ข้ามไปเนื้อหา

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พิกัด: 13°43′08″N 100°30′45″E / 13.718791°N 100.512543°E / 13.718791; 100.512543
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เส้นทางถนนสาทรเหนือ, ถนนสาทรใต้, ถนนกรุงธนบุรี
รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งเขตสาทร, เขตบางรัก, เขตคลองสาน
ชื่อทางการสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ผู้ดูแลกรมทางหลวงชนบท
รหัสส.009
เหนือน้ำสะพานพระปกเกล้า
ท้ายน้ำสะพานพระราม 3
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานชนิดต่อเนื่อง
วัสดุคอนกรีตอัดแรง
ความยาว224.00 เมตร
ความกว้าง12.85 เมตร
ความสูง12.00 เมตร
ช่วงยาวที่สุด92.00 เมตร
จำนวนช่วง3
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522
วันสร้างเสร็จ5 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
วันเปิด6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่รู้จักในนาม สะพานสาทร หรือ สะพานตากสิน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสาทร (เขตสาทรและเขตบางรัก) กับถนนกรุงธนบุรี (เขตคลองสาน) เป็นสะพานคู่แยกขาเข้า-ขาออก และเว้นเนื้อที่ระหว่างสะพานไว้เผื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนอื่น โดยปัจจุบัน พื้นที่ระหว่างสะพานเป็นรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม และพื้นที่ในฝั่งพระนครยังเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานตากสินอีกด้วย

ประวัติ

[แก้]

คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปลายถนนสาทรเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยพิจารณาสถานที่ตั้งสะพานที่เห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่ 2 ที่ คือปลายถนนสาทรกับปลายถนนสีลม คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2511 ให้กรมโยธาเทศบาลเป็นผู้ดำเนินงานและให้กรมวิเทศสหการติดต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญ 4 คน มาสำรวจเวลาประมาณ 1 เดือน และส่งรายงานการศึกษา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2512 ให้สร้างสะพานที่ปลายถนนสาทร

เดิมจะขอกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียแต่รัฐบาลญี่ปุ่นให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ระยะปลอดชำระหนี้และกำหนดเวลาชำระคืนยาวกว่า รวมถึงยอมให้นำเงินกู้บางส่วนมาแลกเป็นเงินบาทได้อีกด้วย รัฐบาลไทยจึงได้ลงนามสัญญากู้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนจำนวน 126 ไร่ คิดเป็นเงินค่าที่ดินและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างประมาณ 278 ล้านบาท การก่อสร้างประสบกับปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินและการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเรื่อยมา ทำให้เกิดความล่าช้า จากกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง 30 เดือน ต้องขยายต่อมาอีก 16 เดือนจึงแล้วเสร็จ[1]

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สร้างขึ้นเพื่อสมโภชในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525

ก่อนสร้างและเปิดใช้ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้จะหนาแน่นไปด้วยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ เรือสินค้าและเรือโดยสาร ผ่านเข้ามาจอดตามท่าเรือทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เมื่อสะพานแห่งนี้เปิดใช้แล้ว เป็นผลให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือได้ เพราะสะพานตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับปากแม่น้ำ และไม่สามาถเปิดให้เรือแล่นผ่านได้ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จึงต้องย้ายสถานที่จอดไปเป็นที่ท่าเรือกรุงเทพ ในเขตคลองเตยแทนนับตั้งแต่นั้น

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นที่รู้กันของชาวกรุงเทพฯ ว่าประสบปัญหาการจราจรอย่างหนัก โดยเฉพาะขาเข้าฝั่งพระนคร เนื่องจากปริมาณรถมาก และเชิงสะพานฝั่งพระนครมีสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นการปิดกั้นกระแสรถจากฝั่งธนบุรีซึ่งมีปริมาณมากให้ไหลไปได้ช้า โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่มีปริมาณรถมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนตั้งอยู่ปลายสะพานทางฝั่งพระนครซึ่งในช่วงเวลาเช้าจะมีผู้ปกครองจอดรถเพื่อส่งเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานมาก ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการจราจรที่ติดขัดเป็นพิเศษ[2]

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]
  • วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522
  • วันเปิดการจราจร  : วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
  • บริษัทที่ทำการก่อสร้าง :
  • ราคาค่าก่อสร้าง : 619,994,537.00 บาท
  • แบบของสะพาน : เป็นสะพานชนิดต่อเนื่อง
  • โครงสร้างส่วนบน : คอนกรีตอัดแรง
  • สูงจากระดับน้ำ : 12.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • จำนวนช่วงสะพานกลางน้ำ : 3 ช่วง (66.00+92.00+66.00)
  • ตัวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำความยาว : 224.00 เมตร
  • ช่วงกลางแม่น้ำมีความยาว : 92.00 เมตร
  • เชิงลาดสะพานฝั่งพระนครด้านเหนือน้ำ : 552.00 เมตร
  • เชิงลาดสะพานฝั่งพระนครด้านใต้น้ำ : 570.00 เมตร
  • เชิงลาดสะพาน ฝั่งธนบุรี : 475.00 เมตร
  • ความกว้างของสะพาน : 12.85 เมตร
  • ความกว้างผิวจราจรสะพาน : 19.50 เมตร
  • ความกว้างช่องละ : 3.25 เมตร
  • ทางเท้ากว้าง : 1.60 เมตร
  • ออกแบบรับน้ำหนัก : H-20-44
  • สูงจากระดับน้ำ : 12.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • สร้างสะพานเป็นแบบสะพานคู่ ห่างกัน : 15.00 เมตร
  • จำนวนช่องทางวิ่ง : 6 ช่องทางจราจร
  • ทางเท้ากว้าง : 1.60 เมตร

ทัศนียภาพ

[แก้]
ทัศนียภาพกรุงเทพมหานครเขตคลองสาน (ฝั่งขวาของแม่น้ำ) และเขตบางรัก (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ) จากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2564

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุชาติ เกียรติชัยพิพัฒน์. "การศึกษาาผลกระทบของสะพานสมเด็จพระจ้าตากสินมหาราช ที่มีต่อพื้นที่ใกล้เคียง" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. "THE 1979 BANGKOK MASS TRANSIT MASTERPLAN". 2bangkok.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-11-27. (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°43′08″N 100°30′45″E / 13.718791°N 100.512543°E / 13.718791; 100.512543

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานพระปกเกล้า
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานรถยนต์) สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม)
ท้ายน้ำ
สะพานพระราม 3
สะพานพระราม 3 (ช่องจราจรรถยนต์ทั่วไป) สะพานพระราม 3 (ช่องจราจรรถโดยสารด่วนพิเศษฯ)