ข้ามไปเนื้อหา

ถนนมหาเศรษฐ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนมหาเศรษฐ์บริเวณทางแยกมเหสักข์

ถนนมหาเศรษฐ์ (อักษรโรมัน: Thanon Maha Set) เป็นถนนสายหนึ่งในท้องที่แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ระยะทาง

[แก้]

ถนนมหาเศรษฐ์มีขนาด 4–5 ช่องการจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 20.70 เมตร ระยะทางยาว 510 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากทางแยกมหานคร–สี่พระยาซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนสี่พระยาและถนนมหานคร ไปทางทิศใต้ ตัดผ่านซอยเจริญกรุง 39 (ศาลเจ้าเจ็ด), ซอยเจริญกรุง 43 (สะพานยาว) และซอยพุทธโอสถ ไปสิ้นสุดที่ทางแยกมเหสักข์ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนสุรวงศ์และถนนมเหสักข์

ประวัติ

[แก้]

ถนนมหาเศรษฐ์เป็นหนึ่งในโครงการทางหลวงเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยาและแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนสี่พระยา ถนนสุรวงศ์ ถนนมเหสักข์ และถนนเจริญกรุงซึ่งอยู่ใกล้เคียง จากนั้นได้ก่อสร้างจนเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 แต่ยังไม่มีการตั้งชื่อถนนอย่างเป็นทางการในคราวเดียวกัน ต่อมาสำนักงานเขตบางรักได้ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการใช้ชื่อถนนใดระหว่าง ถนนเทวศักดิ์ กับ ถนนมหาเศรษฐ์ ผลการสำรวจปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 70 ต้องการให้ตั้งชื่อว่า ถนนมหาเศรษฐ์[2] ซึ่งหมายความว่า "ถนนของผู้มีทรัพย์"[3] สำนักงานเขตจึงทำเรื่องเสนอชื่อดังกล่าวต่อคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร และถนนสายนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ชื่อว่ามหาเศรษฐ์ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2546[4]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-01.
  3. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 272. อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามคำ มหา ว่า "ใหญ่, ยิ่งใหญ่" และนิยามคำ เศรษฐ์ ว่า "ดีเลิศ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ" ส่วนคำที่มีความหมายว่า "คนมั่งมี" คือคำ เศรษฐี
  4. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 272.