ยืมใช้คงรูป
มีการเสนอให้ย้ายบทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังวิกิตำรา หากบทความนี้สามารถปรับแก้ให้เป็นเนื้อหาสารานุกรมได้ แทนที่จะเป็นเพียงสำเนาของเอกสารต้นฉบับ
คุณก็สามารถช่วยปรับแก้ได้ ด้วยการกดที่ปุ่ม "แก้ไข" และนำป้ายข้อความนี้ออกเมื่อปรับแก้เสร็จแล้ว
กรณีไม่อาจทำให้เป็นสารานุกรมได้ คุณอาจช่วยจัดรูปแบบหน้านี้ให้เหมาะกับวิกิตำรา แล้วย้ายไปที่นั่นก็ได้ |
อักษรย่อ | คำเต็ม |
---|---|
ฎ. | คำพิพากษาศาลฎีกา (คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ป.พ.พ. | ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ม. | มาตรา |
ว. | วรรค |
การใช้อักษรย่อในนี้เพื่อมิให้บทความเยิ่นเย้อเท่านั้น แต่โดยปรกติแล้วควรเขียนด้วยคำเต็มไม่ควรย่อ เช่น "ป.พ.พ. ม.123 ว.2" ควรเขียนว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 วรรคสอง" มากกว่า |
ยืมใช้คงรูป (อังกฤษ: loan for use หรือ commodate; ฝรั่งเศส: prêt à usage หรือ commodat) เป็นสัญญายืม (อังกฤษ: loan) ประเภทหนึ่ง ที่บุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียก "ผู้ให้ยืม" (อังกฤษ: lender) ให้บุคคลอีกฝ่าย เรียก "ผู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว[1]
ยืมใช้คงรูปเป็นหนึ่งในสองประเภทของสัญญายืม คู่กับ "ยืมใช้สิ้นเปลือง" (อังกฤษ: loan for consumption)
การยืมทั้งหลายเหล่านี้ นับเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่เคยยืมหรือถูกยืม ไม่ว่าจะเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ ไปจนถึงของสำคัญต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งก็เนื่องจากสมาชิกในสังคมมิได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน กับทั้งความจำเป็นหลาย ๆ ด้าน อาทิ ในการประกอบธุรกิจที่ต้องการทุนสูงหรือทุนหมุนเวียน และอาจรวมถึงกิเลสตัณหาอยากได้อยากมีจนเกิดสำนวนไทยว่า "กู้หนี้ยืมสิน" การยืมจึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้ยืมกับผู้ยืม ซึ่งบางทีนำไปสู่ความวิวาทบาดทะเลาะในสังคม ดังนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม กฎหมายจึงเข้ามาควบคุมพฤติกรรมในการยืม[2]
บทบัญญัติของกฎหมาย
[แก้]ประเทศ | บทบัญญัติต้นฉบับ | คำแปลบทบัญญัติ |
---|---|---|
ไทย | ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญา, ลักษณะ 9, หมวด 1 ยืมใช้คงรูป "ม.640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว มาตรา 641 การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม" |
Civil and Commercial Code Book 3 : Specific Contracts, Title 9 : Loan, Chapter 1 : Loan for use[3] "Section 640. A loan for use is a contract whereby a person, called the lender, lets another person, called the borrower, have gratuitously the use of a property, and the borrower agrees to return it after having made use thereof. Section 641. A loan for use is complete only on delivery of the property lent." |
ญี่ปุ่น | Minpō (ญี่ปุ่น: 民法) Part 3 : Claims, Chapter 2 : Contracts, Section 6 : Loans for use[4] "Article 593 (Loans for Use). A loan for use shall become effective when one of the parties receives a defined Thing from the other party by promising that he/she will return the Thing after he/she has gratuitously made use of and taken the profits of the same." |
มินโป ภาค 3 สิทธิเรียกร้อง, หมวด 2 สัญญา, แผนก 6 ยืมใช้คงรูป "ม.593 (ยืมใช้คงรูป) การยืมใช้คงรูปนั้น ย่อมเป็นผลเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับทรัพย์เฉพาะสิ่งจากอีกฝ่าย โดยให้คำมั่นว่าเขาจะส่งทรัพย์นั้นคืนให้ หลังจากที่ได้ใช้และถือเอาประโยชน์จากทรัพย์นั้นโดยปลอดค่าตอบแทนแล้ว" |
ฝรั่งเศส | French Civil Code (ฝรั่งเศส: Code civil des Français) Book 3 : Of The Different Modes Of Acquiring Property; Title 10 : Of loans.[5] "Article 1874. There are two kinds of loan: That of things, which a party can use without destroying them; And that of things, which are consumed by the use which is made thereof. The first species is called loan for use, or gratuitous lending; The second is termed loan for consumption, or simple loan." Chapter 1 : Of loan for use, or gratuitously; Section 1 : Of the nature of lean for use "Article 1875. Loan for use, or gratuitous lending, is a contract by which one of the parties gives up a thing to another in order to its employment, on condition by the borrower to restore it after having so employed it. Article 1876. This loan is essentially gratuitous. Article 1877. The lender remains proprietor of the thing lent. Article 1878. Every thing which is of a commercial nature, and which does not consume by using, may be the object of this agreement." |
ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส บรรพ 3 ลักษณะต่าง ๆ ของการได้มาซึ่งทรัพย์สิน, ลักษณะ 10 ยืม "ม.1874 ยืมนั้นมีสองประเภทดังนี้ การยืมทรัพย์โดยที่คู่สัญญาใช้ทรัพย์นั้นได้แต่จะทำให้ทรัพย์เสียหายทำลายลงหาได้ไม่ และการยืมทรัพย์เพื่อใช้ให้สิ้นเปลืองลง ประเภทแรก ชื่อว่า ยืมใช้คงรูป หรือยืมใช้โดยปลอดค่าตอบแทน ประเภทที่สอง ชื่อว่า ยืมใช้สิ้นเปลือง หรือยืมใช้เสียเปล่า" หมวด 1 ยืมใช้คงรูป หรือยืมใช้โดยปลอดค่าตอบแทน; แผนก 1 สภาพของการยืมใช้คงรูป "ม.1875 ยืมใช้คงรูป หรือยืมใช้โดยปลอดค่าตอบแทน คือ สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยกทรัพย์ให้อีกฝ่ายใช้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ยืมจะคงสภาพทรัพย์นั้นไว้เมื่อใช้แล้ว ม.1876 สาระสำคัญของการยืมประเภทนี้ คือ ปลอดค่าตอบแทน ม.1877 ผู้ให้ยืมคงเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ตนให้ยืมอยู่ ม.1878 วัตถุแห่งข้อตกลงประเภทนี้ จะเป็นทรัพย์ทั้งหลายอันมีพาณิชยสภาพและไม่สิ้นเปลืองหมดไปเมื่อถูกใช้ก็ได้" |
องค์ประกอบ
[แก้]คู่สัญญา
[แก้]"อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว" |
ป.พ.พ. ม.640 |
"ยืมใช้คงรูป" เป็นสัญญายืมประหนึ่งซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่วางนิยามไว้ สำหรับประเทศไทย ป.พ.พ. ม.640 ให้นิยามว่า คือ "...สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว" ด้วยบทบัญญัตินี้ คู่สัญญายืมจึงมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียก "ผู้ให้ยืม" (อังกฤษ: lender) อีกฝ่ายเรียก "ผู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) โดยทั้งสองฝ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งหากเป็นนิติบุคคลก็ทำการผ่านผู้แทนของตนหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ[6]
วัตถุประสงค์แห่งสัญญา
[แก้]"โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทรายการที่ 1 ถึงที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยได้ ทรัพย์พิพาทรายการที่ 5 ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ แต่เป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่โจทก์ขอยืมมาแล้วให้นายทองเจือ บุญยัง ยืมไปอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิครอบครองในทรัพย์พิพาทรายการนี้ เมื่อทรัพย์พิพาทรายการนี้ไปตกอยู่กับจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ โจทก์ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในทรัพย์รายการนี้ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้" |
ฎ.1407/2538 |
"จำเลยที่ 1 ได้ยืมสิ่งของทองรูปพรรณไปจากโจทก์หลายอย่าง รวมราคาสี่ร้อยยี่สิบแปดบาท โจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่ยอมคืน โจทก์จึงไปทวงถามจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ที่จำเลยเอง แต่จำเลยไม่ยอมคืน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ส่งสิ่งของรายนี้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ยืมทรัพย์ของโจทก์ มีหน้าที่ส่งทรัพย์เหล่านั้นคืน หรือมิฉะนั้นต้องใช้ราคา แลเมื่อปรากฏว่าทรัพย์รายนี้ตกอยู่ในมือของจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ให้โจทก์ หรือมิฉะนั้นให้ช่วยกันใช้ราคาสี่ร้อยยี่สิบแปดบาทแก่โจทก์" |
ฎ.643/2480 |
ด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. ม.640 วัตถุประสงค์ของสัญญายืมใช้คงรูป คือ การที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมยืมทรัพย์สินของตนโดยปลอดค่าตอบแทน สัญญานี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการตอบแทนกัน เช่น ชำระราคาทรัพย์สินที่ยืมกัน และไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ผู้ยืมจึงไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตนยืม และผู้ให้ยืมจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่นำออกให้ยืมหรือไม่ก็ได้ มีแต่สิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้นเป็นพอ ซึ่งในกรณีหลังนี้ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงย่อมติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนที่ถูกนำไปให้ผู้อื่นยืมได้ และผู้มีสิทธิครอบครองก็สามารถติดตามเอคืนซึ่งทรัพย์สินที่ตนครอบครองได้ดุจกัน เพียงแต่กรรมสิทธิ์มีอำนาจเหนือกว่า[7]
ในกรณีที่ผู้ให้ยืมนำทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของตนออกให้ยืม และทรัพย์สินนั้นถูกเรียกคืนขณะที่ผู้ยืมยังใช้สอยไม่เสร็จ ผู้ยืมจะปฏิเสธไม่คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไม่ได้ ประกอบกับที่สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน ไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ผู้ยืมจะฟ้องผู้ให้ยืมให้รับผิดเพราะตนถูกรอนสิทธิที่จะใช้ทรัพย์สินจนเสร็จก็มิได้ด้วย เว้นแต่ผู้ให้ยืมกับผู้ยืมจะตกลงเรื่องความรับผิดนี้ไว้ตั้งแต่ทำสัญญายืม[8] เช่น ก ฝากรถยนต์ไว้กับ ข ข นำรถยนต์ให้ ค ยืมไปใช้เดินทางท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา ก ทราบเรื่องเข้า จึงตามไปเอารถยนต์คืนถึงจังหวัดเชียงใหม่ เช่นนี้แล้ว ค จะปฏิเสธไม่คืนรถยนต์ให้แก่ ก มิได้ และ ค จะฟ้องให้ ข รับผิดเพราะถูกรอนสิทธิก็มิได้ เว้นแต่ ข และ ค จะตกลงกันแต่ต้นว่า ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ ข จะรับผิดให้
วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่ง คือ การที่ผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมเมื่อตนใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว อนึ่ง ด้วยเหตุที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวยังคงอยู่กับเจ้าของ มิได้โอนมายังผู้ยืม หากทรัพย์สินนั้นเกิดชำรุดเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยอันจะโทษผู้ยืมมิได้ เช่น น้ำป่าไหลบ่ากะทันหัน ถั่งโถมทำลายทรัพย์สินที่ยืมจนพินาศ ความพิบัติที่เกิดขึ้นนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าของทรัพย์สินเอง ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด[9]
วัตถุแห่งสัญญา
[แก้]วัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปนั้น กฎหมายมิได้กำหนดประเภทไว้ ดังนั้น จะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ ทั้ง อสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกรามบ้านช่อง อาคารบ้านเรือน ที่ดิน และสังหาริมทรัพย์ เช่น ช้อนส้อมจานชาม ลิขสิทธิ์ สิทธิทางการค้าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นทรัพย์สินอันใช้แล้วไม่เสียภาวะ เสื่อมสลาย หรือสิ้นเปลืองหมดไปในทันใดหรือในที่สุด เพราะทรัพย์สินดังว่านี้เป็นวัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง[10]
ในประเทศไทยมีนักกฎหมายบางกลุ่มเห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอันเคลื่อนที่มิได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภทไม่มีรูปร่างจับต้องไม่ได้ มีสภาพที่ส่งมอบให้แก่กันมิได้ จึงให้กันยืมมิได้ เช่น ขอยืมลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมไปพิมพ์หนังสืองานศพแจก จะหยิบลิขสิทธิ์มาส่งมอบให้กันเช่นไร[11] [12] ความเห็นนี้ถูกต่อต้านจากอีกกลุ่ม เช่น ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อธิบายว่า[13]
"...ทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปนี้ จะเป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น สร้อยคอ ปากกา นาฬิกา หรือจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน ก็ได้เช่นกัน และการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์สามารถทำได้โดยการทำให้ผู้ยืมได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เช่น การส่งมอบกุญแจบ้านหรือกุญแจประตูรั้วที่ล้อมรอบที่ดินที่ยืม [เป็นต้น]...[อนึ่ง] ปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติ...กำหนดถึงการให้ใช้ลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าไว้เป็นการเฉพาะแล้ว"
ความบริบูรณ์แห่งสัญญา
[แก้]ผล
[แก้]"ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย" |
ป.พ.พ. ม.642 |
"ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง" |
ป.พ.พ. ม.643 |
"ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง" |
ป.พ.พ. ม.644 |
"ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้" |
ป.พ.พ. ม.645 |
"ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้" |
ป.พ.พ. ม.646 |
"ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย" |
ป.พ.พ. ม.647 |
สัญญายืมใช้คงรูปเมื่อบริบูรณ์แล้ว ไม่ก่อหน้าที่แก่ผู้ให้ยืมให้ต้องรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องใด ๆ ที่เกิดต่อทรัพย์สินอันให้ยืม เว้นแต่เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามีความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินแล้วให้ยืมไปโดยไม่บอกกล่าวผู้ยืม อันเป็นผลให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ด้วยดี ผู้ให้ยืมอาจต้องรับผิดตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสัญญา เว้นแต่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ให้ยืมรับผิดในกรณีเช่นว่า[14]
แม้สัญญายืมใช้คงรูปไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ทว่า ผู้ยืมย่อมมีหน้าที่และความรับผิดในสัญญานี้อย่างแน่นอนเพราะเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามกฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.642-647 ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าบำรุงทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนหน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม กับทั้งหน้าที่สงวนรักษาและคืนทรัพย์สินนั้น[15] ทั้งนี้ เพราะผู้ยืมได้ประโยชน์จากสัญญานี้ถ่ายเดียวโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ก็ควรรับภาระออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันเป็นอื่น[16]
หน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืม
[แก้]เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.642 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ตลอดจนค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
ค่าฤชาธรรมเนียม (อังกฤษ: costs of the contract) นั้น ปรกติในการทำสัญญายืมใช้คงรูปก็ไม่มีอยู่แล้ว ซึ่ง ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "...ยังคิดไม่ออกว่า การยืมทรัพย์อะไรจึงต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา แต่การบัญญัติกฎหมายต้องเขียนไว้ให้บริบูรณ์เท่าที่จะทำได้ จะมีที่ใช้หรือไม่เป็นเรื่องข้างหน้า"[17]
ค่าส่งมอบทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of delivery) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม เช่น ค่าขนส่ง เคลื่อนย้าย หรือนำพาไปซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นต้น[17]
ค่าส่งคืนทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of return) คือ ค่าใช้จ่ายอันตรงกันข้ามกับค่าส่งมอบทรัพย์สิน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ยืมส่งทรัพย์สินที่ยืมกลับคืนไปให้แก่ผู้ให้ยืม แต่ไม่รวมถึงค่าส่งคืนซึ่งดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินนั้น เช่น ยืมโคมาตัวหนึ่ง ระหว่างนั้นโคตกลูก เมื่อคืนโค ค่าคืนโคตัวแม่นั้นผู้ยืมรับผิดชอบ แต่ค่าคืนโคตัวลูกกลับคืนสู่ผู้ยืม ให้ผู้ยืมรับผิดชอบเอง[17]
หน้าที่ออกค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม
[แก้]เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.647 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออก "ค่าใช้จ่ายอันเป็นปรกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืม" (อังกฤษ: expenses for ordinary maintenance of the property lent) อันหมายถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อยังให้ทรัพย์สินที่ยืมมาอยู่ในสภาพปรกติดี เช่น ยืมรถยนต์มาใช้ขับ ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าล้างรถ ค่าตรวจสภาพรถ ฯลฯ จัดเป็นค่าใช้จ่ายปรกติสำหรับบำรุงรักษารถยนต์ หรือยืมสัตว์มาใช้งาน ค่าอาหาร ค่าเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาลสัตว์ ฯลฯ ก็จัดเป็นค่าใช้จ่ายปรกติสำหรับบำรุงรักษาสัตว์นั้น[18]
ค่าใช้จ่ายอันเหนือปรกตินั้น แม้เพื่อบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมมา ผู้ยืมก็ไม่จำต้องรับผิดชอบ เช่น รถยนต์ที่ยืมมามีตัวถังผุกร่อนอย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนใหม่โดยอาศัยค่าใช้จ่ายมหาศาล เช่นนี้แล้วผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบเอง เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว หรือให้รับผิดชอบร่วมกันก็ได้[19]
หน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม
[แก้]"ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 รับจ้างกรมทางหลวง จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนน เป็นเหตุให้เกิดละเมิดแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาผู้เป็นเจ้าของรถยนต์นั้น โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. ม. 643 เพราะความเสียหายที่เกิดไม่ใช่เพราะความผิดของโจทก์ แม้โจทก์จะนำรถยนต์ที่เสียหายไปซ่อมให้เรียบร้อย โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์อันจะเรียกร้องให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถยนต์ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ และไม่มีอำนาจฟ้อง" |
ฎ.2766/2551 |
"ในการยืมใช้คงรูปนั้น ป.พ.พ. ม.643 ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่กรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชน ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหาย ก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ ฉะนั้น โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถ และแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง" |
ฎ.3451/2524 |
เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.643 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่สามประการเกี่ยวแก่การใช้สอบทรัพย์สิน คือ
1. หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเอง ห้ามให้บุคคลภายนอกใช้สอย เพราะผู้ให้ยืมย่อมพิจารณาแล้วว่าผู้ยืมเหมาะสมที่จะใช้ทรัพย์สินนั้น เช่น ยืมชุดว่ายน้ำ เว้นแต่บางกรณีที่โดยสภาพแล้วทรัพย์สินนั้นบุคคลอื่นก็ใช้ได้ไม่จำกัด เช่น ยืมถ้วยช้อนจานชามมาใช้ในงานศพของ ก ก็เอาให้แขกเหรื่อใช้ได้ เพียงแต่ยืมมาเพื่อกิจอันใดก็ใช้เพื่อกิจอันนั้นเท่านั้น จะใช้ต่อในงานศพของ ข ค ง ฯลฯ อีกมิได้[20]
2. หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินให้สอดคล้องกลับความมุ่งหมายแห่งการยืมมาและโดยปรกติอย่างที่ควรจะใช้[21] เช่น ยืมรถจักรยานมาขับส่งลูกไปโรงเรียน จะเอาไปลงแข่งวิบากหรือประลองความเร็วมิได้
3. หน้าที่ไม่เอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร ให้คืนเมื่อได้เวลาคืน
หากผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ทั้งนี้ เขาต้องรับผิดหากทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือเสียหายอย่างใด ๆ แม้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยซึ่งปรกติแล้วเขาไม่ต้องรับผิดก็ตาม เพราะถือว่าผู้ยืมผิดสัญญา หากไม่ฝ่าฝืนหน้าที่นี้ทรัพย์สินนั้นก็อาจไม่ประสบความสูญหายหรือเสียหาย[22] เช่น ก ยืมรถ ข ใช้ขับส่งลูกไปโรงเรียนในเช้าวันหนึ่ง เมื่อส่งลูกเสร็จ ก เอารถใช้ขับเที่ยวห้างสรรพสินค้า ไปหาเพื่อน ๆ และไปประกอบกิจอื่น ๆ ต่ออีกจนหนำใจ ระหว่างจอดไว้ที่บ้านตนเพื่อจะส่งคืนให้แก่ ข ในวันรุ่งขึ้น เผอิญเกิดฟ้าผ่ารถยนต์พังยับไปทั้งคัน ก ก็ต้องรับผิดต่อ ข แม้ฟ้าผ่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยอันป้องกันมิได้ก็ตาม
นอกจากนี้ ด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.645 เมื่อผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ข้างต้น ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้ และเมื่อเลิกสัญญาแล้วก็เรียกทรัพย์สินคืนได้
หน้าที่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม
[แก้]เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.644 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ "สงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง" ("take as much care of the property lent as a person of ordinary prudence would take of his own property") ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อให้ยืมทรัพย์สินไปแล้ว ผู้ให้ยืมย่อมคาดหวังว่าผู้ยืมจะดูแลรักษาทรัพย์สินอย่างดี เพาะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังอยู่ที่ผู้ให้ยืม ถ้าทรัพย์สินเสียหายลงจะเป็น "คราวซวย" ของผู้ให้ยืมเอง[23]
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยาม "วิญญูชน" (อังกฤษ: reasonable person) ว่า "บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ"[24] ประกอบกับต้นร่าง ป.พ.พ. ม.644 ที่จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนแปลเป็นภาษาไทยแล้วตราเป็นกฎหมายนั้น[25] ใช้ว่า "person of ordinary prudence" อันแปลว่า "ผู้มีความรอบคอบตามปรกติ" ดังนั้น ที่ ป.พ.พ. ม.644 ให้ผู้ยืมสงวนทรัพย์สินเช่น "วิญญูชน" จะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จึงหมายความว่า ให้ถนอมรักษาทรัพย์สินที่ยืมมาอย่างที่คนทั่วไปพึงถนอม ห้ามน้อยกว่าระดับนี้ และไม่จำเป็นต้องมากกว่า[26] แต่หากประสงค์สงวนทรัพย์สินอย่างเลิศเลอยิ่งกว่าที่คนทั่วไปทำกันแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้ห้าม
เมื่อผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์สินไว้ให้ดี จนเป็นเหตุให้ไม่อาจคืนทรัพย์สินให้ในสภาพดีดังเดิมหรือไม่มีจะคืนให้เลย ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.645 ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้[27]
หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม
[แก้]"ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่" |
ป.พ.พ. ม.205 |
"เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้" |
ป.พ.พ. ม.324 |
"ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" |
ป.พ.พ. ม.1336 |
เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.646 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ส่งทรัพย์สินที่ยืมคืนให้แก่ผู้ให้ยืมตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ให้คืนภายในสองสัปดาห์นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือก่อนวันเข้าพรรษาประจำ พ.ศ. 2553 เป็นต้น, ถ้าไม่ได้กำหนด ให้คืนเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการยืมแล้ว เช่น ยืมถ้วยชามไปใส่อาหารเลี้ยงแขกงานบวช เมื่องานเสร็จก็ควรคืนได้ แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกทรัพย์สินคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควรแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำต้องคำนึงว่าผู้ยืมจะได้ใช้สอยจริง ๆ หรือยัง เช่น งานบวชเสร็จแล้ว ถ้วยชามที่ยืมไปยังไม่ได้ใช้เลย กระนั้นผู้ให้ยืมก็เรียกถ้วยชามคืนได้[28] ในกรณีที่ผู้ยืมบ่ายเบี่ยงไม่ยอมใช้สอยเสียที อาจนับว่ามีเจตนาเอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร[29]
นอกจากเวลาข้างต้นแล้ว หากตกลงกำหนดสถานที่คืนทรัพย์สินกันไว้ด้วยก็ให้เป็นไปตามนั้น หากไม่ได้กำหนด ป.พ.พ. ม.324 ว่าให้นำไปคืนยังที่ที่เอามา เนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมจัดเป็น "ทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง" (อังกฤษ: specific property) เช่น ยืมรถยนต์เพื่อนมาใช้จากเชียงใหม่ หากไม่ได้กำหนดสถานที่คืนรถยนต์คันนี้ ก็ให้นำไปคืนที่ที่เอามาคือจังหวัดเชียงใหม่[30]
ทรัพย์สินที่คืนต้องเป็นอันเดียวกับที่ยืมไป ผู้ให้ยืมจะจัดหาอันใหม่มาแทนมิได้ แม้จะมีรูปลักษณ์ ประเภท ชนิด หรือปริมาณอย่างเดียวกันก็ตาม แต่คู่สัญญาอาจตกลงกันให้นำทรัพย์สินอย่างอื่นมาคืนแทนก็ได้ เช่น ยืมกระบือเพศเมียไปตัวหนึ่ง มีกำหนดคืนภายในเจ็ดวัน ครบกำหนดแล้วคู่สัญญาตกลงให้คืนกระบือเพศผู้ต่อกันแทนก็ได้ จัดเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นหลังสัญญายืมใช้คงรูป แต่ไม่กระทบกระเทือนความสมบูรณ์ของสัญญายืมใช้คงรูป[31]
ในกรณีที่มีดอกผล (อังกฤษ: fruit) งอกเงยจากทรัพย์สินนั้นในระหว่างยืม เช่น ยืมแม่โคไปทำนา ระหว่างนั้นแม่โคเกิดตกลูก ลูกโคเป็นดอกผลของแม่โค ดังนั้น ผู้ยืมต้องมอบดอกผลคืนไปกับทรัพย์สินที่ยืมด้วย เพราะดอกผลจากทรัพย์สินใดก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์สินนั้นตาม ป.พ.พ. ม.133 ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมมิได้โอนมาแก่ผู้ยืม ไหนเลยเขาจะได้ดอกผลอันนี้[32]
เมื่อทรัพย์สินที่ยืมเกิดสูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยอันโทษผู้ยืมมิได้ เช่น ยืมกระบือมา ระหว่างใช้สอยได้เก็บไว้ในคอกอย่างดี เผอิญถูกโจรปล้นไปติดตามเอาคืนมิได้ หรือยืมรถยนต์มา ระหว่างใช้สอยเกิดแผ่นดินไหว รถพุ่งลงซอกเหววินาศไปก็ดี หรือทรัยพ์สินนั้นเสียหรือสูญหายไปเพราะบุคคลภายนอกอันโทษผู้ยืมมิได้ เช่น มีรถยนต์คันอื่นขับมาโดยความประมาทพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ที่ยืมมา ดังนี้ ผู้ยืมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมแต่ประการใด ไม่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินหรือใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ เลย และผู้ยืมชอบที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับบุคคลที่สามผู้ทำให้ทรัพย์สินวิบัติไปเช่นนั้น เว้นแต่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ยืมรับผิด[33]
เมื่อได้เวลาคืน แต่มีเหตุยังให้คืนมิได้โดยที่โทษผู้ยืมก็มิได้ด้วย ไม่ชื่อว่าผู้ยืมผิดนัดในการคืนทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.205 เช่น ก อยู่เชียงราย ยืมเครื่องพิมพ์ดีด ข อยู่กรุงเทพฯ มาใช้ และตกลงจะไปคืนให้ถึงที่ ครั้นถึงกำหนดคืน ปรากฏน้ำป่าไหล่บ่าตัดการจราจรภาคเหนือ เช่นนี้แล้ว ไม่ถือว่า ก ผิดนัดคืนเครื่องพิมพ์ดีด[34]
ความระงับสิ้นลง
[แก้]"ผู้ตายออกเงินให้โจทก์ซื้อเรือสองลำมาเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพโจทก์จนตลอดชีวิต โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องทรัพย์มฤดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้จำเลย และจำเลยฟ้องแย้งเรียกเรือสองลำนั้นจากโจทก์ ศาลแพ่งเห็นว่า เรือทั้งสองควรตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม แต่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันของผู้ตายซึ่งอนุญาตให้โจทก์ใช้เรือได้ตลอดชีวิต จึงพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เรือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงพิพากษาให้โจทก์ส่งเรือให้จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ม.464 แสดงโดยชัดแจ้งว่าให้กำหนดเวลายืมทรัพย์กันได้ จึงเห็นว่าคู่กรณีกำหนดเวลาให้ยืมกันตลอดชีวิตได้ ส่วน ป.พ.พ. ม.648 บัญญัติว่าการยืมระงับไปด้วยมรณะของผู้ยืม ซึ่งส่อให้เห็นอีกว่ากฎหมายมิได้ประสงค์ให้ถือเอาความมรณะของผู้ให้ยืมเป็นเหตุให้สัญญาระงับไป จึงพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลย ยืนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง" |
ฎ. 338/2479 |
สัญญายืมใช้คงรูปจะระงับลงเพราะครบกำหนดเวลายืมหากตกลงกันไว้ หรือเมื่อทรัพย์สินกลับมาอยู่ในเงื้อมมือของผู้ให้ยืมหลังผู้ให้ยืมเรียกให้คืนในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกำหนดเวลายืมกันไว้ หรือแม้กำหนดไว้แต่ผู้ยืมคืนให้ก่อนกำหนด รวมถึงจะระงับลงเพราะทรัพย์สินที่ให้ยืมสูญสลายไปทั้งหมดไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ยืมกระบือมาไถนา ระหว่างใช้งาน กระบือติดโรคระบาดตาย สัญญายืมกระบือเป็นอันระงับ[35]
อนึ่ง นอกเหนือจากมูลเหตุข้างต้นแล้ว ป.พ.พ. ม.648 ยังว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม" แต่สัญญายืมใช้คงรูปจะไม่ระงับเพราะผู้ให้ยืมตาย เนื่องจากสัญญาประเภทนี้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ผู้ยืมตาย ทายาทของเขาจะเรียกเอาทรัพย์สินคืนโดยอ้างว่าสัญญายืมระงับแล้วหาได้ไม่ แต่หากผู้ให้ยืมตาย สัญญาระงับ และทายาทของผู้ยืมมีหน้าที่คืนทรัพย์สินกลับสู่ผู้ให้ยืม ด้วยว่าทรัพย์สินนี้ไม่เป็นมรดกตกทอด เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังอยู่ที่ผู้ให้ยืม จะโอนไปยังผู้ยืมก็หาไม่[36]
ความตายข้างต้นนี้ รวมถึงความตายด้วยผลของกฎหมาย หรือ "ความตายเพราะเป็นผู้ไม่อยู่" (อังกฤษ: death in absentia) อันเป็นกรณีที่ผู้ยืมเป็นผู้ไม่อยู่ และต่อมาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ให้ถือว่าตาย แต่ไม่รวมถึงการถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือถูกศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต เพราะเขายังไม่ตาย ส่วนผู้ยืมที่เป็นนิติบุคคล ถือว่าตายเมื่อสิ้นสภาพนิติบุคคล เช่น เมื่อเลิกกิจการ หรือถูกนายทะเบียนถอนชื่อออก เป็นต้น[37]
อย่างไรก็ดี ด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ผู้ให้ยืมจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ตนให้ผู้ยืมยืมใช้คงรูปก่อนสัญญายืมระงับสิ้นลงก็ได้ อันจะมีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวโอนไปแก่บุคคลที่สาม และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญายืมข้างต้นแต่อย่างใดเพราะมิใช่คู่สัญญา หากผู้ยืมได้รับความเสียหายในการนี้ เช่น ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินคนใหม่เรียกทรัพย์สินคืนไป ทำให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยได้เรียบร้อยตามสัญญา ผู้ยืมไม่อาจเรียกให้ผู้ให้ยืมรับผิดต่อตนได้ เพราะเขาไม่มีหน้าที่เช่นนั้น สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฝ่ายผู้ให้ยืมรับผิด[38]
อายุความ
[แก้]หากจะฟ้องให้ผู้ยืมรับผิดเพราะไม่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม, เพราะนำทรัพย์สินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการยืมหรือเอาไปให้บุคคลอื่นใช้สอย, เพราะไม่สงวนรักษาทรัพย์สินดังวิญญูชนพึงสงวนทรัพย์สินของตน หรือเพราะเอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร จนทรัพย์สินเกิดเสียหายไปลง อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ตามสัญญายืมใช้คงรูป หรือหากจะฟ้องให้ผู้ให้ยืมรับผิดเพราะไม่ออกค่าใช้จ่ายอันเหนือปรกติในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ต้องกระทำภายในอายุความหกเดือนนับแต่วันที่สัญญาระงับสิ้นลง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียจากฝ่ายตรงข้าม[39] ดัง ป.พ.พ. ม.649 ว่า "ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา"
แต่หากจะฟ้องผู้ยืมให้คืนทรัพย์สิน หรือให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทน ไม่อยู่ในอายุความหกเดือน เพราะมิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ม.649 ทว่า อยู่ในอายุความทั่วไป คือ สิบปี ตาม ป.พ.พ. ม.193/30 ซึ่งว่า "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"[40]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 281.
- ↑ ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 11-13.
- ↑ Thailand Civil and Commercial Code (online), Online : n.d.
Civil and Commercial Code of Thailand, Book 3 : Specific Contracts, Title 9 : Loan, Chapter 1 : Loan for use - ↑ Ministry of Justice of Japan, 2009 : Online.
Japanese Civil Code, Part 3 : Claims, Chapter 2 : Contracts, Section 6 : Loans for use เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - ↑ The Napoleon Series, 2009 : Online.
French Civil Code; Book 3 : Of The Different Modes Of Acquiring Property; Title 10 : Of loans - ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 26.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 26-27.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 27.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 28.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 28-29.
- ↑ สุปัน พูลสวัสดิ์, 2509 : 8.
- ↑ กมล สนธิเกษตริน, 2520 : 771.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 29.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 32.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 33-47.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 33-34.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 33.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 34.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 34-35.
- ↑ ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 35.
- ↑ ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 35-36.
- ↑ ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 37.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 39.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 230.
- ↑ จิ๊ด เศรษฐบุตร, 2529 : 19.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 39-40.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 41.
- ↑ ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 36.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 43-44.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 40.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 40-41.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 44-45.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 43.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 47-48.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 42.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 48.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 49.
- ↑ พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา, 2535 : 19.
- ↑ ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 50.
ภาษาไทย
[แก้]- กมล สนธิเกษตริน. (2520). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืมและฝากทรัพย์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 974-288-365-3.
- จิ๊ด เศรษฐบุตร.
- (2524). หลักกฎหมายแพ่ง ลักษณะนิติกรรมและหนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- (2529). ความรู้เบื้องต้นแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ไผทชิต เอกจริยกร. (2552). คำอธิบาย ยืม ฝากทรัพย์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 978-974-288-800-8.
- พจน์ บุษปาคม. (2521). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม กู้ยืม ฝากทรัพย์. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
- พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา. (2535). สรุปวิชากฎหมายยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความ พนัน และขันต่อ. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
- ราชบัณฑิตยสถาน.
- (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 974-8123-52-9.
- (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 974-8123-75-8.
- (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- ศักดิ์ สนองชาติ. (2523). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
- ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- สุปัน พูลสวัสดิ์. (2509). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความ และพนันขันต่อ. พระนคร : โรงพิมพ์หมั่นเฮง.
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2552). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 978-974-288-625-7.
ภาษาต่างประเทศ
[แก้]- Langenscheidt Translation Service. (2009). German Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
- Ministry of Justice of Japan. (2009). Civil Code (Act No. 89 of 1896). [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 12 September 2009).
- Phillipe Malaurie, Laurent Aynès & Pierre-Yves Gautier. (2004). Les contrats spéciaux. (4e édition) Paris : Cujas. ISBN 978-2-85623-052-7.
- Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).
- The Napoleon Series. (2009). French Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
ดูเพิ่ม
[แก้]- คำพิพากษาศาลฎีกา เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วัตถุประสงค์ของสัญญา ดู ฎ.1407/2538, 643/2480
- การคืนทรัพย์สินที่ยืม ดู ฎ.1554-1555/2512
- ความรับผิดในการคืนทรัพย์สินอันเป็นพ้นวิสัย ดู ฎ.534/2506, 1180/2519, 3451/2524, 7416/2548, 1451/2522, 2766/2551
- อายุความหกเดือน ดู ฎ.785/2476, 2589/2526, 566/2536
- อายุความสิบปี ดู ฎ.2589/2526, 2566/2536