ข้ามไปเนื้อหา

อเมริโกย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อเมริโกย
สตูดิโออัลบั้มโดย
วางตลาด1 ธันวาคม พ.ศ. 2528
บันทึกเสียงห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ
ความยาว47:27
ค่ายเพลงโพลีดอร์ , อามีโก้
ลำดับอัลบั้มของคาราบาว
เมด อิน ไทยแลนด์
(2527)เมด อิน ไทยแลนด์2527
อเมริโกย
(2528)
ประชาธิปไตย
(2529)ประชาธิปไตย2529

อเมริโกย เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงคาราบาว วางจำหน่ายวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528 โดย อามีโก้ เป็นผู้โปรโมทและจัดจำหน่าย

ประวัติ

[แก้]

หลังจากที่ประสบความสำเร็จ จนถึงขั้นสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการเพลงไทย ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่สามารถทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว คาราบาวซึ่งกลายเป็นกลุ่มศิลปินที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุค ก็ได้เข้าไปมีส่วนกับเหตุการณ์กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยทางวงได้ถูกขอร้องกึ่งบังคับให้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่สวนอัมพรท่ามกลางการปฏิวัติของ พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศสลับกับการอ่านประกาศของคณะปฏิวัติ ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล และ เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ต่างพกอาวุธปืนขึ้นไปขณะเล่นคอนเสิร์ตด้วย และ มีการยิงกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติไม่เป็นผลสำเร็จ พันเอกมนูญกฤต รูปขจร จึงได้หลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้วงคาราบาวรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก และรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนั้นของวง

ต่อมาทางวงได้เริ่มผลิตผลงานเพลงชุดที่ 6 โดยใช้ชื่อชุดว่า อเมริโกย เป็นการพูดถึงการจำกัดโควตาผ้าและสิ่งทอจากประเทศไทย ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยในภาคดนตรีมีการยกระดับเทคโนโลยีทางดนตรีขึ้นมาจากชุดที่แล้วโดยมีการใช้เสียงสังเคราะห์เพิ่มเข้ามา และ มีการนำเสียงระเบิดและเสียงปืนจากคอนเสิร์ตที่สวนอัมพร มาใส่ไว้ในเพลง มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6) อีกด้วย โดยอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มชุดแรกที่บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงของคาราบาวเอง

ส่วนปกอัลบั้มออกแบบเป็นลายพรางทหารซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ กบฏทหารนอกราชการ เมื่อนำปกอัลบั้มมาวางกลับหัว จะอ่านได้ว่า 9 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่มีการปฏิวัติไม่สำเร็จ ทางวงได้พิมพ์ปกลงบนกระดาษฟอยซึ่งมีต้นทุนสูงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528 วันเดียวกับทางวงขึ้นเล่นคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มในรายการ โลกดนตรี

หลังจากอัลบั้มชุดนี้วางแผง เพลงที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นอย่างมากคือเพลง มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6), ข่าวดี ซึ่งเป็นเพลงร็อกที่มีท่อนโซโล่กีตาร์ของเล็กที่ติดหูผู้ฟัง และ เพลงจังหวะสนุก ๆ อย่าง ซาอุดร และ คนจนผู้ยิ่งใหญ่ โดยอัลบั้มนี้นับเป็นอัลบั้มแรกที่ อ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ได้เข้ามาบันทึกเสียงในฐานะสมาชิกของคาราบาวอย่างเต็มตัว หลังจากที่เคยเล่นเป็นแบ็คอัพให้คาราบาวสมัยอยู่กับวงเพรสซิเดนท์ ในยุคก่อตั้งวงคาราบาว และเคยออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมทอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ แทนที่ ไพรัช เพิ่มฉลาด มือเบสคนเก่ามาแล้ว

ในการออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้มชุดนี้สมาชิกภายในวงซึ่งมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นสมัยนั้นอย่างมากมักจะแต่งกายด้วยเสื้อลายทหารและนุ่งกางเกงยีนส์แรงเลอร์ รองเท้าคอนเวิร์สลายพราง เมื่ออัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จทางยอดขาย จึงเกิดเป็นกระแสแฟชั่นของวัยรุ่น ที่นิยมใส่เสื้อลายทหารเลียนแบบวงคาราบาว

อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้มีบทเพลงที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามออกอากาศ คือเพลง หำเฮี้ยน ซึ่งแอ๊ดแต่งขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าจะต้องถูกแบนอย่างแน่นอน เนื่องเพราะมีท่อนที่ด่า กบว. โดยตรงว่า กวนส้นตีน โดยเป็นการต่อว่า กบว. ที่แบนเพลง หำเทียม ในอัลบั้มชุดที่แล้วซึ่งเป็นชุดประวัติศาสตร์ของวงคาราบาว

รายชื่อเพลง

[แก้]
ลำดับชื่อเพลงยาว
1."อเมริโกย"4:37
2."มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6)"5:01
3."คนจนผู้ยิ่งใหญ่"4:55
4."มาลัย"4:47
5."ข่าวดี"4:26
6."ตางขโมย"4:06
7."ซาอุดร"4:05
8."หำเฮี้ยน"5:58
9."เฒ่าทะเล"5:54
10."แผ่นดิน"3:38
ความยาวทั้งหมด:47:27

คอนเสิร์ต

[แก้]
  • รายการ โลกดนตรี : 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528
  • รายการ 7 สี คอนเสิร์ต : พ.ศ. 2529

การจัดจำหน่าย

[แก้]
ปี ค่าย รูปแบบ
พ.ศ. 2528 อามีโก้ แผ่นเสียง
เทปคาสเซตต์
พ.ศ. 2540 กระบือ แอนด์ โค แผ่นซีดี
เทปคาสเซตต์
พ.ศ. 2546 วอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ แผ่นซีดี
(ปกครบรอบ 20 ปี คาราบาว)
พ.ศ. 2554 แผ่นซีดี
(ปกครบรอบ 30 ปี คาราบาว)
พ.ศ. 2555 แผ่นเสียง (Remaster)
พ.ศ. 2556 แผ่นซีดี (Remaster)