ข้ามไปเนื้อหา

แป๊ะขายขวด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แป๊ะขายขวด
สตูดิโออัลบั้มโดย
วางตลาดมิถุนายน พ.ศ. 2525
แนวเพลงเพลงเพื่อชีวิต, โฟล์ก, ร็อก
ความยาว33:48
ค่ายเพลงพีค็อก สเตอริโอ
โปรดิวเซอร์คาราบาว
ลำดับอัลบั้มของคาราบาว
ขี้เมา
(2524)ขี้เมา2524
แป๊ะขายขวด
(2525)
วณิพก
(2526)วณิพก2526

แป๊ะขายขวด เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ของวงคาราบาว ออกวางจำหน่ายในปลายปี พ.ศ. 2525 ในรูปแบบแผ่นเสียง และ เทปคาสเซ็ท โดยเป็นชุดสุดท้ายที่ทำภายใต้สังกัดพีค็อก สเตอริโอ มีเพลงที่ได้รับความนิยมยาวนานจนถึงปัจจุบันคือเพลง กัญชา โดยอัลบั้มชุดนี้ปรากฏสัญลักษณ์รูปหัวควายของวงเป็นครั้งแรก โดยที่นกหันหน้าไปทางซ้าย และยังได้ ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก อดีตมือกีตาร์ของวงเพรสซิเดนท์ เข้ามาร่วมวงด้วยเป็นอัลบั้มแรก

ประวัติ

[แก้]

หลังจากที่คาราบาวออกอัลบั้มชุดแรก (ขี้เมา) ทางวงได้รวมกับวงโฮป และเล่นประจำอยู่ที่ดิกเก้นผับ โดยเล่นสลับกับวงอีสซึ่นของ วสันต์ โชติกุล ในการเล่นที่ผับแห่งนี้ แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล หัวหน้าวง มักจะมีปัญหาเรื่องการแต่งกายไม่สุภาพอยู่เสมอ และ ทางเจ้าของผับไม่อนุญาตให้เล่นเพลงไทย เมื่อ เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ซึ่งเป็นเพื่อนของแอ๊ดและเป็นมือกีตาร์ของวงเพรสซิเดนท์ ที่เล่นไปก่อนหน้าขอเพลง ลุงขี้เมา และ ทางวงได้ฝืนเล่น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วงถูกไล่ออกและตกงานในเวลาต่อมา[1]

เมื่อทางวงถูกไล่ออก วงโฮปที่ถูกไล่ออกไปด้วยเพราะมีวงคาราบาวเล่นรวมอยู่จึงไม่พอใจอย่างมาก ถึงขนาดที่ สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล หัวหน้าวงโฮปต้องบอกแก่เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ว่าไม่ต้องการให้มีวงคาราบาวรวมอยู่ในวงอีกต่อไป และทันทีที่ เล็ก ที่อยู่ในอาการมึนเมาทราบเรื่องจึงโมโหเป็นอย่างมากถึงขนาดจะเข้าไปพังข้าวของในโรงแรม จน แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ต้องช่วยนำตัวออกมา หลังเหตุการณ์ในคืนดังกล่าว เล็ก จึงคิดว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบที่ต้องทำให้เพื่อนตกงาน จึงได้เข้าร่วมกับวงคาราบาวตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา แต่ยังไม่ได้ออกจากวงเพรสซิเดนท์ อย่างเป็นทางการ เนื่องจากทางวงเพรสซิเดนท์ ยังไม่สามารถหามือกีตาร์คนใหม่ได้ นอกจากนี้เล็กได้ชวนวงเพรสซิเดนท์ให้เข้ามาเล่นเป็นแบ็คอัพให้อีกด้วย

หลังได้เล็กเข้ามาร่วมวงคาราบาว และได้วงเพรสซิเดนท์เข้ามาเล่นแบ็คอัพ การทำเดโมชุดนี้จึงเริ่มขึ้นที่แฟลตของเล็ก โดยงานชุดนี้เริ่มจะมีอิทธิพลของเพลงร็อกเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะเพลง กัญชา ที่เล็กเป็นผู้ทำดนตรี และถือเป็นเพลงฮาร์ดร็อกภาษาไทยในยุคแรก ๆ โดยเพลงนี้เริ่มต้นด้วยปิกกิ้งกีตาร์โปร่งและถูกสอดแทรกขึ้นด้วยเอฟเฟกต์กีตาร์ไฟฟ้าเสียงแตก รวมทั้งการร้องแบบโหนเสียงของแอ๊ดที่ได้รับอิทธิพลมาจาก โรเบิร์ต แพลนต์ นักร้องนำของวง เลด เซพพลิน ตลอดจนการโซโล่กีตาร์ด้วยท่วงทำนองอันมีเอกลักษณ์ของเล็กจึงทำให้เพลงนี้โด่งดังเป็นอย่างมากและยังได้ยินจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเพลง ถนนชีวิต ที่แอ๊ด แต่งขึ้นเพื่อประชดประชันการจราจรของกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นที่ติดขัดเป็นอย่างยิ่ง และเพลง แป๊ะขายขวด ซึ่งเป็นเพลงแรกที่แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ร้องคู่กับ เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร

อย่างไรก็ตามทางค่ายเพลง พีค็อก สเตอริโอ ต้นสังกัดของวงคาราบาวยังมีความผิดพลาดทางการผลิตอีกเหมือนชุดแรก โดยการวางจำหน่ายครั้งแรกนั้นทางค่ายเพลงนำเพลง แป๊ะขายขวด ในเวอร์ชันที่เป็นเดโมในห้องอัดมาใส่ไว้ โดยจะได้ยินเสียงเคาะไม้กลองเบา ๆ ก่อนเริ่มเพลง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการย้ายสังกัดของคาราบาวในอัลบั้มชุดที่ 3 วณิพก ต้นสังกัดจึงจำต้องเรียกเก็บอัลบั้ม แป๊ะขายขวด คืนออกจากท้องตลาดทั้งหมด ก่อนจะแก้ไขและนำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง จึงทำให้ประชาชนเบื่อกับการซื้ออัลบั้มซ้ำซากแบบอัลบั้มนี้ โดยหลังแก้ขายทางค่ายเพลง พีค็อก สเตอริโอ ผลิตเป็นเทปคาสเซ็ทออกมาจำนวน 20,000 ตลับ ประกอบกับแผ่นเสียงจำนวนหนึ่ง และ มีการใส่เนื้อเพลงพร้อมคอร์ดกีตาร์ไว้บนปกด้วย

ในปี 2546 งานเพลงชุดนี้ถูกนำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงด้วยระบบดิจิตอล และ วางจำหน่ายอีกครั้งโดย วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์

รายชื่อเพลง

[แก้]
ลำดับชื่อเพลงประพันธ์ยาว
1."แป๊ะขายขวด"ยืนยง โอภากุล3:37
2."ถนนชีวิต"ยืนยง โอภากุล4:11
3."พรานทะเล" 2:59
4."ถึกควายทุย (ภาค 2)"ยืนยง โอภากุล, กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร, ปรีชา ชนะภัย3:52
5."กัญชา"ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย4:23
6."ลอยหาย"ปรีชา ชนะภัย, ยืนยง โอภากุล3:03
7."ด่านเกวียน" 2:46
8."เมากีตาร์"ปรีชา ชนะภัย2:15
9."โคบาลเมืองไทย"ยืนยง โอภากุล3:35
10."หนทางใด" 3:04
ความยาวทั้งหมด:33:45

นักดนตรีในอัลบั้ม

[แก้]

คาราบาว

เพรสซิเดนท์ (แบ็คอัพ)

  • อนุพงษ์ ประถมปัทมะ – เบส
  • สำราญ ศรีทรัพย์ – กลอง
  • คัมภีร์ นอสูงเนิน – เพอร์คัสชั่น
  • ศุภกร บุญยานันท์ – คีย์บอร์ด

การจัดจำหน่าย

[แก้]
ปี ค่าย รูปแบบ
พ.ศ. 2525 พีค็อก สเตอริโอ แผ่นเสียง
เทปคาสเซตต์
พ.ศ. 2540 กระบือ แอนด์ โค แผ่นซีดี
เทปคาสเซตต์
พ.ศ. 2546 วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ แผ่นซีดี (Remaster)
พ.ศ. 2555 แผ่นเสียง (Remaster)
พ.ศ. 2556 แผ่นซีดี (ปกรูปเดียวกับแผ่นเสียง)

อ้างอิง

[แก้]
  1. มานพ แย้มอุทัย (10 พฤศจิกายน 2551). "ตำนานคาราบาว: แอ๊ด-เขียว-ไข่ ในนาม "คาราบาว"". สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)