มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ
ตราพระพลบดีทรงช้างเอราวัณ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อย่อ | มกช.ศก. / TNSU SSK |
---|---|
คติพจน์ | คิดเป็น เด่นกีฬา มีจิตอาสา พัฒนาความรู้ คู่คุณธรรม รักษ์ความเป็นไทย ก้าวไกลสู่สากล |
ประเภท | มหาวิทยาลัยรัฐในการกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย |
ที่ตั้ง | ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เลขที่ 771 ถนนทองมาก ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-4561-2645 โทรสาร 0-4561-1982 |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ |
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ (อังกฤษ: Thailand National Sports University Sisaket Campus) เดิมชื่อ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตวีสมหมาย เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเป็น 1 ใน 4 วิทยาเขต ของ สถาบันการพลศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรี หลายสาขา เพื่อการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ นันทนาการ และบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง
นอกจากภารกิจด้านการศึกษาแล้ว ยังดำเนินงานวิจัยและให้บริการทางวิชาการสาขาการพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา ตลอดจนสาขาที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการด้านการกีฬาแก่ชุมชน การใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่ท้องถิ่น ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาสำหรับบุคลากร ที่มีความสามารถพิเศษทางการกีฬา นันทนาการ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย รวมถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน การกีฬาไทย ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา สุขภาพและนันทนาการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร
ประวัติ
[แก้]สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ มีรากฐานมาจากการเป็น วิทยาลัยพลศึกษาศรีสะเกษ ในอดีต ซึ่งสังกัดกรมพลศึกษา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการผลิตครูพลศึกษา ซึ่งได้เริ่มจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” ขึ้นในปีการศึกษา 2501 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)
ต่อมาได้ยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย ในปี พ.ศ. 2512 และได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับปริญญาตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดยกรมพลศึกษา และใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา” ในปี พ.ศ. 2514 ได้ยุติการดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและโอนวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาดำเนินการต่อไป กรมพลศึกษา ได้เปิดดำเนินการผลิตครูพลศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจัดตั้งและเปิด วิทยาลัยพลศึกษา ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จำนวน 17 แห่ง ทั่วประเทศ
หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายบรรจุข้าราชการครูจากผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี กรมพลศึกษาจึงหาแนวทางยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาให้สามารถเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี โดยในระยะแรกได้จัดทำโครงการร่วมมือทางวิชาการกับกรมการฝึกหัดครู เป็นสถาบันสมทบของวิทยาลัยครู และมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 ในขณะเดียวกันก็มีแนวทางที่จะเปิดดำเนินการสอนระดับปริญญาตรีด้วยตนเอง จนได้มีการร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญา ในปี พ.ศ. 2538 และใช้ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล พ.ศ. ...
กรมพลศึกษา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลตามลำดับ พร้อมกับที่กรมอาชีวศึกษาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และกรมศิลปากรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพัฒนศิลป์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ แต่เนื่องจากสาเหตุบางประการกรมพลศึกษาได้นำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันเวลา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรหมดอายุลง จึงต้องนำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล มาเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว
การดำเนินการเพื่อยกฐานะดังกล่าว ได้ดำเนินเรื่อยมากระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ส่ง ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 [1] จึงนับได้ว่า สถาบันการพลศึกษา ได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ จึงได้รับการสถาปนาโดยยกฐานะจากวิทยาลัยพลศึกษาศรีสะเกษ พร้อมกับวิทยาลัยพลศึกษาอื่นๆทั้ง 17 แห่ง ตั้งแต่บัดนั้น
ปัจจุบัน มี ดร.เฉลิมพงษ์ เฉลิมชิต เป็น รองอธิการบดี สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ [2]
สัญลักษณ์ประจำสถาบัน
[แก้]-
ตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน
-
เครื่องหมายประจำสถาบัน ประกอบเครื่องแบบนักศึกษา
- ตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน คือ ภาพพระพลบดีทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือกลีบเมฆ หัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ หัตถ์ขวาทรงตรี อยู่ภายในกรอบทรงวงรี โดยวงรีรอบนอกตอนบนเป็นอักษรภาษาไทยข้อความ สถาบันการพลศึกษา ตอนล่างเป็นข้อความภาษาไทยระบุชื่อวิทยาเขต ศรีสะเกษ
- เครื่องหมายประจำสถาบัน ประกอบเครื่องแบบนักศึกษา
- เครื่องหมายสำหรับนักศึกษาหญิง คือ เครื่องหมายสัญลักษณ์สามห่วง สีเขียว ขาว เหลือง ภายในเป็นพระพลบดี ทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือกลีบเมฆ ตอนล่างเป็นชื่อของสถาบัน สำหรับติดหน้าอกเสื้อเครื่องแบบนักศึกษาหญิง ด้านซ้าย
- เครื่องหมายสำหรับนักศึกษาชาย คือ ตอนบนเป็นรูปพระพลบดีทรงช้างเอราวัณ อยู่เหนือกลีบเมฆ ตอนล่างเป็นชื่อของสถาบันการพลศึกษา สำหรับติดเนคไท
- สีประจำสถาบัน คือ สี เขียว - ขาว - เหลือง
หลักสูตร
[แก้]ปัจจุบัน สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ในคณะและสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้
|
|
(โครงการจัดตั้ง)
|
|
การพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]สถาบันการพลศึกษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสถาบันการพลศึกษา ครั้งแรก (ประจำปีการศึกษา 2548-2551) เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
หน่วยงานภายใน
[แก้]สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ มีการแบ่งส่วนงานภายใน ดังนี้
|
|
|
ศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
[แก้]ศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Center for Sports Excellence : CSE) สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของสถาบันการพลศึกษา (สพล.)เพื่อช่วยต่อยอดส่งเสริมนักกีฬาจากโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาวงการกีฬาโดยสร้างนักกีฬาอย่างมีมาตรฐาน พัฒนาเข้าแข่งระดับนานาชาติมากขึ้นต่อไป
ศูนย์กีฬาฯ จะส่งเสริมในด้านต่างๆ เพื่อให้นักกีฬาที่มีพื้นฐานและทักษะความสามารถฝึกกีฬาได้อย่างเต็มศักยภาพ ประกอบด้วยการจัดให้เรียนในระดับปริญญาตรีในสถาบันการพลศึกษา, จัดสถานที่ฝึกซ้อมและแข่งขัน, จัดหาผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญ, จัดแผนการฝึกที่มีประสิทธิภาพ, สนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกและแข่งขัน, การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาสนับสนุนการฝึกอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดสวัสดิการสำหรับนักกีฬา เช่น ที่พัก, อาหาร, ทุนการศึกษา, การทดสอบ และแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ ได้เปิดดำเนินการศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554 [3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ตอนที่ 13 ก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
- ↑ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ.(2553).สารสนเทศสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ
- ↑ ศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ.(2554).ข่าวศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ. [ออนไลน์] ทาง http://cse.ipessk.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=84:2011-01-26-02-44-19&catid=59:2011-01-26-03-00-45&Itemid=100[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ เก็บถาวร 2012-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ[ลิงก์เสีย]
- คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ [ลิงก์เสีย]
- คณะศิลปศาสตร์ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ
- สถาบันการพลศึกษา เก็บถาวร 2018-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน