ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
Rajamamgala University of Technology Lanna
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ชื่อย่อมทร.ล. / RMUTL
คติพจน์สร้างคนดี คนเก่ง สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา18 มกราคม พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-01-18)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการคณะวิชา
งบประมาณ1,213,440,900 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ อุเทน คำน่าน (รักษาราชการแทน)
อาจารย์1,051 คน (พ.ศ. 2567)
บุคลากรทั้งหมด2,081 คน (พ.ศ. 2567)
ผู้ศึกษา15,345 คน (พ.ศ. 2566)[2]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตพื้นที่การศึกษา
ส่วเกี่ยวข้อง
สี สีน้ำตาลทอง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology Lanna) เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐ ได้รับการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขต ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยชื่อ "ราชมงคล" นั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2533 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" และ "พระราชลัญจกร" ประจำพระองค์ ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีการเรียนการสอน 5 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก

ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ในระยะแรก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมเป็นประจำทุกปี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” และโอนวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยต่าง ๆ ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาสังกัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ราชมงคล” เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 (วันราชมงคล) พร้อมทั้งมีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล"

ในระยะต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาต้องเป็นนิติบุคคล[3] ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเริ่มมีแนวคิดในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนิติบุคคล กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548[4] ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผลให้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเกิดขึ้นใหม่ จำนวน 9 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี จัดการศึกษาด้านวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ผลิตครูวิชาชีพ และให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้หลอมรวมเอาวิทยาเขต และสถาบันวิจัย จำนวน 7 แห่งเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ วิทยาเขตน่าน วิทยาเขตตาก วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตเชียงราย และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ต่อจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดตั้งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย 4 คณะ 1 วิทยาลัย 4 สำนัก-สถาบัน และ 5 สำนักงานบริหารฯ (เขตพื้นที่)[5] โดยวิทยาเขตภาคพายัพ มีฐานะเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัย ต่อมาสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติให้จัดตั้งสำนักงานบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ส่งผลให้ภาคพายัพ มีฐานะเป็นเขตพื้นที่เช่นเดียวกันกับเขตพื้นที่อื่น[6] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2557 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของเขตพื้นที่ภาคพายัพ ให้เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยดังเดิม

สถานที่ตั้งและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีสำนักงานอธิการบดี ตั้งอยู่เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300

เขตพื้นที่

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีเขตพื้นที่จัดการเรียนการสอนตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ [7]

ศูนย์กลาง

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ส่วนกลาง) มีพื้นที่จัดการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่

ศาลาราชมงคล ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เจ็ดลิน เป็นศาลาประดิษฐาน "พระพุทธศรีศากยมุนี" พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
  • พื้นที่เจ็ดลิน ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณ "เวียงเจ็ดลิน" บนเนื้อที่ 115 ไร่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • พื้นที่เจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (บริเวณติดกับวัดเจ็ดยอด) มีเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน และที่ตั้งสำนักงานคณบดีของคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • พื้นที่ดอยสะเก็ด ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดิมของโครงการก่อสร้างโรงเรียนประจำพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน และสำนักงานของวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน และสถาบันวิจัยและพัฒนา
  • พื้นที่จอมทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ 590 ไร่ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการขยายพื้นที่การเรียนการสอนจากพื้นที่เจ็ดลินที่มีความคับแคบ

เขตพื้นที่เชียงราย เป็นวิทยาเขตที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาสู่ท้องถิ่น[8] โดยมุ่งเน้นเป้าหมายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และพื้นที่ เขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ในเขตนิคมแม่ลาว ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการฝากเรียนที่วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงย้ายมาเปิดทำการเรียนการสอนที่จังหวัดเชียงราย ในปีการศึกษา 2544 เป็นปีแรก

ปัจจุบันเขตพื้นที่เชียงราย เปิดทำการเรียนการสอน 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี ใน 3 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ รวมจำนวนนักศึกษา 1,439 คน[9]

อาคารอำนวยการ มทร.ล้านนา น่าน

เขตพื้นที่น่าน จัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2481 ตั้งอยู่ที่ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน จัดการเรียนการสอนเน้นด้านเกษตรศาสตร์เป็นหลัก ต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมน่าน ในปี พ.ศ. 2517 และโอนมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปีถัดมา

ปัจจุบันเปิดสอน 2 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ใน 3 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มีจำนวนนักศึกษา 888 คน[9]

เขตพื้นที่ลำปาง เดิมคือ โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ตั้งอยู่ที่ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง บนเนื้อที่ 1,381 ไร่ (ใช้ร่วมกับสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง) จัดการเรียนการสอนด้านเกษตรศาสตร์ เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ เกษตรแม่วัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงได้โอนมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาเขตลำปาง"

เขตพื้นที่ลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ตามถนนพหลโยธิน ประมาณ 16 กิโลเมตร มีความโดดเด่นในการจัดการศึกษาและการวิจัยด้านการเกษตร ร่วมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปัจจุบันเปิดทำการสอน 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ใน 3 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มีจำนวนนักศึกษา 765 คน[9]

ในอดีตคือโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ตาก เปิดทำการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2481 โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนตากพิทยาคม เปิดสอนวิชาช่างไม้ชั้นต้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 จึงได้ย้ายสถานที่มายังที่ตั้งปัจจุบันบริเวณถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ปัจจุบันเปิดทำการสอน 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรี ในทุกคณะ มีจำนวนนักศึกษา 3,110 คน[9]

เขตพื้นที่พิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก" ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บนเนื้อที่ 572 ไร่ จัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรม และสัตวศาสตร์เป็นหลัก เป็นที่รู้จักในนาม เกษตรบ้านกร่าง[10]

ปัจจุบันเขตพื้นที่พิษณุโลก เปิดทำการเรียนการสอน 2 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี ใน 3 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มีจำนวนักศึกษา 798 คน[9]

คณะ และวิทยาลัย

[แก้]

หน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษา

[แก้]

[11]

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร

การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

[แก้]

การเดินทางมาสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สำนักงานอธิการบดี) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะ สถาบัน วิทยาลัย และส่วนราชการต่างๆ ในสังกัดมหาวิทยาลัยฯ

หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามถนนเชียงใหม่-ลำปาง จนสิ้นสุดที่ทางแยกรินคำ จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามถนนห้วยแก้ว ประมาณ 3 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งอยู่ขวามือ ตรงข้ามกับสวนรุกขชาติห้วยแก้ว เยื้องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็กน้อย

สำหรับการเดินทางภายในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้ด้วยรถสี่ล้อแดง (รถสองแถว) รถแท๊กซี่ หรือรถโดยสารประจำทาง ดังนี้

  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) เดินทางได้โดยรถสองแถว
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (อาเขต) เดินทางได้โดยรถประจำทางสาย B1 ขาไป (อาเขต-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นรถที่สถานีขนส่งอาเขต-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา[12]
  • สถานีรถไฟเชียงใหม่ เดินทางได้โดยรถประจำทางสาย B1 ขาไป (สถานีรถไฟ-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นรถที่สถานีรถไฟเชียงใหม่-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา[12]
  • ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เดินทางได้โดยรถประจำทางสาย B2 ขากลับ (ท่าอากาศยานเชียงใหม่-อาเขต) ขึ้นรถที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่-ลงที่วัดพระสิงห์ และเดินทางต่อโดยรถประจำทางสาย B1 (อาเขต-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นรถที่วัดพระสิงห์-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา[12]

รายนามอธิการบดี

[แก้]
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์สวาสดิ์ ไชยคุณา 28 มีนาคม พ.ศ. 2519 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2523
12 มิถุนายน พ.ศ. 2523 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2527 (วาระที่ 2)
2. ศาสตราจารย์อนันต์ กรุแก้ว 12 มิถุนายน พ.ศ. 2527 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2531
3. รองศาสตราจารย์ธรรมนูญ ฤทธิมณี 12 มิถุนายน พ.ศ. 2531 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2535
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
3. รองศาสตราจารย์ธรรมนูญ ฤทธิมณี 12 มิถุนายน พ.ศ. 2535 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2539 (วาระที่ 2)
4. รองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ โชติสว่าง 12 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543
5. รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2543 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
12 มิถุนายน พ.ศ. 2547 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (วาระที่ 2)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
6. นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552[13]
15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556[14] (วาระที่ 2)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประพัฒน์ เชื้อไทย 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (รักษาราชการแทนอธิการบดี)
7. รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประพัฒน์ เชื้อไทย 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560 - 24 เมษายน พ.ศ. 2561 (รักษาราชการแทนอธิการบดี)
รองศาสตราจารย์ ศีลศิริ สง่าจิตร 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 - 30 กันยายน พ.ศ. 2564 (ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี)
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (รักษาราชการแทน)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - มิถุนายน พ.ศ. 2567 (รักษาราชการแทน)
รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน มิถุนายน พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน (รักษาราชการแทน)

บุคคลที่มีชื่อเสียง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

[แก้]

ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

  1. จรัล มโนเพ็ชร นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม รางวัลพระสุวรรณหงส์ ศิลปินล้านนา (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  2. นพพล พิทักษ์โล่พานิช ดารานักแสดง ช่อง 7 สี (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  3. สุรพล เกียรติไชยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  4. ถาวร เกียรติไชยากร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  5. ประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย (วิทยาเขตพิษณุโลก)
  6. รุ่ง จันตาบุญ สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมแมนดารินดาราเทวี และหอคำหลวง มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  7. ปรียากานต์ ใจกันทะ ชื่อเล่น ยิหวา นักแสดงหญิงชาวไทย สังกัดช่อง 3 (วิทยาเขตภาคพายัพ)
  8. ธีธัช จรรยาศิริกุล หรือ เต้ เดอะสตาร์ ตำแหน่ง รองแชมป์เดอะสตาร์ ปีที่ 10 (วิทยาเขตน่าน)
  9. สมศักดิ์ รินนายรักษ์ หรือ หนุ่ม เดอะวอยซ์ ผู้ชนะจากรายการ เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ เสียงจริง ตัวจริง ปีที่ 3 (วิทยาเขตเชียงราย)
  10. สมบัษร ถิระสาโรช (ตือ) ออแกไนซ์เซอร์ (วิทยาเขตภาคพายัพ)

การศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งผลิต บัณฑิตนักปฏิบัติ โดยมีการเรียนการสอน 4 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท จำนวน 85 หลักสูตร ครอบคลุมสาขาวิชาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษาในสังกัดคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ รวมกว่า 18,594 คน[15]

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ดังนี้

ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และระดับปริญญาตรี

[แก้]
  • ระบบโควตา[16] จะดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยแต่ละเขตพื้นที่จะดำเนินการรับสมัครเอง ซึ่งอาจจะมีการกำหนดคุณสมบัติการรับสมัคร วิธีการ และระยะเวลาในการคัดเลือกแตกต่างกัน
  • ระบบโควตาผู้พิการ[17] มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรับสมัครบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฯ ในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ และดำเนินการสอบในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยผู้สมัครสามารถเลือกที่จะเข้าศึกษาในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ทั้ง 6 แห่ง
  • ระบบรับตรง[18] มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรับสมัครบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฯ ในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ และดำเนินการสอบในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยผู้สมัครสามารถเลือกที่จะเข้าศึกษาในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ทั้ง 6 แห่ง
  • ระบบ Admission กลาง[19] โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการสมัครในระบบนี้จะมีเฉพาะระดับปริญญาตรีเท่านั้น

ระดับปริญญาโท

[แก้]

การรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกโดยตรง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี[20]

กิจกรรมนักศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ สู้งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี "ดีนำเก่ง" โดยมีการจัดกิจกรรมนักศึกษาครบทั้ง 5 ด้าน[21] คือ ด้านวิชาการ ด้านกีฬาและส่งเสริมสุขภาพ ด้านบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านนันทนาการ และด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ

ค่ายราชมงคลล้านนาอาสาร่วมใจ เป็นโครงการค่ายอาสาพัฒนา ที่องค์การนักศึกษาร่วมกับสโมสรนักศึกษาทุกเขตพื้นที่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดกิจกรรมในแต่ละจังหวัด และให้นักศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกับองค์การนักศึกษา โดยในปีแรก พ.ศ. 2548 จัดโครงการสร้างอาคารเรียนที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านสพผาหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. 2549 จัดที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 ออกค่ายสร้างอาคารเรียนและระบบประปาหมู่บ้าน ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิราคานธี อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่[22]

ราชมงคลล้านนา สืบสานวัฒนธรรม เป็นด้านศิลปวัฒนธรรมที่จัดเป็นประจำทุกปีการศึกษา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักศึกษาทั้ง 6 เขตพื้นที่ ซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เริ่มกิจกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 ที่จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดเชียงราย และ พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดพิษณุโลก

กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาเขตพื้นที่ต่างๆ และคัดเลือกนักกีฬาเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี

กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย เป็นการแข่งขันกีฬาระดับประเทศของนักศึกษาจากทั้ง 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อปี พ.ศ. 2552 จากการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาดังกล่าวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้เป็นครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 7 สมัย คือ ระหว่างปี 2549 - 2551[23][24][25] และปี 2554 - 2557

องค์กรกิจกรรมนักศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีองค์กรของนักศึกษาในระดับต่างๆ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา[26] ได้แก่

  • หน่วยดำเนินกิจกรรม
    • องค์การนักศึกษา เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย (ทั้ง 6 เขตพื้นที่) มีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ จำนวน 6 คน เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกองค์การนักศึกษา เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ มีนายกสโมสรนักศึกษาคณะในเขตพื้นที่ และผู้แทนนักศึกษา เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาคณะ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับคณะในแต่ละเขตพื้นที่ มีผู้แทนนักศึกษาในคณะ เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาคณะ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • ชมรม เป็นหน่วยดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา โดยมีประธานชมรม เป็นผู้อำนวยการดำเนินงาน
  • หน่วยตรวจสอบ
    • สภานักศึกษามหาวิทยาลัย และสภานักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นตัวแทนรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษา ควบคุม ตรวจสอบการบริหารงานและการดำเนินงานขององค์กรนักศึกษา (องค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา และชมรม) เป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา

องค์การนักศึกษา

[แก้]

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง เป็นนายกองค์การนักศึกษาคนแรก และมีคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นตัวแทนจากวิทยาเขตในสังกัด รวม 6 คน

การวิจัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีส่วนงานที่มีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งเพื่อเป็นสถาบันวิจัยในศาสตร์ต่างๆ ดังนี้

  • สถาบันวิจัยและพัฒนา
  • สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร เป็นหน่วยที่มีหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัยและให้บริการวิชาการด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร การสร้างสิ่งประดิษฐ์ ฝึกทักษะวิชาชีพ ผลิตพันธุ์พืชที่ดีให้กับเกษตรกร รวมถึงการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการเกษตร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 เดิมคือ "สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง" ปัจจุบันนอกจากการค้นคว้าวิจัยแล้ว ยังมีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาพืชศาสตร์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร[27] อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ จำนวน 20 เรื่อง และในระดับชาติ จำนวน 91 เรื่อง[28]

บุคคลที่มีผลงานวิจัยโดดเด่น

[แก้]
  • ผศ.สุภาพรรณ สุตาคำ ศึกษาวิจัยได้พันธุ์ถั่วเหลือง "ราชมงคล 1 (รม.1)" ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552 ปัจจุบันได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ สร้างกลุ่มเกษตรในพื้นที่อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย[29]
  • ผลงานวิจัย "แคบหมูกึ่งสำเร็จรูปด้วยไมโครเวฟ" ของอาจารย์อรทัย บุญทะวงศ์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของ สกว. ปี 2551 และรางวัลประกาศเกียรติคุณเหรียญเงิน จากงาน SEOUL International Invention Fair 2008 ประเทศเกาหลี [30]
  • ดร.ปัทมา ศิริปัญญา ค้นคว้าวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสม [31]
  • รองศาสตราจารย์ ดร. พานิช  อินต๊ะ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2559 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับรางวัลด้านงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติจำนวนมากกว่า 20 รางวัล เช่น รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น ระดับดีและประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ และประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย  [32] ประจำปี  2554, 2556, 2557 และ 2558 ตามลำดับ รางวัลอาจารย์ ดีเด่น ประเภทสร้างชื่อเสียง ในโครงการ “คนดี เด่น ดัง วังเจ็ดลิน” ประจำปีการศึกษา 2553, 2554 และ 2556 ตามลำดับ รางวัลเหรียญทองและเหรียญทองแดงในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในงาน SIIF 2012 และ 2014 ตามลำดับ รางวัลผลเด่นของ สวทช. ในงาน NSTDA Investors’ Day 2012 และ 2017 รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (เข็มเงิน) ประเภทอาจารย์ด้านวิจัย ปีการศึกษา 2557 และรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองในการประกวดผลงานการประดิษฐ์คิดค้นระดับนานาชาติในงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่  42 และ 43 ตามลำดับ

อันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปีการศึกษา 2555 ได้คะแนนเฉลี่ย 4.05 ผลการประเมินเท่ากับ "คุณภาพดี"[33]

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อยู่ในอันดับที่ 1,873 ของโลก อันดับที่ 68 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 25 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[34]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้]

ศาสตราจารย์สวาสดิ์ ไชยคุณา อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ผู้บุกเบิกสถาบันฯ ได้กล่าวถึงการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาไว้ว่า

ล้นเกล้าฯ พระปิยมหาราช ปลดปล่อยทาสให้เป็นไทยฉันใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงปลดปล่อยนักเรียนอาชีวศึกษาจากที่ถูกสังคมมองว่าเป็นนักเรียนชั้นสองให้เป็นไทฉันนั้น

นับจากปีแรกที่ได้เริ่มสถาปนาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 และได้ดำเนินการเรียนการสอนเรื่อยมา จนกระทั่งได้ผลิตบัณฑิตและมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาด้วยพระองค์เอง และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของวิทยาลัยอีกสามครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2533 รวมแล้วได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองจำนวน 4 ครั้ง

ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตเป็นประจำทุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้น 9 แห่ง แต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ยังคงจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งอื่น ๆ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตเป็นประจำทุกปี

ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนแปลงสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร มาที่ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดเดิมจะมีการรับพระราชทานปริญญาบัตรในระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 แต่ถูกเลื่อนไป เนื่องจากมีการระบาดของเชื่อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศไทย จนกระทั่งกำหนดจัดพิธี ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565

ในส่วนของผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2563 - 2564 กำหนดจัดพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 20 - 21 มีนาคม 2566 และปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๓, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. สรุปข้อมูลจำนวนนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2566
  3. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอน 74ก ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2542
  4. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอน 6ก ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548
  5. กฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอน 118ก ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  6. รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งที่ 22(10/2552)
  7. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2549
  8. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งวิทยาเขตสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 สรุปจำนวนนักศึกษา ปีการศึกษา 2566
  10. งานบ้านกร่างคืนรัง 55 ปี แผนกประชาสัมพันธ์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, เขตพื้นที่พิษณุโลก
  11. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2550
  12. 12.0 12.1 12.2 "เปิดแผนที่ "รถเมล์เชียงใหม่"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-04. สืบค้นเมื่อ 2018-06-07.
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 ราย
  14. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  15. สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
  16. การรับสมัครนักศึกษาประเภทโควตา สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  17. การรับสมัครนักศึกษาประเภทโควตาผู้พิการ
  18. การรับสมัครนักศึกษาประเภทรับตรง สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  19. การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบกลาง สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  20. การรับสมัครนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาโท
  21. โครงการขององค์การนักศึกษา เก็บถาวร 2010-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน องค์การนักศึกษา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  22. องค์การนักศึกษา ออกค่ายอาสาพัฒนา โรงเรียน ตชด.รางวัลอินทิราคานธี
  23. "ราชมงคลเกมส์ ครั้งที่ 24". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2010-09-19.
  24. ราชมคลเกมส์ ครั้งที่ 25
  25. "ราชมงคลเกมส์ ครั้งที่ 26". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-09. สืบค้นเมื่อ 2010-09-19.
  26. "ระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา พ.ศ. 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-08-27. สืบค้นเมื่อ 2010-04-26.
  27. บัณฑิตศึกษา มทร.ล้านนา เก็บถาวร 2009-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  28. รายงานการประเมินตนเองของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วงรอบ 1 มิถุนายน 2552-31 พฤษภาคม 2553หน้า 254
  29. รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งที่ 22 กองกลาง, สำนักงานอธิการบดี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  30. รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 20 กองกลาง, สำนักงานอธิการบดี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  31. เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ (9 มิถุนายน 2551). "พันธ์ข้าวลูกผสม ผ่าทางตันวิกฤตข้าวไทย". วิชาการ.คอม. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  32. รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เก็บถาวร 2017-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  33. รายงานผลการตรวจประเมินคุณภาพภายนอก ประจำปีการศึกษา 2555
  34. Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]