กบฏผู้มีบุญ
กบฏผู้มีบุญ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
พวกกบฏผู้มีบุญหรือผีบุญในสยามซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2445 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อินโดจีนของฝรั่งเศส สยาม (ถึงปี 2445)[1] | ขบวนการผู้มีบุญ (ผู้ที่แอบอ้างเป็นพระยาธรรมมิกราช)[2] | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ปอล ดูแมร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] |
องค์แก้ว † องค์กมมะดำ † องค์มั่น[1] พ่อกะดวด (ท้าวอายี่) | ||||||
กำลัง | |||||||
มากกว่า 500 คน ปืนใหญ่ 2 กระบอก[1] | 4,000 คน[1] | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิตมากกว่า 54 คน[1] |
เสียชีวิตมากกว่า 450 คน บาดเจ็บมากกว่า 150 คน ถูกจับกุมมากกว่า 400 คน[1] |
กบฏผู้มีบุญ หรือ กบฏผีบุญ หรือ กบฏผีบ้าผีบุญ (ฝรั่งเศส: Révolte des Bolovens "กบฏบ่อละเวน") เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศสยามและลาวในอารักขาของฝรั่งเศสซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 มีจุดเริ่มจากที่ผู้สนับสนุนของขบวนการทางศาสนาของ "ผู้มีบุญ" ทำการกบฏติดอาวุธสู้กับอินโดจีนของฝรั่งเศสและสยาม เพื่อสถาปนาผู้นำนาม "องค์แก้ว" ผู้อ้างตนเป็นพระยาธรรมิกราช ขึ้นเป็นผู้นำของโลก เหตุกระด้างกระเดื่องดังกล่าวในสยามได้ถูกปราบปรามลงจนสงบในปี พ.ศ. 2445 แต่ยังคงดำเนินต่อไปในอินโดจีนของฝรั่งเศสจนกระทั่งถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 จึงถูกกำราบลงได้อย่างเด็ดขาด
เบื้องหลัง
[แก้]ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล สยามยังคงจัดการปกครองแบบหัวเมืองโดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ราชธานีและเมืองปริมณฑล หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช ในช่วงปี พ.ศ. 2369 - พ.ศ. 2371 สยามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ จึงเข้าปกครองลาวใต้และรวบรวมอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง ส่วนขุนนางชาวลาวที่ได้รับความไว้วางพระทัยจากพระเจ้ากรุงสยามก็จะทำหน้าที่ดูแลประชาชนลาว รวมถึงกลุ่มชาวลาวเทิง เช่น ชาวอาลัก และชาวละเวน ซึ่งถูกคนลาวเรียกเหมารวมในเชิงดูถูกว่า "ข่า" (ตรงกับคำว่า "ข้า" ในภาษาไทย) กลุ่มชาติพันธุ์ลาวลุ่มที่มีจำนวนมากกว่ามักโจมตีชนกลุ่มน้อยที่อ่อนแอกว่า (เรียกว่า "การตีข่า") เพื่อลักพาตัวไปขายเป็นทาสที่เมืองจำปาศักดิ์ และทาสเหล่านี้จะถูกส่งไปที่เมืองพนมเปญกับกรุงเทพ โดยผู้ขายทาสกับพ่อค้าคนกลางสามารถสร้างกำไรได้มหาศาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 เพื่อแก้ไขพิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก ทำให้แหล่งค้าทาสได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวในทันที
ในปี พ.ศ. 2426 ฝรั่งเศสได้พยายามขยายอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงใช้สนธิสัญญาเว้อ้างสิทธิ์ในดินแดนเวียดนามทั้งหมด โดยทหารฝรั่งเศสค่อย ๆ ยึดที่ราบสูงกองตุ้ม และขับไล่ชาวสยามออกจากลาวหลังเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ก่อให้เกิดพื้นที่กันชนแห่งใหม่ตามแนวฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก) ของแม่น้ำโขง ซึ่งตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 กำหนดให้พื้นที่ในระยะ 25 กิโลเมตรของแม่น้ำโขงฝั่งขวาเป็นเขตปลอดทหาร พวกคนนอกกฎหมายในท้องถิ่นจึงใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่หลบภัยได้สะดวก
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2442 รัฐบาลสยามได้ยกเลิกการเรียกบรรณาการจากหัวเมืองประเทศราช และเปลี่ยนมาใช้ระบบการจัดเก็บเงินรัชชูปการและภาษีอากรต่างๆ เข้าเป็นรายได้แผ่นดินส่วนกลางโดยตรง ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นชาวลาวสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์แบบเดิมอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีกอปรกับผลกระทบจากกฎหมายเลิกทาสจึงนำไปสู่การก่อกบฏของคนลาวและพวกข่าอย่างเปิดเผยในที่สุด[3]
การสู้รบ
[แก้]ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 ข้าหลวงฝรั่งเศสประจำแขวงสาละวันได้จัดให้กองทหารประจำถิ่นขนาดเล็กกองหนึ่งออกไปสืบเรื่ององค์แก้ว ซึ่งเป็นหมอธรรมในท้องถิ่น ได้ทำการซ่องสุมผู้คนไว้มากมายจนผิดสังเกต องค์แก้วรวบรวมชนกลุ่มน้อยกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ข่า" ไว้ได้หลายเชื้อชาติ ทั้งชาวอาลัก ชาวเซดัง (เวียดนาม: Xê Đăng) ชาวละเวน และชาวญาเฮือน ชนเหล่านี้ให้ความเคารพองค์แก้วเสมือนพระโพธิสัตว์ ทำให้เขาสามารถตั้งตนเป็นพระยาธรรมิกราชหรือผู้มีบุญเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสได้ ในวันที่ 12 เมษายน ปีนั้นเอง ชาวข่าเผ่าต่างๆ ได้เข้าโจมตีกองทหารลาดตระเวนของฝรั่งเศส แม้ข้าหลวงสามารถหนีกลับไปที่เมืองสาละวันได้ แต่ถึงกระนั้น ข่าวสารการก่อกบฏก็ได้กระจายไปทั่วแล้ว ในวันที่ 29 พฤษภาคม กบฏชาวเซดังก็ได้โจมตีป้อมทหารหน้าด่านของฝรั่งเศสซึ่งอยู่นอกเมืองกองตุ้ม สามารถสังหารผู้บังคับการทหารประจำด่านดังกล่าว[1][2][4]
หลังจากนั้นได้มีหนังสือใบลานระบุคำทำนายเรื่องผู้มีบุญหรือพระยาธรรมิกราชเผยแพร่อย่างกว้างขวางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม กล่าวอ้างว่าจะมีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 และผู้มีบุญหรือพระยาธรรมิกราชจะมาโปรดชาวโลกให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ชาวบ้านเชื่อว่าผู้มีบุญหรือพระยาธรรมิกราชสามารถเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนหินให้เป็นทองคำและเปลี่ยนทองคำให้กลายเป็นหินได้ จึงพากันเก็บหินลูกรังด้วยความเชื่อว่าหินแร่เหล่านี้จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ทั้งยังพากันฆ่าสัตว์เลี้ยงด้วยความหวาดกลัวว่าสัตว์เหล่านั้นจะกลายเป็นยักษ์กินคนตามคำทำนาย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2444 ผู้นำชาวลาวจำนวนหนึ่งได้ประกาศความภักดีต่อองค์แก้วและทำการเผาบ้านเมืองตามแนวแม่น้ำเซโดน
ข่าวกบฏผู้มีบุญแพร่กระจายถึงสยามหลังจากที่องค์มั่นประกาศตั้งตัวเป็นผู้มีบุญเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 องค์มั่นได้รวบรวมทหารเข้าบุกโจมตีเมืองเขมราฐซึ่งเป็นเมืองชายแดนของสยาม ทหารขององค์มั่นสังหารข้าราชการสองคน ปล้นและเผาเมืองเขมราฐ ทั้งยังลักพาตัวพระเขมรัฐเดชชนารักษ์ (คำบุ) เจ้าเมืองเขมราฐ เพื่อบังคับให้เข้าร่วมขบวนการผู้มีบุญ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน จึงโปรดให้ส่งทหาร 400 นายไปยังเมืองสุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี เพื่อปราบปรามผู้มีบุญกลุ่มต่างๆ ที่ทยอยตั้งตัวขึ้นสนับสนุนกลุ่มองค์มั่น
ในขณะนั้นเอง องค์มั่นได้ทำการรวบรวมผู้ติดตาม 1,000 คน ตั้งค่ายที่บ้านสะพือใหญ่ (อยู่ในเขตอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีปัจจุบัน) และซุ่มโจมตีทหารสยาม 9 นายเสียชีวิต ทำให้องค์มั่นมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอีก 1,500 คน ฝ่ายทางการสยามจึงจัดทหารจำนวน 100 คน พร้อมปืนใหญ่ 2 กระบอก เพื่อแกะรอยและทำการปราบปรามกองกำลังขององค์มั่น ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2445 ทหารสยามทำการซุ่มโจมตีกองทัพกบฎที่โนนโพ ใกล้บ้านสะพือใหญ่ นอกเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายกบฏตายไปราว 300 คนและจับตัวได้อีก 400 คน ขบวนการผู้มีบุญกลุ่มองค์มั่นจึงล่มสลายและยุติลงอย่างสิ้นเชิง แต่ผู้รอดชีวิตส่วนหนึ่งได้หนีข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการผู้มีบุญในลาวต่อไป[1]
ด้านเหตุการณ์ในลาว ชาวบ้านได้บุกล้อมกองเสบียงของคณะข้าหลวงฝรั่งเศสในช่วงปลายเดือนเมษายนที่เมืองสะหวันนะเขต ทางการฝรั่งเศสจึงส่งทหารออกปราบปราม ส่งผลให้กบฏ 150 คนถูกฆ่าและอีก 150 คนได้รับบาดเจ็บ กลุ่มกบฏจึงย้ายไปซ่อนตัวตามแนวสายภูหลวงหรือเทือกเขาอันนัม ยุติการเคลื่อนไหวชั่วคราวจนกระทั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 กลุ่มผู้ก่อกบฏได้ย้ายกำลังไปยังบ้านหนองบกเก่า และสังหารหมู่ชาวละเวนจำนวน 41 คน ฝรั่งเศสระดมพลเข้าปราบปรามอีกครั้งและบีบบังคับให้องค์แก้วยอมแพ้ องค์แก้วจึงหลบหนีเข้าสยาม ก่อนจะกลับเข้ามาที่ลาวเมื่อสถานการณ์สงบลงและพยายามก่อการเคลื่อนไหวอีกครั้งในแถบที่ราบสูงบ่อละเวน
ในปี พ.ศ. 2453 องค์แก้วได้เจรจาสงบศึกกับฝ่ายฝรั่งเศส ฌอง ฌาคส์ โดพลาย์ (Jean-Jacques Dauplay) ข้าหลวงฝรั่งเศสประจำแขวงสาละวัน ได้ลอบซ่อนปืนพกไว้ใต้หมวกเพื่อมิให้ถูกฝ่ายลาวตรวจค้น (เนื่องจากธรรมเนียมลาวถือเรื่องการแตะต้องศีรษะว่าเป็นการดูหมิ่น) และได้ยิงองค์แก้วเสียชีวิตระหว่างการเจรจา องค์กมมะดำซึ่งเป็นลุกศิษย์ขององค์แก้วจึงรับช่วงต่อการเคลื่อนไหวขบวนการผู้มีบุญจนกระทั่งถูกฝ่ายฝรั่งเศสยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 ขบวนการผู้มีบุญในลาวจึงถึงจุดสิ้นสุดลงอย่างแท้จริง[1][2]
ดูเพิ่ม
[แก้]- กบฏเจ้าอนุวงศ์
- สงครามปราบฮ่อ (2408–2433)
- วิกฤตการณ์ปากน้ำ (2436)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 John B. Murdoch (1971). "THE 1901–1902 "HOLY MAN'S" REBELLION" (PDF). Journal of the Siam Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-13. สืบค้นเมื่อ 27 July 2015.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Craig J. Reynolds. "The Concept of Peasant Revolt in Southeast Asia". University of Sydney eScholarship Journals. สืบค้นเมื่อ 21 August 2015.
- ↑ Murdoch, John B. (1974). "The 1901-1902 "Holy Man's Rebellion"" (PDF). Journal of the Siam Society. Siam Heritage Trust. JSS Vol.62.1 (digital): image 3. สืบค้นเมื่อ April 2, 2013.
8) "Kha" is the common, though somewhat pejorative, term used for the Austroasiatic tribal people of Northeast Thailand, Laos, and Viet-nam. I use it here because it is common parlance in the literature and for lack of a better term.
- ↑ Martin Stuart-Fox (30 January 2006). "Buddhism and politics in Laos, Cambodia, Myanmar and Thailand" (PDF). ANU College of Asia & the Pacific. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-17. สืบค้นเมื่อ 21 August 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
[แก้]- ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2527). ความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏในภาคอีสาน ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับอุดมการณและผู้นำ. ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. บรรณาธิการโดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย. หน้า 22-32. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.
- สุมิตรา อำนวยศิริสุข. (2524). กบฏผู้มีบุญในมณฑลอีสาน พ.ศ. 2444-2445. สารนิพนธ์ ศศ.บ. (มานุษยวิทยา). กรุงเทพฯ: ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- Baird, I. G. (2013, June). Millenarian movements in southern Laos and North Eastern Siam (Thailand) at the turn of the twentieth century: Reconsidering the involvement of the Champassak house royal. South East Asia Research. 21(2): 257-279.
เว็บไซต์
[แก้]- กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย ศิลปวัฒนธรรม 18 มีนาคม 2564
- (อังกฤษ) (ฝรั่งเศส) The Colonization of Indochina, from around 1892
- (อังกฤษ) (ฝรั่งเศส) Indochina, a tourism book published in 1910