ข้ามไปเนื้อหา

ยุคคามากูระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยุคคะมะกุระ)

ยุคคามากูระ (ญี่ปุ่น: 鎌倉時代โรมาจิKamakura-jidai) ตรงกับ ค.ศ. 1185 - 1333 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นการปกครองระบบศักดินาโดยจักรพรรดิเป็นผู้มีอำนาจการปกครอง แต่เพียงในนามรัฐบาลทหารที่เรียกว่า คะมะกุระ บะกุฟุ ซึ่งมีโชกุนเป็นหัวหน้าปกครองประเทศในนามจักรพรรดิมีอำนาจเด็ดขาดทั้งทางการเมืองและการทหาร มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโชกุนคนแรกจัดตั้งรัฐบาลทหารมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองคามากูระ ส่วนจักรพรรดิประทับที่เมืองเฮอัง ในยุคคามากูระญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานจากกองทัพมองโกลภายใต้การนำของ กุบไลข่าน ในสมัย ราชวงศ์หยวน ซึ่งโดนโจมตีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1274 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1281 แต่กองทัพมองโกลเข้าโจมตีญี่ปุ่นไม่สำเร็จเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยกองทัพมองโกลได้รุกรานสู่ญี่ปุ่นโดยเข้าโจมตีภาคเหนือของเกาะคีวชู กองทัพทหารได้ทำการต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ประกอบกับภัยธรรมชาติเป็นส่วนช่วยเหลือ ญี่ปุ่นจึงรอดพ้นจากอันตรายมาได้ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมอำนาจในการควบคุมชนชั้นนักรบของรัฐบาลทหารสงครามครั้งนี้ได้สร้างความอ่อนแอให้กับรัฐบาลทหารคะมะกุระอย่างมากส่วนความเจริญทางด้านวัฒนธรรมนั้น

วัฒนธรรมของชนชั้นนักรบได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยมีวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองเป็นรากฐาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของชนชั้นนักรบไว้ อันได้แก่ ความมีพลวัตร และการสะท้อน ความเป็นจริงอย่างเรียบง่าย ในด้านศาสนา พุทธศาสนาแบบคะมะคุระก็ได้กำเนิดขึ้นโดยพระเถระผู้มีชื่อเสียง อย่าง โฮเน็น (Hounen) ชินรัน (Shinran) และนิฉิเรน (Nichiren) เป็นต้น นักรบฝั่งที่ราบคันโตจะนับถือศาสนาเซนอันได้รับการถ่ายทอดจากจีนแผ่นดินซ้องในศตวรรษที่ 12 เป็นหลัก รูปแบบศิลปะใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ อย่างเช่น ปฏิมากรรมสมัยคะมะคูระตอนต้นนั้น จะมีลายเส้นที่หนักแน่นมีพลังเหมือนของจริง และแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ วรรณศิลป์ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ชนชั้นนักรบนิยม เช่น “เฮเคะ โมโนงาตาริ (Heike Monogatari) ” ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 13 เป็นผลงานที่ดีที่สุดในจำนวนนิยายเกี่ยวกับการสู้รบ และก็ยังมีหนังสือรวบรวมบทเรียงความเรื่อง “โฮโจกิ (Houjouki) ” ซึ่งแต่งในศตวรรษที่ 13 และ “สึเรซูเรงูซะ (Tsurezuregusa) ” ซึ่งแต่งในศตวรรษที่ 14

ประวัติศาสตร์

[แก้]

การจัดตั้งบากูฟุ

[แก้]
ยุทธนาวีทังโนะอุระ

ในช่วงปลายยุคเฮอังราชสำนักญี่ปุ่นเมืองเกียวโตตกอยู่ภายใต้การครอบงำของตระกูลไทระซึ่งมีผู้นำคือไทระ โนะ คิโยะโมะริ ในค.ศ. 1180 เจ้าชายโมะชิฮิโตะได้ออกประกาศรณรงค์สงครามให้ซะมุไรตระกูลเซวะเง็นจิ (清和源氏) หรือตระกูลมินะโมะโตะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ทั่วญี่ปุ่น ลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองตระกูลไทระ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเก็มเป (源平合戦) มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ (源頼朝) ด้วยความช่วยเหลือของ โฮโจ โทะคิมะซะ (北条時政) ตั้งตนเป็นใหญ่ในภูมิภาคคันโตทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองคามากูระ (鎌倉) ในขณะเดียวกันในภาคตะวันตกมินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะ สามารถเอาชนะตระกูลไทระได้ในยุทธนาวีดังโนะอุระ (Dan-no-ura) ในค.ศ. 1185 ทำให้ตระกูลไทระต้องพบกับจุดจบลงและอำนาจในการปกครองย้ายมาอยู่ที่โยะริโตะโมะ ในค.ศ. 1189 โยะริโตะโมะทำสงครามโอชู (奥州合戦) ต่อสู้กับตระกูลฟุจิวะระแห่งโอชูจนสามารถผนวกภูมิภาคโทโฮะกุเข้ามาในการปกครองได้ในที่สุด ในค.ศ. 1192 โยะริโตะโมะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเซอิไทโชกุน (征夷大将軍)

สมัยคะมะคุระเป็นสมัยแรกที่นักรบหรือซามูไร () ขึ้นมากลายเป็นชนชั้นปกครองแทนที่พระจักรพรรดิและนักปราชญ์ที่เป็นพลเรือนดังที่เคยเป็นมาในยุคเฮอัง มีผู้นำของการปกครองคือโชกุนซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองคะมะกุระ หรือเรียกว่า คามาคูระ-โดโนะ (鎌倉殿) มีอำนาจเสมอเหมือนเป็นเจ้าผู้ปกครองญี่ปุ่นแทนที่พระจักรพรรดิ สถานที่จัดการปกครองไม่มีความหรูหราเช่นเกียวโตทำให้ศูนย์การปกครองที่คะมะคุระถูกเรียกว่า รัฐบาลเต็นต์ หรือ บากูฟุ (幕府) มีสภาขุนนางซึ่งมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการปกครองเรียกว่า มันโดะโกะโระ (政所) สงครามทำให้ชนชั้นนักรบได้เข้าครอบครองที่ดินต่างๆซึ่งแต่ก่อนเป็นของราชสำนักเกียวโต เป็นจุดเริ่มต้นของญี่ปุ่นสมัยศักดินา โดยนักรบที่เป็นนายจะแบ่งที่ดินให้แก่ข้ารับใช้ของตนตามระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) โดยที่ซะมุไรผู้ถือครองที่ดินเรียกว่า จิโต (地頭) ในขณะที่บากูฟุแต่งตั้งซะมุไรไปปกครองแว่นแคว้นเรียกว่า ชูโง (守護) ทับซ้อนกับระบอบเจ้าผู้ปกครองแคว้นเดิมที่ได้รับแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโต

การขึ้นสู่อำนาจของตระกูลโฮโจ

[แก้]

เมื่อโยะริโมะโตะเสียชีวิตในค.ศ. 1199 มินะโมะโตะ โนะ โยะริอิเอะ (源頼家) บุตรชายของโยะริโตะโมะสืบทอดตำแหน่งผู้นำตระกูลเซวะเง็นจิต่อมา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโชกุนในค.ศ. 1202 แต่ทว่าบรรดาซะมุไรข้ารับใช้เก่าของโยะริโตะโมะต่างเห็นพ้องต้องกันว่าโยะริอิเอะไม่มีความสามารถในการปกครอง จึงจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนขึ้นในค.ศ. 1200 ประกอบด้วยซะมุไรจำนวนสิบสามคนเพื่อทำหน้าปกครองบะกุฟุแทนโยะริอิเอะ ตระกูลทางฝ่ายมารดาของโยะริอิเอะ คือ ตระกูลโฮโจ (北条) นำโดยโฮโจ โทะกิมะซะ ผู้ซึ่งเป็นตาของโยะริอิเอะ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำมันโดะโกะโระเป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนเรียกว่า ชิกเก็ง (執権) และโฮโจ มะซะโกะ (北条政子) มารดาของโยะริอิเอะ ได้ขึ้นมามีอำนาจเหนือบะกุฟุ โดยที่โชกุนเป็นเพียงหุ่นเชิด ตระกูลโฮโจได้ดำเนินการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองต่างๆทำให้สามารถขึ้นมีมีอำนาจเหนือบะกุฟุได้ในที่สุด โชกุนโยะริอิเอะมีความเอนเอียงไปทางตระกูลฮิกิ (比企) ซึ่งเป็นตระกูลฝ่ายภรรยาของโยะริอิเอะ นำโดยฮิกิ โยะชิกะซุ (比企能員) ในค.ศ. 1203 ตระกูลโฮโจได้เข้าทำการกวาดล้างตระกูลฮิกิอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม และทำการปลดโยะริอิเอะออกจากตำแหน่งโชกุนแล้วเนรเทศไปยังแคว้นอิซุ ตั้งน้องชายของโยะริอิเอะคือ มินะโมะโตะ โนะ ซะเนะโตะโมะ (源実朝) เป็นโชกุนคนต่อมา โทะกิมะซะส่งคนไปทำการลอบสังหารโยะริอิเอะในปีต่อมาค.ศ. 1204

ตระกูลโฮโจยังคงดำเนินการกำจัดคู่แข่งต่อไป เช่น ฮะตะเกะยะมะ ชิเงะตะดะ (畠山重忠) ในค.ศ. 1205 และตระกูลวะดะ (和田) ในค.ศ. 1213 ในค.ศ. 1205 โทะกิมะซะได้สมคบคิดกับภรรยาคนใหม่ของตนคือนางมะกิ (牧の方) วางแผนลอบสังหารโชกุนซะเนะโตะโมะเพื่อที่จะยกฮิระงะ โทะโมะมะซะ (平賀朝雅) ผู้เป็นบุตรเขยของตนขึ้นเป็นโชกุนแทน ทำให้มะซะโกะบุตรสาวและโฮโจ โยะชิโตะกิ (北条義時) บุตรชายผู้สืบทอดตำแหน่งของตนไม่พอใจ จึงเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากบิดาของตน บังคับให้โทะกิมะซะปลงผมบวชเป็นพระภิกษุแล้วเนรเทศไปยังแคว้นอิซุ โยะชิโตะกิจึงได้เป็นชิกเก็งต่อจากบิดา เมื่อโชกุนซะเนะโตะโมะไม่มีทายาท นางมะซะโกะจึงเดินทางไปยังเมืองเกียวโตเข้าเฝ้าอดีตจักรพรรดิโกะ-โทะบะในค.ศ. 1219 เพื่อทูลขอเจ้าชายมาดำรงตำแหน่งเป็นโชกุน แต่กลับได้คุโจ โยะริสึเนะ (九条頼経) บุตรชายของคัมปะกุอายุเพียงหนึ่งปีมาเป็นทายาทโชกุน ในปีเดียวกันนั้นเองโชกุนซะเนะโตะโมะถูกลอบสังหารโดยภิกษุคุเงียว (公暁) ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตโชกุนโยะริอิเอะ ทำให้ตระกูลเซวะเง็นจิที่ดำรงตำแหน่งโชกุนต้องสิ้นสุดลง

รัฐบาลโชกุนคะมะกุระมีอำนาจเต็มอยู่ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันทางภาคตะวันตกนั้นราชสำนักเกียวโตยังคงมีอำนาจอยู่ เมื่อทางบะกุฟุเกิดเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจหลายครั้ง ราชสำนักเกียวโตนำโดยอดีตจักรพรรดิโกะ-โทะบะจึงฉวยโอกาสแข็งข้อต่อต้านการครอบงำของบะกุฟุคะมะกุระ โดยปฏิเสธที่จะทำการแต่งตั้งโชกุนคนใหม่ ในค.ศ. 1221 อดีตจักรพรรดิโกะ-โทะบะมีพระราชโองการประกาศให้ชิกเก็งโยะชิโตะกิเป็นอาชญากร และจัดเตรียมกองทัพเพื่อป้องกันเมืองเกียวโต นำไปสู่สงครามโจคิว (承久の乱) ฝ่ายโยะชิโตะกิได้ส่งโฮโจ ยะซุโตะกิ (北条泰時) ผู้เป็นบุตรชาย และโฮโจ โทะกิฟุซะ (北条時房) ผู้เป็นน้องชาย ยกทัพไปทางตะวันตกและสามารถเข้ายึดเมืองเกียวโตได้ในเวลานรวดเร็ว อดีตจักรพรรดิโกะโทะบะรวมทั้งองค์จักรพรรดิพระโอรสและพระนัดดาต่างถูกเนรเทศ นับแต่นั้นมาราชสำนักเกียวโตก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบะกุฟุอย่างแท้จริง มีการก่อตั้ง โระกุฮะระ ทังได (六波羅探題) เปรียบเสมือนเป็นสาขาสองของบะกุฟุตั้งอยู่ที่เขตโระกุฮะระในเมืองเกียวโต เพื่อคอยควบคุมดุแลราชสำนัก โดยมีโฮโจ ยะซุโตะกิและโทะกิฟุซะเป็นโระกุฮะระทังไดสองคนแรก

ชิกเก็งยะซุโตะกิและโทะกิโยะริ

[แก้]
โฮโจ โทะกิโยะริ

ชิกเก็งโยะชิโตะกิถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1226 และนางมะซะโกะเสียชีวิตในค.ศ. 1227 โฮโจ ยะซุโตะกิ สืบทอดตำแหน่งชิกเก็งจากโยะชิโตะกิบิดาของตนในค.ศ. 1226 และมีการแต่งตั้งคุโจ โยะริซึเนะ ให้เป็นโชกุนในปีเดียวกัน ชิกเก็งยะซุโตะกิแต่งตั้งโทะกิฟุซะผู้เป็นอาให้ดำรงตำแหน่งเป็น เร็งโช (連署) หรือรองผู้สำเร็จราชการเป็นคนแรก ในสมัยของชิกเก็งยะซุโตะกิมีการวางรากฐานการปกครองของคะมะกุระ โดยมีการจัดตั้งเฮียวโจชู (評定衆) ไว้เป็นสภาที่คอยอนุมัติเห็นชอบนโยบายของชิกเก็ง และในค.ศ. 1232 มีการออกกฎหมาย โกะเซไบ ชิโมะกุ (御成敗式目) หรือ กฎหมายปีโจเอ เป็นกฎหมายของชนชั้นซะมุไรฉบับแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น สมัยของชิกเก็งยะซุโตะกิถือเป็นสมัยที่รุ่งเรืองและสงบสุขที่สุดของรัฐบาลคะมะกุระ

ชิกเก็งยะซุโตะกิถึงแก่อสัญกรรมเมื่อค.ศ. 1242 โฮโจ ซึเนะโตะกิ (北条経時) ผู้เป็นหลานชายสืบทอดตำแหน่งต่อมา แต่ทว่าโชกุนคุโจโยะริสึเนะได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และต้องการที่จะมีอำนาจในการปกครอง ในค.ศ. 1244 ชิกเก็งซึเนะโตะกิจึงทำการปลดโชกุนโยะริสึเนะออกจากตำแหน่ง และให้บุตรชายคือคุโจ โยะริสึงุ (九条頼嗣) ขึ้นเป็นโชกุนแทน แม้กระนั้นอดีตโชกุนโยะริสึเนะยังคงมีอำนาจเหนือโชกุนอายุน้อยที่เป็นบุตรชายของตน และวางแผนก่อการยึดอำนาจจากตระกูลโฮโจด้วยการสนับสนุนจากตระกูลมิอุระ (三浦) ซึ่งเป็นตระกูลคู่แข่งที่สำคัญของตระกูลโฮโจ ชิกเก็งซึเนะโตะกิถึงแก่อสัญกรรมเมื่อค.ศ. 1246 โฮโจ โทะกิโยะริ (北条時頼) ผู้เป็นน้องชายสืบทอดตำแหน่งชิกเก็งต่อมา มีการค้นพบแผนการยึดอำนาจของอดีตโชกุนโยะริซึเนะ ในการที่จะสนับสนุนให้ นะโงะเอะ มิซึโตะกิ (名越光時) ญาติห่างๆของโทะกิโยะริขึ้นเป็นชิกเก็งแทน ด้วยความช่วยเหลือของตระกูลมิอุระ นำโดย มิอุระ ยะซุมุระ (三浦泰村) ชิกเก็งโทะกิโยะริจึงเนรเทศอดีตโชกุนโยะริซึเนะให้กลับไปเมืองเกียวโต เรียกเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1246 นี้ว่า มิยะ-โซโด (宮騒動)

และด้วยการยุยงของอะดะชิ โยะชิกะเงะ (安達義景) ชิกเก็งโทะกิโยะริตัดสินใจทำสงครามกวาดล้างตระกูลมิอุระในค.ศ. 1247 เรียกว่า สงครามโฮจิ (宝治の乱) เป็นผลให้ตระกูลมิอุระถูกกวาดล้างและชิกเก็งตระกูลโฮโจปราศจากคู่แข่งมีอำนาจล้นเหลือจนเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการ ในค.ศ. 1252 ชิกเก็งโทะกิโยะริตัดสินใจที่จะปลดโชกุนโยะริซึงุออกจากตำแหน่ง แล้วโทะกิโยะริจึงเดินทางเพื่อส่งอดีตโชกุนกลับไปยังเมืองเกียวโต พร้อมกันนั้นได้ทูลขอเจ้าชายจากราชสำนักเกียวโตมาเพื่อเป็นโชกุนคนใหม่ จักรพรรดิโกะ-ซะงะจึงประทานพระโอรสคือเจ้าชายมุเนะตะกะ (宗尊親王) เสด็จมายังเมืองคะมะกุระเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโชกุน นับแต่นั้นมาโชกุนคะมะกุระจึงเป็นเจ้าชายจากเกียวโต

การรุกรานของมองโกล

[แก้]

ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสามจักรวรรดิมองโกลกำลังเรืองอำนาจทั่วเอเชีย ได้เข้าปกครองจีนตอนเหนือ ในค.ศ. 1259 อาณาจักรโครยอ (Goryeo) ของเกาหลีตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวน (Yuan) ซึ่งมีฮ่องเต้คือกุบไลข่าน (Kublai Khan) กุบไลข่านมีความทะเยอทะยานต้องการที่จะเข้ายึดญี่ปุ่นเป็นประเทศราช แต่ชาวมองโกลไม่มีความรู้ในด้านการรบทางทะเลต้องอาศัยความช่วยเหลือและทรัพยากรของอาณาจักรโครยอ ในค.ศ. 1268 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตผ่านพระเจ้าชุงยอลแห่งโครยอมายังญี่ปุ่นโดยลงจอดที่เกาะคีวชูเพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมสยบเป็นประเทศราชของจักรวรรดิมองโกลโดยสันติวิธี แต่ทางบะกุฟุนำโดยชิกเก็งโฮโจ โทะกิมุเนะ (北条時宗) บุตรของชิกเก็งโทะกิโยะริ และอะดะชิ ยะซุโมะริ (安達泰盛) ตัดสินใจที่จะเพิกเฉยต่อสาสน์ของกุบไลข่าน กุบไลข่านยังคงส่งทูตผ่านทางเกาหลีมาอีกในค.ศ. 1271 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นเคย เมื่อถูกคุกคามจากจักรวรรดิมองโกล ในค.ศ. 1272 ญี่ปุ่นภายใต้การนำของชิกเก็งโทะกิมุเนะจึงมีการปรับโครงสร้างการปกครองใหม่และกวาดล้างผู้ที่ต่อต้านอำนาจของโทะกิมุเนะซึ่งนำโดย นะโงะเอะ โทะกิอะกิ (名越時章) และโฮโจ โทะกิซุเกะ (北条時輔) ผู้เป็นพี่ชายของโทะกิมุเนะ ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า นิงะสึ-โซโด (二月騒動)

ภาพวาด Mōko Shūrai Ekotoba แสดง ทะเกะซะกิ ซุเอะนะงะ (Takezaki Suenaga) กำลังต่อสู้กับทหารมองโกลและเกาหลี ซุเอะนะงะวาดภาพการต่อสู้นี้ขึ้นเองเพื่ออ้างสิทธิ์ในการปูนบำเหน็จจากบะกุฟุ

ในค.ศ. 1274 กุบไลข่านจึงตระเตียมกำลังพลผสมระหว่างมองโกลและเกาหลีเพื่อเข้ารุกรานญี่ปุ่น นำโดยฮินตู (Hintu) ขุนพลฝ่ายมองโกล ฮงดากู (Hong Dagu) ขุนพลชาวเกาหลี ยกทัพเรือข้ามทะเลมาเทียบท่าที่อ่าวฮะกะตะ (博多) บนเกาะคีวชู เรียกว่า การรุกรานปีบุงเอ (文永の役) ฝ่ายญี่ปุ่นมีโชนิ ซุเกะโยะชิ (少弐資能) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นชินเซ บุเงียว (鎮西奉行) หรือผู้ปกครองเกาะคีวชู นำทัพญี่ปุ่นเข้าห้ำหั่นแต่ไม่สามารถทัดทานทัพผสมมองโกล-เกาหลีได้ จนกระทั่งมีลมพายุพัดเข้าอ่านฮะกะตะทำลายเรือของทัพมองโกลลงไปมาก ทำให้ฝ่ายมองโกลต้องถอยหนีกลับไป ชาวญี่ปุ่นจึงยกย่องลมนี้ว่าเป็น คะมิกะเซะ (神風) หรือลมที่เทพเจ้าส่งมาเพื่อปกป้องญี่ปุ่นจากผู้รุกราน

แม้กระนั้นกุบไลข่านก็ยังไม่ลดละ ในค.ศ. 1275 กุบไลข่านส่งทูตมาอีกครั้งโดยไม่ผ่านเกาหลี แต่คณะทูตมองโกลถูกจับกุมไปยังเมืองคะมะกุระและถูกสังหาร ชิกเก็งโทะกิมุเนะเกรงว่าพวกมองโกลจะยกมาอีกจึงให้มีการเตรียมการรองรับการรุกรานของมองโกลไว้พร้อม หลังจากที่พิชิตราชวงศ์ซ่งใต้ได้แล้ว มองโกลจึงส่งทูตมาญี่ปุ่นอีกครั้งในค.ศ. 1279 แต่ชาวญี่ปุ่นได้สังหารคณะทูตมองโลกทันทีที่ขึ้นฝั่งอ่าวฮะกะตะ ในค.ศ. 1281 กุบไลข่านจึงส่งทัพเรือเข้ารุกรานญี่ปุ่นอีกครั้งเรียกว่า การรุกรานปีเคอัง (弘安の役) โดยใช้ทั้งกองทัพเรือของอาณาจักรโครยอ และทัพเรือของราชวงศ์ซ่งใต้ขนาดมหึมา ฝ่ายมองโกลวางแผนให้ทัพเรือซ่งใต้มาสมทบกับทัพเรือเกาหลีเพื่อเข้ารุกรานญี่ปุ่น แต่ทัพเรือจีนเกิดความล่าช้ามาสมทบไม่ทัน ทัพเรือเกาหลีจึงเข้าโจมตีแต่ฝ่ายญี่ปุ่นเตรียมการมาดีจึงสามารถต้านทานได้ ลมพายุคะมิกะเซะพัดเข้ามาอีกครั้งทำลายทัพเรือเกาหลีจนต้องล่าถอยกลับไป

การเรืองอำนาจของมิอุชิบิโตะ และ จุดจบของคะมะกุระบะกุฟุ

[แก้]

โทะกิมุเนะถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1284 โฮโจ ซะดะโตะกิ (北条貞時) ผู้เป็นบุตรชายจึงสืบทอดตำแหน่งชิกเก็งต่อมา แต่การปกครองบะกุฟุนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของอะดะชิ ยะซุโมะริ ผู้เป็นตาของซะดะโตะกิ จนกระทั่งเกิดข่าวลือว่ายะซุโมะริหมายจะยกบุตรชายของตนเองขึ้นเป็นโชกุน ซะดะโตะกิจึงมอบหมายให้ข้ารับใช้คนสนิทคือ ไทระ โนะ โยะริซึนะ (平頼綱) นำทัพเข้าโจมตีกวาดล้างตระกูลอะดะชิ ในเหตุการณ์เรียกว่า ชิโมะซึกิ-โซโด (霜月騒動) ยะซุโมะริกระทำเซ็ปปุกุ ทำให้ตระกูลอะดะชิสูญสิ้นไป ไทระ โนะ โยะริซึเนะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น มิอุชิบิโตะ (御内人) หรือหัวหน้าคนรับใช้ประจำตระกูลโฮโจ ขึ้นมามีอำนาจแทนจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในค.ศ. 1293 เกิดข่าวลืออีกครั้งว่าโยะริซึเนะจะยกบุตรชายของตนขึ้นเป็นโชกุนอีกเช่นกัน ชิกเก็งซะดะโตะกิจึงส่งกำลังพลไปทำการสังหารโยะรึซึนะไปเสีย และขึ้นมามีอำนาจปกครองบะกุฟุด้วยตนเอง การปกครองของชิกเก็งซะดะโตะกิถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของบะกุฟุคะมะกุระเนื่องจากชิกเก็งมีความอ่อนแอและอำนาจจึงตกแก่ข้ารับใช้คนสนิทของชิกเก็ง

ในค.ศ. 1303 ซะดะโตะกิสละตำแหน่งชิกเก็งให้แก่บุตรชายของตนคือ โฮโจ ทะกะโตะกิ (北条高時) อายุเพียงแปดปี อำนาจการปกครองจึงตกแก่อะดะชิ โทะกิอะกิ (安達時顕) มิอุชิบิโตะ นะงะซะกิ เอ็งกิ (長崎円喜) และนะงะซะกิ ทะกะซุเกะ (長崎高資) บุตรชายของเอ็งกิ ในค.ศ. 1324 เกิดข่าวลือว่าจักรพรรดิโกะ-ไดโงทรงวางแผนที่จะโค่นล้มรัฐบาลบะกุฟุ มีการลงโทษประหารชีวิตขุนนางที่เมืองเกียวโต แม้ว่าองค์จักรพรรดิจะทรงปฏิเสธแต่บะกุฟุยังคอยจับจ้ององค์จักรพรรดิอยู่เสมอ

ต่อมาในค.ศ. 1331 แผนการโค่นล้มบะกุฟุของจักรพรรดิโกะ-ไดโงถูกเปิดเผยอีกครั้ง องค์จักรพรรดิจึงเสด็จลี้ภัยไปยังคะซะงิยะมะ (笠置山) ใกล้กับเมืองเกียวโตแต่บะกุฟุสามารถเข้าบุกจับกุมองค์จักรพรรดิได้และเนรเทศองค์จักรพรรดิไปยังเกาะโอะกิ (隠岐) แต่ขุนพลซะมุไรฝ่ายจักรพรรดินำโดย คุซุโนะกิ มะซะชิเงะ (楠木正成) ยังคงทำสงครามต่อต้านตระกูลโฮโจต่อไป เรียกว่า สงครามปีเก็งโก (元弘の乱) จนกระทั่งในค.ศ. 1333 องค์จักรพรรดิเสด็จหลบหนีจากเกาะโอะกิมาได้ ทำให้ขุนพลฝ่ายบะกุฟุคือ อะชิกะงะ ทะกะอุจิ (足利尊氏) แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายองค์พระจักรพรรดิ นำทัพเข้ายึดเมืองเกียวโตได้สำเร็จ และนิตตะ โยะชิซะดะ (新田義貞) สามารถเข้ายึดเมืองคะมะกุระได้ โฮโจ ทะกะโตะกิ นำสมาชิกตระกูลโฮโจและขุนนางในบะกุฟุร่วมหลายร้อยชีวิตกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปเพื่อหนีความพ่ายแพ้ เป็นอวสานแห่งตระกูลโฮโจและรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ นำไปสู่การฟื้นฟูเค็มมุ (Kemmu Restoration)

พุทธศาสนา

[แก้]
พระภิกษุโฮเน็ง ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายแดนบริสุทธิ์ในญี่ปุ่น หรือนิกายโจโด

ในยุคคามากูระนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการพุทธศาสนาญี่ปุ่นจากการนำเข้าพุทธศาสนานิกายใหม่จากประเทศจีน ได้แก่นิกายแดนบริสุทธ์ หรือนิกายโจโด (ญี่ปุ่น: 浄土宗โรมาจิJōdo-shū) และนิกายเซ็น แม้ว่าโชกุนบากูฟุคามากูระมีอำนาจปกครองในทางโลก แต่อำนาจในการปกครองศาสนายังคงอยู่ที่สถาบันพระจักรพรรดิ เดิมทีนับตั้งแต่ยุคเฮอังพุทธศาสนาวัชรยานซึ่งเน้นเกี่ยวกับพิธีกรรมไสยศาสตร์ประกอบด้วยนิกายเท็งได (ญี่ปุ่น: 天台โรมาจิTendai) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดบนเขาฮิเอ (ญี่ปุ่น: 比叡山โรมาจิHiei-zan) และนิกายชิงงอน (ญี่ปุ่น: 真言โรมาจิShingon) ผสมผสานกับศาสนาชินโตซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น กลายเป็นศาสนาชินโตรวมกับพุทธมหายาน (ญี่ปุ่น: 神仏習合โรมาจิShinbutsu-shūgō ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักพระจักรพรรดิญี่ปุ่นและชนชั้นขุนนางในเมืองเกียวโต นอกจากนี้ยังมีสำนักพุทธมหายานหกสำนักแห่งเมืองนาระ (Six Schools of Nara) พุทธศาสนามหายานนิกายที่รุ่งเรืองมาก่อนสมัยคามากูระเรียกรวมกันว่า "พุทธศาสนาเก่า" ในขณะที่นิกายแดนบริสุทธิ์ นิกายเซ็น และนิกายนิจิเร็งซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยคามากูระนั้นเรียกว่า "พุทธศาสนาใหม่"

นิกายแดนสุขาวดี

[แก้]

ในค.ศ. 1175 พระภิกษุโฮเน็ง (ญี่ปุ่น: 法然โรมาจิHōnen) แห่งเขาฮิเอได้ศึกษางานเขียนของพระภิกษุชาวจีนเกี่ยวกับแนวความคิดของนิกายแดนบริสุทธิ์เรื่องเนมบูตสึ (ญี่ปุ่น: 念仏โรมาจิNenbutsu) หรือการกล่าวอมิตาพุทธ นิกายแดนบริสุทธิ์เน้นถึงการกล่าวคำว่าอมิตาพุทธสามารถทำให้หลุดพ้นเข้าสู่แดนสุขาวดีหรือแดนบริสุทธิ์ของพระอมิตาภพุทธะได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมที่ซับซ้อน พระภิกษุโฮเน็งมีความเห็นว่าพุทธศาสนาวัชรยานเน้นพิธีกรรมไสยศาสตร์มากกว่าการแสวงหาทางหลุดพ้น จึงเดินทางออกจากเขาฮิเอมาเผยแพร่หลักคำสอนของนิกายแดนบริสุทธิ์ให้แก่ชนชั้นซามูไรและชาวบ้านทั่วไปซึ่งแต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงพุทธศาสนาวัชรยานได้ อย่างไรก็ตามนิกายแดนบริสุทธิ์ซึ่งเป็นนิกายใหม่ของญี่ปุ่นถูกต่อต้านจากราชสำนักเกียวโตและพระสงฆ์นิกายอื่นๆ ซึ่งมองว่านิกายแดนบริสุทธิ์เป็นลัทธินอกรีต ในค.ศ. 1207 พระจักรพรรดิโกะ-โทะบะมีพระราชโองการให้เนรเทศพระภิกษุโฮเน็งและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย และห้ามการเผยแพร่แนวความคิดเรื่องเนมบูตสึ พระภิกษุโฮเน็งถูกเนรเทศไปยังเกาะชิโกกุต่อมาค.ศ. 1211 ทางราชสำนักเกียวโตให้อภัยโทษแก่โฮเน็งและอนุญาตให้เผยแพร่เน็มบูตสึอีกครั้ง ทำให้โฮเน็งเดินทางกลับมายังนครหลวงเกียวโตได้และมรณภาพในปีต่อมา พระภิกษุโฮเน็งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายแดนบริสุทธิ์ หรือนิกายโจโดในญี่ปุ่น

บรรดาลูกศิษย์ของพระโฮเน็งถูกเนรเทศไปยังแคว้นต่างๆในญี่ปุ่นต่างแยกตัวออกไปก่อตั้งสำนักของตนเอง พระภิกษุเบงโช (ญี่ปุ่น: 弁長โรมาจิBenchō) ซึ่งถูกเนรเทศไปยังเกาะคีวชูก่อตั้งสำนักชินเซ (ญี่ปุ่น: 鎮西โรมาจิChinzei ซึ่งแปลว่า เกาะคีวชู) ต่อมาสำนักชินเซได้เผยแพร่ไปยังเมืองคามากูระ ทำให้สำนักชินเซกลายเป็นสำนักหลักของนิกายโจโด นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุชินรัง (ญี่ปุ่น: 親鸞โรมาจิShinran) ผู้ก่อตั้งนิกายแดนบริสุทธิ์ที่แท้จริง หรือนิกายโจโดชิน (ญี่ปุ่น: 浄土真宗โรมาจิJōdo-shinshū) แยกออกไปเป็นนิกายใหม่

นิกายเซ็น

[แก้]
วัดโคโตกูอิง ที่เมืองคามากูระ เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายแดนบริสุทธิ์ รูปหล่อพระพุทธรูปใหญ่ไดบูตสึเป็นรูปของพระอมิตาภพุทธะ เกิดจากการเรี่ยไรเงินของนางอินาดะ (Inada-no-tsubone) หล่อจนแล้วเสร็จในค.ศ. 1252 ในยุคคามากูระ

ในค.ศ. 1168 ภิกษุเอไซ (ญี่ปุ่น: 栄西โรมาจิEisai) แห่งเขาฮิเอ เดินไปยังเขาเทียนไถในประเทศจีนเพื่อศึกษาหลักการเข้าฌานวิปัสสนาในสำนักหลินจี้ (Línjì, 臨濟) หรือริงไซ (Rinzai) พระภิกษุเอไซเดินทางกลับมายังประเทศญี่ปุ่นในค.ศ. 1191 แต่พระภิกษุเอไซยังไม่ได้เผยแพร่นิกายเซ็นซึ่งได้เรียนรู้มาจากประเทศจีนเนื่องจากภัยคุกคามจากนิกายเทนไดซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในเกียวโต จนกระทั่งพระเอไซเดินทางไปยังเมืองคามากูระในค.ศ. 1199 พบกับโชกุนมินาโมโตะ โนะ โยริอิเอะ และนางโฮโจ มาซาโกะ ทำให้รัฐบาลโชกุนคามากูระและชนชั้นซามูไรต่างยอมรับนับถือนิกายเซ็นเป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ซึ่งเน้นเกี่ยวกับการฝึกจิตปฏิบัติตนสอดคล้องกับหลักการของชนชั้นซามูไร พุทธศาสนานิกายเซ็นจึงแตกต่างจากพุทธศาสนานิกายอื่นๆในญี่ปุ่นในประเด็นที่ว่ารัฐบาลโชกุนให้การสนับสนุนและเข้าปกครองนิกายเซ็นโดยตรง ลูกศิษย์ของเอไซชื่อว่าโดเก็ง (ญี่ปุ่น: 道元โรมาจิDōgen) เดินทางไปยังประเทศจีนในค.ศ. 1223 ไปยังมณฑลเจ้อเจียงประเทศจีนเพื่อศึกษานิกายฌานสำนักเฉาต้ง หรือโซโต (ญี่ปุ่น: 曹洞โรมาจิSōtō) เข้ามาในญี่ปุ่นเป็นนิกายเซ็นอีกสำนักหนึ่ง รัฐบาลโชกุนคามากูระจัดตั้งระบบการปกครองนิกายเซ็นแบบลำดับชั้นเรียกว่าระบบปัญจบรรพต หรือ ระบบโกซัง (ญี่ปุ่น: 五山โรมาจิGozan) ซึ่งรับมาจากจีนราชวงศ์ซ่ง คณะสงฆ์นิกายเซ็นถูกปกครองโดยวัดใหญ่ระดับสูงห้าแห่งในเมืองคามากูระ วัดระดับกลางเรียกว่า จีเซตซึ (ญี่ปุ่น: 十刹โรมาจิJissetsu) และวัดระดับล่าง เรียกว่า โชซัง (ญี่ปุ่น: 諸山โรมาจิShozan)

นิจิเร็ง

[แก้]
ภาพมัณฑละโกฮงซง ซึ่งเป็นเครื่องประกอบพิธีบูชาในพุทธศาสนานิกายนิจิเร็ง การสวด "นะโม เมียวโฮ เรงเง เกียว" ต่อหน้าโกฮนซน จะนำมาซึ่งการหลุดพ้น

นิกายนิจิเร็ง (ญี่ปุ่น: 日蓮โรมาจิNichiren) ถือกำเนิดขึ้นจากแนวความคิดและหลักคำสอนของพระภิกษุนิจิเร็ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พระภิกษุนิจิเร็งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายสมัยคามากูระ มีคำสอนยึดถือตามสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นหลัก พระนิจิเร็งได้รับอิทธิพลจากนิกายเทนไดในประเด็นที่ว่ามนุษย์สามารถบรรสุพุทธสภาวะได้ในชาติภพปัจจุบัน แต่พระนิจิเร็งมีความเห็นว่าหลักคำสอนของพุทธศาสนานิกายต่างๆในญี่ปุ่นขณะนั้นทั้งพุทธศาสนาเก่าและพุทธศาสนาใหม่ไม่ใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง มีเพียงสัทธรรมปุณฑริกสูตรเท่านั้นที่เป็นหลักคำสอนที่ถูกต้อง พระนิจิเร็งกล่าวโจมตีนิกายแดนสุขาวดีอย่างรุนแรงในประเด็นเรื่องการสวดอมิตาพุทธหรือเนมบูตสึ นิจิเร็งไม่เห็นด้วยกับนิกายวัชรยานให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมมากเกินไป และไม่เห็นด้วยกับการฝึกจิตปฏิบัติตนของนิกายเซ็นซึ่งยากและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง การที่ประเทศญี่ปุ่นยึดถือตามหลักคำสอนที่ผิดทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆรวมถึงการรุกรานของมองโกล การสวดสัทธรรมปุณฑริกสูตรจะนำความสุขสวัสดิ์มาสู่ประเทศญี่ปุ่น

การที่พระภิกษุนิจิเร็งมีหลักคำสอนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองทำให้เกิดความขัดแย้งกับนิกายอื่นๆและรัฐบาลโชกุน พระนิจิเร็งยื่นเสนองานเขียนเรื่อง "หลักคำสอนที่แท้จริงและถูกต้องเพื่อความสุขสวัสดิ์ของบ้านเมือง" (ญี่ปุ่น: 立正安国論โรมาจิRisshō Ankoku Ron) ต่อรัฐบาลโชกุนคามากูระในสมัยของชิกเก็งโฮโจ โทกิโยริ เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลโชกุนหันมาสนับสนุนหลักคำสอนของตน ต่อมาในสมัยของชิกเก็งโฮโจ โทกิมูเนะ มีคำสั่งให้เนรเทศพระนิจิเร็งไปยังคาบสมุทรอิซุ (Izu peninsula) ในค.ศ. 1261 เป็นเวลาสองปีจากนั้นจึงได้รับการเว้นโทษและเดินทางกลับมายังคามากูระอีกครั้ง ในค.ศ. 1264 เกิดข่าวการรุกรานของมองโกลทำให้นิจิเร็งโจมตีรัฐบาลโชกุนว่านับถือพุทธศาสนาผิดนิกายทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ รัฐบาลโชกุนจึงมีคำสั่งให้นำตัวพระนิจิเร็งไปประหารชีวิต แต่ในขณะที่เพชรฆาตกำลังจะประหารพระนิจิเร็งนั้นเกิดนิมิตมีลูกทรงกลมส่องแสงสว่างเจิดจ้าลอยขึ้นเหนือลานประหารทำให้เพชรฆาตเกิดความหวาดกลัวไม่สามารถประหารพระนิจิเร็งได้ เมื่อประหารพระนิจิเร็งไม่สำเร็จรัฐบาลโชกุนจึงเนรเทศพระนิจิเร็งไปยังเกาะซาโดะอันห่างไกล ขณะที่อยู่บนเกาะซาโดะพระนิจิเร็งเกิดแนวความคิดเรื่องการสวดคาถาว่านามู เมียวโฮ เรงเง เกียว (ญี่ปุ่น: 南無妙法蓮華經โรมาจิNamu Myōhō Renge Kyō) ต่อหน้ามัณฑละเรียกว่าโกฮงซง (ญี่ปุ่น: 御本尊โรมาจิGohonzon) เพื่อแสวงหาการหลุดพ้น หลังจากที่อยู่บนเกาะซาโดะเป็นเวลาเก้าปี พระนิจิเร็งจึงได้รับการยกโทษในค.ศ. 1274 และเดินทางไปจำวัดอยู่ที่เขามิโนบุ (อยู่ที่จังหวัดยามานาชิในปัจจุบัน) พระนิจิเร็งมรณภาพในค.ศ. 1282

หลักคำสอนของพระนิจิเร็งมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขปลอดภัยของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ทำให้นักวิชาการในยุคเมจิตีความหลักคำสอนของนิจิเร็งว่าเป็นลัทธิชาตินิยมรูปแบบหนึ่ง

เหตุการณ์ที่สำคัญ

[แก้]

- ค.ศ. 1192 โยริโตโมะ มินะโมะโตะ ได้รับตำแหน่งโชกุน เป็นจุดเริ่มของการก่อตั้งรัฐบาลคะมะกุระ บะกุฟุ

- ค.ศ. 1203 ซาเนโตโมะ มินะโมะโตะ ขึ้นเป็นโชกุนรุ่นที่สาม โดยมี โทกิมาสะ โฮโจ เป็นผู้สำเร็จราชการโชกุนคนแรกของคะมะกุระ และได้สร้างอำนาจบารมีให้กับตระกูลโฮโจ

- ค.ศ. 1219 โชกุนซาเนโตโมะ ถูกลอบสังหาร ตระกูลโฮโจก็ได้เข้ามามีอำนาจในรัฐบาลโชกุน

- ค.ศ. 1221 เกิดจลาจลโจคิว เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิโกโตบะ อดีตจักรพรรดิ ที่ต้องการทำให้ราชสำนักกลับมามีอำนาจเช่นในอดีต ได้ประกาศว่าผู้แทนโชกุนโยชิโตกิ โฮโจ เป็นกบฏ เรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศลุกขึ้นต่อต้าน โยชิโตกิ จึงได้ส่งกองทัพใหญ่จากคะมะกุระไปปราบทัพของจักรพรรดิโกะโทะเบะ และเข้ายึดเมืองเคียวโตะ

- ค.ศ. 1232 โฮโจ ยะซุโตะกิ ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายโจเอ กฎหมายฉบับนี้ได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีราชสำนักเป็นศูนย์กลางมาเป็นสังคมที่มีทหารเป็นหลัก และเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นเพื่อชนชั้นนักรบโดยเฉพาะ

- ค.ศ. 1252 พระพุทธรูปไดบุทสึแห่งคะมะกุระ (องค์สัมฤทธิ์) ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์

- ค.ศ. 1268 มีการอัญเชิญพระราชสาส์นจากจักรพรรดิกุบไลข่าน แห่งราชวงศ์หยวน (มองโกเลีย) มายังญี่ปุ่น แจ้งช้อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นส่งบรรณาการให้แก่จีน มิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

- ค.ศ. 1274 กองทหารโคไรแห่งราชวงศ์หยวน ยกทัพมาตีทางตอนเหนือของคีวชู นักรบคีวชูสามารถต่อต้านการบุกได้อย่างหวุดหวิด พอดีกับเกิดพายุใหญ่ที่เรียกว่า “คามิคาเซะ” (ลมศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งได้ทำลายกองทัพเรือของพวกมองโกล จึงได้ถอยทัพกลับไป และต่อมาในปี 1281 มองโกลได้ยกทัพมาอีกครั้ง หวังจะปราบญี่ปุ่นให้ราบคาบ แต่ก็ได้เกิดพายุใหญ่อีกครั้ง ทำให้แผนการบุกญี่ปุ่นต้องล้มเหลว

- ค.ศ. 1324 แผนการล้มล้างรัฐบาลโชกุนของจักรพรรดิโกะไดโงะรั่วไหล ทำให้เกิดความรำส่ำระสาย

- ค.ศ. 1331 หัวหน้ากลุ่มกองโจรที่จงรักภัคดีต่อราชบัลลังก์ คุสึโนกิ มะซะชิเกะ ส่งทหารไปล้มล้างรัฐบาลโชกุนที่อากาสาเกะ เขตคะวะชิ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

- ค.ศ. 1333 รัฐบาลโชกุน ส่งแม่ทัพจากเขตตะวันออก ทะกะอุชิ อาชิกางะ ไปปราบกลุ่มของจักรพรรดิโกะไดโงะ ในเขตตะวันตก แต่ ทะกะอุชิ กลับตัดสินใจประกาศสนับสนุนพระเจ้าโกะไดโงะ และยกทัพเข้ามาตีรัฐบาลโชกุนที่เกียวโต ขณะที่ ผู้นำทางเขตตะวันออกอีกคนหนึ่ง โยชิซาดะ นิตตะ ก็ได้แข็งข้อยกกำลังเข้ามาทำลายที่ทำการของตระกูลโฮโจ ที่คะมะกุระ เป็นผลให้รัฐบาลโชกุนคะมะกุระก็ถึงกาลล่มสลาย

อ้างอิง

[แก้]