกจากทุกทวีป แฟนคลับรุ่นบุกเบิกของสโมสรมีชื่อเรียกว่า "ยิดอาร์มี" (Yid Army) ซึ่งหมายถึงชาวยิว เนื่องจากแฟนคลับแต่ดั้งเดิมของสโมสรเป็นชาวยิวที่ตั้งรกรากในกรุงลอนดอนตอนเหนือ แฟนฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของสเปอร์ได้แก่ เจสซี เจ นักร้องชื่อดังชาวอังกฤษ[55] และ เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนนวนิยาย

สเปอร์มีเพลงประจำสโมสรที่แฟน ๆ มักร้องเชียร์ในสนามคือ "Glory Glory Tottenham Hotspur" เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1961 ภายหลังจากที่ทีมคว้าดับเบิลแชมป์ได้ในฤดูกาลดังกล่าว และได้ไปแข่งขันฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรก

สโมสรคู่อริ

ดาร์บีลอนดอนเหนือในปี 2010
การปะทะกันของผู้เล่นสเปอร์และเชลซีในฤดูกาล 2015–16

ทอตนัมฮอตสเปอร์ เป็นคู่แข่งโดยตรงกับอาร์เซนอล ซึ่งตั้งอยู่ในย่านลอนดอนเหนือด้วยกัน โดยการแข่งขันระหว่างสองทีมเรียกว่า ดาร์บีลอนดอนเหนือ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการย้ายจากลอนดอนใต้ มายังลอนดอนเหนือของอาร์เซนอลใน ค.ศ. 1913 โดยแต่เดิมนั้น สเปอร์เป็นสโมสรเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านลอนดอนเหนือ พวกเขาเปรียบเสมือนความภาคภูมิใจและเป็นสโมสรตัวแทนของคนในย่านนี้ การย้ายมาของอาร์เซนอลจึงเปรียบเสมือนการมาแย่งพื้นที่และฐานแฟนคลับของสเปอร์ ยิ่งไปกว่านั้น จากการมีมติเพิ่มจำนวนทีมในดิวิชันหนึ่งจากเดิม 20 ทีม เป็น 22 ทีมในฤดูกาล 1919–20 โดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ให้สิทธิ์ทีมอันดับ 1 และ 2 จากดิวิชั่นสองเลื่อนชั้นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ (ดาร์บีเคาน์ตี และ เพรสตันนอร์ทเอนด์) และในโควตาทีมสุดท้ายนั้น สมาชิกสมาคมได้โหวตเลือกให้อาร์เซนอลซึ่งอยู่ในดิวิชั่นสองเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ดิวิชั่นหนึ่ง และให้สเปอร์ซึ่งได้อันดับ 20 ในดิวิชั่นหนึ่งตกชั้นไปเล่นดิวิชั่นสองแทน และเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการกล่าวหาว่า เฮนรี นอร์ริส ประธานสโมสรอาร์เซนอลในขณะนั้นใช้วิธีวิ่งเต้นและติดสินบนต่อสมาคม แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอ และนั่นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างความโกรธแค้นให้แก่สเปอร์และทำให้ความเป็นอริกันของสองสโมสรทวีความรุนแรงมาจนถึงทุกวันนี้[56]

สโมสรในลอนดอนอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งกับสเปอร์ได้แก่ เชลซี และ เวสต์แฮม แต่ความเป็นอริและบรรยากาศการเผชิญหน้ากันไม่ดุเดือดเท่าการพบกับอาร์เซนอล[57]

การช่วยเหลือสังคม

ตั้งแต่ปี 2006 สโมสรได้ทำงานร่วมกับ Haringey Council และ Metropolitan Housing Trust และชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาและกิจกรรมทางสังคมซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Barclays Spaces for Sport และ Football Foundation[58] มูลนิธิทอตนัมฮอตสเปอร์ได้รับการสนับสนุนระดับสูงจากนายกรัฐมนตรี และเปิดตัวเดือนกุมภาพันธ์ 2007[59]

ในเดือนมีนาคม 2007 สโมสรได้ประกาศความร่วมมือกับองค์กรการกุศล SOS Children's Villages UK โดยนำเงินค่าปรับจากผู้เล่นที่ทำผิดวินัยไปช่วยเหลือหมู่บ้านเด็กของมูลนิธิในรัสเตนบูร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ รวมทั้งสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนที่หลากหลายในและรอบ ๆ เมืองรัสเตนบูร์ก ในปีงบประมาณ 2006 และ 2007 สเปอร์ครองอันดับสูงสุดในอังกฤษในด้านการบริจาคเพื่อการกุศล[60]คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,545,889 ปอนด์ ซึ่งรวมถึงการบริจาคเงินอีก 4.5 ล้านปอนด์ตลอดระยะเวลาสี่ปี เพื่อจัดตั้งมูลนิธิทอตนัมฮอตสเปอร์[61]

สเปอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมที่มีชื่อเสียงในโครงการ 10:10 ซึ่งสนับสนุนให้บุคคล ธุรกิจ และองค์กรดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเขาเข้าร่วมในปี 2007 ด้วยความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ พวกเขาได้อัพเกรดไฟในสนามเป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหนึ่งปีต่อมา พวกเขารายงานว่าพวกเขาลดการปล่อยคาร์บอนลง 14%[62] นอกจากนี้สเปอร์ยังได้ให้เงินสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนในอังกฤษ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่คนยากไร้ การสร้างโรงเรียนอนุบาล และสนับสนุนการจ้างงานกว่า 3,500 ตำแหน่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "นอร์ธัมเบอร์แลนด์" ในการพัฒนาสนามเหย้าแห่งใหม่

ชุดแข่งและสปอนเซอร์

ชุดที่ใช้

สปอนเซอร์

1 ออราสมาเป็นบริษัทลูกของ ออโตโนมี คอร์ปอเรชัน
2 ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เป็นบริษัทแม่ของ ออโตโนมี คอร์ปอเรชัน

ผู้เล่น

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

ณ วันที่ 11 มกราคม 2024[69][70]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
4 MF อังกฤษ โอลิเวอร์ สกิปป์
5 MF เดนมาร์ก พีแยร์-เอมิล ฮอยปีแยร์
6 DF โรมาเนีย ราดู เดรอกูชิน
7 FW เกาหลีใต้ ซน ฮึง-มิน (กัปตันทีม)
8 MF มาลี อีฟส์ บิสซูมา
9 FW บราซิล รีชาร์ลีซง
10 MF อังกฤษ เจมส์ แมดดิสัน (รองกัปตันทีม)
11 FW สเปน บรายัน ฆิล
12 DF บราซิล เอเมอร์สัน รอยัล
13 GK อิตาลี กูลเยลโม วิคาริโอ
16 FW เยอรมนี ทีโม แวร์เนอร์ (ยืมจาก แอร์เบ ไลพ์ซิช)
17 DF อาร์เจนตินา กริสเตียน โรเมโร (กัปตันทีมคนที่ 3)
18 MF อาร์เจนตินา โยบานิ โล เซลโซ
19 DF อังกฤษ ไรอัน เซสเซยง
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
20 GK อังกฤษ เฟรเซอร์ ฟอร์สเตอร์
21 FW สวีเดน เดยัน กูลูเชฟสกี
22 FW เวลส์ เบรนแนน จอห์นสัน
23 DF สเปน เปโดร ปอร์โร
27 FW อิสราเอล เมเนอร์ โซโลมอน
29 MF เซเนกัล ปัป มาตาร์ ซาร์
30 MF อุรุกวัย โรดริโก เบนตังกูร์
33 DF เวลส์ เบน เดวิส
37 DF เนเธอร์แลนด์ มิกกี ฟัน เดอ แฟ็น
38 DF อิตาลี เดสตินี อูดอกี
40 GK อังกฤษ แบรนดอน ออสติน
41 GK อังกฤษ อัลฟี ไวท์แมน

ผู้เล่นที่ถูกปล่อยยืม

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
3 DF สเปน เซร์ฆิโอ เรกิลอน (ไป แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
24 DF อังกฤษ ดีเจด สเปนซ์ (ไป ลีดส์ยูไนเต็ด จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
25 DF อังกฤษ จาเฟ็ต ทังกังกา (ไป เอาคส์บวร์ค จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
28 MF ฝรั่งเศส ต็องกี อึนดอมเบเล (ไป กาลาทาซาไรสปอร์คูลือบือ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)
DF เวลส์ โจ โรดัน (ไป ลีดส์ยูไนเต็ด จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024)

ทำเนียบผู้จัดการทีม

  • รายชื่อเรียงตามปีที่เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมทอตนัมฮอตสเปอร์:[71]

บุคลากรปัจจุบัน

แอนจ์ พอสเตคอกลู ผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน
ตำแหน่ง รายชื่อ
ผู้จัดการทีม ออสเตรเลีย แอนจ์ พอสเตคอกลู
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม
ผู้ฝึกสอนทีมชุดใหญ่ อังกฤษ ไนเจล กิบส์
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู อังกฤษ เพอร์รี่ ซัคคลิง
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส อิตาลี กอสตันติโน กอรัตติ
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส อิตาลี จาน เปาโล เบนโตรเน่
นักวิเคราะห์
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อังกฤษ เลดลีย์ คิง
ผู้จัดการทีมชุดเยาวชน อังกฤษ ดีน รัสติก
ผู้ฝึกสอนรุ่นอายุ 17-23 ปี อังกฤษ คริส โพเวลล์[72]
หัวหน้าแมวมอง อังกฤษ ปีเตอร์ บราวด์
หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา อังกฤษ เจฟ สกอต
นักกายภาพบำบัด อังกฤษ สจ๊วต แคมเบล
  • ข้อมูลล่าสุด: 1 พฤษภาคม 2023

อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง

เกียรติประวัติ

อังกฤษ ระดับประเทศ

  • เอฟเอคัพ
    • ชนะเลิศ (8): 1900–01, 1920–21, 1960–61, 1961–62, 1966–67. 1980–81, 1981–82, 1990–91

ยุโรป ระดับทวีปยุโรป

สถิติสำคัญ

  • สถิติผู้ชมในสนามมากที่สุด: ในเวมบลีย์ นัดที่พบกับไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซิน (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก), 2 พฤศจิกายน 2016 (85,512 คน)[73]
  • สถิติชนะมากที่สุด: ชนะ ครูว์ อเล็กซานดร้า 13–2 (เอฟเอคัพ), 3 กุมภาพันธ์ 1960[74]
  • สถิติแพ้มากที่สุด: แพ้ แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ 0–8 (ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ), 22 กรกฎาคม 1995[75]
  • ผู้เล่นที่ลงสนามทุกรายการมากที่สุด: สตีฟ เพอร์รี่แมน, 854 นัด, 1969–86[76]
  • ผู้เล่นที่ลงสนามในลีกมากที่สุด: สตีฟ เพอร์รี่แมน, 613 นัด, 1969–86[77]
  • ผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่ลงสนาม: แบรด ฟรีเดล, 42 ปี และ 176 วัน, พบกับนิวคาสเซิลยูไนเต็ด, 10 พฤศจิกายน 2013[78]
  • ผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ลงสนาม: อัลฟี เดวีน, 16 ปี และ 163 วัน, พบกับ Marine A.F.C., 10 มกราคม 2021
  • สถิติซื้อนักเตะแพงที่สุด: 53.8 ล้านปอนด์, ต็องกี อึนดอมเบเล จาก ออแล็งปิกลียอแน, 2019[79]
  • สถิติขายนักเตะแพงที่สุด: 86.3 ล้านปอนด์, แกเร็ท เบล ไป เรอัลมาดริด, 2013[80]
  • นักเตะที่ทำประตูมากที่สุดใน 1 ฤดูกาล (ดิวิชั่นหนึ่ง): ไคลฟ์ อัลเลน, 49 ประตู, ฤดูกาล 1986–87
  • นักเตะที่ทำประตูมากที่สุดใน 1 ฤดูกาล (พรีเมียร์ลีก): แฮร์รี่ เคน, 33 ประตู , ฤดูกาล 2020–21[81]
  • นักเตะที่ทำประตูรวมมากที่สุดตลอดกาล: จิมมี กรีฟส์, 266 ประตู, 1961–70[82]
  • ฤดูกาลที่ทีมยิงประตูมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก: 86 ประตู, ฤดูกาล 2016–17[83]
  • ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: บิล นิโคลสัน, ชนะเลิศถ้วยรางวัล 11 รายการ (1958–74)[84]
  • ผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุด: บิล นิโคลสัน, 16 ฤดูกาล (1958–74)[85]

ทีมฟุตบอลหญิง

ทีมฟุตบอลหญิงของท็อตนัมฮอตสเปอร์ในฤดูกาล 2018–19

ทีมหญิงของสโมสรท็อตนัมฮอตสเปอร์ก่อตั้งในปี 1985 ในชื่อ "Broxbourne Ladies" ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "Tottenham Hotspur" ในฤดูกาล 1991–92 และลงเล่นในลีกสมัครเล่นของฟุตบอลหญิงอังกฤษ (London and South East Women's Regional Football League) ซึ่งเป็นลีกระดับสี่ ก่อนจะเลื่อนชั้นขึ้นมาในฤดูกาล 2007–08 และในฤดูกาล 2016–17 พวกเธอชนะเลิศการแข่งขันลีก FA Women's National League South ซึ่งเป็นลีกระดับสาม และได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในระดับสอง (FA Women's Championship)[86]

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 หลังเกมที่เสมอกับแอสตันวิลลา 1–1 ส่งผลให้ทีมได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดของฟุตบอลหญิงอังกฤษ (เอฟเอวีเมนส์ซูเปอร์ลีก)[87] และในฤดูกาล 2019–20 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tottenham Hotspur Women[88] และในวันที่ 29 มกราคม 2021 สโมสรได้เซ็นสัญญากับ โช โซ-ฮย็อน กัปตันทีมชาติฟุตบอลหญิงเกาหลีใต้ ส่งผลให้สเปอร์เป็นสโมสรแรกที่มีกัปตันทีมชาติจากชาติเดียวกันสองคนทั้งในทีมชายและทีมหญิง ลงเล่นให้สโมสร[89] โดย ซน ฮึง-มิน ซึ่งเป็นกัปตันทีมชายของทีมชาติเกาหลีใต้ ก็เล่นให้กับทีมชายของสเปอร์เช่นกัน

อ้างอิง

  1. "Local: Information for local residents and businesses". Tottenham Hotspur F.C. สืบค้นเมื่อ 10 January 2021.
  2. "Year By Year". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Spurs Trophies & Honours". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  4. "Tottenham Hotspur football club honours". www.11v11.com.
  5. UEFA.com. "Tottenham | History | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  6. "Deloitte Football Money League 2023". Deloitte United Kingdom (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  7. "Year By Year". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  8. "JOHN RIPSHER". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  9. "Why Tottenham Hotspur owe it all to a pauper". www.telegraph.co.uk.
  10. "Tottenham Hotspur Club History & Football Trophies". web.archive.org. 2015-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-04. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  11. Nilsson, Leonard Jägerskiöld (2018-11-15). World Football Club Crests: The Design, Meaning and Symbolism of World Football's Most Famous Club Badges (ภาษาอังกฤษ). Bloomsbury Publishing. ISBN 978-1-4729-5424-4.
  12. "TOPSPURS.COM - Jim Duggan's Spurs Site". www.topspurs.com.
  13. http://www.spurshistory.com/pages/32.htm
  14. "England Players' Clubs - Tottenham Hotspur". www.englandfootballonline.com.
  15. "Football League - facts, stats and history". www.footballhistory.org.
  16. "History Of THFC". www.mehstg.com.
  17. "Arsenal's Election To The First Division In 1919 | The History of Arsenal". blog.woolwicharsenal.co.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-01-19.
  18. "Obituary: Arthur Rowe". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2011-10-23.
  19. "Spurs Odyssey - Spurs' First Title Success (1950-51)- February 1951". www.spursodyssey.com.
  20. "Bill Nicholson". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  21. Wilson, Jeremy (2017-02-28). "Special report: Jimmy Greaves pays tribute to Cristiano Ronaldo as Portuguese closes in on his magical mark". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-09-14.
  22. "Manchester City smash all-time Football League record with win at Swansea". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
  23. Pathé, British. "The Cup Final 1962". www.britishpathe.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  24. Parry, Richard (2015-10-22). "Remembering Tottenham's 1984 Uefa Cup winners". Evening Standard (ภาษาอังกฤษ).
  25. Taylor, Matthew (2013-10-18). The Association Game: A History of British Football (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-317-87008-1.
  26. "Tottenham 2-1 Chelsea" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-02-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  27. Lawton, Jerry (2021-06-01). "Ex-Spurs boss Juande Ramos 'lost the dressing room' after banning apple crumble". Dailystar.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  28. Thomas, Gareth (2019-07-02). "The story of Juande Ramos' ill-fated 12-month stint at Tottenham". These Football Times (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  29. "Man Utd 0-0 Tottenham (aet)" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  30. "Harry Redknapp and Spurs given bitter pill of Europa League by Chelsea". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-05-19.
  31. Scott, Trent. "Tottenham's 10 Best Moments Under Harry Redknapp". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  32. "Tottenham sack manager Redknapp". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  33. "Sherwood sacked as Tottenham manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  34. "Mauricio Pochettino - Manager profile". www.transfermarkt.com (ภาษาอังกฤษ).
  35. "Mauricio Pochettino". The Independent (ภาษาอังกฤษ).
  36. "Mourinho sacked by Tottenham". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-04-19.
  37. "Nuno Espírito Santo promises a Spurs love story – with Harry Kane". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-16.
  38. Mokbel, Sami (2021-11-01). "Tottenham SACK Nuno Espirito Santo after just four months in charge". Mail Online.
  39. "Conte named new Tottenham manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-29.
  40. "Conte's furious news conference after final Spurs game". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-05-03.
  41. "Conte press conference: My players were selfish". www.premierleague.com (ภาษาอังกฤษ).
  42. "Club announcement – Antonio departs". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  43. "Stellini dismissed as Tottenham turn to Ryan Mason again". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2023-04-24.
  44. "Club announcement – Appointment of Ange Postecoglou as Head Coach". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  45. "Tottenham name Postecoglou as new manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-06-07.
  46. "ทำไมสเปอส์ต้องเป็นไก่". tukthakai. 10 March 2016.[ลิงก์เสีย]
  47. "White Hart Lane History". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  48. Non (2018-05-07). "ข้อมูล ประวัติ สถิติ ทีม ทอตนัมฮอตสเปอร์ : ไก่เดือยทองตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน". Cheerthai (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-15. สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  49. schreef, Footymaddad. "White Hart Lane - London - The Stadium Guide" (ภาษาดัตช์).
  50. "Tottenham reveal new ground plan" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-10-30. สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.
  51. "Tottenham confirm they will not play in new stadium until 2019". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-10-26.
  52. Parry, Jack Rosser, Joe Krishnan, Richard (2019-04-03). "Tottenham new stadium opening - LIVE!". www.standard.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  53. "Spurs Supporters' Clubs in the UK". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  54. "Spurs fans - footballlondon". www.football.london.
  55. "Tottenham Hotspur FC – Famous Tottenham Hotspur Fans". Genius.
  56. X, Mr. "Arsenal and Tottenham Hotspur: A Rivalry Explained". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  57. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2013-10-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  58. https://web.archive.org/web/20110322010725/http://www.tottenhamhotspur.com/foundation/news/foundationnews_haringeymultisportsummercoachingprogramme.html
  59. https://www.tottenhamhotspur.com/archived-news/
  60. https://web.archive.org/web/20080409101702/http://www.tottenhamhotspur.com/docstore/tottenham_ar2006_72dpi.pdf
  61. https://web.archive.org/web/20081206052131/http://www.24dash.com/news/Communities/2007-03-26-Chelsea-FC-near-bottom-of-charitable-donations-league
  62. https://web.archive.org/web/20120407015727/http://www.1010global.org/uk/spurs
  63. "Sponsorship and 2010/2011 Kit Update". tottenhamhotspur.com. Tottenham Hotspur. 8 July 2010. สืบค้นเมื่อ 1 March 2013.
  64. "Tottenham Hotspur announces new shirt sponsorship with Investec". tottenhamhotspur.com. Tottenham Hotspur. 16 August 2010. สืบค้นเมื่อ 1 March 2013.
  65. "Historical Kits – Tottenham Hotspur". historicalkits.co.uk. Historic Football Kits. สืบค้นเมื่อ 1 March 2013.
  66. "Club Announce HP as Principal Partner". tottenhamhotspur.com. Tottenham Hotspur. 8 July 2013. สืบค้นเมื่อ 8 July 2013.
  67. "Tottenham Hotspur announces AIA as Cup Shirt Partner". tottenhamhotspur.com. Tottenham Hotspur. 15 August 2013. สืบค้นเมื่อ 22 August 2013.
  68. "AIA to Become Tottenham Hotspur's New Principal Partner". tottenhamhotspur.com. Tottenham Hotspur. 13 February 2014. สืบค้นเมื่อ 5 June 2014.
  69. "Men's First Team: Players". Tottenham Hotspur F.C. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 January 2022. สืบค้นเมื่อ 16 August 2023.
  70. "New Club Captain Named". Tottenham Hotspur F.C. สืบค้นเมื่อ 12 August 2023.
  71. "Manager list". Tottenham Hotspur F.C. สืบค้นเมื่อ 25 May 2019.
  72. https://www.tottenhamhotspur.com/news/2020/august/academy-coaching-update/
  73. "85,512 - the facts". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  74. "On This Day: Spurs secured record victory 13-2; Kluivert scored FOUR for Barca| All Football". AllfootballOfficial (ภาษาอังกฤษ).
  75. "1. FC Köln 8-0 Tottenham Hotspur 22 Temmuz 1995 1995 Sezonu İntertoto Kupası 2. Grup 5. Maçı Müngersdorfer Stadion Stadyumu, Köln, Almanya". www.macanilari.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  76. "Steve Perryman". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  77. "Premier League + 1. Division - All-time appearances". worldfootball.net (ภาษาอังกฤษ).
  78. "Friedel becomes oldest Spurs player". Sports Mole (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  79. 161385360554578 (2019-07-04). "Ndombele 'joined Spurs to win silverware' - despite last trophy coming 11 years ago". talkSPORT (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  80. "Gareth Bale in battle to force through £86m move to Real Madrid". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2013-07-27.
  81. Admin (2021-07-03). "Harry Kane scored 33 goals with 17 assists in 2021, Check out Haaland goals in the same season". Sports Extra (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  82. "Jimmy Greaves". Tottenham Hotspur (ภาษาอังกฤษ).
  83. George-Miller, Dustin (2017-05-24). "Tottenham Hotspur 2016-17 Season in Review". Cartilage Free Captain (ภาษาอังกฤษ).
  84. "League Managers Association - BILL NICHOLSON OBE". leaguemanagers.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  85. "Bill Nicholson -" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  86. https://www.tottenhamhotspur.com/news-archive-1/spurs-ladies-all-set-for-womens-super-league/
  87. https://www.bbc.co.uk/sport/football/48125741
  88. https://www.bbc.co.uk/sport/football/48066352
  89. https://apnews.com/article/soccer-sports-europe-f7e2c34b379f2b607b49d5cbb473d3db

บรรณานุกรม

หนังสืออ่านเพิ่ม

  • Cloake, Martin; Powley, Adam (2004). We are Tottenham: Voices from White Hart Lane. Mainstream. ISBN 1-84018-831-6.
  • Ferris, Ken (1999). The Double: The Inside Story of Spurs' Triumphant 1960–61 Season. Mainstream. ISBN 1-84018-235-0.
  • Gibson, Colin; Harris, HarryZ (1986). The Glory Glory Nights. Cockerel. ISBN 1-869914-00-7.
  • Hale, Steve E. (2005). Mr Tottenham Hotspur: Bill Nicholson OBE – Memories of a Spurs Legend. Football World. ISBN 0-9548336-5-1.
  • Harris, Harry (1990). Tottenham Hotspur Greats. Sportsprint. ISBN 0-85976-309-9.
  • Holland, Julian (1961). Spurs – The Double. Heinemann. no ISBN.
  • Matthews, Tony (2001). The Official Encyclopaedia of Tottenham Hotspur. Brightspot. ISBN 0-9539288-1-0.
  • Nathan, Guy (1994). Barcelona to Bedlam: Venables/Sugar – The True Story. New Author. ISBN 1-897780-26-5.
  • Ratcliffe, Alison (2005). Tottenham Hotspur (Rough Guide 11s): The Top 11 of Everything Spurs. Rough Guides. ISBN 1-84353-558-0.
  • Scholar, Irving (1992). Behind Closed Doors: Dreams and Nightmares at Spurs. André Deutsch. ISBN 0-233-98824-6.
  • Soar, Phil (1998). The Hamlyn Official History of Tottenham Hotspur 1882–1998. Hamlyn. ISBN 0-600-59515-3.
  • Waring, Peter (2004). Tottenham Hotspur Head to Head. Breedon Books.

แหล่งข้อมูลอื่น