เอเตียน-ฌูล มาแร
เอเตียน-ฌูล มาแร | |
---|---|
เกิด | เอเตียน-ฌูล มาแร 5 สิงหาคม ค.ศ. 1830 โบน, ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 | (73 ปี)
อาชีพ | ศิลปิน, ช่างภาพ, นักวิทยาศาสตร์ |
เอเตียน-ฌูล มาแร (ฝรั่งเศส: Étienne-Jules Marey; 5 สิงหาคม ค.ศ. 1830 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1904) เป็นศิลปินช่างภาพชาวฝรั่งเศส และช่างถ่ายภาพต่อเนื่อง (chronophotographer) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผลงานของเขามีความสำคัญในการพัฒนาศาสตร์ด้านหทัยวิทยา เครื่องมือเกี่ยวกับสรีรวิทยา ภาพยนตร์ และวิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ เขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายภาพ และมีอิทธิพลของประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์
อัตชีวประวัติ
[แก้]มาแรได้เริ่มการศึกษาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ ต่อจากนั้นจึงได้เปลี่ยนไปศึกษาเรื่องการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ การหายใจ กล้ามเนื้อ และชีวกลศาสตร์ เขาได้พัฒนาอุปกรณ์มากมายเพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาของเขา และเพื่อการคำนวณค่า หรือเกณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องที่เขาศึกษาให้ได้อย่างละเอียดเช่น อุปกรณ์สฟิกโมกราฟ (sphygmographe) อุปกรณ์ที่เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการขาย เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่าชีพจร ในปี ค.ศ. 1869 มาแรได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์แมลงที่ซับซ้อนอย่างมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเคลื่อนไหวขณะบินของแมลงและเพื่ออธิบายถึงโครงสร้างของรูปร่างแปดแบบที่เกิดขึ้นระหว่างที่แมลงกำลังขยับปีก ซึ่งหลังจากนั้นเขาได้หลงไหลเรื่องการเคลื่อนไหวในอากาศและได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง กายวิภาคศาสตร์ ขณะบินของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น นก
ก้าวสู่ศาสตร์การถ่ายภาพ
[แก้]เอดเวิร์ด มายบริดจ์ ช่างภาพชาวอังกฤษเป็นผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาแรสนใจในศาสตร์การถ่ายภาพ ภาพถ่ายของมายบริดจ์ที่ถูกจัดแสดงต่อสาธารณชนในปารีสนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาแรเริ่มค้นหาวิธีการถ่ายภาพที่สามารถจับภาพการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ถ่ายได้ เขาสนใจและได้พัฒนาการถ่ายภาพที่ดูสมจริงไปสู่การถ่ายภาพอีกแขนงหนึ่งแบบที่เรียกว่า การถ่ายภาพต่อเนื่องในช่วงเวลา หรือ chronophotography ในปี ค.ศ. 1880 ความคิดอันแตกต่างหรือการปฏิวัติทางความคิดของเขาได้ถูกบันทึกเป็นส่วนหนึ่งในกระแสความเคลื่อนไหวของวงการ การถ่ายภาพ ในปี ค.ศ. 1890 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือชุดสำคัญและให้ชื่อว่า Le vol des oiseaux (การบินของนก) ที่เต็มไปด้วยภาพถ่าย ภาพวาด และแผนภาพ นอกจากนี้เขายังได้สร้างประติมากรรมที่แสดงการบินแบบต่างของนกอันน่าทึ่ง และมีความถูกต้องแม่นยำ
มาแรได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของสัตว์อื่น ๆ อีกเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1873 เขาตีพิมพ์เรื่อง "กลศาสตร์ของสัตว์" ซึ่งเอดเวิร์ด มายบริดจ์ ได้ตรวจสอบภาพถ่ายของมาแร และสนับสนุนเขาเรื่องช่วงเวลาในการควบม้า ซึ่งจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่กีบม้าจะยกลอยขึ้นจากพื้นหมดทั้งสี่ข้าง
มาแรคาดหวังที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องกายวิภาคศาสตร์กับเรื่องสรีรวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ดีมากขึ้น เขาได้เปรียบเทียบด้วยภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องของกายวิภาคศาสตร์ ระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์ที่คล้ายกัน มาแรได้สร้างชุดภาพวาดที่แสดงภาพตอนม้ากำลังวิ่งเหยาะ ๆ และเวลาขณะควบม้า โดยภาพแรกแสดงให้เห็นแบบที่มีเลือดเนื้อ ส่วนอีกภาพเป็นภาพโครงกระดูก ซึ่งทั้งสองภาพเป็นภาพในช่วงขณะเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้มาแรได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นอีกด้วย ซึ่งภาพยนตร์ทั้งหมดได้ถูกบันทึกด้วยความเร็วสูงถึง 60 ภาพต่อวินาที เช่นผลงาน Falling Cat ซึ่งเขาได้ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวของแมวที่กำลังลงสู่พื้นด้วยปลายเท้า ต่อมาเขาได้ทำการศึกษาสิ่งที่คล้ายกันนี้กับไก่และสุนัข ก็พบว่าสัตว์ทั้งสองนี้สามารถทำได้เหมือนกัน การค้นคว้าเรื่องการจับภาพและการแสดงภาพเคลื่อนไหวของเขานั้น ช่วยให้วงการการฉายภาพยนตร์เป็นที่รู้จัก
การถ่ายภาพต่อเนื่องในช่วงเวลา
[แก้]อุปกรณ์ หรือกล้องถ่ายภาพต่อเนื่องแบบปืน (Chronophotographic Gun) ของเอเตียน-ฌูล มาแร ได้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพต่อเนื่องตามลำดับเวลาได้ถึง 12 ภาพในหนึ่งวินาที และสิ่งที่น่าสนใจคือเฟรมทุกเฟรมถูกบันทึกอยู่ในภาพแผ่นเดียว ภาพของมาแรนั้นถือว่าแสดงภาพช่วงขณะที่สิ่งต่าง ๆ กำลังเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ภาพลักษณะนี้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวของสัตว์ เช่น ม้า นก สุนัข แกะ ลา ช้าง ปลา และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก เช่น สัตว์จำพวกหอย แมลง และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า "สวนสัตว์ที่มีชีวิตของมาแร"
ใน 1888 มาแรได้ปรับปรุงกล้องของเขาอีกครั้ง โดยแทนที่แผ่นถ่ายภาพภายในกล้องแบบกระจกด้วยกระดาษไวแสงแถบยาว แถบกระดาษนี้ถูกทำให้เคลื่อนเป็นระยะ ๆ โดยแม่เหล็กไฟฟ้า สองปีต่อมา มาแรได้เปลี่ยนแถบกระดาษเป็นฟิล์ม เซลลูลอยด์แบบโปร่งใสขนาดกว้าง 90mm และยาว 1.2 เมตร หรือมากกว่า
กล้องของมาแรถือได้ว่าเป็นต้นแบบของกล้องถ่ายภาพในปัจจุบัน กล้องที่มีความเร็วสูงในการจับภาพของมาแรนั้นได้ถูกพัฒนาต่อยอดโดยผู้ช่วยคนสุดท้ายของเขาที่ชื่อว่า ลูเซียง บูล ซึ่งสามารถจับภาพการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ภาพลูกกระสุนทะลุฟองสบู่
ช่วงบั้นปลายชีวิต
[แก้]ในช่วงสุดท้ายของชีวิต มาแรได้กลับมาศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของรูปทรงที่ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม เช่น การตกของลูกบอล ผลงานสุดท้ายที่สำคัญของเขาคือ การสังเกตและถ่ายภาพเส้นทิศทาวของควัน การศึกษาค้นคว้านี้ได้รับทุนสนับสนุนจากแซมิวเอล เพียร์พอนต์ แลงลีย์ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสถาบันสมิธโซเนียน
อ้างอิง
[แก้]- กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. ISBN 978-974-03-2765-3
- จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552. ISBN 978-974-73-8539-7