ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

พิกัด: 14°43′06″N 100°47′19″E / 14.71832°N 100.788692°E / 14.71832; 100.788692
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร
พระมณฑปและบันไดนาค
แผนที่
ชื่อสามัญพระพุทธบาทสระบุรี
ที่ตั้งอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
ความพิเศษสถานที่ประดิษฐานพระพุทธบาท
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
พระมณฑป

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า มีพระภิกษุไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท พระสงฆ์ลังกากล่าวว่า ประเทศไทยก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่แล้วที่เขาสุวรรณบรรพต จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ และได้สืบหาจนพบรอยพระพุทธบาท เพื่อเป็นที่สักการบูชา เป็นศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ พระพุทธบาทสระบุรีเป็นพระอารามหลวง ที่พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและเสด็จไปนมัสการตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติ

[แก้]
รอยพระพุทธบาท
บุษบกครอบรอยพระพุทธบาทในพระมณฑป
พระอุโบสถ
วัดพระพุทธบาทในสมัยรัชกาลที่ 4 วาดโดยอ็องรี มูโอ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปรากฏว่ามีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยคณะหนึ่งเดินทางไปยังลังกาทวีป ด้วยหวังจะสักการบูชาพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ การไปคราวนั้นเป็นเวลาที่พระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังสอบประวัติและที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานว่ามีทั้งสิ้น 5 แห่ง ภายหลังสืบได้ความว่าภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณบรรพต มีอยู่ในสยามประเทศจึงได้นำความดังกล่าวสอบถามพระภิกษุสงฆ์ไทย

เมื่อพระภิกษุสงฆ์คณะนั้นได้รับคำบอกเล่าและกลับมาสู่กรุงศรีอยุธยา จึงนำความขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวงให้เที่ยวตรวจตราค้นภูเขาต่างๆ ว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด

ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรี สืบได้ความจากนายพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งออกไปล่าเนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งเจ็บลำบากหนีขึ้นไปบนไหล่เขา ซุกเข้าเชิงไม้หายไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้เป็นปกติอย่างเก่า นายพรานบุญนึกประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูสถานที่บนไหล่เขาที่เนื้อหนีขึ้นไป ก็พบรอยปรากฏอยู่ในศิลา มีลักษณะเหมือนรูปรอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ และในรอยนั้นมีน้ำขัง นายพรานบุญเข้าใจว่าบาดแผลของเนื้อตัวที่ถูกตนยิงคงหายเพราะดื่มน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัว บรรดาโรคผิวหนังคือ กลากเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื้อรังมาช้านานแล้วก็หายสิ้นไป

เจ้าเมืองสระบุรี จึงสอบสวนความจริงและตรวจค้นพบรอยนั้นสมดังคำบอกเล่าของนายพรานบุญ จึงมีใบบอกแจ้งเรื่องเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่เขานั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นรอยจึงทรงพระราชวิจารณ์ตระหนักแน่ว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตตรสตมหามงคลร้อยแปดประการ ตรงกับเรื่องทีชาวลังกาทวีปแจ้ง เกิดพระราชศรัทธาและทรงพระราชดำริเห็นว่ารอยพระพุทธบาทย่อมจัดเป็นบริโภคเจดีย์แท้ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระสถูปเจดีย์ สมควรยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤหหลังน้อย สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังราชธานี จึงทรงสถาปนายกที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นเจดียสถานเป็นการสำคัญ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดเดี่ยวสวมรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ให้เป็นที่สำหรับพระภิกษุอยู่แรม เพื่อทำการบริบาลพระพุทธบาท ทรงพระราชศรัทธาอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธเกษตรต่างพุทธบูชา บรรดากัลปนาผล ซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงจากเนื้อที่นั้นให้ใช้จ่ายเป็นค่าบำรุงรักษาพระมหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท ทรงยกที่พุทธเกษตรส่วนนี้ให้เป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองปรันตปะ แต่นามสามัญเรียกกันว่า เมืองพระพุทธบาท ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่พระพุทธบาทพ้นจากหน้าที่ราชการอย่างอื่นสิ้น ตั้งให้เป็นพวกขุนโขลนเป็นข้าปฏิบัติบูชารักษาพระพุทธบาทแต่หน้าที่เดียว

นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานราชทินนามบรรดาศักดิ์ประจำตำแหน่งผู้รักษาการพระพุทธบาท หัวหน้าเป็นที่ ขุนสัจจพันธ์คีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน รองลงมาเป็นที่ หมื่นสุวรรณปราสาท หมื่นแผ้วอากาศ หมื่นชินธาตุ หมื่นศรีสัปบุรุษ ทั้ง 4 คนนี้ เป็นผู้รักษาเฉพาะองค์พระมณฑป ตั้งนายทวารบาล 4 นาย เป็นที่ หมื่นราชบำนาญทมุนิน หมื่นอินทรรักษา หมื่นบูชาเจดีย์ หมื่นศรีพุทธบาล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคลังสำหรับเก็บวัตถุสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายเป็นพุทธบูชา ให้ผู้รักษาคลังเป็นที่ ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนพรหมรักษา หมื่นพิทักษ์สมบัติ หมื่นพิทักษ์รักษา ให้มีผู้ประโคมยามประจำทั้งกลางวันกลางคืนเป็นพุทธบูชา ตั้งเป็นที่ หมื่นสนั่นไพเราะ หมื่นเสนาะเวหา พันเสนาะ รองเสนาะ ทรงกำหนดเทศกาลสำหรับให้มหาชนขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทเดือน 3 ครั้ง 1 และเดือน 4 ครั้ง 1 เป็นประเพณีตั้งแต่นั้นมา

การเดินทาง

[แก้]

จากกรุงเทพมหานคร เดินทางโดยใช้ถนนพหลโยธิน เมื่อถึงช่วงกิโลเมตรที่ 136 มีทางเลี้ยวซ้าย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3020) แล้วให้ตรงไปเพื่อเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เดินทางโดยรถไฟ ลงที่สถานีหนองโดน ใช้บริการสองแถวสาย 1030 พระพุทธบาท - หนองโดน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°43′06″N 100°47′19″E / 14.71832°N 100.788692°E / 14.71832; 100.788692