ข้ามไปเนื้อหา

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Education,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมแผนกครุศาสตร์
คติพจน์ความเรืองปัญญาและคุณธรรม คือมาตรฐานคุณภาพบัณฑิตครุศาสตร์
สถาปนา10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500; 67 ปีก่อน (2500-07-10)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.ยศวีร์ สายฟ้า
ที่อยู่
สี  สีแสด[1]
เว็บไซต์www.edu.chula.ac.th

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Education, Chulalongkorn University) ถือกำเนิดมาจากแนวคิดของ โรงเรียนฝึกหัดครู โดยการพัฒนาหลักสูตรผลิตครูของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 นับเป็นคณะที่ 7 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ

[แก้]
  • พ.ศ. 2435 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาจารย์ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนฝึกหัดครู
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาและพระราชทานนามว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแผนกครุศึกษารวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใช้ชื่อว่า แผนกฝึกหัดครู และเมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แยกจากกัน แผนกฝึกหัดครูเปลี่ยนชื่อเป็น แผนกครุศาสตร์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อเป็น "คณะครุศาสตร์" ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา [2]
  • 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติการวิจัยในการทดลองสอนของนิสิตคณะครุศาสตร์ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ พ.ศ. 2502 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพลศึกษา พ.ศ. 2506 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยา แผนกวิชานิเทศและบริหารการศึกษาและแผนกวิชาโสตทัศนศึกษา พ.ศ. 2510 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพยาบาลศึกษา พ.ศ. 2512 แยกการบริหารงานโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษา พ.ศ. 2513 เปิดโครงการทดลองชั้นอนุบาล พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาอุดมศึกษา
  • พ.ศ. 2522 มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก "แผนกวิชา" เป็น "ภาควิชา" พ.ศ. 2529 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. 2531 ภาควิชาพยาบาลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2536 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาดนตรีศึกษา พ.ศ. 2539 ภาควิชาจิตวิทยาได้รับการสถาปนาเป็นคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ภาควิชาพลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งต่อมาเป็น คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2547 คณะครุศาสตร์ได้แบ่งภาควิชาออกเป็น 4 ภาควิชา ประกอบด้วย ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา และภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
  • พ.ศ. 2554 มีการแบ่งภาควิชาใหม่ แบ่งออกเป็น 6 ภาควิชา ประกอบไปด้วย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต และภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายบริหาร
  • 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 มีพิธีเปิดแพรคลุมป้ายอาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย

ภาควิชา

[แก้]
  • ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
    • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
    • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
    • สาขาวิชาประถมศึกษา
    • สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
    • สาขาวิชาการศึกษาคณิตศาสตร์
    • สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์
    • สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
    • สาขาวิชาการสอนภาษาต่างประเทศ
    • สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
    • สาขาวิชาการสอนการงานอาชีพ
  • ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  • ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา
    • สาขาวิชาศิลปศึกษา
    • สาขาวิชาดนตรีศึกษา
    • สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา
  • ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา
    • สาขาวิชาพัฒนศึกษา
    • สาขาวิชาบริหารการศึกษา
    • สาขาวิชานิเทศการศึกษา
    • สาขาวิชาอุดมศึกษา
    • สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา
  • ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต
    • สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน
  • ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
    • สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา
    • สาขาวิชาวิจัยการศึกษา
    • สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
    • สาขาวิชาสถิติการศึกษา
  • โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
    • โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม[3]

หน่วยงานและหลักสูตร

[แก้]
หน่วยงาน ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

ภาควิชาหลักสูตรและการสอน

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาประถมศึกษา
  • สาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์)
  • สาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์–สังคมศาสตร์)
  • สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาประถมศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
  • สาขาวิชาการศึกษาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์
  • สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา

ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาศิลปศึกษา
  • สาขาวิชาดนตรีศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาศิลปศึกษา
  • สาขาวิชาดนตรีศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาศิลปศึกษา
  • สาขาวิชาดนตรีศึกษา

ภาควิชานโยบาย การจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาบริการการศึกษา
  • สาขาวิชาอุดมศึกษา
  • สาขาวิชาพัฒนศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาพัฒนศึกษา
  • สาขาวิชาอุดมศึกษา
  • สาขาวิชาภาวะผู้นำการบริหารระบบการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)

ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาวิธีวิทยาการพัฒนานวัตกรรมการทางการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาวิธีวิทยาการพัฒนานวัตกรรมการทางการศึกษา

ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน

ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

ทำเนียบคณบดี

[แก้]
ทำเนียบคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2514
2. ศาสตราจารย์ ดร.ประชุมสุข อาชวอำรุง พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2518
3. ศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สาธร พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2519
4. ศาสตราจารย์ อำไพ สุจริตกุล พ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2523
5. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2527
6. รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ อัตชู พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2531
7. ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2535
8. ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2539 , พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2547
9. ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2543 , พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2551
10. ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2555
11. ศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2557
12. รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ พ.ศ. 2557 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 – 16 กันยายน พ.ศ. 2567
14.รองศาสตราจารย์ ดร.ยศวีร์ สายฟ้า 16 กันยายน พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน

บุคลากรที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อาคารของคณะครุศาสตร์

[แก้]
อาคาร ครุศาสตร์ 1 หรือ อาคาร พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

อาคาร ครุศาสตร์ 1 ชื่ออาคาร พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ที่ตั้งของห้องสุมนต์ อมรวิวัฒน์ และห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่

อาคาร ครุศาสตร์ 2 ชื่ออาคาร พระมิ่งขวัญการศึกษาไทย ที่ตั้งของภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา และห้องสุจริต เพียรชอบ

อาคาร ครุศาสตร์ 3 ชื่ออาคาร ประชุมสุข อาชวอำรุง ที่ตั้งของห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล และห้องเรียนต่าง ๆ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านกาแฟทรูคอฟฟี่

อาคาร ครุศาสตร์ 4 ที่ตั้งของห้องเรียน ห้องละหมาด ศูนย์วารสารครุศาสตร์

อาคาร ครุศาสตร์ 6 คือ อาคารของสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ ซึ่งเทียบได้กับสมาคมนิสิตเก่าประจำคณะ ที่ตั้งของคณะกรรมการนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ (กนค.) และคณะกรรมการนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา คณะครุศาสตร์ (กนบค.)[4]

อาคาร ครุศาสตร์ 8 คือ อาคารของสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา

กิจกรรม

[แก้]

1. ดนตรีเที่ยงวัน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นิสิตชั้นปีที่ 2 ในรายวิชา "ดนตรีศึกษาขั้นนำ" วิชาบังคับในหลักสูตร เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการแสดงและร่วมแสดงด้วย เป็นกิจกรรมฝึกหัดในการจัดการแสดงดนตรี เพื่อพัฒนาประสบการณ์การจัดแสดงดนตรี และนำไปใช้ในการจัดแสดง "ครุศาสตร์คอนเสิร์ต" ต่อไป ความสำคัญของดนตรีเที่ยงวัน คือ นิสิตที่เรียนวิชาดังกล่าว จะจัดการแสดงตลอดภาคการศึกษาต้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผล และนิสิตต้องรับผิดชอบในการจัดดนตรีเที่ยงวันต่อไปอีกหนึ่งภาคการศึกษา โดยเป็นการจัดการแสดงที่มิได้มีคะแนน แต่เป็นการฝึกการจัดการแสดงในลักษณะกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ดนตรีเที่ยงวันมีการแสดงตลอดทั้งปี สถานที่แสดงส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณคณะครุศาสตร์ บางครั้งมีการจัดแสดงที่อื่นบ้างตาม การวางแผนเป็นหน้าที่ของนิสิตเอง ดังนั้น ดนตรีเที่ยงวันจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของนิสิตในเชิงการจัดการและการแสดงควบคู่ไปกับความเสียสละและจิตอาสา [5]

2. ครุศาสตร์คอนเสิร์ต นับตั้งแต่เริ่มมีการเรียนการสอนดนตรีขึ้นในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นโยบายการสร้างสรรค์ผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้คู่คุณธรรมเป็นครูดนตรีที่ดียังคงเป็นหลักการสำคัญ นอกจากนี้ กิจกรรมดนตรีมีการพัฒนาเป็นรูปแบบมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญและจัดเป็นประจำทุกปีคือ ครุศาสตร์คอนเสิร์ต ในบางปีได้จัดการแสดงเนื่องในโอกาสพิเศษด้วย[6]

3. กีฬาของคณะที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งสามย่าน หรือ สามย่านเกมส์ ประกอบไปด้วย คณะครุศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ นอกจากมีการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงดนตรีของทั้งสามคณะด้วย

4. กีฬาคณะครุศาสตร์–ศึกษาศาสตร์ของ 5 มหาวิทยาลัย หรือไม้เรียวเกมส์ กีฬาการแข่งขันและสานความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ประกอบไปด้วย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

5. งานเทศกาลของขวัญ หรือ กิ๊ฟท์เฟสต์ ของสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา เป็นกิจกรรมของนิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตขายของขวัญทำมือจากนิสิตเอง ได้แสดงผลงานศิลปะของนิสิต การเดินแบบด้วยเครื่องแต่งกายผลงานการออกแบบของนิสิต การประกวดการระบายสีตามร่างกายระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้มาร่วมแสดงดนตรีในกิจกรรมนี้ด้วย [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541, เล่ม 115, ตอน 21 ก, 22 เมษายน พ.ศ. 2541, หน้า 1.
  2. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คู่มือนิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2563, 2563, หน้า 1.
  3. ประกาศคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การกำหนดพันธกิจภาควิชาและสาขาวิชาภายในภาควิชา พ.ศ. 2548[ลิงก์เสีย]
  4. https://www.facebook.com/USCE.CU/
  5. ประวัติ | คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564
  6. ประวัติ | คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564
  7. เทศกาลของขวัญและขนมครั้งที่ 25 "โรงงานกิ๊ฟท์" (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2564

ดูเพิ่ม

[แก้]

https://www.edu.chula.ac.th/

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]