เสือไฟ
เสือไฟ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Felidae |
สกุล: | Catopuma |
สปีชีส์: | C. temminckii |
ชื่อทวินาม | |
Catopuma temminckii (Vigors & Horsfield, 1827) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
เสือไฟ หรือ คางคูด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Catopuma temminckii ) เป็นแมวป่าขนาดกลาง มีขนาดเล็กกว่าเสือลายเมฆ แต่ใหญ่กว่าแมวลายหินอ่อน โดยชื่อวิทยาศาสตร์ temminckii ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่กุนราด ยาโกบ แต็มมิงก์ นักสัตววิทยาชาวดัตช์ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ของเสือไฟแอฟริกาเมื่อปี ค.ศ. 1827[2]
แม้จะมีลายน้อย แต่รูปแบบของลายของเสือไฟก็ดูคล้ายกับลายของแมวดาว ลักษณะที่เด่นชัดคือ แต้มสีขาวกับขีดดำบริเวณแก้ม และเส้นจากหัวตาไปถึงกระหม่อม ด้านล่างลำตัวและขาด้านในมีสีขาว หางยาวประมาณ 1/3 จนถึง 1/2 ของความยาวลำตัว ปลายหางด้านล่างสีขาว หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดขาวอยู่กลางหลังหู ตามักมีสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองอำพัน ปลายหางด้านใต้จะมีริ้วสีขาวเช่นเดียวกับที่พบในเสือไฟบอร์เนียว นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าสองชนิดนี้อาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
ความยาวลำตัว 75-105 เซนติเมตร น้ำหนัก 8-15 กิโลกรัม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด
เสือไฟมีคู่เหมือนชนิดหนึ่งคือ เสือไฟแอฟริกา (African Golden Cat, Caracal aurata) อาศัยอยู่ในป่าเขตศูนย์สูตรในทวีปแอฟริกา ในอดีตเคยมีความเชื่อว่า เสือไฟทั้งสองชนิดเป็นญาติสนิทกัน แต่ข้อมูลด้านพันธุกรรมบ่งชี้ว่าเสือไฟและเสือไฟแอฟริกามีสายเลือดห่างกันมาก ญาติสนิทที่สุดของเสือไฟคือแมวแดงบอร์เนียว (Bornean Bay Cat, Catopuma badia) อาศัยอยู่ในป่าทึบของเกาะบอร์เนียว คาดว่าเสือไฟและแมวแดงบอร์เนียวมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 4.9 ถึง 5.3 ล้านปีก่อน
ลักษณะและพฤติกรรม
[แก้]เสือไฟมีสีขนหลากหลาย คือ สีน้ำตาลแดง น้ำตาลอมเทา ตลอดจนสีส้ม สีขนบริเวณใบหน้าจะเข้มกว่าลำตัว มีลักษณะเด่นคือ มีแถบขนสีขาวบนใบหน้า เหนือตาและแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว มีความยาวลำตัวและหัว 76–105 เซนติเมตร ความยาวหาง 43–60 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 12–33 กิโลกรัม[2]
ขนของเสือไฟมีตั้งแต่สีแดงถึงน้ำตาลทอง น้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลเหลือง เทาถึงดำ รูปแบบของขนขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสีด้วย ขนอาจเป็นจุดหรือลาย สีเส้นขาวดำที่แก้มและพาดขึ้นไปส่วนบนของหัว หูมีสีดำออกเทาบริเวณตรงกลาง[2] พบเสือไฟลายคล้ายเสือดาวในประเทศจีน ซึ่งเป็นลักษณะด้อยของเสือไฟ[3] และบางตัวอาจพบเป็นสีดำทั้งตัว[4]
มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ เอเชียตะวันออก, ภาคเหนือของเอเชียใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ภาคใต้และภาคตะวันออกของจีน, เนปาล, ภูฏาน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซียและอินโดนีเซีย[6]
เสือไฟ สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบชื้น, ป่าเบญจพรรณ สามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่จะล่าเหยื่อบนพื้นดินมากกว่าล่าบนต้นไม้ และยังพบได้ถึงระดับถึงความสูงกว่า 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาหิมาลัย[7] เมื่อเวลาเดินจะยกหางขึ้นเหมือนแมวบ้าน อาหารของเสือไฟมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู, กระต่าย, ลูกเก้งและนกเล็ก ๆ ที่หากินตามพื้นดิน ในบางครั้งอาจล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวได้ หมูป่าขนาดเล็กและลูกกวางป่าได้ด้วย รวมถึงล่าปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงได้ด้วย[8] ในต้นปี พ.ศ. 2558 ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังเคยปรากฏข่าวว่าเสือไฟโจมตีช้างพังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จนล้ม[9] มักอาศัยตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่พบเห็นว่าอยู่ด้วยกัน 2–3 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน 95 วัน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว ตามโพรงไม้ที่มีความปลอดภัย ปกติเสือไฟจะล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ ก็อาจล่าเป็นคู่ได้[4]
ชนิดย่อย
[แก้]มีด้วยกัน 3 ชนิดย่อย:[10]
ชื่อชนิดพันธุ์ | เขตกระจายพันธุ์ |
---|---|
C.t.dominicanorum | จีนตอนใต้ |
C.t.temminckii | เทือกเขาหิมาลัยจนถึงสุมาตรา |
C.t.tristis | ที่ราบสูงของจีนตะวันตกเฉียงใต้ |
ความเชื่อ
[แก้]เสือไฟ เป็นสัตว์ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นพญาเสือ แม้เสือที่มีขนาดใหญ่กว่ายังกลัว ขน หรือ เล็บ หรือ เขี้ยว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันอันตราย หรือภูตผีปีศาจได้ ซึ่งความเชื่อเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ นี้ ได้ถูก มาลา คำจันทร์ นำไปแต่งเป็นนวนิยาย ชื่อ เขี้ยวเสือไฟ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2532 และรางวัล IBBY (International Board of Book for Young People) ประจำปี ค.ศ. 1990 ซึ่งในปี พ.ศ. 2544 ได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 นำแสดงและร้องเพลงประกอบละคร โดย แอ๊ด คาราบาว[11]
นอกจากนี้แล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่าเสือไฟเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดไฟป่า ดอยหรือป่าผืนใดที่เสือไฟปรากฏ ไม่ช้าจะเกิดไฟป่า[12]
ในภาษาใต้ เสือไฟถูกเรียกว่า "คางคูด" เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ดุร้าย มักใช้เป็นคำขู่หลอกให้เด็ก ๆ กลัว โดยคางคูดนี้เป็นชื่อโดยรวม ๆ ของสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กที่ปรากฏตัวในเวลากลางคืน ร่วมกับเสือดำ, มูสัง หรือชะมด[13][9]
ที่จีน เสือไฟถูกมองว่าเป็นเสือดาวชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า "แมวหิน" หรือ "เสือดาวเหลือง" ในตัวที่มีขนสีดำหรือเข้มเรียกว่า "เสือดาวดำ" และตัวที่ปรากฏลายจุดเรียกว่า "เสือดาวงา"[2]
ชีววิทยา
[แก้]ระยะเวลาเป็นสัดยาว 6 วัน คาบการเป็นสัดนาน 39 วัน เสือไฟตั้งท้องนาน 70-80 วัน จากคำบอกเล่าของชาวเขาในประเทศไทยบอกว่าเสือไฟเลี้ยงลูกในโพรงไม้ ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว ลูกเสือแรกเกิดหนักประมาณ 250 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุ 9 วัน เมื่ออายุ 6 เดือนก็หย่านม ลูกเสือไฟมีสีเรียบเหมือนพ่อแม่ แต่มีขนยาวกว่า หนากว่า และสีเข้มกว่าของพ่อแม่เล็กน้อย ตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 18-24 เดือน
ปัจจุบันมีเสือไฟอยู่ในสวนสัตว์ทั่วโลกรวมแล้วราวสิบตัวเท่านั้น เสือไฟมีปัญหาเรื่องเสือตัวผู้ฆ่าตัวเมีย แม้จะเป็นคู่ที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานก็ตาม การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงจึงทำได้ยาก ตัวที่อายุยืนที่สุดมีอายุ 20 ปี
ภัยที่คุกคาม
[แก้]เสือไฟประสบปัญหาถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และรองลงมาคือการล่าเพื่อเอาหนังและกระดูก บางครั้งเสือไฟก็ถูกชาวบ้านฆ่าตายเมื่อไปจับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มกิน ด้วยเหตุนี้ไซเตสจึงจัดเสือไฟไว้ในบัญชีหมายเลข 1
สถานภาพประชากร
[แก้]ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550)
ประเทศที่ห้ามล่า
[แก้]บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย เวียดนาม
ควบคุมการล่า
[แก้]ลาว
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์
[แก้]ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม
ไม่มีข้อมูล
[แก้]กัมพูชา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sanderson, J., Mukherjee, S., Wilting, A., Sunarto, S., Hearn, A., Ross, J., Khan, J.A. (2008). "Pardofelis temminckii". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Sunquist, Mel; Sunquist, Fiona (2002). Wild cats of the World. Chicago: University of Chicago Press. pp. 52–56. ISBN 0-226-77999-8.
- ↑ Allen, G.M. (1938) The mammals of China and Mongolia. New York: American Museum of Natural History.
- ↑ 4.0 4.1 ข่าวภาคเที่ยง, ช่อง 7: พฤหัสบดี 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ↑ Pocock, R.I. (1939) The Fauna of British India, including Ceylon and Burma. Mammalia. – Volume 1. Taylor and Francis, Ltd., London. Pp 259–264
- ↑ Nowell, K., Jackson, P. (1996). 'Wild Cats: status survey and conservation action plan. IUCN/SSC Cat Specialist Group, Gland, Switzerland.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Baral H.S. and Shah K.B. (2008) Wild Mammals of Nepal. Himalayan Nature, Kathmandu.
- ↑ "ตื่นเสือไฟบุกชุมชนขย้ำกินหัวใจหมู". เดลินิวส์. 20 November 2014. สืบค้นเมื่อ 21 November 2014.
- ↑ 9.0 9.1 "เสือไฟกัดช้างตาย". กรุงเทพธุรกิจ. 2015-01-08. สืบค้นเมื่อ 2017-07-09.
- ↑ Grubb, Peter (16 November 2005). Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. ed. Mammal Species of the World (3rd ed.) เก็บถาวร 2010-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
- ↑ นวนิยายเขี้ยวเสือไฟ โดย มาลา คำจันทร์ ISBN 974-315-584-8
- ↑ หน้า ๐๗๒, คืนสุขวัยเยาว์ ผืนป่าตะวันตก โดย ธเนศ งามสม. อ.ส.ท. พฤศจิกายน ๒๕๕๗: ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๔
- ↑ Lhong (2012-01-07). "คางคูด คืออะไรครับ". สยามเอนซิส. สืบค้นเมื่อ 2017-07-09.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Catopuma temminckii ที่วิกิสปีชีส์