ข้ามไปเนื้อหา

ปลานีออน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลานีออน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Characidae
สกุล: Paracheirodon
สปีชีส์: P.  innesi
ชื่อทวินาม
Paracheirodon innesi
(Myers, 1936)
ชื่อพ้อง
  • Hyphessobrycon innesi (Myers, 1936)

ปลานีออน หรือ ปลานีออนเตตร้า (อังกฤษ: neon, neon tetra; ชื่อวิทยาศาสตร์: Paracheirodon innesi) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาคาราซิน

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]

เป็นปลาขนาดเล็กที่มีนิสัยชอบอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ในระดับกลางน้ำในป่าดิบชื้นที่มีไม้น้ำหนาแน่นในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโคลัมเบีย, ภาคตะวันออกของเปรู, และทางภาคตะวันตกของบราซิล มีรูปทรงยาวรี คล้ายเม็ดข้าวสาร ตาโต มีครีบบางใสยาวพอประมาณทั้ง 7 ครีบ (ครีบว่าย 2 ครีบท้อง 2 ครีบกระโดง 1 ครีบทวาร 1 ครีบหาง 1) มีครีบไขมันขนาดเล็ก ที่โคนหาง ลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็กมันวาวปกคลุมทั้งตัว โดยที่ส่วนหลังจะสีเหลือบเขียวมะกอก มีเส้นเรืองแสงสีเขียวอมฟ้าพาดตั้งแต่จมูกผ่านลูกตายาวไปสุดที่ครีบไขมัน อันเป็นที่มาของชื่อ ปลานีออน ส่วนท้องเป็นสีขาวเงิน หลังจากช่องท้องไปถึงโคนหางมีสีแดงสด ขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 1 นิ้ว

การเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

[แก้]

ด้วยความสวยงามจึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกชนิดหนึ่ง ที่มีทั้งการส่งออกจากอเมริกาใต้ และเพาะขยายพันธุ์ได้ในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ไทย เป็นต้น อุณหภูมิที่เหมาะสมของปลานีออนคือไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ปลานีออนจะมีนิสัยรักสงบ สามารถเลี้ยงเป็นฝูงได้ ทั้งยังสามารถเลี้ยงร่วมกับปลาอื่น ๆ ที่มีขนาดไล่เลี่ยกันได้อีกด้วย แต่ปลานีออนจะมีนิสัยขี้ตื่น ชอบกระโดด ดังนั้นสำหรับการเลี้ยงในตู้จึงควรจะมีฝาปิดให้มิดชิดด้วยเพื่อกันการที่ปลานีออนจะกระโดดออกมาตายนอกตู้ หากเป็นไปได้ ควรมีสถานที่ซ่อนเวลาที่ปลานีออนตกใจ ด้วยการหาขอนไม้, หิน หรือพรรณไม้น้ำมาเป็นที่ซ่อน

การเพาะขยายพันธุ์

[แก้]

ปลานีออนเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง โดยใช้อัตราส่วนตัวผู้ 2–3 ต่อตัวเมีย 1 ตัว โดยปลาที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์จะเห็นพฤติกรรมปลาตัวผู้ว่ายเคลียคลอตัวเมียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปลาที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ควรแยกออกมาไว้ในตู้ที่จะใช้เพาะขยายพันธุ์

ตู้ที่ใช้สามารถใช้ตู้ขนาดเล็ก เพียงความกว้าง 20 หรือ 24 นิ้วก็สามารถใช้ได้ พื้นตู้อาจเป็นพื้นโล่งหรือมีสาหร่ายหรือสาหร่ายเทียมหรือเชือกฟางฝอยวางที่พื้นก้นตู้เพื่อป้องกันปลากินไข่ตัวเอง นำปลาชุดที่ไล่ผสมพันธุ์แยกออกมาปล่อยไว้ เมื่อปลาชินกับสถานที่อยู่และตัวเมียไข่สุกเต็มที่ ปลาจะวางไข่เม็ดลักษณะใสเม็ดขนาดเล็กหล่นลงมามากมาย เมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว อาจนำเพศผู้ไปรวมฝูงดังเดิมแล้วนำตัวเมียแยกไว้พักฟื้นต่างหาก 1–2 วันก่อนปล่อยกลับไปรวมฝูงดังเดิม ไข่จะใช้เวลาฟักเป็นตัวราว 3 วัน ลูกปลาที่เกิดใหม่มีขนาดจิ๋วคล้ายเส้นด้าย อนุบาลลูกปลาด้วยอาหารขนาดเล็กหรือไรน้ำขนาดจิ๋ว เมื่อปลามีอายุได้ 3–6 เดือนก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Paracheirodon innesi ที่วิกิสปีชีส์