โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย Montfort College | |
---|---|
มัธยม: 19/1 ถ.มงฟอร์ต ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50000 ประถม: 269 ถ.เจริญประเทศ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50100 | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ม.ป. (MCP) / ม.ว. (MC) |
ประเภทโรงเรียน | โรงเรียนเอกชน |
คำขวัญ | ละติน: Labor Omnia Vincit (วิริยะ อุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ) |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
อุปถัมภก | นักบุญหลุยส์ เดอ มงฟอร์ต |
สถาปนา | 16 มีนาคม 1932 |
คณะกรรมการบริหาร | มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย |
เขตการศึกษา | สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ |
หน่วยงานทางการศึกษา | สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน |
ผู้อำนวยการ | ภราดา ชำนาญ เหล่ารักผล (มัธยม) ภราดา ทักษบุตร ไกรประสิทธ์ (ประถม) |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | |
สี | สีแดง-สีน้ำเงิน-สีขาว |
เพลง | ไทย: มาร์ชมงฟอร์ตวิทยาลัย อังกฤษ: Come Cheer |
สังกัด | คณะภราดาเซนต์คาเบรียล |
เว็บไซต์ | www www |
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (อังกฤษ: Montfort College, ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นโรงเรียนเอกชนลำดับที่สามในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ก่อตั้งเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ตรงกับคริสต์ศักราช 1932 ของปฏิทินสากล) เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสหศึกษา แบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสองแผนก ได้แก่แผนกประถมตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง และแผนกมัธยมตั้งอยู่ที่ริมทางรถไฟ
ประวัติ
[แก้]ชื่อเสียงของโรงเรียนอัสสัมชัญพระนครได้โน้มน้าวเด็กนักเรียนจากเชียงใหม่ไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2453 จนเมื่อนักเรียนเหล่านั้นได้จบการศึกษาและกลายเป็นศิษย์เก่าแล้ว จึงเชิญภราดาไมเคิล และภราดาฟ. ฮีแลร์ ไปเปิดโรงเรียนที่มณฑลพายัพ ประกอบกับ ผู้แทนพระสันตะปาปา เรอเน แปโร ประมุขเขตมิสซังสยามในขณะนั้น และบาทหลวงยอร์ช มีราแบล ดำริว่าการเผยแผ่คริสต์ศาสนาจะดีขึ้นหากมีโรงเรียนคาทอลิกช่วยอีกแรง ดังนั้นแล้วจึงเชิญคณะอุร์สุลิน และคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ไปเปิดโรงเรียนชายและหญิง ที่มณฑลพายัพ
14 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เมื่อโรงเรียนอัสสัมชัญหยุดกลางภาค ภราดาไมเคิล และ ภราดาฟ.ฮีแลร์ พร้อมด้วยอัสสัมชนิกฝ่ายเหนือ โดยสารรถไฟด่วนขึ้นยัง ลำปาง, เชียงใหม่ ตลอดจน เชียงรายและเชียงแสน เพื่อหาดูทำเลที่เหมาะสมแก่การตั้งโรงเรียน ในที่สุดคณะอุร์สุลินได้ตั้งโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยขึ้น ส่วนคณะภราดาเซนต์คาเบรียลได้ตั้งโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2475 โดยใช้ที่ดินที่บาทหลวงยอร์ช มีราแบล ซื้อไว้นานแล้วจากหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) บริเวณถนนเจริญประเทศ ขนาด 12 ไร่ติดแม่น้ำปิงมอบให้โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แต่การสร้างโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยเสร็จล่าช้ากว่าโรงเรียนพระหฤทัยและเรยีนา ราวครึ่งปี
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยทำการเปิดสอนครั้งแรก ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 โดยมีภราดาซิเมออน ริโคล เป็นอธิการคนแรกและมีภราดาแอมบรอซิโอเป็นรองอธิการ โดยระหว่างเปิดสอนขณะนั้น มีนักเรียนเพียง 22 คน โดยอาศัยเรือนไม้ข้างโบสถ์พระหฤทัย (หลังเก่า) เป็นห้องเรียนชั่วคราว
เมื่ออาคารมงฟอร์ต และอาคารอำนวยการแล้วเสร็จ นักเรียนมงฟอร์ตรุ่นแรก จึงย้ายจากวัดพระหฤทัยเข้ามาเรียนในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2476 จากนั้นนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 116 คน โดยการเรียนการสอนในช่วงแรกเนื่องจากในระดับชั้นหนึ่ง มีนักเรียนไม่มากนัก การเรียนการสอนจึงสอนอย่างสบาย ๆ กวดขันใกล้ชิด ดังนั้นแล้วนักเรียนในสมัยนั้นจะสามารถพูดภาษาอังกฤษตอบโต้ได้เป็นอย่างดี
ในสมัยของภราดาปีเตอร์ดำรงตำแหน่งอธิการ สงครามโลกครั้งที่สอง ได้อุบัติขึ้น ส่งผลให้การศึกษาต้องหยุดชะงัก จังหวัดได้ประกาศปิดโรงเรียนทุกแห่งในเชียงใหม่ และมีทหารสื่อสาร และทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานมาใช้พื้นที่โรงเรียนนานเกือบเดือน ก่อนที่จะย้ายไปทุ่งช้างคลาน ด้วยภาวะสงครามและเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อราชการประกาศให้เปิดโรงเรียน จึงมีนักเรียนเหลือน้อยมาก ภราดาปีเตอร์ได้พยายามทำทุกวีถีทางเพื่อให้โรงเรียนก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 ภราดาเกลเมนต์ (บุญมี เกิดสว่าง) ได้ยื่นคำขอต่อกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ แต่เนื่องจากภาวะสงครามจึงถูกเพิกเฉย ต่อมาภราดาเซราฟิน ได้ยื่นคำร้องนี้อีกครั้ง เมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2489 คำร้องได้รับการพิจารณา พร้อมด้วยมีการตรวจโรงเรียน ทำให้โรงเรียนได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2489 ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2490 และสามปีต่อมาได้เริ่มเปิดแผนกมัธยม ด้วยนักเรียนที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนโรงเรียนเดิมไม่สามารถรองรับนักเรียนได้ ในปี พ.ศ. 2513 จึงไปตั้งแผนกประถมที่ถนนช้างคลาน
ต่อมาเมื่อโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องย้ายแผนกมัธยมจากเดิมที่ถนนเจริญประเทศ ไปตั้งใหม่ยังถนนมหิดล ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ ในพื้นที่ 52 ไร่ โดยเริ่มเปิดทำการศึกษาแผนกมัธยมในบริเวณใหม่ในปี พ.ศ. 2528 และย้ายแผนกประถมกลับมายังถนนเจริญประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของแผนกมัธยม
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ทางโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเปิดโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ที่ตำบลท่าศาลา และโรงเรียนยังได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน (ทั้งแผนกประถมและมัธยม) ถึง 7 ครั้ง โดยแผนกประถมได้รับพระราชทานรางวัลเมื่อปี พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2552 และแผนกมัธยมได้รับพระราชทานรางวัลในปี พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2554
นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543 แผนกประถมและมัธยมยังผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษา ในปี พ.ศ. 2546 ภราดาอนุรักษ์ นิธิภัทราภรณ์ได้รับรางวัลเกียรติคุณ และได้รับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่น สาขาผู้บริหารสถานศึกษา และในปี พ.ศ. 2549 ได้ผ่านการประเมินมาตรฐานการศึกษาจาก สมศ.
จากการที่โรงเรียนมงฟอร์ตเริ่มรับนักเรียนหญิงในระดับชั้นประถมในปี พ.ศ. 2551 ทำให้โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยเป็นโรงเรียนชายล้วนแห่งสุดท้ายของเชียงใหม่[2]ปัจจุบันโรงเรียนมงฟอร์ตได้เปิดสอนทั้งหมด 12 ชั้นปี 4 ช่วงชั้น (ป.1-ป.3, ป.4-ป.6, ม.1-ม.3 และ ม.4-ม.6) เรียนในระบบสหศึกษา (ชาย-หญิงเรียนรวมกัน) โดยนักเรียนชายล้วนรุ่นสุดท้ายคือปีการศึกษา พ.ศ. 2556 ปัจจุบันโรงเรียนมีจำนวนครูรวม 2 แผนกกว่า 400 คนและนักเรียนรวม 2 แผนกกว่า 5,000 คน
ข้อมูลทั่วไป
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม
[แก้]ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถ.เจริญประเทศ ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย
- อาคารมงฟอร์ต
- อาคารมารีย์
- อาคารอำนวยการ (สำนักผู้อำนวยการและพิพิธภัณฑ์)
- อาคารสามัคคีนฤมิต (ห้องธุรการและห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ประถมปลาย)
- อาคารอเนกประสงค์รอบข้างตึกอำนวยการ (ที่ตั้งมุมสวัสดิการ, ห้องแนะแนว, ห้องพักครูภาษาจีน, งานอภิบาล, ฝ่ายกิจการนักเรียน, ฝ่ายวิชาการ)
- อาคารศูนย์การเรียนรู้เซนต์หลุยส์ มารีย์ (ห้องสมุด, ห้องกิจกรรมจำลองอาชีพ, ห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ประถมต้น คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์)
- อาคารอัสสัมชัญ (ที่ตั้งห้องศิลปะ ห้องเรียนดนตรีและอาคารฝ่ายงานเกี่ยวกับสถานที่)
- อาคารเซนต์คาเบรียลฮอลล์ (โรงอาหารและหอประชุม)
- ศาลามารีย์ (ลานในร่มอเนกประสงค์ข้างตึกมารีย์)
- อาคารดุริยางค์
- กรีนโดม (ลานอเนกประสงค์และสนามกีฬาในร่ม)
- อาคารสมาคมศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย
นอกจากนั้น ยังมีที่ตั้งของวัดน้อยพระเมตตาสำหรับทำพิธีกรรมศาสนาคริสต์ของคริสตชนในโรงเรียน อาคารเฮือนพญ๋าสำหรับเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และอาคารบ้านเทพฯอาทร ที่พักของนักเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งปัจจุบันได้มีการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างอาคารเรียน (Skywalk) เชื่อมต่ออาคารต่าง ๆ ในโรงเรียน และร้านกาแฟ Mon frère Cafe[3]
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (แผนกมัธยม)
[แก้]ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถ.มงฟอร์ต ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย
- อาคารอังเดร เกแก็ง (โรงอาหาร, ห้องประชุมใหญ่เซนต์โยเซฟ)
- อาคารแอมบรอสิโอ (ห้องสมุด, ห้องประชุมกลางแอมบรอสิโอ 1)
- อาคารเรียนปีเตอร์
- อาคารเรียนเซราฟิน
- อาคารเรียนอัลเบิร์ต
- อาคารเรียนเอมมานูเอล
- อาคารเรียนอันโตนิโอ (สำหรับ English Program)
- อาคารเซนต์แมรี่ (ห้องเรียน, ศูนย์ดนตรี และโถงอาคารอเนกประสงค์)
- อาคารสระว่ายน้ำเดอมงฟอร์ต (ห้องฟิตเนสและอัฒจันทร์สระว่ายน้ำความจุ 500 ที่นั่ง)
- อาคารเซนต์อัลลอยซีอุส (งานจัดซื้อและห้องปิงปอง)
- อาคารบ้านพักเซนต์คาเบรียล (สำหรับคุณครูต่างชาติ)
- อาคารเรียนฮูเบิร์ตเมโมเรียล (ห้องเรียนวิชาปฎิบัติก)
โดยอาคารทุกหลังได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และอาคารเรียนหลักมีทางเดินเชื่อม (Skywalk) ทุกชั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้สำหรับครูและนักเรียน
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนอื่นสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมอย่างลานกล้วยไม้ (ข้างอาคารอำนวยการ), ร้านค้าสวัสดิการ (ด้านหลังเยื้องอาคารอำนวยการ), ลานหัตถาภิภพ (ระหว่างบันไดด้านทิศตะวันออกของอาคารเรียนปีเตอร์และเซราฟิน), ลานสงบวิถี (ระหว่างบันไดด้านทิศตะวันออกของอาคารเรียนเซราฟินและอัลเบิร์ต), วัดพระแม่มหาการุณย์ (ปรับปรุงจากห้องน้ำชายเดิมข้างอาคารเรียนปีเตอร์), สนามกีฬาบัญญัติ โรจนารุณ (สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่งสังเคราะห์), แปลงเกษตร, ลานกิจกรรม Montfort Garden และร้านกาแฟ Café de MONTFORT (ระหว่างอาคารเรียนปีเตอร์กับเซราฟิน) กับ Montfort Arena (ระหว่างอาคารเรียนเซราฟินและอัลเบิร์ตแทนสวนวรรณคดีไทยเดิม รื้อถอนทางเดินเชื่อม 1 จุด)[4] และปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารอังเดรยิมเนเซี่ยมและโรงอาหารใหม่บนพื้นที่เดิมของลานจามจุรี (ระหว่างอาคารเรียนเอ็มมานูเอลกับสนามกีฬาใหญ่)[5]
ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง
ถึงแม้ว่าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยจะมีการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่หรือปรับปรุงจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามภูมิทัศน์บริเวณรอบโรงเรียนกลับยังคงประกอบไปด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ สนามหญ้า แปลงดอกไม้จำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนของ ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง (Joseph Andre’ Gueguen) หรือ "บราเดอร์อังเดร" ซึ่งท่านมีแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงาม เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ดังความตอนหนึ่งว่า
“แม้ว่าอายุจะมากแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังทำหน้าที่ดูแลความสะอาดอาคารเรียน จัดสนามหญ้าให้เขียวสดใสงามตา และปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ โรงเรียนต้องดึงดูดความสนใจคนให้มากที่สุด ด้วยการมีอาคารเรียนที่สะอาดหมดจด สวยงามด้วยสนามหญ้าอันเขียวขจี และมีไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงามสะดุดตาสะดุดใจคนผ่านไปมา โรงเรียนต้องเป็นสถานที่อันสะอาดสดสวยงามตาให้มากที่สุด มิใช่เป็นแค่สถานที่ประสาทวิชาความรู้เท่านั้น”[6]
ด้วยความเอาใจใส่ของบราเดอร์อังเดรทำให้มงฟอร์ตมีสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงามภายในโรงเรียน และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียนมงฟอร์ตอีกด้วย (ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561)
การจัดการเรียนการสอน
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม
[แก้]ปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรปกติ และหลักสูตรภาษาอังกฤษ (EP)
หลักสูตรปกติ
เป็นการจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ขณะเดียวกันใน 5 รายวิชาได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ โรงเรียนได้จัดสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นโดยมีครูต่างชาติและครูไทยร่วมกันสอน เรียกว่าโครงการ Intensive English ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาของโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
หลักสูตร English program
เป็นการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเช่นกัน แต่มีลักษณะเฉพาะใน 7 รายวิชาได้แก่ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ฯ, ประวัติศาสตร์, สุขศึกษา, ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษโดยครูชาวต่างประเทศผู้เป็นเจ้าของภาษา (Native Speaker) ซึ่งบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งภายในห้องเรียนและในโรงเรียนจะมีครูชาวต่างประเทศเป็นผู้ดูแล,แนะนำ และให้คำปรึกษา[7]
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (แผนกมัธยม)
[แก้]ปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรปกติ และหลักสูตรภาษาอังกฤษ (EP)
หลักสูตรในระดับช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาตอนต้น)
แบ่งออกเป็น 3 แผนการเรียน คือ
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (Gifted) : Gifted Science & Mathematics, Gifted English และ Gifted Digital and Technology
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (Bilingual)
- แผนการเรียน English Program
หลักสูตรในระดับช่วงชั้นที่ 4 (มัธยมศึกษาตอนปลาย)
แบ่งออกเป็น 4 แผนการเรียน คือ
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (Gifted) : Gifted Thai, Gifted English, Gifted Mathematics, Gifted Physics, Gifted Chemistry, Gifted Biology, Gifted Digital and Technology และในอดีตเคยมี Gifted วิศวะ
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (Bilingual)
- แผนการเรียนศิลป์ (Art) : ศิลป์-ภาษาจีน, ศิลป์-ภาษาฝรั่งเศส, ศิลป์-ภาษาญี่ปุ่น, ศิลป์-ดนตรี
- แผนการเรียน English Program : วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์, ศิลป์-ธุรกิจ
ในปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนมงฟอร์ตและสถาบันดนตรีลอสแอนเจลิส (อังกฤษ: Los Angelis Music Acedemy, LAMA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมจัดตั้ง สถาบันดนตรีมงฟอร์ตวิทยาลัย (อังกฤษ: Montfort College Music Acedemy, MCMA) ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีมาตรฐานสากลที่เปิดสอนแก่บุคคลทั่วไปโดยมุ่งเน้นผลิตนักดนตรีอาชีพแก่วงการดนตรี ซึ่งมีการเรียนการสอนดนตรีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แม้ปัจจุบันได้ยกเลิกสัญญากับสถาบันดนตรี LACM แต่ยังคงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ สถาบันดนตรีมงฟอร์ตวิทยาลัย (อังกฤษ: Montfort College Music Acedemy, MCMA) นอกเวลาเรียนให้กับบุคคลทั่วไปอยู่ ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน
ผู้บริหาร
[แก้]ผู้บริหารในปัจจุบัน
[แก้]- ภราดา ดร.ทักษบุตร ไกรประสิทธ์ ผู้อำนวยการแผนกประถม
- ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการแผนกมัธยม และอธิการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
รายนามอธิการ/ผู้อำนวยการ
[แก้]ทำเนียบอธิการและผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (พ.ศ. 2475 - 2553) | ||
รายนาม | ปีดำรงตำแหน่ง | |
---|---|---|
1. ภราดา ซีเมออน ริโคล | พ.ศ. 2475 - 2481 | |
2. ภราดา ฮิวเบิร์ต คูแซง | พ.ศ. 2481 - 2484 | |
3. ภราดา ปีเตอร์ | พ.ศ. 2484 - 2490 | |
4. ภราดา เซราฟิน | พ.ศ. 2490 - 2496 | |
5. ภราดา อัลเบิร์ต เบิร์น | พ.ศ. 2496 - 2498 | |
6. ภราดา ซีเกียว อาเกล | พ.ศ. 2498 - 2504 | |
7. ภราดา ฮิวเบิร์ต ไมเกต์ | พ.ศ. 2504 - 2509 | |
8. ภราดา เอ็ดเวิร์ด คูเรียน | พ.ศ. 2509 - 2513 | |
9. ภราดา อิลเดฟองโซ มารีอา | พ.ศ. 2513 - 2515 | |
10. ภราดา พจน์ เลาหเกียรติ | พ.ศ. 2515 - 2516 | |
11. ภราดา สมพงษ์ ศรีสุระ | พ.ศ. 2516 - 2521 | |
12. ภราดา บัญญัติ โรจนารุณ | พ.ศ. 2521 - 2530 | |
13. ภราดา ดร.วิศิษฐ์ ศรีวิชัยรัตน์ | พ.ศ. 2530 - 2537 | |
14. ภราดา ผศ.ดร.วินัย วิริยวิทยาวงศ์ | พ.ศ. 2537 - 2540 | |
15. ภราดา อนุรักษ์ นิธิภัทราภรณ์ | พ.ศ. 2540 - 2547 | |
16. ภราดา มีศักดิ์ ว่องประชานุกูล | พ.ศ. 2547 - 2553 | |
ทำเนียบอธิการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม | ||
17. ภราดา อาจิณ เต่งตระกูล | พ.ศ. 2553 - 2556 | |
18. ภราดา ดร.อนุศักดิ์ นิธิภัทราภรณ์ | พ.ศ. 2556 - 2559 | |
19. ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์ | พ.ศ. 2559 - 2561 | |
20. ภราดา ดร.สุรกิจ ศรีสราลกุลวงศ์ | พ.ศ. 2562 - 2565 | |
21.ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน | |
ทำเนียบผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม | ||
16. ภราดา มีศักดิ์ ว่องประชานุกูล | พ.ศ. 2553 - 2556 | |
17. ภราดา ศุภนันท์ ขันธปรีชา | พ.ศ. 2556 - 2562 | |
18. ภราดา ดร. เศกสรร สกนธวัฒน์ | พ.ศ. 2562 - 2565 | |
19. ภราดา ดร. ทักษบุตร ไกรประสิทธ์ | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน |
หมายเหตุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ได้มีการกำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนใหม่คือ
1. อธิการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม
2. ผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของแผนกมัธยมและแผนกประถม
ความสำเร็จ
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยนับว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการและด้านกิจกรรมทั้งดนตรีและกีฬาในจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผลงานทางวิชาการและกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศและระดับโลกมาแล้วมากมายดังตัวอย่าง
ระดับนานาชาติ
[แก้]รายชื่อความสำเร็จระดับนานาชาติของมงฟอร์ตวิทยาลัย | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ระดับประเทศ
[แก้]ด้านวิชาการ
[แก้]- นายวรพล รัตนพันธ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าแข่งขัน วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระดับภูมิภาคเอเชีย Asian Science Camp 2010 ณ ประเทศอินเดีย ปี 2553 [8]
- โครงงานวิทยาศาสตร์รางวัลชนะเลิศระดับประเทศในปี 2547 เรื่องการศึกษาวงจรชีวิตและเส้นใยของหนอนผีเสื้อยักษ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และยังเป็นตัวแทนโครงงานประเทศไทยเข้าแข่งระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
- โครงงานอาชีพ "ทองผำ ทองเตา" ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการกรุงไทยยุววานิช ปี 2547
- นายศรัณย์ อาฮูยา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่น ปี 2547 [9]
- โครงงานอาชีพ "หมอนหก-สะลีเมือง" ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการกรุงไทยยุววานิช ปี 2554
- โครงงานอาชีพ "รำลำ มอร์นิ่ง" ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการกรุงไทยยุววานิช ปี 2556
- รางวัลชนะเลิศ โครงการ Kid Witness News 2013 เรื่อง "มูล" ค่ามหาศาล
- รางวัลชนะเลิศ โครงการ Kid Witness News 2014 เรื่อง Blind's Diary
- โครงงานวิทยาศาสตร์รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 ในปี 2558 เรื่องการพัฒนาผ้าจากเส้นในผีเสื้อยักษ์ด้วยการเคลือบนาโนซิงค์ออกไซด์ และยังเป็นตัวแทนโครงงานประเทศไทยเข้าแข่งระดับอาเซียนในรายการ ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2016)
- โครงงานวิทยาศาสตร์รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ YSC 2016 ในปี 2559 เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิดแผลจากเยื่อไมยราบยักษ์ด้วยการเคลือบน้ำตะโก และยังเป็นตัวแทนโครงงานประเทศไทยเข้าแข่งระดับโลกในงาน Intel ISEF 2016 ณ รัฐแอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
- โครงงานวิทยาศาสตร์รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่12 ในปี 2559 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ปิดแผลไฮโดรเจลโดยการใช้สารสกัดจากเมล็ดหมากเป็นส่วนประกอบ และยังเป็นตัวแทนโครงงานประเทศไทยเข้าแข่งระดับอาเซียนในรายการ ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2017)
- ในปี 2564 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยมีจำนวนนักเรียนติดค่ายโอลิมปิกวิชาการรวมทั้งสิ้นแล้ว 65 คน อันดับ 1 ของจังหวัดและเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือทั้งหมด
ด้านดนตรี
[แก้]วงดุริยางค์ของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยประสบความสำเร็จและก้าวหน้าโดยเริ่มจากการส่งเสริมของภราดาตั้งแต่ในอดีตเช่นภราดาซิเมออน สูงสุดในสมัยที่ภราดาอันโตนิโอ มารีอา (ชื่อพระราชทานเป็นภาษาไทยว่า ภราดาอนุรักษ์ ศรีวาทยากร) เป็นรองอธิการโดยท่านได้เป็นผู้ประพันธ์เพลงโรงเรียน และได้ส่งเสริมการเล่นดุริยางค์ของนักเรียนมงฟอร์ต ปูพื้นฐานดนตรีสากลให้กับนักเรียนมงฟอร์ตทุกคนอย่างจริงจัง โดยประพันธ์แบบเรียนดนตรีสากลให้สำหรับนักเรียนประถมต้นให้ได้รู้จักดนตรีสากลอย่างจริงจัง นอกจากนั้นในอดีตท่านยังได้มีส่วนในการสร้างนักเรียนมงฟอร์ตให้มีความสามารถด้านดนตรีจนมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
- ได้รับคัดเลือกให้แสดงคอนเสิร์ตเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ในงาน Family Festival Bandfest ในปี พ.ศ. 2539 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
- รางวัลชนะเลิศ การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปี พ.ศ. 2544
- วง h.r.u (หรู) เป็นวงดนตรีที่ชนะการประกวด KPN Band ในปี พ.ศ. 2548 และมีผลงานออกมาในปี พ.ศ. 2549
- รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานฯการแข่งขันการประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นักศึกษา ชิงถ้วยพระราชทาน พระบรมโอรสาธิราชฯ ครั้งที่ 29 ประจำปี 2553
ความสำเร็จระดับภูมิภาค และ ประเทศ
[แก้]- นางสาวธัญลักษณ์ โชติพิบูลศิลป์ นักกีฬายิงปืน 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ปีการศึกษา 2551[10]
- นายศุภนร ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา นักกรีฑาเยาวชน เหรียญทองกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก "6th IAAF World Youth Championships" ณ สาธารณรัฐอิตาลี กรกฎาคม 2552[11]
ด้านกิจกรรม
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยมปลุกกระแสความยิ่งใหญ่ของผู้นำเชียร์ และกองเชียร์อีกครั้งในปี พุทธศักราช 2551 อีกครั้งโดยคัดเลือกผู้นำเชียร์ของโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Sponsor Thailand Championship 2008 ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และได้เป็นตัวแทนภาคเหนือไปประกวดระดับประเทศ ณ จังหวัดราชบุรี และได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 4 หลังจากนั้นได้ทำการคัดเลือกผู้นำเชียร์เข้าร่วมแข่งขันรายการดังกล่าวทุกปี
เพลงโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยเป็นหนึ่งในไม่กี่โรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยที่ไม่ได้ใช้เพลงสดุดีอัสสัมชัญเป็นเพลงประจำโรงเรียน เนื่องจากชื่อโรงเรียนไม่ได้ใช้ชื่อว่า "อัสสัมชัญ" เหมือนโรงเรียนอื่นในเครือมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ปัจจุบันเพลงประจำโรงเรียนคือเพลงมาร์ชมงฟอร์ต ซึ่งมีสองแบบคือแบบภาษาไทย (เพลงมาร์ชมงฟอร์ตวิทยาลัย) และภาษาอังกฤษ (เพลง Come Cheer) ทั้งสองแบบประพันธ์โดย ภราดาอนุรักษ์ ศรีวาทยากร นอกจากนั้นปัจจุบันโรงเรียนยังได้รับเพลง "สดุดีอัสสัมชัญ" มาใช้ในการประกวดผู้นำเชียร์ของโรงเรียน โดยได้ดัดแปลงเป็นเพลงใหม่ที่เข้ากับโรงเรียนมงฟอร์ต และตั้งชื่อใหม่เป็นเพลง "เกียรติศักดิ์ MC" ในปี พ.ศ. 2551 ได้นำบูมโรงเรียนมาใช้อีกครั้ง ปัจจุบันเพลงโรงเรียนอย่างเป็นทางการมีทั้งหมด 15 เพลง ได้แก่ มาร์ชมงฟอร์ต, Labor Omnia vincit, Come Cheer, Glory to Montfort, ความหมายดวงตรา, น้อมนพบูชา (วิถีมงฟอร์ต), บนทางเส้นไกล, พี่น้องเอ็มซี, มงฟอร์ตบ้านที่รัก, วันทามารีย์, สดุดีนักบุญมงฟอร์ต, อิ่มเอิบ อบอุ่น อารี, 80 ปีร้อยความรู้คู่ความดีตามวิถีมงฟอร์ต, ไม่เคยลืม (90 ปี), อัญมณี (90 ปี)
กิจกรรมโรงเรียน
[แก้]กรีฑาสีมงฟอร์ต
[แก้]โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยมีการจัดกิจกรรมแข่งขันกรีฑาสีเป็นประจำทุกปี ในสูจิบัตรการแข่งขันกรีฑาสีครั้งที่ 42 ประจำปีการศึกษา 2551 มาสเตอร์นิสิต เจียงสงวน ครูอาวุโสได้เรียบเรียงถึงประวัติการจัดการแข่งขันดังนี้
การกีฬามงฟอร์ตเป็นที่รู้จักดีของคนทั่วไปในสมัยภราดาอาซีเนียว ราว พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา กีฬาที่นำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนอย่างมากคือบาสเก็ตบอล ต่อมาภราดาอาซีเนียวได้ให้การสนับสนุนกีฬาด้านอื่น ๆ และกรีฑาด้วย ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงทั้งด้านการเรียนและกีฬา สำหรับการกีฬาอธิการได้ให้ความเอาใจใส่และสนับสนุนทุก ๆ ทาง มีการแข่งขันกีฬาและกรีฑาประจำปี เป็นการหาตัวนักกีฬาเป็นตัวแทนของโรงเรียนซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ
- ห้อง A สีแดง
- ห้อง B สีน้ำเงิน
- ห้อง C สีเหลือง
- ห้อง D สีเขียว
แบ่งเป็นรุ่นจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ตามความสูงที่กำหนด โดยจัดเฉพาะโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เริ่มในปีการศึกษา 2509 อย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อมีห้องเรียนเพิ่มก็จัดแบ่งเป็น 6 สี ในสมับของภราดาเอ็ดเวิร์ด ปีการศึกษา 2510 ได้จัดการแข่งขันร่วมกับทางโรงเรียนเรยีนาเชลีและโรงเรียนพระหฤทัย รวม 3 โรงเรียน โดยจะพลัดกันเป็นเจ้าภาพการแข่งขันทุกปี
จนกระทั่งถึงสมัยของภราดาบัญญัติ โรจนรุณ ปีการศึกษา 2523 ได้ล้มเลิกการจัดกิจกรรมร่วมกัน และทำการแข่งขันแต่ละโรงเรียนเอง ซึ่งทางโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยก็ทำการแข่งขันอย่างต่อเนื่องจนถึงบัดนี้
ในสมัยภราดามีศักดิ์ ว่องประชานุกูล ในปีการศึกษา 2549 ได้รับนักเรียนเพิ่มมากขึ้นในช่วงชั้นที่ 4 เป็นจำนวน 12 ห้องเรียน (รวม EP) ซึ่งต่างกับช่วงชั้นที่ 3 ซึ่งมีเพียง 8 ห้อง (รวม EP) ดังนี้
ห้อง ม.ปลาย | สีก่อนปีการศึกษา 2551 | สีหลังปีการศึกษา 2551 |
---|---|---|
1 | สีเหลือง | สีเหลือง |
2 | สีเขียว | สีเขียว |
3 | สีชมพู | สีชมพู |
4 | สีแดง | สีแดง |
5 | สีม่วง | สีม่วง |
6 | สีน้ำเงิน | สีน้ำเงิน |
7 | สีแสด | สีขาว |
8 | - | สีน้ำตาล |
9 | - | สีแสด |
10 และ 11 | สีทอง | สีทอง |
EP | สีฟ้า, เงิน | สีฟ้า |
ห้อง ม.ต้น | สีก่อนปีการศึกษา 2551 | สีหลังปีการศึกษา 2551 |
---|---|---|
1 | สีเหลือง | สีเหลือง |
2 | สีเขียว | สีเขียว |
3 | สีชมพู | สีชมพู |
4 | สีแดง | สีแดง |
5 | สีม่วง | สีม่วง |
6 | สีน้ำเงิน | สีน้ำเงิน |
7 | สีแสด | สีแสด |
EP | สีฟ้า, เงิน | สีฟ้า |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- ทักษิณ ชินวัตร - นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23
- เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ - เจ้านายฝ่ายเหนือ สืบสกุลเจ้านครเชียงใหม่
- ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ - อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
- สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล - อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- บุญทรง เตริยาภิรมย์ - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย - ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
- พลตำรวจเอก สมศักดิ์ จันทะพิงค์[12] - นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก ปิยะ อุทาโย[13] - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- มณเฑียร บุญตัน - สมาชิกวุฒิสภา, อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
- บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ - อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
- ทัศนัย บูรณุปกรณ์ - อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
- ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- อัศนี บูรณุปกรณ์ - นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
- เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ - อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ - อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
- ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ - อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์
- ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์[14] - คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศาตราจารย์ นายแพทย์ สุทัศน์ ฟู่เจริญ[15] - นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นายแพทย์ นิพนธ์ ฉัตรทิพากร - อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
- ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นันทนา กสิตานนท์ - อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ - รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
- ชมภารี ชมภูรัตน์ - อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
- มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล[16] - ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร - ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- ธัญลักษณ์ โชติพิบูลศิลป์ - (หมิว) - นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย
- ศุภนร ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา (ตีโต้) - นักกรีฑาทีมชาติไทย
- ชรินทร์ นันทนาคร - ศิลปินแห่งชาติ
- ภูสมิง หน่อสวรรค์ - นักร้อง
- เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา - “น้าเน็ก” พิธีกร นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ
- ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล - “มะเดี่ยว” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย[17]
- สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว MC22655 - “บี้” (เดอะสตาร์ 3) - นักร้องสังกัด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
- สุพจน์ จันทร์เจริญ - “ลิฟท์” นักร้อง
- ศุภวัฒน์ รัตนโกเมน - นักร้องนำวงทีฟอร์ทรี
- นวปฎล มิ่งทุม - “มิว” (เอเอฟ 2)
- วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล - “พิช” (รักแห่งสยาม)
- ณิชภูมิ ชัยอนันต์ - “ณิชชี่” ผู้กำกับภาพยนตร์[18] ผู้ก่อตั้งวายุฟิล์มโปรดักชั่น
- ภัทรพล กันตพจน์ - “ดิว” (เดอะสตาร์ 4)
- ทีป์ชลิต พรหมชนะ - “ที” (เอเอฟ 6)
- พศิน ศรีธรรม - “ต้าร์” (นักแสดง)
- ธนญชัย ศรศรีวิชัย - "ต่อ ฟีโนมีน่า" ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา
- ฐปนัท สัตยานุรักษ์ - "จอร์จ" ( MC 44 รุ่น ณ ) นักแสดง นายแบบ
- แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ - "โซ่" ( MC 35 รุ่น ฬฬิต ) นักร้อง นักดนตรี
- กิตติ เครือมณี -"เอมมี่" (MC 35 รุ่น ฬฬิต) นักดนตรี โปรดิวเซอร์ดนตรี
- พัทธดนย์ จันทร์เงิน - "เฟียต" นักแสดง
- สุรเดช พินิวัตร์ - "บาส" ศิลปิน
- เอกพงศ์ เชิดธรรม - "เอก" มือกลองวงCrescendo
- นลินธารา โฮเลอร์ - “ซาร่า” (เอเอฟ 3)
- ณัฐ ศักดาทร - “ณัฐ” (เอเอฟ 4)
- กนกฉัตร มรรยาทอ่อน - "ไต้ฝุ่น" (เคพีเอ็น อวอร์ด ครั้งที่ 21)
- รัตน จันทร์ประสิทธิ์ - "นะ" ( MC 44 รุ่น ณ ) นักร้องนำวงโพลีแคต
- ปิ่นพงศ์ ขุนกัน หรือ NICECNX - นักร้อง
- พิชญาภา สุปัญญา - "นีนี่" สมาชิกวง CGM48
- วิทิตา สระศรีสม - "คนิ้ง" สมาชิกวง CGM48
- พิมพ์นารา ร่ำรวยมั่นคง - "ลาติน" สมาชิกวง CGM48
- ศุภาพิชญ์ ศรีไพโรจน์ - "เจเจ" สมาชิกวง CGM48
- ปราชญานนท์ ยุงกลาง - "ปุ้ย" มือกีตาร์ Bomb At Track
- สิรภพ เลิศชวลิต - "นิล" มือกลอง Bomb At Track
- ภูมิใจ ชัยอิสระเสรี - "ภูมิ" นักดนตรีอิสระเสรี
มงฟอร์ตในโลกบันเทิง
[แก้]- พ.ศ. 2535 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ที่สุดของหัวใจ ขับร้องโดย เรนโบว์ เป็นการแจ้งเกิดในวงการให้แก่ ออย ธนา สุทธิกมลซึ่งเป็นพระเอกในมิวสิกวิดีโอดังกล่าว
- พ.ศ. 2536-2537 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยแนววัยรุ่นจาก ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เรื่อง กระโปรงบานขาสั้น และกระโปรงบานขาสั้น เทอม 2 ตอนแอบดูบาร์บีคิว
- พ.ศ. 2539 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยแนววัยรุ่นจาก ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป รุ่น 2 กำกับและอำนวยการสร้างโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
- พ.ศ. 2554 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ได้ถูกใช้เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ กำกับโดยชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล โดยเริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555
- พ.ศ. 2556 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม (ใช้ชื่อสมมุติว่าโรงเรียนม่อนฟ้า) ได้ถูกใช้เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร โดยเริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557
- พ.ศ. 2557 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ได้ถูกใช้เป็นหนึ่งในถ่ายทำซีรีส์ละครโทรทัศน์เรื่อง เกรียนเฮาส์ เดอะ ซีรีส์ กำกับโดยชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2557
- พ.ศ. 2561 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ได้ถูกใช้เป็นหนึ่งในถ่ายทำซีรีส์ละครเรื่อง Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ กำกับโดยวรรณแวว และแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562
- พ.ศ. 2562 กลุ่มอาคารเรียนของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ถูกใช้เป็นฉากหลังของรายการ หกฉากครับจารย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย https://www.montfort.ac.th/about-us/school-history/
- ↑ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=2516
- ↑ "Montfort College Primary Section". www.mcp.ac.th.
- ↑ {{ไม่ผ่านแว็บอ้างอิงหลอกหลวงประสงร้ายละเมิดแฮ็กเฟสแฮ็กเบอร์โทรศัพร์แฮ็กสัณณาณชิ้ม
- ↑ {{ไม่ผ่านแว็บอ้างอิงหลอกหลวงประสงร้ายละเมิดแฮ็กเฟสแฮ็กเบอร์โทรศัพร์แฮ็กสัณณาณชิ้ม
- ↑ อนันทนาธร, กษิดิศ (2018-08-07). "ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง : ตำนานแห่งมงฟอร์ต". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Montfort College Primary Section". www.mcp.ac.th.
- ↑ http://www.posn.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=232&Itemid=80
- ↑ http://www.posn.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=120&Itemid=80
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
- ↑ http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=282&contentID=8049
- ↑ "องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์". www.nakhonsawanpao.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-04-02.
- ↑ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ผู้บังคับบัญชา". www.royalthaipolice.go.th.
- ↑ "รายนาม - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". web.med.cmu.ac.th.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ https://www.pttep.com/th/Aboutpttep/Executives/Topexecutives/Mrmontrirawanchaikul.aspx
- ↑ ฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย เว็บไซต์ www.thaifilmdb.com (http://www.thaifilmdb.com/th/pp00240)
- ↑ ฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย เว็บไซต์ www.thaifilmdb.com (http://www.thaifilmdb.com/th/pp04127)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เก็บถาวร 2006-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม
- มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
- The montfort brothers of St. Gabriel เก็บถาวร 2006-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Montfort Alumni Bangkok เก็บถาวร 2006-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เครือข่ายสารสนเทศมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย