ข้ามไปเนื้อหา

คัมภีร์ไบเบิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระคริสตธรรมคัมภีร์)
คัมภีร์ไบเบิลกูเทนแบร์ก คัมภีร์ไบเบิลฉบับพิมพ์ครั้งแรก

คัมภีร์ไบเบิล[1] หรือ พระคัมภีร์ (อังกฤษ: Bible; ฮีบรู: ביבליה; แอราเมอิก: ܟܬܒܐ ܩܕܝܫܐ; กรีก: Αγία Γραφή) (มาจากภาษากรีกโบราณว่า Βίβλος บิบลิออน แปลว่า หนังสือ) ชาวโปรเตสแตนต์เรียกว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ (Holy Bible) เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ มนุษย์ บาป และแผนการของพระยาห์เวห์ในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากความพินาศอันเนื่องจากความบาปสู่ชีวิตนิรันดร์ เป็นหนังสือที่บันทึกหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งในบางเล่มมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของศาสนายูดาห์ของชาวยิว ชาวคริสต์เรียกคัมภีร์ไบเบิลในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น พระวจนะของพระเจ้า (Word of God) หนังสือดี (Good Book) และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Scripture)

คริสตชนทุกคนเชื่อว่าพระคัมภีร์ทุกบททุกข้อนั้นมนุษย์เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 66 หรือ 73 หรือ 78 เล่ม (แล้วแต่นิกาย) ประกอบด้วยภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นก่อนที่พระเยซูคริสต์ประสูติ ทั้งหมดเขียนเป็นภาษาฮีบรู ยกเว้นส่วนที่เป็นคัมภีร์อธิกธรรม (ยอมรับเฉพาะชาวคาทอลิก) ถูกเขียนด้วยภาษากรีกและภาษาอียิปต์ ส่วนพันธสัญญาใหม่ถูกเขียนขึ้นหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว โดยบันทึกถึงเรื่องราวของพระเยซูตลอดพระชนม์ชีพ รวมทั้งคำสอน และการประกาศข่าวดีแห่งความรอด การยอมรับการทรมาน และการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู การกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ การส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มายังอัครทูต ประวัติศาสตร์ของคริสตจักรในยุคแรกเริ่ม ภายหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูแล้ว การเบียดเบียนคริสตจักรในรูปแบบต่าง ๆ

พระคัมภีร์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของเวลาทั้งหมดที่มียอดขายต่อปีประมาณ 100 ล้านเล่มและได้รับอิทธิพลสำคัญในวรรณคดีและประวัติศาสตร์[2][3][4]

สารบบของคัมภีร์

[แก้]

คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่หนังสือเล่มเดียว แต่เป็นชุดหนังสือหลายเล่มที่เขียนโดยผู้เขียนหลายคนและหลายช่วงเวลา แล้วได้รวมกันเป็นสารบบจึงเรียกว่าสารบบของคัมภีร์ (Canon of Scripture) ในปัจจุบันคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ยึดคัมภีร์ฮีบรูต่างสารบบกัน ทำให้คัมภีร์ไบเบิลของทั้งสองนิกายมีเนื้อหาไม่เท่ากัน คริสตจักรโรมันคาทอลิกยึดคัมภีร์ฮีบรูสารบบเซปตัวจินต์ที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ซึ่งกำหนดให้คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีหนังสือทั้งหมด 46 เล่ม แต่คริสตจักรฝ่ายโปรเตสแตนต์ยึดสารบบตามสภาแจมเนียที่เกิดขึ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 ซึ่งกำหนดให้คัมภีร์ฮีบรูประกอบด้วยหนังสือ 39 เล่ม (เพราะตัดคัมภีร์อธิกธรรม 7 เล่ม ออกไป)[1]

คริสต์ศาสนิกชนใช้คัมภีร์ฮีบรูของศาสนายูดาห์รวมเข้าในสารบบคัมภีร์ไบเบิลด้วยโดยเรียกว่าพันธสัญญาเดิม แต่สารบบของคัมภีร์ฮีบรูเสร็จสมบูรณ์เมื่อไรกลับไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในหนังสือบุตรสิรา[5] ซึ่งเขียนขึ้นราว 130 ปีก่อนคริสตกาล ว่าคัมภีร์ฮีบรูประกอบด้วยธรรมบัญญัติ ผู้เผยพระวจนะ และข้อเขียนอื่น ๆ เมื่อคริสต์ศาสนาเกิดขึ้นแล้วหนังสือในสารบบพันธสัญญาเดิมก็ยังไม่ลงตัว เพราะภายในคริสตจักรเห็นไม่ตรงกันว่าควรรับคัมภีร์อธิกธรรมเข้าในสารบบพันธสัญญาเดิมหรือไม่ จนกระทั่งเกิดสภาสังคายนาแห่งฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1442 จึงได้ข้อสรุปในคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าให้รวมคัมภีร์อธิกธรรมเข้าในสารบบด้วย[6] เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ชาวโปรเตสแตนต์ได้คัดค้านการรวมคัมภีร์อธิกธรรมในสารบบคัมภีร์ไบเบิล คริสตจักรโรมันคาทอลิกจึงตั้งสภาสังคายนาแห่งเทรนต์ (ค.ศ. 1545-63) และสภามีประกาศยืนยันให้ยอมรับคัมภีร์อธิกธรรมว่าเป็นพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย ผู้ใดไม่ยอมรับให้ผู้นั้นต้องถูกตัดออกจากศาสนจักร[7] ส่วนโปรเตสแตนต์ยังยืนยันไม่รับคัมภีร์อธิกธรรมเพราะยืนยันว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกเพิ่มเติมขี้นมาเอง ซึ่งต่างไปจากเนื้อหาในคัมภีร์ฮีบรูทำให้คัมภีร์ไบเบิลของทั้งสองนิกายต่างสารบบกันมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนสารบบของพันธสัญญาใหม่ก็ได้ข้อสรุปล่าช้าเช่นกัน เพราะหนังสือทุกเล่มในพันธสัญญาใหม่เขียนขึ้นหลังการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู ในระยะแรกเอกสารเหล่านี้ใช้เป็นบทอ่านที่เผยแพร่กันในคริสตจักร[8] บางเอกสารเช่น จดหมายของเปาโลได้รับการยอมรับจากอัครทูตซีโมนเปโตรว่าเป็นเอกสารที่เขียนโดยการดลใจจากพระเจ้า หนังสือที่เป็นพระวรสารก็ได้รับการยอมรับตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก[9] แต่รายชื่อของหนังสือในสารบบพันธสัญญาใหม่ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่ละเล่มยังได้รับการยอมรับไม่พร้อมกัน เช่น พระวรสารทั้ง 4 เล่มและจดหมายของเปาโลได้รับการยอมรับตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 3 และมีการยอมรับหนังสือวิวรณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 หนังสือฮีบรูได้รับการยอมรับในคริสต์ศตวรรษที่ 4 นอกจากนี้หนังสือบางเล่มเป็นที่ยอมรับเข้าสารบบพันธสัญญาใหม่โดยคริสตจักรในท้องถิ่นหนึ่งแต่ไม่ได้รับการยอมรับในท้องถิ่นอื่น เช่น จดหมายของนักบุญบารนาบัส หนังสือของเคลเมนต์ เป็นต้น จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 คริสตชนทุกกลุ่มจึงมีคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เป็นสารบบเดียวกัน[10]

ภาคพันธสัญญาเดิม

[แก้]

พันธสัญญาเดิม (The Old Testament) เป็นชุดหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นก่อนการประสูติของพระเยซู ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับคัมภีร์ฮีบรู มีจำนวน 39 เล่ม แบ่งเป็นสี่หมวดใหญ่ ดังนี้

  • หมวดเบญจบรรณ ประกอบด้วยหนังสือปฐมกาล จนถึง หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ
  • หมวดประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยหนังสือโยชูวา จนถึง หนังสือเอสเธอร์
  • หมวดปรีชาญาณ ประกอบด้วยหนังสือโยบ จนถึง หนังสือเพลงซาโลมอน
  • หมวดผู้เผยพระวจนะ ประกอบด้วยหนังสืออิสยาห์ จนถึง หนังสือมาลาคี

คัมภีร์ในสารบบ

[แก้]
เล่มที่ ชื่อ ผู้เขียน สาระสำคัญ ช่วงเวลาที่เขียน
1 หนังสือปฐมกาล โมเสส จุดเริ่มต้น 1445-1405 ปีก่อนคริสตกาล
2 หนังสืออพยพ การทรงไถ่
3 หนังสือเลวีนิติ ความบริสุทธิ์
4 หนังสือกันดารวิถี การร่อนเร่ในถิ่นกันดาร ประมาณ 1405 ปีก่อนคริสตกาล
5 หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ การรื้อฟื้นพันธสัญญา
6 หนังสือโยชูวา โยชูวา การยึดครองดินแดนคานาอัน ศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาล
7 หนังสือผู้วินิจฉัย ไม่ระบุ การละทิ้งความเชื่อและการช่วยกู้ ประมาณ 1050-1000 ปีก่อนคริสตกาล
8 หนังสือนางรูธ ความรักแห่งการช่วยไถ่ ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล
9 หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 1 การปกครองอย่างกษัตริย์โดยมีพระเจ้าเป็นประมุขสูงสุด ปลายศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล
10 หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 2 รัชสมัยของดาวิด
11 หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 กษัตริย์ของอิสราเอลและยูดาห์ ประมาณ 560-550 ปีก่อนคริสตกาล
12 หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 2 กษัตริย์ต่าง ๆ ของอิสราเอลและยูดาห์
13 หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 เอสรา ประวัติศาสตร์ "การไถ่" ของอิสราเอล ประมาณ 450-420 ปีก่อนคริสตกาล
14 หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 2 การนมัสการ การฟื้นฟู และการปฏิรูปที่แท้จริง
15 หนังสือเอสรา การกลับไปของผู้ที่เหลืออยู่
16 หนังสือเนหะมีย์ เอสรา และ เนหะมีย์ การสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่ ประมาณ 430-420 ปีก่อนคริสตกาล
17 หนังสือเอสเธอร์ ไม่ระบุ การจัดเตรียมด้วยความห่วงใยของพระเจ้า ประมาณ 460-400 ปีก่อนคริสตกาล
18 หนังสือโยบ ทำไมคนชอบธรรมจึงทนทุกข์ ไม่แน่นอน
19 หนังสือเพลงสดุดี บรรพ 1 ส่วนใหญ่คือ ดาวิด คำอธิฐานและคำสรรเสริญ : มนุษย์และการทรงสร้าง ศตวรรษที่ 10-5 ก่อนคริสตกาล
บรรพ 2 ส่วนใหญ่คือ ดาวิดและบุตรของโคราห์ คำอธิฐานและคำสรรเสริญ : การช่วยกู้และการทรงไถ่
บรรพ 3 ส่วนใหญ่คือ อาสาฟ คำอธิฐานและคำสรรเสริญ : การนมัสการและพระวิหาร
บรรพ 4 ส่วนใหญ่ ไม่ระบุชื่อ คำอธิฐานและคำสรรเสริญ : ถิ่นกันดารและหนทางของพระเจ้า
บรรพ 5 ส่วนใหญ่คือ ดาวิดหรือไม่ระบุชื่อ คำอธิฐานและคำสรรเสริญ : พระวนจะของพระเจ้าและคำสรรเสริญ
20 หนังสือสุภาษิต ซาโลมอนและคนอื่น ๆ ปัญญาสำหรับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ประมาณ 970-700 ปีก่อนคริสตกาล
21 หนังสือปัญญาจารย์ ซาโลมอน ความอนิจจังของชีวิตที่ปราศจากพระเจ้า ประมาณ 935 ปีก่อนคริสตกาล
22 หนังสือเพลงซาโลมอน ความรักในชีวิตสมรส ประมาณ 960 ปีก่อนคริสตกาล
23 หนังสืออิสยาห์ อิสยาห์ การพิพากษาและความรอด ประมาณ 700-680 ปีก่อนคริสตกาล
24 หนังสือเยเรมีย์ เยเรมีย์ การพิพากษาของพระเจ้าที่หลีกหนีไม่พ้น
สำหรับยูดาห์ที่ไม่ยอมกลับใจ
ประมาณ 585-580 ปีก่อนคริสตกาล
25 หนังสือบทเพลงคร่ำครวญ ความโศกเศร้าในปัจจุบันและความหวังในอนาคต ประมาณ 586-585 ปีก่อนคริสตกาล
26 หนังสือเอเสเคียล เอเสเคียล การพิพากษาและพระเกียรติสิริของพระเจ้า ประมาณ 590-570 ปีก่อนคริสตกาล
27 หนังสือดาเนียล ดาเนียล อธิปไตยของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ ประมาณ 536-530 ปีก่อนคริสตกาล
28 หนังสือโฮเชยา โฮเชยา การพิพากษาและความรักแห่งการทรงไถ่ของพระเจ้า ประมาณ 715-710 ปีก่อนคริสตกาล
29 หนังสือโยเอล โยเอล วันยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ประมาณ 835-830 ปีก่อนคริสตกาล
30 หนังสืออาโมส อาโมส ความยุติธรรม ความชอบธรรม และผลตอบแทนจากพระเจ้าต่อบาป ประมาณ 760-755 ปีก่อนคริสตกาล
31 หนังสือโอบาดีห์ โอบาดีห์ การพิพากษาเอโดม ประมาณ 840 ปีก่อนคริสตกาล
32 หนังสือโยนาห์ โยนาห์ ความกว้างใหญ่ไพศาลของพระเมตตาแห่งความรอดของพระเจ้า ประมาณ 760 ปีก่อนคริสตกาล
33 หนังสือมีคาห์ มีคาห์ การพิพากษาและความรอดแห่งพระเมสสิยาห์ ประมาณ 740-710 ปีก่อนคริสตกาล
34 หนังสือนาฮูม นาฮูม ความพินาศของนีนะเวห์ที่กำลังจะมาถึง ประมาณ 630-620 ปีก่อนคริสตกาล
35 หนังสือฮาบากุก ฮาบากุก มีชีวิตอยู่โดยความเชื่อ ประมาณ 606 ปีก่อนคริสตกาล
36 หนังสือเศฟันยาห์ เศฟันยาห์ วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ประมาณ 630 ปีก่อนคริสตกาล
37 หนังสือฮักกัย ฮักกัย การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ประมาณ 520 ปีก่อนคริสตกาล
38 หนังสือเศคาริยาห์ เศคาริยาห์ การสร้างพระวิหารเสร็จสิ้นและพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ประมาณ 520-470 ปีก่อนคริสตกาล
39 หนังสือมาลาคี มาลาคี พระเจ้าทรงกล่าวโทษลัทธิยูดานิยมสมัยหลังจากการเป็นเชลย ประมาณ 630 ปีก่อนคริสตกาล

หมายเหตุ

หนังสือเอสเธอร์ (บทที่ 10:4 ถึงบทที่ 16:24) และ หนังสือดาเนียล (บทที่ 3:24-90, บทที่ 13, บทที่ 14) บทและข้อพระคัมภีร์ที่เพิ่มขึ้นมาจัดเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์อธิกธรรม มีใช้ในนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายออร์ทอดอกซ์เท่านั้น ซึ่งนิกายโปรเตสแตนต์จะไม่ยอมรับบทและข้อพระคัมภีร์ที่เพิ่มขึ้นมานี้ และจัดเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์นอกสารบบ จึงทำให้นิกายโปรเตสแตนต์มีหนังสือทั้งหมดจำนวน 39 เล่ม ตามเนื้อหาในคัมภีร์ฮีบรู

คัมภีร์นอกสารบบ

[แก้]

คัมภีร์อธิกธรรมของนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายออร์ทอดอกซ์

[แก้]
  1. หนังสือโทบิต
  2. หนังสือยูดิธ
  3. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 1
  4. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 2
  5. หนังสือปรีชาญาณ
  6. หนังสือบุตรสิรา
  7. หนังสือบารุค

หมายเหตุ

คัมภีร์อธิกธรรมทั้ง 7 เล่มนี้ จัดเป็นคัมภีร์สารบบที่สอง มีใช้ในนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายออร์ทอดอกซ์เท่านั้น ซึ่งนิกายโปรเตสแตนต์จะไม่ยอมรับหนังสือ 7 เล่มนี้ จึงได้ตัดออกไปตั้งแต่การปฏิรูปศาสนา และเรียกว่าคัมภีร์นอกสารบบ ทำให้นิกายโรมันคาทอลิกมีหนังสือทั้งหมดจำนวน 46 เล่ม

คัมภีร์อธิกธรรมของนิกายออร์ทอดอกซ์

[แก้]
  1. หนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1
  2. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 3
  3. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 4
  4. คำอธิษฐานของมนัสเสห์
  5. จดหมายของเยเรมีย์

หมายเหตุ

คัมภีร์อธิกธรรมทั้ง 5 เล่มนี้ จัดเป็นคัมภีร์สารบบที่สอง มีใช้ในนิกายออร์ทอดอกซ์เท่านั้น ซึ่งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์จะไม่ยอมรับหนังสือ 5 เล่มนี้ และเรียกว่าคัมภีร์นอกสารบบ จึงทำให้นิกายออร์ทอดอกซ์มีหนังสือทั้งหมดจำนวน 51 เล่ม

ภาคพันธสัญญาใหม่

[แก้]

พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) เป็นชุดหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นภายหลังจากการการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู มีจำนวน 27 เล่ม แบ่งได้เป็นห้าหมวดใหญ่ ดังนี้

  • หมวดพระวรสาร ประกอบด้วยพระวรสารนักบุญมัทธิว จนถึง พระวรสารนักบุญยอห์น
  • หมวดประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยหนังสือกิจการของอัครทูต
  • หมวดจดหมายของเปาโล ประกอบด้วยจดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวโรม จนถึง จดหมายถึงชาวฮีบรู
  • หมวดจดหมายทั่วไป ประกอบด้วยจดหมายของนักบุญยากอบ จนถึง จดหมายของนักบุญยูดา
  • หมวดวิวรณ์ ประกอบด้วยหนังสือวิวรณ์
เล่มที่ ชื่อ ผู้เขียน สาระสำคัญ ช่วงเวลาที่เขียน
1 พระวรสารนักบุญมัทธิว มัทธิว พระเยซู กษัตริย์ผู้เป็นพระเมสสิยาห์ ค.ศ. 60
2 พระวรสารนักบุญมาระโก มาระโก พระเยซู พระบุตรผู้เป็นผู้รับใช้ ประมาณ ค.ศ. 55-65
3 พระวรสารนักบุญลูกา ลูกา พระเยซู พระผู้ช่วยให้รอดผู้เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ประมาณ ค.ศ. 60-63
4 พระวรสารนักบุญยอห์น ยอห์น พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ประมาณ ค.ศ. 80-95
5 หนังสือกิจการของอัครทูต ลูกา ชัยชนะแห่งการประกาศข่าวดี
โดยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ค.ศ. 63
6 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม เปาโล ความชอบธรรมของพระเจ้าได้รับการเปิดเผย ค.ศ. 57
7 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 ปัญหาต่าง ๆ และการแก้ไขปัญหาในคริสตจักร ประมาณ ค.ศ. 55-56
8 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2 ศักดิ์ศรีที่ได้รับผ่านการทนทุกข์
9 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย ความรอดโดยพระคุณทางความเชื่อ ค.ศ. 49
10 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส พระคริสต์กับคริสตจักร ค.ศ. 62
11 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี ความชื่นชมยินดีในการมีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์ ประมาณ ค.ศ. 62-63
12 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี ความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระคริสต์ ค.ศ. 62
13 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 การเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ค.ศ. 51
14 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 2 ค.ศ. 51-52
15 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 1 หลักคำสอนที่ถูกต้องและชีวิตในทางของพระเจ้า ค.ศ. 65
16 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2 ความอดทนบากบั่น ค.ศ. 67
17 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิตัส คำสอนที่มีหลักและการทำดี ประมาณ ค.ศ. 65-66
18 จดหมายของนักบุญเปาโลถึงฟีเลโมน การกลับคืนดีกัน ค.ศ. 62
19 จดหมายถึงชาวฮีบรู ไม่ระบุ พันธสัญญาที่ดีกว่า ประมาณ ค.ศ. 67-69
20 จดหมายของนักบุญยากอบ ยากอบ ความเชื่อที่เกิดผล ประมาณ ค.ศ. 45-49
21 จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 เปโตร การทนทุกข์เพื่อพระคริสต์ ประมาณ ค.ศ. 60-63
22 จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2 ความจริงอันซื่อสัตย์เปรียบเทียบกับครูสอนเท็จ ประมาณ ค.ศ. 66-68
23 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1 ยอห์น ความจริงและความชอบธรรม ประมาณ ค.ศ. 85-95
24 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 2 ดำเนินชีวิตในความจริง
25 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3 กระทำอย่างซื่อสัตย์
26 จดหมายของนักบุญยูดา ยูดา การต่อสู้เพื่อความเชื่อ ประมาณ ค.ศ. 70-80
27 หนังสือวิวรณ์ ยอห์นแห่งปัทมอส
คริสตชนเชื่อว่าเป็นคนเดียวกับยอห์นอัครทูต
แต่ทางวิชาการเห็นว่าเป็นคนละคนกัน
การต่อสู้และการบรรลุถึงความสมบูรณ์ ประมาณ ค.ศ. 90-96

การแปลและการแก้ไขคำแปลคัมภีร์ไบเบิลในภาษาไทย

[แก้]
ชายถือป้ายเชิญชวนให้ผู้คนอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ บนถนนสีลม

คัมภีร์ไบเบิล หรือที่เรียกว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ ประกอบด้วยหนังสือ 66 เล่ม โดยแบ่งเป็นภาคพันธสัญญาเดิม 39 เล่ม และภาคพันธสัญญาใหม่ 27 เล่ม

การแปลพระคัมภีร์ไทยเริ่มจากนิกายโปรเตสเตนต์[11] โดยมิชชันนารีคู่แรกที่มาเมืองไทย คือ ดร.คาร์ล กู๊ดสลาฟ และ อ.จาค็อบ ทอมลิน จากสมาคมมิชชันแห่งลอนดอน ได้เข้ามาประกาศข่าวประเสริฐเป็น กลุ่มแรก โดยมาถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1828

ศตวรรษที่ 19 ยุคแห่งการแปลพระคัมภีร์[12]

  • หนังสือ"พระกิตติคุณลูกา" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1834 แปลโดย ดร.คาร์ล กู๊ดสลาฟ และ ศจ.จาค็อบ ทอมลิน จากสมาคมมิชชันแห่งลอนดอน (พระคัมภีร์ไทยเล่มแรก)
  • หนังสือ"พระกิตติคุณมัทธิว" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1834 แปลโดย ศจ.ดร.จอห์น เทเลอร์ โจนส์ จากคณะอเมริกันแบ็พติสต์
  • หนังสือ"พระกิตติคุณมัทธิวและพระกิตติคุณลูกา" ตีพิมพ์ร่วมกันในปี ค.ศ.1834 แปลโดย ศจ.ดร.จอห์น เทเลอร์ โจนส์ และ ดร.คาร์ล กู๊ดสลาฟ (พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เล่มแรก)
  • หนังสือ"พระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1842 แปลโดย ศจ.ชาร์ล โรบินสัน จากคณะอเมริกันบอร์ด ออฟ คอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเร็นมิชชัน (ตีพิมพ์พระคัมภีร์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดย ดร.แดน บีช บรัดเลย์ เป็นผู้ตั้งโรงพิมพ์ครั้งแรกในไทย)
  • หนังสือ"พระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1850 แปลใหม่โดย ศจ.สเทเฟน แมทตูน จากคณะเพรสไบทีเรียน
  • หนังสือ"พระกิตติคุณมัทธิว" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1850 แก้ไขคำแปลโดย ศจ.ดร.จอห์น เทเลอร์ โจนส์ ศจ.ชาร์ล โรบินสัน และสมาคมพระคริสตธรรมอเมริกัน (การแก้ไขคำแปลครั้งแรก)
  • หนังสือ"พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1883 แปลโดย สมาคมพระคริสตธรรมอเมริกันและคณะมิชชันต่างๆ (คนไทยมีพระคัมภีร์ไทยทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่เป็นครั้งแรก)

ศตวรรษที่ 20 ยุคแห่งการแก้ไขคำแปล[13]

  • หนังสือ"พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1940" หรือ "พระคัมภีร์คริสเตียน ฉบับแปลโลกใหม่" เริ่มแปลในปี ค.ศ.1920 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1940 ใช้เวลาในการแปล 20 ปี (ปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 83 : 2014)

แปลโดย สมาคมพระคริสตธรรมไทย โดยมีคณะกรรมการคือ ศจ.พอล เอกิน, อจ.เปลื้อง สุทธิคำ, อจ.ทองสุก มังกรพันธ์, อจ.เจริญ สกุลกัน, อจ.เจริญ วิชัย และ อจ.สุข พงศ์น้อย

การแก้ไขยึดพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับ KJV (King James Version) เป็นหลัก (พระคัมภีร์ฉบับนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มพยานพระยะโฮวาในปัจจุบัน)

  • หนังสือ"พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971" หรือ "TH1971" หรือ "THRS (Thai Revised Standard Version)" เริ่มแปลในปี ค.ศ.1954 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1971 ใช้เวลาในการแปล 17 ปี (ฉบับสุดท้ายพิมพ์ครั้งที่ 30 : ตุลาคม 2013)

แปลโดย สหสมาคมพระคริสตธรรมสากล และสมาคมพระคริสตธรรมไทย โดยมีคณะกรรมการ 3 ชุด คือ 1.กรรมการยกร่างคำแปล โดยมี อจ.ศรัณย์ ชัยรัตน์, อจ.ดับบลิว ทอมป์สัน, อจ.เฮอร์เบิร์ท เกรทเธอร์ และอจ.ฟรานซิส ซีรี ทำหน้าที่ยกร่างคำแปลใหม่ 2.กรรมการตรวจสอบ ช่วยตรวจสอบสิ่งที่ผู้ยกร่างแก้ไข จำนวน 8 ท่าน 3.กรรมการที่ปรึกษา จะคอยให้การสนับสนุนและชี้แนะแนวทางการแก้ไข จำนวน 25 ท่าน

การแก้ไขพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมใช้พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับ RSV (Revised Standard Version) และ ASV (American Standard Version) เทียบกับสำเนาโบราณภาษาฮีบรู การแก้ไขพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ใช้ RSV (Revised Standard Version) เทียบกับสำเนาโบราณภาษากรีก เป็นหลัก (พระคัมภีร์ฉบับนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มของนิกายโปรเตสแตนต์ในปัจจุบัน และนิกายคาทอลิกร่วมใช้เป็นการชั่วคราว)

  • หนังสือ"พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ ประชานิยม" เริ่มแปลในปี ค.ศ.1963 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1984 ใช้เวลาในการแปล 21 ปี

แปลโดย สมาคมพระคริสตธรรมไทย เป็นการแปลโดยใช้หลักการแปลแบบถอดความ คือแปลความหมายของเนื้อหาให้ถูกต้องเป็นหลักโดยไม่จำเป็นต้องรักษาโครงสร้าง หรือรูปประโยคหรือแม้แต่คำตามต้นฉบับ มีผู้ยกร่างคำแปลหลักสองท่านคือ คุณจิตบรรจง พิมพ์รัตน์ และ ดร.โฮวาร์ด แฮตตัน จากคณะมิชชันโอ เอม เอ็ฟ

การแก้ไขยึดพระคัมภีร์ภาษาอักฤษฉบับ GNB (Good News Bible) เป็นหลัก (พระคัมภีร์ฉบับนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มประชาชนทั่วไป)

  • หนังสือ"พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 2011" หรือ "พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน" หรือ "THSV (Thai Standard Version)" เริ่มแปลในปี ค.ศ.1997 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2011 ใช้เวลาในการแปล 14 ปี (ปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 3 : พฤศจิกายน 2014)

แปลโดย สมาคมพระคริสตธรรมไทย โดยมีคณะกรรมการ 3 ชุด คือ 1.กรรมการยกร่างคำแปล โดยมี ศจ.โรเบิร์ต คอลลินส์, ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย, ดร.วรรณภา เรืองเจริญสุข, อจ.พัชรินทร์ ชัชมนมาศ, อจ.ทองหล่อ วงศ์กำชัย และอจ.ปัญญา โชชัยชาญ ทำหน้าที่ยกร่างคำแปลใหม่ 2.กรรมการตรวจทานโดยนักลีลาภาษา และ 3.กรรมการที่ปรึกษา จะคอยให้การสนับสนุนและชี้แนะแนวทางการแก้ไข

การแก้ไขพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมใช้พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและภาษาอาราเมคเป็นหลักในการแปล การแก้ไขพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ใช้พระคัมภีร์ภาษากรีกอย่างเดียว (พระคัมภีร์ฉบับนี้แปลขึ้นมาใหม่จากการร่วมมือกันระหว่างนิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 99
  2. "Best selling book of non-fiction".
  3. "The battle of the books".
  4. Ash, Russell (2001). Top 10 of Everything 2002. Dorling Kindersley. ISBN 0-7894-8043-3.
  5. Broderick S. Pabillo, พระคัมภีร์ ฝีพระหัตถ์พระเจ้า ฝีมือมนุษย์, แปลโดย ประธาน ศรีดารุณศีล และมนต์สิงห์ ไกรสมสุข, 2550, หน้า 121
  6. Broderick S. Pabillo, หน้า 123
  7. Broderick S. Pabillo, หน้า 124
  8. คณะผู้เชี่ยวชาญสำนักพิมพ์ไลออน, เจาะโลกพระคัมภีร์, กรุงเทพฯ : กนกบรรณสาร, 2548, หน้า 74
  9. Broderick S. Pabillo, หน้า 125
  10. Broderick S. Pabillo, หน้า 126
  11. สมาคมพระคริสตธรรมไทย Thailand Bible Society
  12. "หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี และ 150 ปี การแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นภาษาไทย", สมาคมพระคริสตธรรมไทย
  13. "พระคัมภีร์ไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างไร", สมาคมพระคริสตธรรมไทย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]