ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

พิกัด: 17°25′46″N 99°48′44″E / 17.4295°N 99.8122°E / 17.4295; 99.8122
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุเชลียง วัดพระปรางค์ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง
ที่ตั้งตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระเทพวชิรเวที,ดร. (บุญโรจน์ จนฺทปญฺโญ/พุ่มไม้ ป.ธ.9, พธ.บ., กศ.ม., พธ.ด.)
ความพิเศษโบราณสถาน ผงจากปูชนียสถานนี้ใช้เป็นมวลสารทำพระสมเด็จจิตรลดา
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 โดยวัดนี้เป็นวัดสำคัญในเขตเมืองเชลียงมาแต่เดิม ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมชนพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแหล่งโบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง โดยมีพระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตามแนวแกนเดิมของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

ประวัติ

[แก้]

ไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่ดูจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว วัดนี้มีอายุตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คือ ประมาณ 800 ปีมาแล้วเป็นอย่างต่ำ ซึ่งความจริงอาจสามารถกำหนดอายุได้มากกว่านี้เพราะที่ตั้งของวัดมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี

วัดนี้เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียง ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมนุมพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล

โบราณสถานภายในวัด

[แก้]

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญมีดังนี้

ปรางค์ประธาน

[แก้]

ปรางค์ประธานวัดก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนเสร็จแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ประมาณไว้ที่ พุทธศักราช 2017 ภายในองค์พระปรางค์มีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็กโผล่ขึ้นมาคล้ายถูกสร้างครอบทับ น่าจะบรรจุสิ่งของสำคัญสำหรับการบูชาอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธเจ้า" ตามผนังภายใน องค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยเดิมคงมีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ลบเลือนไปมากเขียนด้วยสีแดงแบบโบราณ ลายพรรณพฤกษา ส่วนบริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์ได้

ลักษณะฐานปรางค์องค์นี้ มีเป็นวิหารคด 3 ชั้น ก่อผนังทึบ และเจาะช่องแสง ฐานปรางค์แผ่ขยายกว้างออกไปทั้ง 3 ด้าน (ด้านหน้าเป็นพระวิหาร) คล้ายสร้างครอบสถูปหรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่ ในช่วงก่อนสุโขทัยตอนต้น เนื่องจากขุดค้นพบฐานโบราณคดีก่อด้วยอิฐอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวง นอกจากนี้ยังพบกระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา ซึ่งมีลักษณะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบายน เช่นเดียวกับลายปูนปั้นยอดซุ้มประตูกำแพงวัด ซึ่งทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ด้านบนทั้ง 4 ทิศ ด้านล่างเป็นรูปเทพธิดานั่งในกรอบ ซุ้มด้านล่างเป็นรูปนางอัปสรร่ายรำ ฐานพระวิหารหลวงพ่อโตอยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ประทับอยู่ตรงกลางขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กประทับยืนทั้ง 2 ข้าง ถัดจากพระพุทธรูปปางมาร วิชัยทางด้านขวามีพระพุทธรูปปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม

กำแพง

[แก้]

กำแพงวัดเป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกด้านหลัง เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคา ยอดเหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

มณฑปพระอัฏฐารส

[แก้]

มณฑปพระอัฏฐารสอยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อริยาบท ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลงภายในซุ้มคูหายังมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนอยู่ เดิมเป็นมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา

วิหารสองพี่น้อง

[แก้]

วิหารสองพี่น้องอยู่ทางซ้ายพระอัฏฐารส ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องก่อทับโบราณสถานที่ก่ออิฐ ข้างขวาพระวิหารหลวงพ่อสองพี่น้องพบฐานรอยพระพุทธบาทด้วย ลักษณะพระพุทธรูปทั้งสององค์เป็นพุทธศิลป์แบบสุโขทัยที่มีความงดงามยิ่ง แต่ทั้งนี้เศียรพระองค์น้องหรือองค์ด้านหน้า ชาวบ้านเล่ากันว่า กรมศิลปากรตัดเอาของจริงไป แล้วปั้นของใหม่มาสรวมแทน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏมีคนร้ายหักนิ้วพระพุทธรูปให้ได้รับความเสียหาย

โบสถ์

[แก้]

โบสถ์ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม ยังปรากฏรากฐานศิลาแลงด้านหลังพระอุโบสถพอเป็นที่สังเกต รวมทั้งใบเสมาหินชนวนคู่ รอบพัทธสีมาก็จัดว่าเป็นของที่มีมาแต่โบราณ โดยพัทธสีมาของพระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่านำมาจากเมืองสุโขทัยเก่า เพราะเหมือนกับรูปแบบที่พบมากมายในเมืองสุโขทัย อีกทั้งเมืองศรีสัชนาลัยไม่มีแหล่งหินชนวนในลักษณะนี้ ภาพถ่ายเก่าบางแหล่งยังพอสังเกตได้ว่าก่อนที่จะมีการสร้างโบสถ์ใหม่ทับลงไป ส่วนที่เหลืออยู่ขณะนั้น คือ เสา ผนังด้านหลัง และองค์พระประธานที่มีสภาพชำรุด แต่พอสังเกตเห็นได้ว่ามีพุทธศิลป์พระพักตร์ค่อนไปทางอยุธยา และมีขนาดย่อมกว่าองค์พระประธานในวิหารหลวงหน้าองค์พระปรางค์ประธานวัด

โบราณสถานและโบราณวัตถุอื่นๆ ภายในวัด

[แก้]
  1. องค์พระปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ
    1. ยอดนพศูลกาไหล่ทองคำ
    2. เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดเล็กในห้ององค์พระปรางค์
    3. เพดานดาวไม้จำหลัก สกุลช่างสุโขทัย (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
    4. ประตูจำหลัก สกุลช่างสุโขทัย (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
    5. ร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังสีเอกรงค์
    6. ปล่องปริศนาลงใต้ท้ององค์พระปรางค์
  2. พระวิหารหลวง ใหญ่ขนาด 7 ห้อง สร้างด้วยศิลาแลง
    1. หลวงพ่อโต ศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.08 เมตร
    2. พระพุทธรูปปางลีลาปูนปั้น ศิลปะสุโขทัยคลาสสิก
    3. พระพุทธรูปยืนปูนปั้น
    4. ผนังพระวิหารหลวงแบบช่องแสง สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย
  3. พระอุโบสถ
  4. ซุ้มพระร่วง พระลือ
  5. เจดีย์ทิศทั้งสี่
  6. ระเบียงคดและวิหาร
  7. กำแพงแก้ว
  8. ซุ้มประตูรูปพรหมพักตร์
  9. เสาพระประทีบรอบองค์พระปรางค์
  10. เจดีย์ยอดด้วน
  11. พระอัฏฐารศ
  12. ฐานวิหารหลวงพ่อธรรมจักร
  13. พระวิหารหลวงพ่อสองพี่น้อง

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

17°25′46″N 99°48′44″E / 17.4295°N 99.8122°E / 17.4295; 99.8122