ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟาบิโอลา
สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
ดำรงพระยศ15 ธันวาคม ค.ศ. 1960 – 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1993
(32 ปี 228 วัน)
ก่อนหน้าอัสตริดแห่งสวีเดน
ถัดไปเปาลา รุฟโฟ ดี กาลาเบรีย
พระราชสมภพ11 มิถุนายน ค.ศ. 1928(1928-06-11)
มาดริด ประเทศสเปน[1]
สวรรคต5 ธันวาคม ค.ศ. 2014(2014-12-05) (86 ปี)
ลาเกิน ประเทศเบลเยียม
ฝังพระศพ12 ธันวาคม ค.ศ. 2014
โบสถ์แม่พระแห่งลาเกิน
พระราชสวามีสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม (ค.ศ. 1960 – 1993)
พระนามเต็ม
ดอญญา ฟาบิโอลา เฟร์นันดา มาริอา เด ลาส บิกตอริอาส อันโตนิอา อาเดลาอิดา
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดากอนซาโล แฟร์นันเดซ อี เรย์รา เดล โอลโม
พระราชมารดาบลังกา เด อารากอน อี การ์ริลโล เด อัลบอร์โนซ บาร์โรเอตา อัลเดมา อี เอเลียว
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม (ดัตช์: Fabiola, koningin der Belgen; ฝรั่งเศส: Fabiola, Reine des Belges; พระราชสมภพ: 11 มิถุนายน ค.ศ. 1928 – สวรรคต: 5 ธันวาคม ค.ศ. 2014) หรือพระนามเดิมว่า ดอญญา ฟาบิโอลา เด โมรา อี อารากอน (สเปน: Doña Fabiola de Mora y Aragón) สตรีชาวสเปนที่ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม ครั้นเมื่อพระราชสวามีได้เสด็จสวรรคตลงในปี ค.ศ. 1993 พระองค์จึงเป็นพระราชินีม่ายแห่งเบลเยียมหลังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีมา 33 ปี

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เป็นพระธิดาของกอนซาโล เฟร์นันเดซ อี เรย์รา เดล โอลโม, มาควิสที่ 4 แห่งโคซาเรย์รา, เคานต์ที่ 2 แห่งโมรา กับมารดาชื่อ บลังกา เด อารากอน อี การ์ริลโล เด อัลบอร์โนซ บาร์โรเอตา อัลเดมา อี เอเลียว[2] พระองค์มีพี่ชายหนึ่งคนคือ ไคเม เด โมรา อี อารากอน นักแสดงและเพลย์บอยชาวสเปน[3] ส่วนแม่ทูนหัวของพระองค์คือ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งสเปน[4]

นอกจากภาษาสเปนแล้ว พระองค์ยังสามารถรับสั่งภาษาฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน, ดัตช์ และอิตาลี[5] ก่อนการอภิเษกสมรส พระองค์เคยตีพิมพ์อัลบั้ม 12 เทพนิยาย ในหนังสือ ลอสโดเซเกโตสมาราบียาโซส (Los doce cuentos maravillosos) หนึ่งในนั้นคือเรื่อง เดอะอินเดียนวอเทอร์ลีลีส์ (The Indian Water Lilies) เมื่อปี ค.ศ. 1966[6]

อภิเษกสมรส

[แก้]
สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา ขณะทอดพระเนตรการแข่งขันยูโรเปียนคัพ เมื่อปี ค.ศ. 1961

วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1960 ฟาบิโอลาได้เข้าอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง[7] โดยพิธีอภิเษกสมรสดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่โบสถ์ลาเคิน (Laeken) ฟาบิโอลาได้สวมรัดเกล้าอาร์ตเดโก 1926 (1926 Art Deco tiara) ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีอัสตริดแห่งเบลเยียม ซึ่งเป็นพระชนนีของสวามี ส่วนฉลองพระองค์ผ้าซาตินได้รับการออกแบบโดยคริสโตบัล บาเลนเซียกา

ทั้งสองพระองค์ไม่มีพระบุตรด้วยกัน เนื่องจากสุขภาพของสมเด็จพระราชินีไม่เอื้ออำนวย ทรงตั้งพระครรภ์แต่ทรงตก (แท้ง) ไปเสียห้าครั้ง[8] ในกลางปี ค.ศ. 1960 มีการรายงานเกี่ยวกับการประสูติกาลของพระราชบุตรซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่แรกประสูติ ด้วยเหตุการณ์ที่ผ่านมาสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาจึงพระราชทานสัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 2008 ความว่า

"คุณก็ทราบดีว่าข้าพเจ้าเสียบุตรไปห้าคน คุณได้เรียนรู้บางสิ่งจากประสบการณ์นี้. ข้าพเจ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ แต่คุณรู้ไหม ว่าสุดท้ายข้าพเจ้าคิดได้ว่าชีวิตช่างเป็นสิ่งที่สวยงาม"[8]

หลังครองคู่มายาวนานหลายปี สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงก็เสด็จสวรรคตลงในปี ค.ศ. 1993 ด้วยเหตุที่กษัตริย์องค์ก่อนไม่มีพระบุตรไว้สืบราชสมบัติ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จึงตกไปสู่พระอนุชาธิราชและได้ครองราชย์ต่อมา คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 พระองค์จึงย้ายออกจากพระราชวังลาเคินไปประทับที่ปราสาทหลังอื่น

ปลายพระชนม์

[แก้]
พระราชวังสตุยเวินแบร์ก

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2009 สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาประชวรด้วยพระอาการพระปับผาสะอักเสบจนต้องประทับรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลาถึง 15 วัน เนื่องจากมีพระอาการอยู่ในขั้นวิกฤต[9] แต่หลังการรักษาก็มีพระอาการที่ดีขึ้นและเสด็จพระราชดำเนินออกมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ตามปกติ

ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีผู้ไม่ประสงค์ดีพิมพ์เผยแพร่ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาจะถูกลอบยิงด้วยหน้าไม้ เมื่อทราบดังนั้นพระองค์จึงปรากฏตัวในช่วงวันฉลองวันชาติเบลเยียมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และทรงโบกแอปเปิ้ลที่อยู่ในพระหัตถ์อย่างขบขัน[10] การคุกคามที่เกิดขึ้นภายหลังนี้มีลายมือชื่อใกล้เคียงกับที่ปรากฏในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 ซึ่งปรากฏอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010[11] หลังจากนั้นก็ทรงปรากฏพระองค์น้อยลง ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากภัยคุกคามดังกล่าว หรืออาจมาจากเหตุผลด้านสุขภาพที่มีตามพระชนมพรรษาที่สูงขึ้น

สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา ทรงทนทุกข์ทรมานจากการประชวรด้วยภาวะกระดูกพรุน และไม่ทรงหายขาดจากพระอาการพระปับผาสะอักเสบเมื่อครั้งประชวรหนักในปี ค.ศ. 2009 ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2014 ราชสำนักเบลเยียมได้ออกมาประกาศการเสด็จสวรรคตสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา ณ ปราสาทสตุยเวินแบร์ก (Stuyvenbergh Castle)[12] สิริพระชนมพรรษา 86 พรรษา

พระราชอิสริยยศ

[แก้]
  • ดอญญา ฟาบิโอลา เด โมรา อี อารากอน (1928—1960)
  • เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีแห่งชาวเบลเยียม (1960—1993)
  • เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม (1993—2014)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Del palacio Zurbano de Madrid a ser reina de los Belgas" [Madrid Zurbano Palace resident became queen of the Belgians]. ¡Hola!. สืบค้นเมื่อ 26 June 2015.
  2. "Queen Fabiola of the Belgians - obituary". Daily Telegraph. 5 December 2014. สืบค้นเมื่อ 5 December 2014.
  3. Maruja Torres, “Ya no quedan 'playboys' como los de antes”, El País, 19 November 2011
  4. Elliott, Annabel Fenwick. "Belgium's former Queen Fabiola dies at the age of 86". Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 5 December 2014.
  5. "Monarchie.be". Monarchie.be. สืบค้นเมื่อ 2013-01-13.
  6. "De Indische waterlelies". สืบค้นเมื่อ 5 December 2014.
  7. "Queen Fabiola of Belgium". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2011-08-10.
  8. 8.0 8.1 Koningin Fabiola had vijf miskramen
  9. Belgium: Queen Fabiola in serious condition with pneumonia
  10. "Belgium's cool Queen Fabiola defies would-be assassins with jokey apple gesture". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-26. สืบค้นเมื่อ 2011-08-10.
  11. "Queen Fabiola's death threats". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-08-10.
  12. Bart Van Belle (5 ธันวาคม 2557). "Koningin Fabiola overleden" (ภาษาดัตช์). De Standaard. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม ถัดไป
เจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดน
สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
(15 ธันวาคม ค.ศ. 1960 — 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1993)
ดอญญาเปาลา รูฟโฟ ดิคาลาเบรีย