ข้อเขียนวอยนิช
ข้อเขียนวอยนิช (อังกฤษ: Voynich manuscript) เป็นหนังสือประกอบภาพที่ยังไม่มีใครสามารถแปลความหมายได้ ซึ่งเชื่อกันว่าได้เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือ 16[1] ผู้ประพันธ์ เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในข้อเขียนนี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน
ข้อเขียนวอยนิชได้รับการศึกษาจากนักรหัสวิทยา ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญผู้มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมาตลอดนับตั้งแต่ค้นพบหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ไม่เคยมีใครสามารถแปลเนื้อหาได้แม้แต่ส่วนเดียว ซึ่งทำให้ข้อเขียนวอยนิชมีชื่อเสียงอย่างมากในประวัติศาสตร์ของเรื่องลึกลับ แต่ก็มีทฤษฎีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงของปลอมซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่มีความหมายใด ๆ เลยเช่นเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตั้งชื่อตาม วิลฟริด เอ็ม. วอยนิช (อังกฤษ: Wilfrid M. Voynich) ผู้ค้าหนังสือเชื้อสายโปลลิชอเมริกัน ซึ่งได้หนังสือเล่มนี้มาในปีพ.ศ. 2455 หอสมุดหนังสือและข้อเขียนหายากของมหาวิทยาลัยเยล ได้รวบรวมข้อเขียนวอยนิชไว้เป็นรหัส MS 408 และได้มีการพิมพ์จำลองเพื่อเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2548[2]
เนื้อหา
[แก้]จากการคาดการในปัจจุบัน ข้อเขียนวอยนิชเดิมทีมี 272 หน้า โดยแบ่งเป็น 17 ยก ยกละ 16 หน้า[3] ซึ่งหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ประมาณ 240 กระดาษเวลลัม เลขหน้าซึ่งคาดว่าถูกเขียนเพิ่มเข้าไปในภายหลังมีส่วนที่หายไป ทำให้เชื่อได้ว่าเมื่อวอยนิชได้หนังสือเล่มนี้มานั้นก็ได้มีหลายหน้าที่หายไปจากหนังสือแล้ว ข้อความและเส้นของภาพประกอบนั้นเขียนด้วยปากกาขนนก ภาพประกอบนั้นถูกได้รับการระบายสีหยาบ ๆ ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มเติมในภายหลัง นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าครั้งหนึ่งนั้น ข้อเขียนวอยนิชเรียงหน้าแตกต่างจากทุกวันนี้[4]
ข้อความในหนังสือนั้นเขียนจากซ้ายไปขวาโดยข้อความทั้งหมดจะค่อนมาทางขวา เนื้อหาส่วนที่ยาวจะแบ่งเป็นย่อหน้าซึ่งบางครั้งจะมีเครื่องจุดอยู่ด้านซ้ายด้วย ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ลักษณะความต่อเนื่องของข้อความที่ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชมีลักษณะที่ลื่นไหลซึ่งบอกว่าผู้ประพันธ์เข้าใจเนื้อหาที่ตนเขียนดี และไม่มีลักษณะว่ามีอักษรใดที่ผู้ประพันธ์ต้องใช้ความคิดคำนวณก่อนจะเขียนลงไป
ข้อความในข้อเขียนวอยนิชประกอบด้วยอักขระเดี่ยวประมาณ 170,000 ตัวอักษร ซึ่งอักขระส่วนใหญ่มีลักษณะง่าย ๆ ซึ่งเขียนโดยการลากเส้นเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง แม้จะมีการถกเถียงว่าอักขระบางตัวนั้นต่างกันหรือไม่ แต่มีตัวอักษร 20-30 ตัวที่ใช้ในการเขียนข้อความเกือบทั้งหมด โดยมีตัวอักษรจำนวนหนึ่งซึ่งแต่ละตัวปรากฏเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในข้อเขียน ข้อความถูกแบ่งด้วยวรรคตอนออกเป็นคำที่มีความยาวแตกต่างกันประมาณ 35,000 คำ ซึ่งดูเหมือนจะเขียนตามกฎไวยากรณ์บางประการ
การวิเคราะห์ทางสถิติของข้อความในข้อเขียนวอยนิชได้แสดงถึงลักษณะที่คล้ายกับภาษาปกติ เช่นเอนโทรปีของคำนั้นมีลักษณะเหมือนข้อความภาษาอังกฤษและภาษาละติน[5] คำบางคำนั้นปรากฏในเนื้อหาเพียงบางตอนหรือไม่กี่หน้า ในขณะที่อีกหลายคำจะปรากฏตลอดเล่ม คำบรรยายของภาพประกอบซึ่งมีอยู่นับพันนั้นแทบไม่ซ้ำกันเลย ในบทพฤกษศาสตร์นั้น คำคำแรกในแต่ละหน้าจะปรากฏในหน้านั้น ๆ เท่านั้น และอาจจะเป็นชื่อของพืชแต่ละชนิด
ถึงกระนั้น ภาษาที่ใช้ในข้อเขียนวอยนิชก็แตกต่างจากภาษาของยุโรปในหลายด้าน โดยทั้งข้อเขียนนั้นไม่มีคำใดที่เขียนด้วยอักขระมากกว่าสิบตัวอักษรเลย แต่ขณะเดียวกันก็มีคำที่ใช้อักขระเพียงหนึ่งหรือสองตัวน้อยมาก การกระจายตัวของอักขระในแต่ละคำยังมีลักษณะที่แปลกประหลาด โดยอักขระบางตัวจะปรากฏเป็นตัวแรกของคำเท่านั้น ในขณะที่บางตัวจะปรากฏเป็นตัวสุดท้ายโดยเฉพาะ และบางตัวจะปรากฏกลางคำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะของอักษรตระกูลเซมิติก ข้อความในข้อเขียนวอยนิชยังมีการใช้คำซ้ำบ่อยกว่าภาษาของยุโรปมาก ซึ่งบางครั้งคำ ๆ เดียวจะปรากฏเรียงกันถึงสามครั้ง และคำที่มีความแตกต่างกันเพียงอักขระตัวเดียวก็ปรากฏบ่อยอย่างผิดปกติ
ในข้อเขียนวอยนิชปรากฏคำซึ่งเขียนในแบบของภาษาละตินเพียงไม่กี่คำเท่านั้น โดยในหน้าสุดท้ายมีข้อความสี่บรรทัดซึ่งเขียนเป็นอักษรละตินที่บิดเบี้ยว ตัวอักษรนี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษรในช่วงคริสตร์ศตวรรษที่ 15 แต่คำเหล่านั้นก็ดูจะไม่มีความหมายในภาษาใด ๆ[6] แผนผังในส่วนดาราศาสตร์ยังมีชื่อเดือนทั้งสิบ (ตั้งแต่มีนาคมถึงธันวาคม) ซึ่งเขียนเป็นภาษาละติน ซึ่งการสะกดนั้นคล้ายกับภาษาฝรั่งเศสโบราณหรือภาษาของคาบสมุทรไอบีเรีย.[7] ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏชัดว่าข้อความละตินเหล่านี้ถูกเขียนเพิ่มเติมในภายหลังหรือไม่
ภาพประกอบ
[แก้]ภาพประกอบในหนังสือทำให้เชื่อได้ว่าเนื้อหาของข้อเขียนวอยนิชนี้น่าจะแบ่งออกเป็นหกส่วนซึ่งมีรูปแบบและหัวข้อแตกต่างกันไป โดยแทบทุกหน้าจะมีภาพประกอบยกเว้นเพียงส่วนสุดท้ายซึ่งมีเพียงข้อความ
- พฤกษศาสตร์ ในแต่ละหน้าจะมีภาพของพืชหนึ่งหรือสองชนิดและข้อความไม่กี่ย่อหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับตำราสมุนไพรของยุโรปในสมัยหนึ่ง ภาพวาดนี้บางครั้งจะเป็นภาพเดียวกับส่วนเวชศาสตร์แต่ชัดเจนกว่า
- ดาราศาสตร์ มีแผนผังทรงกลมซึ่งบางภาพจะเป็นลักษณะของระบบดาว ภาพชุดหนึ่งเป็นแผนผังของกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดี ภาพสตรีในส่วนนี้มักมีลักษณะเปลือยหรือกึ่งเปลือย โดยแต่ละนางจะถือสิ่งที่ดูเหมือนแถบชื่อของกลุ่มดาวหรือมีสายโยงดวงดาวกับแขนข้างหนึ่ง สองหน้าสุดท้ายของส่วนนี้ คือกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวแพะทะเลได้หายไป ในขณะที่กลุ่มดาวแกะและกลุ่มดาววัว ถูกแบ่งเป็นแผนผังสี่คู่ซึ่งมีดาวสิบห้าดวงในแต่ละภาพ แผนผังบางภาพอยู่ในหน้าซึ่งเป็นแผ่นพับ
- ชีววิทยา ข้อความในส่วนนี้เขียนต่อเนื่องกันอย่างหนาแน่นรวมอยู่กับภาพประกอบซึ่งมักเป็นสตรีเปลือยขนาดเล็กอาบน้ำในสระหรืออ่างซึ่งเชื่อมกันด้วยระบบท่อ ซึ่งอ่างและท่อเหล่านี้บางครั้งจะดูเหมือนอวัยวะอย่างชัดเจน ภาพสตรีนี้บางครั้งก็มีมงกุฏอยู่บนศีรษะด้วย
- จักรวาลวิทยา ภาพประกอบมีลักษณะเป็นแผนผังแต่ไม่มีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนในส่วนดาราศาสตร์ ส่วนนี้มีหน้าที่เป็นแผ่นพับซึ่งแผ่นหนึ่งนั้นกางออกได้ถึงหกหน้าและมีแผนที่หรือแผนผังซึ่งมีเกาะเก้าเกาะที่เชื่อมกันด้วยเส้นทาง ปราสาท และสิ่งที่ดูคล้ายกับภูเขาไฟ
- เวชศาสตร์ มีภาพวาดส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น รากไม้หรือใบไม้ โดยมีป้ายบอก วัตถุซึ่งดูคล้ายกับโหลยาถูกวาดอยู่ตามขอบ ข้อความในส่วนนี้มีเพียงไม่กี่ย่อหน้า
- สูตร เป็นข้อความย่อหน้าสั้น ๆ จำนวนมาก ซึ่งแต่ละย่อหน้าจะมีสัญลักษณ์รูปร่างคล้ายดอกไม้หรือดาวอยู่ด้านหน้า
แม้ว่าลักษณะของข้อเขียนวอยนิชนั้นจะคล้ายกับตำรับยา แต่ภาพประกอบของหนังสือก็มีลักษณะที่ประหลาดอยู่มาก แม้ว่าส่วนแรกของข้อเขียนจะค่อนข้างแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสมุนไพร แต่สมุนไพรที่ปรากฏส่วนใหญ่นั้นกลับไม่สามารถระบุชนิดได้ พืชบางชนิดที่ปรากฏนั้นดูเหมือนจะเป็นภาพที่นำส่วนต่าง ๆ ของพืชต่างชนิดมาปะติดปะต่อกัน การที่ไม่ทราบมาตราส่วนของภาพประกอบนั้นยิ่งทำให้การระบุประเภทของพืชในส่วนนี้ยากขึ้นไปอีก
อ่างและท่อที่ปรากฏในส่วนชีววิทยานั้นดูจะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการปรุงยา แต่ตำราแปรธาตุในยุคที่คาดว่าประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชนั้นมักใช้สัญลักษณ์จำเพาะต่าง ๆ แทนกระบวนการและธาตุที่ใช้ ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งหมดนั้นไม่ได้ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชเลย
แม้ว่าวิชาดาราศาสตร์จะนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในตำราเวชศาสตร์ซึ่งคาดว่าประพันธ์ในช่วงเดียวกับข้อเขียนวอยนิช แต่นอกจากสัญลักษณ์ของจักราศี และแผนผังซึ่งคล้ายกับดาวเคราะห์ที่รู้จักกันดีแล้ว แผนผังที่เหลือก็ไม่ได้ตรงกับสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรารู้จักเลย ภาพวาดภาพหนึ่งนั้นเป็นรูปทรงประหลาดที่มีแขนโค้งสี่ข้าง ซึ่งมีผู้ตีความว่าหมายถึงดาราจักรเมื่อมองด้วยกล้องโทรทรรศน์ และยังมีอีกภาพซึ่งดูเหมือนเซลล์เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทว่าความคล้ายคลึงที่ว่านี้ก็ยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนกลางของภาพที่คล้ายดาราจักรนั้นดูเหมือนจะเป็นแอ่งน้ำเสียมากกว่า ภาพประกอบบางภาพนั้นมีลักษณะคล้ายกับเม่นทะเล
ประวัติ
[แก้]ประวัติของหนังสือเล่มนี้ยังมีส่วนที่ไม่แน่ชัดนัก[8] เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือไม่ตรงกับตำราอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีใครตีความได้ สิ่งที่สามารถช่วยระบุอายุและต้นกำเนิดของข้อเขียนวอยนิชได้ในตัวหนังสือเองจึงมีเพียงภาพประกอบ ซึ่งภาพการแต่งกายของสตรีและปราสาทซึ่งปรากฏในแผนผังนั้นมีลักษณะของยุโรปอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญประมาณปีที่ประพันธ์ไว้ว่าเป็นช่วง พ.ศ. 1993 ถึง พ.ศ. 2063
ผู้ครอบครองข้อเขียนวอยนิชคนแรกที่สามารถยืนยันได้ก็คือ จอร์จ บาเรสช์ (อังกฤษ: George Baresch) นักเล่นแร่แปรธาตุผู้อาศัยอยู่ในเมืองปรากในช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งดูเหมือนว่าบาเรสช์เองก็ไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้มีความหมายอย่างไร และเรียกข้อเขียนวอยนิชว่าเป็น "สฟิงซ์" ซึ่ง "นั่งอยู่อย่างไร้ประโยชน์ในห้องสมุดของเขา"[9] เมื่อทราบเรื่องที่ อธานาเซียส คิรเชอร์ (อังกฤษ: Athanasius Kircher) บัณฑิตลัทธิเยซูอิตได้เผยแพร่พจนานุกรมภาษาคอปติคของชาวเอธิโอเปียนและไขความหมายของไฮโรกลิฟ บาเรสช์ได้ส่งตัวอย่างของหนังสือไปให้คิรเชอร์ที่โรมเพื่อขอคำแนะนำ จดหมายของบาเรสช์ถึงคิรเชอร์ในปี พ.ศ. 2182 เป็นหลักฐานแรกที่กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ที่ค้นพบในปัจจุบัน
คิรเชอร์นั้นสนใจหนังสือเล่มนี้ แต่บาเรสช์ปฏิเสธที่จะมอบหนังสือทั้งเล่มให้ เมื่อบาเรสช์เสียชีวิต หนังสือได้อยู่ในการครอบครองของ โยฮันเนส มาคัส มาร์ซี (อังกฤษ: Johannes Marcus Marci) ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีของมหาวิทยาลัยชาร์ลในปราก ก่อนจะมอบให้คิรเชอร์อีกที จดหมายของมาร์ซีนั้นยังอยู่ในหนังสือ
ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับข้อเขียนวอยนิชอีกตลอด 200 ปีหลังจากนั้น เชื่อได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการเก็บไว้ที่วิทยาลัยโรมาโน (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งสันตะปาปาเกรกอเรียน) ร่วมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ของคิรเชอร์ จนกระทั่ง พระเจ้าวิคเตอร์เอ็มมานูเอลที่ 2 แห่งอิตาลี ได้เข้ายึดเมืองในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งรัฐบาลอิตาลีได้เข้ายึดทรัพย์สินของศาสนจักรไปมากมาย แต่ศาสนจักรก็ได้แอบขนย้ายตำราต่าง ๆ ไปไว้ในห้องสมุดส่วนตัวของเหล่าอธิการก่อนแล้ว หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นก็คือข้อเขียนวอยนิช ซึ่งปัจจุบันยังมีป้ายชื่อห้องสมุดของ เปตรัส เบคซ์ (อังกฤษ: Petrus Beckx) หัวหน้าคณะเยซูอิตและอธิบดีของวิทยาลัยในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2409 ห้องสมุดส่วนตัวของเบคซ์ได้ย้ายไปยังวังวิลล่ามอนดราโกนในฟราสคาตีของลัทธิเยซูอิต ซึ่งเป็นศูนย์ของสถาบันกิสเลียริ ในปี พ.ศ. 2455 วิทยาลัยโรมาโนได้ประสพปัญหาด้านการเงินและได้ขายตำราบางส่วน วิลฟริด วอยนิชได้ซื้อหนังสือจากวิทยาลัยจำนวน 30 เล่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือข้อเขียนวอยนิช เมื่อวอยนิชเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2473 เอเธล ลิเลียน วอยนิช (อังกฤษ: Ethel Lilian Voynich) ผู้เป็นภรรยาได้เก็บหนังสือเล่มนี้ไว้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2503 และได้มอบข้อเขียนวอยนิชให้นางสาว แอน นิล แอน นิลได้ขายหนังสือเล่มนี้ให้พ่อค้าหนังสือเก่าอีกคนคือ ฮันส์ พี. เคราส์ (อังกฤษ: Hans P. Kraus) ซึ่งในที่สุดได้บริจาคข้อเขียนวอยนิชให้มหาวิทยาลัยเยล ในปี พ.ศ. 2512
ผู้ประพันธ์
[แก้]ในจดหมายที่มาร์วีส่งถึงคิรเชอร์ได้ระบุว่า ราฟาเอล มนิชอฟสกี้ (อังกฤษ: Raphael Mnishovsky) ได้อ้างว่า จักรพรรดิรูดอล์ฟที่สอง สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมียเคยซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยราคา 600 ดูคัท จดหมายได้อ้างว่าจักรพรรดิรูดอล์ฟเชื่อว่าผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชก็คือพหูสูตและนักบวชแห่งลัทธิฟรานซิสกัน โรเจอร์ เบคอน (อังกฤษ: Roger Bacon)
วอยนิชเชื่อว่าเบคอนเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังและได้พยายามหาข้อพิสูจน์มาตลอด วอยนิชสรุปว่าผู้ที่ขายหนังสือเล่มนี้ให้รูดอล์ฟก็คือจอห์น ดี (อังกฤษ: John Dee) นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ในการอุปถัมป์ของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่ครอบครองข้อเขียนของเบคอนไว้เป็นจำนวนมาก ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ศึกษาข้อเขียนวอยนิชคือ กอร์ดอน รักก์ (อังกฤษ: Gordon Rugg) ดีและเอ็ดเวิร์ด เคลลี (อังกฤษ: Edward Kelley) ซึ่งเป็นผู้ช่วยได้อาศัยอยู่ในโบฮีเมียเป็นเวลานานเพื่อหวังว่าจะได้เสนอตัวรับใช้จักรพรรดิ แต่บันทึกของดีเองไม่เคยได้ระบุถึงเรื่องนี้
เอ็ดเวิร์ด เคลลีนั้นเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุซึ่งศึกษาด้วยตัวเองและอ้างว่าสามารถเปลี่ยนทองแดงให้เป็นทองคำได้ด้วยผงพิเศษซึ่งขุดมาจากหลุมฝังศพของบิชอปในเวลส์ เคลลียังอ้างว่าตนสามารถติดต่อกับเทวทูตได้ซึ่งดีได้บันทึกข้อความที่เคลลีอ้างว่าตนสนทนากับเทวทูตไว้ด้วย ภาษาที่เทวทูตใช้นั้นเรียกว่า เอนอคเชียน ตาม เอนอค บรรพบุรุษของโนอาห์ ซึ่งตำนานกล่าวว่าเคยขึ้นไปยังสวรรค์และเขียนหนังสือเล่าสิ่งที่ได้เห็นที่นั่น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเคลลีอาจเป็นผู้เขียนข้อเขียนวอยนิชเพื่อประกอบภาษาเอนอคเชียนของตนให้น่าเชื่อถือ
วอยนิช
[แก้]ทฤษฎีหนึ่งอ้างว่าวอยนิชเป็นผู้ทำปลอมข้อเขียนวอยนิชเองโดยใช้ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นพ่อค้าหนังสือโบราณ เนื่องจากข้อเขียนของเบคอนนั้นจะมีมูลค่าอย่างมาก แต่จดหมายถึงคิรเชอร์นั้นทำให้ทฤษฎีนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้[10] ฝ่ายผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้อ้างว่าจดหมายของบาเรสช์และมาร์ซีเพียงแต่ระบุถึงหนังสือ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเขียนวอยนิชก็ได้ และเป็นไปได้ว่าจดหมายเหล่านั้นอาจเป็นแรงจูงใจให้วอยนิชทำปลอมข้อเขียนวอยนิชก็ได้เช่นกัน
แต่เนื่องจากวอยนิชและภรรยาไม่เคยพยายามขายข้อเขียนวอยนิชเลย หากวอยนิชต้องการชื่อเสียงมากกว่าเงินทอง ภรรยาหม้ายของวอยนิชก็ควรจะขายหนังสือไปหลังจากที่วอยนิชเสียชีวิตแล้ว ทำให้ทฤษฎีนี้ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก ผู้ที่ได้ศึกษาข้อเขียนวอยนิชส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าวอยนิชจะเป็นผู้เขียนตำราเล่มนี้เอง
ทฤษฎีอื่น ๆ
[แก้]วอยนิชเองเคยถ่ายสำเนาหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้และพบร่องรอยการเขียนจาง ๆ ที่ถูกลบออก ด้วยกระบวนการทางเคมีทำให้สามารถอ่านได้ว่าเป็นชื่อ "Jacobj `a Tepenece" ซึ่งเชื่อว่าน่าจะหมายถึง ยาโคบัส ซินาเพียส (อังกฤษ: Jacobus Sinapius) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพรและแพทย์ส่วนพระองค์ของจักพรรดิรูดอล์ฟที่สอง วอยนิชนั้นเชื่อว่าลายเซ็นนี้แสดงว่ายาโคบัสน่าจะเคยเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ก่อนบาเรสช์ และเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีของมนิชอฟสกี้ บ้างก็เชื่อว่ายาโคบัสอาจเป็นผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชเอง
ทว่าลายเซ็นนี้กลับไม่ตรงกับของยาโคบัส[11] เป็นไปได้ว่าข้อความที่ถูกลบนี้ อาจเป็นเจ้าของหรือผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้เขียนเป็นการคาดเดาถึงผู้ประพันธ์เท่านั้น ในปัจจุบัน ลายเซ็นนี้ได้เลือนจนแทบมองไม่เห็นในปัจจุบันเนื่องจากกระดาษเสื่อมเพราะสารเคมีที่วอยนิชใช้ มีผู้สงสัยว่าลายเซ็นนี้อาจเป็นเรื่องที่วอยนิชกุขึ้นเพื่อให้ทฤษฎีที่เบคอนเป็นผู้ประพันธ์มีน้ำหนักมากขึ้น
อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า มาร์ซีนั้นรู้จักกับคิรเชอร์ขณะที่พยายามให้มหาวิทยาลัยชาร์ลเป็นอิสระจากอิทธิพลของลัทธิเยซูอิต ซึ่งได้ดูแลสถาบันเคลเมนตินัมในปราก ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับมหาวิทยาลัยชาร์ลภายใต้การบริหารของคณะเยซูอิต จึงมีความเป็นไปได้ว่ามาร์ซีนั้นอาจทำข้อเขียนวอยนิชขึ้นมาเพื่อหาทางลดทำลายชื่อเสียงของคิรเชอร์เป็นการแก้แค้น จดหมายของบาเรสช์นั้นคล้ายกับจดหมายที่ แอนเดรียส มิวเลอร์ (อังกฤษ: Andreas Mueller) เคยเขียนข้อความปลอมและส่งไปให้คิรเชอร์แปลเป็นการกลั่นแกล้งมาก บาเรสช์เองยังเป็นบุคคลซึ่งไม่มีชื่อเสียง นอกจากจดหมายเกี่ยวกับข้อเขียนวอยนิชสามฉบับแล้วก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเขาเคยมีตัวตนอยู่จริง ๆ เลย อีกทั้งคิรเชอร์และมาร์ซีเองก็ไม่ได้มีการติดต่อกันทางวิชาการอีกเลยหลังจากที่มาร์ซีส่งข้อเขียนวอยนิชให้แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องความแค้นของมาร์ซีนี้เป็นเพียงการคาดเดาที่ไม่มีหลักฐานรองรับ มาร์ซีเองยังเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้มีศรัทธาและได้ศึกษาจนกระทั่งได้รับเกียรติเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะเยซูอิตก่อนจะเสียชีวิตไม่นานนัก
ราฟาเอล มนิชอฟสกี้ซึ่งเป็นผู้บอกมาร์ซีว่าหนังสือเล่มนี้แต่งโดยเบคอนนั้น เป็นนักรหัสวิทยาและยังเคยอ้างว่าได้สร้างรหัสซึ่งไม่มีใครสามารถถอดความได้ในปี พ.ศ. 2161 จึงเป็นไปได้ว่ามนิชอฟสกี้อาจเขียนข้อเขียนวอยนิชและทดลองโดยหลอกให้บาเรสช์พยายามถอดรหัส เมื่อคิรเชอร์ได้เผยแพร่พจนานุกรมคอปติค มนิชอฟสกี้อาจจะคิดว่าการหลอกคิรเชอร์ได้นั้นน่าจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าและแนะนำให้บาเรสช์ขอความช่วยเหลือจากคิรเชอร์ เรื่องที่เบคอนเป็นผู้ประพันธ์ก็อาจเป็นมนิชอฟสกี้กุขึ้นและมาร์ซีเองก็สงสัยเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนทฤษฎีนี้
นิค เพลลิง (อังกฤษ: Nick Pelling) ได้เสนอทฤษฎีจากการโยงหลักฐานต่าง ๆ เข้าด้วยกันว่า ผู้ประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชก็คือ สถาปนิกยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี อันโตนิโอ อเวอร์ลิโน (อังกฤษ: Antonio Averlino)[4] ตามทฤษฎีของเพลลิงนั้น อเวอร์ลิโนได้หาทางเดินทางไปยังคอนสแตนติโนเปิลในช่วงปี พ.ศ. 2008 และได้เข้ารหัสข้อมูลด้านวิศวกรรมไว้ในเนื้อหาของข้อเขียนวอยนิชเพื่อที่จำนำความรู้ของตนไปยังจักรวรรดิออตโตมันโดยที่ทหารยามชาวเวเนเชียนจับไม่ได้ เพลลิงเสนอว่าเนื้อหาหลาย ๆ ส่วนของข้อเขียนวอยนิชนั้นไม่มีความหมายใด ๆ นอกจากมีไว้เพื่อปกปิดเนื้อหาที่แท้จริงและทำให้ผู้พยายามถอดรหัสสับสนเท่านั้น
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ Dennis Stallings เก็บถาวร 2009-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน estimates 1480–1520, while Terence McKenna เก็บถาวร 2010-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน states it dates to "at least 1586".
- ↑ Le Code Voynich, the whole manuscript published with a short presentation in French, ed. Jean-Claude Gawsewitch, (2005) ISBN 2-35013-022-3.
- ↑ Poundstone, William. "Labyrinths of Reason: Paradox, Puzzles, and the Frailty of Knowledge". Random House, December, 1989. p. 194. ISBN 0-385-24271-9
- ↑ 4.0 4.1 Pelling, Nicholas John. "The Curse of the Voynich: The Secret History of the World's Most Mysterious Manuscript". Compelling Press, 2006. ISBN 0-9553160-0-6
- ↑ Landini, Gabriel (2001). "Evidence of linguistic structure in the Voynich manuscript using spectral analysis". Cryptologia. 25 (4): 275–295. doi:10.1080/0161-110191889932. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2006-11-06.
- ↑ Palmer, Sean B. (2004). "Notes on f116v's Michitonese"
- ↑ Palmer, Sean B. (2004). "Voynich Manuscript: Months"
- ↑ Voynich MS - Long tour: Known history of the manuscript
- ↑ Letter, Georg Baresch to Athanasius Kircher, 1639 Archives of the Pontificia Università Gregoriana in Rome, shelfmark APUG 557, fol. 353
- ↑ "Origin of the manuscript". Voynich MS. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
- ↑ "The New Signature of Horczicky and the Comparison of them all". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2008-08-21.
อ้างอิง
[แก้]- Voynich, Wilfrid Michael (1921). "A Preliminary Sketch of the History of the Roger Bacon Cipher Manuscript". Transactions of the College of Physicians of Philadelphia. 3 (43): 415–430.
- Manly, John Mathews (1921), "The Most Mysterious Manuscript in the World: Did Roger Bacon Write It and Has the Key Been Found?", Harper's Monthly Magazine 143, pp.186–197.
- Manly, John Matthews (1931). "Roger Bacon and the Voynich MS". Speculum. 6 (3): 345–391. doi:10.2307/2848508+.
- McKenna, Terence, "The Voynich Manuscript", in his The Archaic Revival (HarperSanFrancisco, 1991), pp.172–184.
- William Romaine Newbold (1928). The Cipher of Roger Bacon. Philadelphia, Pennsylvania: University of Pennsylvania Press.
- M. E. D'Imperio (1978). The Voynich Manuscript: An Elegant Enigma. Laguna Hills, California: Aegean Park Press. ISBN 0-89412-038-7.
- Robert S. Brumbaugh (1978). The Most Mysterious Manuscript: The Voynich 'Roger Bacon' Cipher Manuscript. Carbondale, Illinois: Southern Illinois University Press. ISBN 0-8093-0808-8.
- John Stojko (1978). Letters to God's Eye. New York: Vantage Press. ISBN 0-533-04181-3.
- Leo Levitov (1987). Solution of the Voynich Manuscript: A liturgical Manual for the Endura Rite of the Cathari Heresy, the Cult of Isis. Aegean Park Press. ISBN 0-89412-148-0.
- Mario M. Pérez-Ruiz (2003). El Manuscrito Voynich (ภาษาสเปน). Barcelona: Océano Ambar. ISBN 84-7556-216-7.
- Lawrence and Nancy Goldstone (2005). The Friar and the Cipher: Roger Bacon and the Unsolved Mystery of the Most Unusual Manuscript in the World. New York: Doubleday. ISBN 0-7679-1473-2.
- Francisco Violat Bordonau (2006). El ABC del Manuscrito Voynich (ภาษาสเปน). Cáceres, Spain: Ed. Asesores Astronómicos Cacereños.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Download the complete Voynich Manuscript in pdf
- Yale University Beinecke Rare Book and Manuscript Library gallery of high resolution digital scans of the Voynich manuscript
- René Zandbergen's introductory site about the Voynich Manuscript
- Nick Pelling's research site
- The Voynich Manuscript ที่เว็บไซต์ Curlie
- Nature news article: World's most mysterious book may be a hoax A summary of Gordon Rugg's paper directed towards a more general audience
- Scientific American: The Mystery of the Voynich Manuscript