โจซอง
โจซอง (เฉา ฉฺว่าง) | |
---|---|
曹爽 | |
ผู้จัดการราชการสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง 19 มกราคม ค.ศ. 239 – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 | |
กษัตริย์ | โจยอย / โจฮอง |
ก่อนหน้า | โจฮู |
ขุนพลยุทธพิทักษ์ (武衛將軍 อู่เว่ย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 227 – 19 มกราคม ค.ศ. 239 | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 249[a] ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน |
บุพการี |
|
ความสัมพันธ์ |
|
อาชีพ | ขุนพล, ผู้สำเร็จราชการ |
ชื่อรอง | เจาปั๋ว (昭伯) |
บรรดาศักดิ์ | อู่อานโหว (武安侯) |
โจซอง (เสียชีวิตวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา ฉฺว่าง (จีน: 曹爽; พินอิน: Cáo Shuǎng) ชื่อรอง เจาปั๋ว (จีน: 昭伯; พินอิน: Zhāobó) เป็นขุนพลและผู้สำเร็จราชการของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนโตของโจจิ๋นขุนพลคนสำคัญของวุยก๊ก ในตอนแรกโจจิ๋นมีอำนาจสูงสุดในวุยก๊กในฐานะมหาขุนพล แต่ภายหลังสูญเสียอำนาจให้แก่สุมาอี้ในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงและถูกประหารชีวิตฐานกบฏ
ประวัติ
[แก้]ราวปี ค.ศ. 239 เมื่อโจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงพระประชวรหนัก พระองค์ตัดสินพระทัยจะส่งมอบราชบัลลังก์ต่อไปยังโจฮองพระโอรสบุญธรรม ตอนแรกพระองค์มีพระราชประสงค์จะมอบหมายให้โจฮูผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์ให้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้สำเร็จราชการช่วยเหลือโจฮอง โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการ ได้แก่ เซี่ยโหว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่ง แต่เล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) และซุนจู (孫資 ซุน จือ) ขุนนางคนสนิทของจักรพรรดิโจยอยไม่ถูกกันกับเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้า เล่าฮองและซุนจูเกรงว่าเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการจึงทูลโน้มน้าวจักรพรรดิโจยอยให้ตั้งโจซอง (ซึ่งเป็นมิตรกับทั้งคู่) และสุมาอี้ (ซึ่งเวลานั้นคุมทหารประจำการอยู่ที่อำเภอจี๋ (汲縣; อยู่ในนครซินเซียง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)) ให้เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมแทน ส่วนโจฮู, เซี่ยโหว เซี่ยน, เฉา เจ้า และจีนล่งถูกปลดจากการเป็นผู้สำเร็จราชการ ผลเป็นผลทำให้โจซองได้ขึ้นมามีอำนาจในช่วงท้ายของรัชสมัยจักรพรรดิโจยอย อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าโจซองไม่เหมาะสมกับหน้าที่สำคัญที่เขาได้รับมอบหมาย เมื่อโจยอยตรัสถามโจซองว่าตัวโจซองมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ โจซองรู้สึกประหม่าจนทูลไม่ออก เล่าฮองจึงเข้าไปกระซิบข้างหูโจซอง บอกโจซองให้ทูลว่า "ข้าจะรับใช้ราชวงศ์ตราบจนชีวิตหาไม่"[2]
โจซองและน้องชายคือโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) และโจหุ้น (曹訓 เฉา ซฺวิ่น) กุมอำนาจยิ่งใหญ่ในวุยก๊กแม้ว่าตัวโจซองจะไร้ความสามารถ โจซองยังมักจะขัดแย้งกับสุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมผู้มีอิทธิพลและการสนับสนุนมากกว่า ในปี ค.ศ. 243 ฐานะของสุมาอี้ยิ่งมั่นคงขึ้นจากความสำเร็จในการศึก เมื่อจูกัดเก๊กขุนพลของรัฐง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กส่งทหารไปยังฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการบุก สุมาอี้จึงนำทัพวุยก๊กไปยังอำเภอซีเสง (舒縣 ชูเซี่ยน) เมืองโลกั๋ง (盧江郡 หลูเจียงจฺวิ้น) ใกล้กับชายแดนวุยก๊ก-ง่อก๊ก เมื่อซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊กทรงทราบข่าว จึงรีบมีรับสั่งให้จูกัดเก๊กถอยทัพไปที่อำเภอชีสอง (柴桑 ไฉชาง) เมืองอิเจี๋ยง (豫章郡 ยฺวี่จางจฺวิ้น) ชื่อเสียงและอิทธิพลของสุมาอี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้รับการสรรเสริญที่สามารถขับไล่ข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่า 100,000 นายให้ล่าถอยไปได้โดยไม่ต้องรบจึงสามารถรักษาชายแดนและช่วยฉิวฉุนจากการโจมตี โจซองรู้สึกว่าฐานะของตนยิ่งไม่มั่นคงจากชัยชนะของสุมาอี้ จึงโน้มน้าวจักรพรรดิโจฮองให้เลื่อนตำแหน่งสุมาอี้เป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) แม้ว่าจะดูเป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สุมาอี้ แต่แท้จริงแล้วตำแหน่งราชครูเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริงในราชการทหาร
โจซองอยากจะมีชัยชนะในการศึกเพื่อเพิ่มชื่อเสียงให้กับตัวเอง จึงเลือกจ๊กก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊กเป็นเป้าหมายที่จะเอาชนะ โจซองนำกำลังทหารจำนวนมากกว่า 100,000 นาย[3] บุกเข้าอาณาเขตของจ๊กก๊กในเดือนมีนาคม ค.ศ. 244[4] แต่อีกสองเดือนต่อมา โจซองก็พ่ายแพ้ให้กับทัพจ๊กก๊กที่นำโดยอองเป๋งและบิฮุยในยุทธการที่ซิงชื่อจนต้องหนีกลับไปเตียงฮันอย่างแทบเอาชีวิตไม่รอด ชื่อเสียงและอิทธิพลของโจซองลดต่ำลงไปอีกหลังการพ่ายแพ้นี้ ขณะเดียวกันชื่อเสียงและอิทธิพลของสุมาอี้ก็เพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากสุมาอี้ได้คัดค้านการทัพครั้งนี้ตั้งแต่ต้น สุมาอี้ต้องการจะลวงโจซองไม่ให้ระแวงตน จึงหยุดกิจกรรมทางการเมืองไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 247 และลาออกจากราชการโดยอ้างว่าป่วย สุมาอี้แสร้งป่วยด้วยความชราภาพต่อไป ในปีเดียวกัน โจซองทำตามคำแนะนำของหลีซิน, เตงเหยียง และเตงปิดเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้[b]
ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 248 หลีซินขุนนางคนสนิทของโจซองได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักวุยก๊กให้เป็นข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว ก่อนที่หลีซินจะเดินทางออกจากลกเอี๋ยงไปรับตำแหน่งที่เกงจิ๋ว โจซองให้หลีซินไปตรวจสอบความเป็นไปของสุมาอี้ โจซองและผู้ติดตามยินดีอย่างมากเมื่อหลีซินกลับมารายงานว่าสุมาอี้ป่วยจริงและไม่ได้ยินสิ่งที่หลีซินพูด หลีซินรายงานว่าสุมาอี้ฟังคำว่า "เกงจิ๋ว" ผิดเป็น "เป๊งจิ๋ว" โจซองเห็นว่าสุมาอี้ไม่เป็นภัยคุกคามตนอีกต่อไปจึงเลิกระแวงสุมาอี้
ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 โจซองและน้องชายสองคนคือโจอี้และโจหุ้นออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงติดเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปสักการะบรรพชนที่สุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) หลังจากนั้นทั้งหมดก็ไปล่าสัตว์ภายนอกลกเอี๋ยง
ถูกประหารชีวิต
[แก้]สุมาอี้และบุตรชายฉวยโอกาสนี้ก่อการรัฐประหารและเข้าควบคุมกำลังทหารที่ประจำการอยู่ในลกเอี๋ยง ลำดับแรกสุมาอี้ส่งผู้ร่วมก่อการไปเข้ายึดตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นของโจซองและน้องชาย ให้โกหยิวเข้ายึดตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) แทนที่โจซอง ให้อองก๋วน (王觀 หวาง กวาน) เข้ายึดตำแหน่งเสนาบดีราชรถ (太僕 ไท่ผู) แทนที่โจอี้ จากนั้นสุมาอี้เข้าเฝ้ากวยทายเฮาและบังคับพระองค์ให้ออกพระเสาวนีย์ให้จับกุมโจซองและน้องชายในข้อหากบฏ
ฮวนห้อมที่ปรึกษาคนหนึ่งของโจซองหลบหนีออกจากลกเอี๋ยงพร้อมด้วยตราประจำตำแหน่งมหาขุนพลและนำไปมอบให้โจซอง เวลานั้นสมาชิกครอบครัวของโจซองถูกจับเป็นตัวประกันในลกเอี๋ยง ทำให้โจซองอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าควรจะยอมจำนนต่อสุมาอี้หรือไม่ แต่หลังจากสุมาอี้ให้คำมั่นว่าโจซองและครอบครัวจะไม่เป็นอันตราย โจซองจึงตัดสินใจยอมจำนนและสละอำนาจของตนให้กับสุมาอี้ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 หลังสุมาอี้ได้อำนาจมาแล้วก็กลับผิดสัญญาที่เคยให้กับโจซอง โดยให้จับกุมตัวโจซองและครอบครัวแล้วนำไปประหารชีวิตในข้อหากบฏ
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่า โจซองกับผู้มีส่วนร่วม ได้แก่ เตงปิด, เตงเหยียง, โฮอั๋น, ปิดห้วน, หลีซิน และฮวนห้อม ถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวในวันอู้ซฺวีของเดือน 1 ของศักราชเจียผิง ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮอง[1] ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 ตามปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ ในบางแหล่งข้อมูลระบุว่าโจซองย้ายกวยทายเฮาให้ไปประทับในวังหย่งหนิงเพื่อกักบริเวณพระองค์และให้อยู่ห่างจากยุวจักรพรรดิโจฮอง แต่นักประวัติศาสตร์อย่างหู ซานสิ่งและหวาง เม่าหงสงสัยในความน่าเชื่อถือเรื่องนี้ เพราะจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวยทายเฮาประทับในวังหย่งหนิงตั้งแต่โจฮองขึ้นครองราชย์แล้ว จึงน่าจะไม่มีเรื่องการย้ายที่ประทับ และแหล่งข้อมูลของเรื่องนี้อาจเสริมแต่งโดยนักประวัติศาสตร์ราชวงศ์จิ้นเพื่อให้ร้ายโจซองที่กระทำไม่ชอบธรรมด้วย "การลักพาตัวจักรพรดินีพันปีหลวง"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ([嘉平元年春正月]戊戌,有司奏収黃門張當付廷尉,考實其辭,爽與謀不軌。又尚書丁謐、鄧颺、何晏、司隷校尉畢軌、荊州刺史李勝、大司農桓範皆與爽通姦謀,夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
- ↑
The Emperor said, “Is Cao Shuang competent for the task?” Cao Shuang perspired and was unable to speak. Liu Fang stepped on his foot and whispered into his ear, “Say, 'I will serve the dynasty to my death.'” Chronicles of the Three Kingdoms, Achilles Fang.
- ↑ (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
- ↑ (正始五年,爽乃西至長安,大發卒六七萬人,從駱谷入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.