กาอุ้น
กาอุ้น (เจี่ย ชง) | |
---|---|
賈充 | |
ผู้จัดการกิจการในสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ?– 19 พฤษภาคม ค.ศ. 282 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 217 อำเภอเซียงเฝิน มณฑลชานซี |
เสียชีวิต | 19 พฤษภาคม ค.ศ. 282 (65 ปี) |
คู่สมรส | |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ |
|
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | กง-ลฺหวี (公閭) |
สมัญญานาม | อู่กง (武公) |
บรรดาศักดิ์ | หลู่กง (魯公) |
กาอุ้น[a] หรือ แกฉง[b] (217 – 19 พฤษภาคม ค.ศ. 282[c]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจี่ย ชง (จีน: 賈充; พินอิน: Jiǎ Chōng) ชื่อรอง กง-ลฺหวี (จีน: 公閭; พินอิน: Gōnglǘ) เป็นขุนนางชาวจีนในช่วงปลายยุคสามก๊กและต้นยุคราชวงศ์จิ้นของจีน กาอุ้นเริ่มรับราชการในฐานะที่ปรึกษาของสุมาสูและสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก และต่อมารับราชการเป็นขุนนางในราชสำนักของสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) หลังการสถาปนาราชวงศ์จิ้น
ประวัติช่วงต้นและการรับราชการในวุยก๊ก
[แก้]บิดาของกาอุ้นคือกากุ๋ยเป็นขุนพลในวุยก๊กและถือว่าเป็นแบบอย่างของความภักดีต่อรัฐ กากุ๋ยไม่มีบุตรชายจนกระทั่งช่วงบั้นปลายชีวิต[d]เมื่อกาอุ้นถือกำเนิด ซึ่งทำให้กากุ๋ยรู้สึกยินดีมาก มารดาของกาอุ้นคือหลิ่วชื่อ (柳氏) กาอุ้นสืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาหลังกากุ๋ยผู้บิดาเสียชีวิต ภายหลังกาอุ้นได้รับราชการกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสูและต่อมารับราชการกับสุมาเจียวน้องชายและผู้สืบทอดอำนาจของสุมาสู ในปี ค.ศ. 257 สุมาเจียวส่งกาอุ้นไปหยั่งเจตนาของขุนพลจูกัดเอี๋ยนว่ามีความเห็นอย่างไรหากตัวสุมาเจียวตัดสินใจจะชิงราชบัลลังก์วุยก๊ก จูกัดเอี๋ยนต่อว่ากาอุ้นเมื่อกาอุ้นยกย่องสุมาเจียวต่อหน้าตนไม่หยุด หลังกาอุ้นกลับไปนครหลวงลกเอี๋ยงได้เตือนสุมาเจียวว่าจูกัดเอี๋ยนอาจไม่เต็มใจที่จะยอมรับการปกครองของสุมาเจียว สุมาเจียวจึงเรียกตัวจูกัดเอี๋ยนกลับนครหลวง กลายเป็นการบีบให้จูกัดเอี๋ยนเริ่มก่อกบฏแต่ก็ถูกปราบลงอย่างรวดเร็ว หลังจากเหตุการณ์นี้กาอุ้นก็ได้รับการนับถือจากสุมาเจียวมากยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ. 260 โจมอจักรพรรดิแห่งวุยก๊กไม่อาจระงับความกริ้วที่พระองค์มีต่อการผูกขาดอำนาจของสุมาเจียวได้ จึงทรงพยายามจะก่อการรัฐประหารเพื่อยึดพระราชอำนาจคืนจากสุมาเจียว เมื่อกองกำลังของสุมาเตี้ยมน้องชายของสุมาเจียวพ่ายแพ้ต่อกองกำลังของโจมออย่างรวดเร็ว กาอุ้นก็กล้ามายืนหยัดต่อหน้าจักรพรรดิและสั่งให้เซงเจ (成濟 เฉิง จี้) ทหารใต้บังคับบัญชาให้ใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ในการเอาชนะจักรพรรดิและผู้จงรักภักดีต่อพระองค์ เซงเจจึงปลงพระชนม์โจมอโดยการแทงด้วยทวนจนสวรรคต ภายหลังเหตุการณ์นี้ ผู้คนต่างเรียกร้องให้ประหารชีวิตเซงเจและกาอุ้น สุมาเจียวพิจารณาเรื่องนี้เป็นเวลามากกว่าสิบวัน ในที่สุดจึงตัดสินให้ประหารชีวิตเซงเจ (พร้อมตระกูล) แต่ไว้ชีวิตกาอุ้นเพราะไม่ต้องการประหารชีวิตผู้ที่ภักดีต่อตน อย่างไรก็ตามตั้งแต่นั้นมากาอุ้นก็เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้คนว่าเป็นผู้ปลงพระชนม์จักรพรรดิ
กาอุ้นยังมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏของจงโฮยที่ต่อต้านสุมาเจียวในปี ค.ศ. 264 ก่อนการก่อกบฏ สุมาเจียวคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจงโฮยมีแนวโน้มจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก สุมาเจียวจึงเตรียมการไว้ล่วงหน้ารวมถึงการตั้งให้กาอุ้นกำกับกำลังทหารเพื่อรับมือการโจมตีใด ๆ ที่อาจมาจากจงโฮย จงโฮยถูกสังหารโดยทหารของตนเองที่ไม่ยอมเข้าร่วมการก่อกบฏและหันมาต่อต้านตัวจงโฮยเอง
การรับราชการภายใต้ราชวงศ์จิ้น
[แก้]หลังการเสียชีวิตของสุมาเจียวในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวบังคับโจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของวุยก๊กให้สละราชบัลลังก์ให้ตนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 จึงเป็นการสิ้นสุดการปกครองของวุยก๊กและแทนที่ด้วยราชวงศ์จิ้น สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ กาอุ้นที่เป็นข้าราชบริพารที่ภักดีของตระกูลสุมายังคงเป็นบุคคลสำคัญในราชสำนักของราชวงศ์จิ้น จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงมอบหมายให้กาอุ้นร่างกฎหมายของราชราชวงศ์จิ้น ซึ่งในช่วงแรก ๆ ถือว่ามีความผ่อนปรนมากกว่ากฎหมายที่เข้มงวดภายใต้การปกครองของวุยก๊ก อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมทำให้ผู้ได้รับผลประโยชน์หลักคือชนชั้นขุนนาง จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังทรงตั้งให้กาอุ้นมีบรรดาศักดิ์เป็น "หลู่กง" (魯公)
เป็นเวลาหลายปีที่กาอุ้นแข่งขันทางการเมืองกับเริ่น ข่าย (任愷) และยฺหวี่ ฉุน (庾純) ในปี ค.ศ. 271 เริ่น ข่ายและยฺหวี่ ฉุนสามารถโน้มน้าวจักรรรพดิสุมาเอี๋ยนให้ส่งกาอุ้นนำทัพราชวงศ์จิ้นไปโจมตีกบฏชนเผ่าเซียนเปย์ที่นำโดยทูฟ่า ชู่จีเหนิง (禿髮樹機能) กาอุ้นไม่ต้องการต่อสู้กับกลุ่มกบฏ และสามารถเลี่ยงการถูกส่งไปในยุทธการโดยการให้ภรรยาไปประจบประแจงและโน้มน้าวจักรพรรดินีหยาง เยี่ยน (楊艷) พระมเหสีของสุมาเอี๋ยน เสนอบุตรสาวของตนคือเจีย หนานเฟิง (賈南風) ให้สมรสกับซือหม่า จง (司馬衷) รัชทายาทที่มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการของสุมาเอี๋ยน ในปี ค.ศ. 272 กาอุ้นแก้แค้นเริ่น ข่ายและยฺหวี่ ฉุนได้สำเร็จโดยการบังคับให้ทั้งคู่ออกจากราชการ
ในปี ค.ศ. 279 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงต้องการเปิดฉากการบุกครั้งใหญ่ต่อง่อก๊กที่เป็นรัฐสุดท้ายของสามก๊ก ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ในการรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งภายใต้ราชวงศ์จิ้น กาอุ้นทูลคัดค้านพระดำริของสุมาเอี๋ยนและทูลแย้งว่าการเป็นยากเกินไปที่จะพิชิตง่อก๊ก สุมาเอี๋ยนไม่เพียงเพิกเฉิยต่อคำแนะนำของกาอุ้น ยังแต่งตั้งกาอุ้นให้เป็นผู้ประสานงานในการโจมตีง่อก๊ก 6 ทิศทาง กาอุ้นทูลปฏิเสธ สุมาเอี๋ยนยังคงตรัสให้กาอุ้นเป็นผู้ประสานงาน มิฉะนั้นตัวสุมาเอี๋ยนจะเป็นผู้ประสานงานด้วยพระองค์เอง กาอุ้นยอมรับมอบหมายแต่ยังคงคัดค้านการดำเนินการทางการทหาร ในช่วงต้นปี ค.ศ. 280 แม้ราชวงศ์จิ้นประสบความสำเร็จในปฏิบัติการทางการทหารต่อง่อก๊กอยู่บ้าง แต่กาอุ้นยังคงกดดันให้หยุดการบุกหลังทัพราชวงศ์จิ้นยึดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของง่อก๊กด้านตะวันตกมาได้ ต่อมาไม่นานหลังจากที่กาอุ้นเขียนฎีกาถวายสุมาเอี๋ยนเพื่อโต้แย้งการทำศึก ซุนโฮจักรพรรดิแห่งง่อก๊กก็ยอมจำนนต่อราชวงศ์จิ้น จึงเป็นการสิ้นสุดการปกครองของง่อก๊ก กาอุ้นรู้สึกละอายใจจึงขอลาออกจากราชการ แต่สุมาเอี๋ยนทรงไม่ยอมรับการลาออกอีกทั้งยังพระราชทานรางวัลแก่กาอุ้นสำหรับสิ่งที่พระองค์ถือว่าเป็นความดีความชอบของกาอุ้นระหว่างการทัพกับง่อก๊ก
เสียชีวิต
[แก้]เมื่อกาอุ้นป่วยหนักในปี ค.ศ. 282 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนพระราชทานเกียรติพิเศษแก่กาอุ้นโดยมีรับสั่งให้รัชทายาทซือหม่า จงเสด็จไปเยี่ยมกาอุ้นเป็นการพิเศษ หลังกาอุ้นเสียชีวิต กัว หฺวาย (郭槐) ภรรยาคนที่สองของกาอุ้นต้องการให้หาน มี่ (韓謐) หลานชายของกาอุ้น (บุตรชายของบุตรสาวของกาอุ้น) ให้เป็นผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของกาอุ้น จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงอนุมัติแม้ว่าจะถือว่าไม่เหมาะสมที่หลานชายที่เกิดจากบุตรสาวจะสืบทอดบรรดาศักดิ์จากตา ด้วยเหตุนี้ขุนนางชื่อฉิน ซิ่ว (秦秀) ผู้รับผิดชอบในการเลือกสมัญญานามให้กับขุนนางคนสำคัญจึงต้องการเลือกชื่อ "ฮฺวาง" (荒; มีความหมายว่า "ผู้กระทำการผิดกฎหมาย") ให้เป็นสมัญญานามของกาอุ้นในตอนแรก แต่สุมาเอี๋ยนทรงปฏิเสธการเสนอของฉิน ซิ่วและเลือกชื่อ "อู่" (武; มีความหมายว่า "การรบ") ให้เป็นสมัญญานามของกาอุ้น
ครอบครัว
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในวัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]กาอุ้นปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 8ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 86[1] และตอนที่ 87[2]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 82[3] และตอนที่ 84[4]
- ↑ ในพระราชประวัติของสุมาเอี๋ยนในจิ้นชูระบุว่ากาอุ้นเสียชีวิตในวันเกิงอู่ (庚午) ในเดือน 4 ของศักราชไท่คาง (太康) ปีที่ 3 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน เทียบได้กับวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 282 ในปฏิิทินจูเลียน[5]
- ↑ กากุ๋ยมีอายุ 43 ปีในปีในกาอุ้นเกิด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
- ↑ ([(太康三年夏四月)庚午,太尉、鲁公贾充薨。) จิ้นชู เล่มที่ 3.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.