ข้ามไปเนื้อหา

แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่สอง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวรบด้านตะวันออก
ส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่สอง

เรียงตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: รถถังที-34 ของโซเวียตระหว่างยุทธการที่เบอร์ลิน; รถถังทีเกอร์ 1 ของเยอรมนีระหว่างยุทธการที่คูสค์; เครื่องบินดำทิ้งระเบิดสตูกาของเยอรมนีบนแนวรบด้านตะวันออก ฤดูหนาว ค.ศ. 1943–1944; การฆ่าชาวยิวโดยไอน์ซัทซกุรพเพนของเยอรมนีในยูเครน; วิลเฮล์ม ไคเทิลลงนามตราสารยอมจำนนของเยอรมนี; กำลังโซเวียตในยุทธการที่สตาลินกราด
วันที่22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 (1941-06-22)9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 (1945-05-09)
(3 ปี 10 เดือน 2 สัปดาห์ 2 วัน)
สถานที่
ทวีปยุโรปทางตะวันออกของเยอรมนี ได้แก่ ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออกและยุโรปเหนือ ในระยะหลังมียุโรปใต้ (คาบสมุทรบอลข่าน) และประเทศเยอรมนีกับออสเตรีย
ผล สหภาพโซเวียตได้รับชัยชนะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองยุโรปกลาง, ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ และก่อตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ที่โซเวียตสนับสนุนในประเทศต่างๆ ได้แก่ บัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และเยอรมนีตะวันออก
การก่อตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
การแบ่งแยกประเทศเยอรมนี
การเปลี่ยนแปลงชายแดนของโปแลนด์
คู่สงคราม

รัฐหุ่นเชิดฝ่ายอักษะ


คู่สงครามร่วม


ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กำลัง
1941
  • 3,767,000 คน
1943
  • 3,933,000 คน
1945
  • 1,960,000 คน
1941
  • 2,680,000 คน
1943
  • 6,724,000 คน
1945
  • 6,410,000 คน
ความสูญเสีย
เสียชีวิตประมาณ 5.1 ล้านคน
ถูกจับเป็นเชลย 4.5 ล้านคน
เสียชีวิตประมาณ 8.7 ถึง 10 ล้านคน
ถูกจับเป็นเชลย 4.1 ถึง 5.7 ล้านคน
พลเรือนเสียชีวิต:
18–24 ล้านคน

แนวรบด้านตะวันออกเป็นเขตสงครามหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง มีอักษะประเทศในทวีปยุโรป และคู่สงครามร่วมฟินแลนด์ฝ่ายหนึ่ง กับสหภาพโซเวียต โปแลนด์และชาติสัมพันธมิตรจำนวนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่สงคราม เขตสงครามนี้กินอาณาบริเวณยุโรปตะวันออก บางส่วนของยุโรปเหนือและยุโรปใต้ สู้รบกันระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ถึง 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เขตสงครามดังกล่าวมีเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามประเทศ ชื่อที่โดดเด่น เช่น "มหาสงครามของผู้รักชาติ" (รัสเซีย: Великая Отечественная война, อักษรโรมัน: Velikaya Otechestvennaya voyna) ในอดีตสหภาพโซเวียต; แนวรบด้านตะวันออก (เยอรมัน: die Ostfront)[3] การทัพตะวันออก (เยอรมัน: der Ostfeldzug) หรือ การทัพรัสเซีย (เยอรมัน: der Rußlandfeldzug) ในเยอรมนี[4][5]

การยุทธ์บนแนวรบด้านตะวันออกประกอบกันเป็นการเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีลักษณะของความรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน การทำลายไม่เลือกหน้า การเนรเทศขนานใหญ่ ตลอดจนการสูญเสียชีวิตมหาศาลอันเนื่องมาจากการสู้รบ ความอดอยาก การทอดทิ้ง โรคระบาด และการสังหารหมู่ แนวรบด้านตะวันออก อันเป็นแหล่งค่ายมรณะ การเดินขบวนแห่งความตาย (death march) เกตโต และโพกรมแทบทั้งหมด ถือเป็นศูนย์กลางของฮอโลคอสต์ จากตัวเลขประเมินผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง 70 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตราว 30 ล้านคนในแนวรบด้านตะวันออก[III] ซึ่งเป็นพลเรือนเสียมาก แนวรบด้านตะวันออกมีส่วนสำคัญในการกำหนดผลของสงครามโลกครั้งที่สอง และถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอันนำไปสู่ความปราชัยของเยอรมนี[6] สงครามนี้ลงเอยด้วยการล่มสลายของนาซีเยอรมนี การแบ่งประเทศเยอรมนีนานเกือบครึ่งศตวรรษ และการก้าวขึ้นเป็นรัฐอภิมหาอำนาจทางทหารและอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียต

เบื้องหลัง

[แก้]

แม้เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตจะชังในอุดมการณ์ของอีกฝ่าย แต่ทั้งสองต่างไม่ชอบผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยกัน สหภาพโซเวียตเสียดินแดนผืนใหญ่ในยุโรปตะวันออกไป อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งได้ยกให้ตามข้อเรียกร้องของเยอรมนีและยอมยกโปแลนด์ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลัตเวียและฟินแลนด์ ฯลฯ ให้แก่ "ฝ่ายมหาอำนาจกลาง" ต่อมา เมื่อเยอรมนียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรบ้าง ดินแดนเหล่านี้ถูกปลดปล่อยภายใต้เงื่อนไขของการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 แต่ขณะนั้นรัสเซียอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่รับรองรัฐบาลบอลเชวิค และสหภาพโซเวียตยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นจนอีก 4 ปีให้หลัง ฉะนั้นจึงไม่มีผู้แทนรัสเซียเข้าร่วมประชุม

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 เป็นความตกลงไม่รุกรานระหว่างนาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ซึ่งมีพิธีสารลับที่มุ่งย้อนยุโรปกลางคืนสู่สถานะเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยการแบ่งดินแดนระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนียจะกลับไปอยู่ในการควบคุมของโซเวียต ขณะที่โปแลนด์และโรมาเนียจะถูกแบ่งระหว่างทั้งสอง

ตามข้อมูลของแอนดรูว์ นากอร์สกี (Andrew Nagorski) (2007; The Greatest Battle) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบุกครองสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ต่อคาร์ล ยาคอบ บูร์คฮาร์ดท์ ข้าหลวงสันนิบาตชาติ โดยกล่าวว่า "ทุกอย่างที่ผมทำมุ่งต่อต้านพวกรัสเซีย ถ้าทางตะวันตกโง่และตาบอดเกินกว่าจะฉวยสิ่งนี้ เช่นนั้นผมจะถูกบังคับให้หันไปทำความตกลงกับพวกรัสเซีย เอาชนะตะวันตก และจากนั้นหลังประเทศเหล่านั้นแพ้แล้ว ค่อยหันกำลังของผมทั้งหมดต่อสหภาพโซเวียต ผมต้องการยูเครนเพื่อที่เขาจะทำให้เราอดอยากไม่ได้ เหมือนที่เคยเกิดในสงครามครั้งที่แล้ว"

เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตบุกครองและแบ่งโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939 เดือนพฤศจิกายนปีนั้น หลังฟินแลนด์ปฏิเสธเงื่อนไขสนธิสัญญาความร่วมมือร่วมกันของโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงรุกรานฟินแลนด์ในสงครามที่ต่อมาได้ชื่อว่า สงครามฤดูหนาว ซึ่งเป็นความขัดแย้งอันขมขื่นที่ลงเอยด้วยชัยชนะเพียงบางส่วนของโซเวียต เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตยึดครองและผนวกรัฐบอลติกทั้งสามอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ละเมิดอนุสัญญาเฮกปี 1899 และ 1907 อนุสัญญาและสนธิสัญญาทวิภาคีที่สหภาพโซเวียตลงนามกับรัฐบอลติกจำนวนมาก และรัฐตะวันตกส่วนมากไม่เคยรับรอง[7] สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพให้หลักประกันอย่างเห็นได้ชัดแก่โซเวียตในการยึดครองทั้งรัฐบอลติกและภูมิภาคทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของโรมาเนีย (บูโควินาเหนือและเบสซาราเบีย) แม้ฮิตเลอร์จะประกาศการบุกครองสหภาพโซเวีตย โดยอ้างการผนวกดินแดนบอลติกและโรมาเนียของโซเวียตว่าละเมิดความเข้าใจต่อสนธิสัญญาฯ ของเยอรมนี ดินแดนโรมาเนียที่ถูกผนวกนั้นถูกแบ่งระหว่างสาธารณรัฐโซเวียตยูเครนและมอลโดวา

อุดมการณ์

[แก้]

อุดมการณ์ของเยอรมนี

[แก้]

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์โต้เถียงใน ไมน์คัมพฟ์ อัตชีวประวัติของตน ถึงความจำเป็นของแนวคิดเลเบนซเราม์ (เยอรมัน: Lebensraum) ซึ่งเป็นการเข้ายึดดินแดนใหม่เพื่อการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันทางตะวันออกของเยอรมนี เขาดำริการตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันในที่นั้นเป็นชนชาติปกครอง (master race) ขณะที่กำจัดหรือเนรเทศผู้อยู่อาศัยส่วนมากไปยังไซบีเรียและใช้ที่เหลือเป็นแรงงานทาส[8] สำหรับพวกนาซีที่ยึดมั่นในหลักการ (ดังเช่นฮิมม์เลอร์) สงครามกับสหภาพโซเวียตเป็นการต่อสู้ของนาซีต่อคอมมิวนิสต์ และเชื้อชาติอารยันต่ออุนแทร์เมนซเชน (ต่ำกว่ามนุษย์)[9] สลาฟ ฮิตเลอร์เอ่ยถึงโดยใช้คำพิเศษว่า "สงครามแห่งการทำลายล้าง" ในแผนการชื่อ "เจเนรัลพลันโอสท์" (Generalplan Ost) ประชากรยุโรปกลางและสหภาพโซเวียตที่ถูกยึดครองจะถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตกบางส่วน บางส่วนตกเป็นทาส และถูกกำจัดทิ้งไปในที่สุด ชาวเยอรมันหรือ "ผู้ที่แผลงเป็นเยอรมัน" (Germanized) จะตั้งนิคมในดินแดนที่พิชิตได้[10] นอกจากนี้ พวกนาซียังมุ่งกวาดล้างประชากรชาวยิวขนาดใหญ่ในยุโรปกลางและตะวันออก[11] เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนาซีที่มุ่งกำจัดชาวยิวทุกคนในยุโรป[12]

หลังความสำเร็จขั้นต้นของเยอรมนีที่ยุทธการเคียฟ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มองว่าสหภาพโซเวียตอ่อนแอทางทหารและสุกงอมแก่การพิชิตทันทีทันใด วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1941 เขาประกาศว่า "เราทำแค่เตะที่ประตู และอาคารที่ผุพังทั้งหลังก็จะถล่มลงมา"[13] ดังนั้น เยอรมนีคาดหวังบลิทซครีกช่วงสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง และไม่มีการเตรียมการจริงจังต่อการสงครามยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี หลังชัยชนะอย่างเด็ดขาดของโซเวียตที่ยุทธการสตาลินกราดและสถานการณ์ทางทหารอันเลวร้ายมากของเยอรมนีอันเป็นผล ฮิตเลอร์และโฆษณาชวนเชื่อนาซีประกาศว่า สงครามเป็นการป้องกันอารยธรรมตะวันตกต่อการถูกทำลายโดย "ฝูงบอลเชวิก" (Bolshevik horde) ใหญ่โตที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป

อุดมการณ์ของโซเวียต

[แก้]

ระบอบโซเวียต ซึ่งมีโจเซฟ สตาลินเป็นผู้นำ วางแผนการขยายอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน และให้ความช่วยเหลือแก่ความคืบหน้าของการปฏิวัติโลก ในความเป็นจริง สตาลินได้ยึดหลักการสังคมนิยมประเทศเดียว (Socialism in one country) และใช้หลักการนั้นสร้างความชอบธรรมแก่การปรับให้สหภาพโซเวียตเป็นประเทศอุตสาหกรรมช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 นาซีเยอรมนี ซึ่งวางตัวเป็นรัฐที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มาอย่างต่อเนื่อง และได้ยืนยันฐานะอย่างเป็นทางการด้วยการลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่น[14] และอิตาลี[15][16] นับเป็นขั้วตรงข้ามทางอุดมการณ์โดยตรงกับสหภาพโซเวียต ความตึงเครียดจากอุดมการณ์ได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามตัวแทนระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต[17] เมื่อ ใน ค.ศ. 1936 เยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองสเปน โดยสนับสนุนฝ่ายชาตินิยมสเปน ขณะที่ฝ่ายโซเวียตสนับสนุนสาธารณรัฐสเปนที่สอง[15] ซึ่งนำโดยพวกสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างโดดเด่น[18]

เหตุการณ์อันชลุสส์ออสเตรียของเยอรมนี ใน ค.ศ. 1938 และการตัดเชโกสโลวาเกียแสดงถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างระบบความมั่นคงร่วมในทวีปยุโรป[19] ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากมักซิม ลิตวินอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียต[20][21] ความล้มเหลวดังกล่าว ตลอดจนความไร้ความสามารถของผู้นำอังกฤษและฝรั่งเศสที่จะลงนามพันธมิตรทางการเมืองและทางทหารเพื่อต่อต้านเยอรมนีเต็มขั้นกับสหภาพโซเวียต[22] นำไปสู่สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939[23] การลงนามดังกล่าวนี้นำไปสู่การพลิกผันการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต นาซีไม่ถูกพรรณนาว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตอีกต่อไป และสื่อสหภาพโซเวียตนำเสนอว่าเยอรมนีเป็นกลาง และกล่าวโทษโปแลนด์ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสว่าเป็นผู้ก่อสงคราม อย่างไรก็ดี หลังเยอรมนีบุกตี ฐานะของรัฐบาลโซเวียตก็เปลี่ยนมาเป็นต่อต้านนาซีเต็มตัว

การตัดสินใจทำสงคราม

[แก้]

เป็นช่วงเวลาเกือบสองปีที่แนวชายแดนเยอรมนี-โซเวียตคงความสงบอยู่ ขณะที่เยอรมนีรุกรานเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำและคาบสมุทรบอลข่าน ฮิตเลอร์มีความตั้งใจที่จะฉีกสนธิสัญญาไม่รุกรานและโจมตีสหภาพโซเวียต ความพยายามของฮิตเลอร์กลายเป็นรูปเป็นร่างเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1940 ฮิตเลอร์เชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะต้องยอมจำนนอย่างง่ายดายหลังจากต้องเผชิญกับการโหมกระหน่ำบุกของกองทัพเยอรมัน และสงครามน่าจะยุติลงก่อนที่ฤดูหนาวอันทารุณในสหภาพโซเวียตจะมาถึง

บางคนมีความเห็นว่าโจเซฟ สตาลินมีความกลัวที่จะทำสงครามกับเยอรมนี หรือไม่คาดว่าเยอรมนีจะทำสงครามสองด้าน และไม่ต้องการรบกวนฮิตเลอร์ บางคนบอกว่าสตาลินต้องการให้เยอรมนีทำสงครามกับประเทศทุนนิยมอื่น อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ สตาลินเชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1942 เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมเสร็จสิ้นแล้ว และไม่เชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะรวบรวมกองทัพขนาดใหญ่ไว้ในโปแลนด์ตะวันออก และใช้เครื่องบินสำรวจเหนือแนวชายแดนหลายรอบ แต่สตาลินละเลยสัญญาณดังกล่าว รวมไปถึงหน่วยสืบราชการลับด้วยเช่นกัน ไม่กี่คืนก่อนหน้าการรุกรานจะเริ่มต้น ทหารโซเวียตได้รับคำสั่งที่ลงนามโดยจอมพลแซมยอน ติโมเชนโก และพลเอกเกออร์กี จูคอฟ ตามคำสั่งของสตาลินว่า "ห้ามตอบโต้การกระทำใด ๆ" และ "ห้ามลงมือต่อข้าศึกโดยปราศจากคำสั่งโดยตรง" การโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนีทำให้นายพลระดับสูงของโซเวียตพากันแปลกใจ แม้ว่าสตาลินจะได้รับรายงานของหน่วยข่าวกรองเตือนว่าจะมีการรุกรานก็ตาม

ลำดับเหตุการณ์

[แก้]

ปฏิบัติการบาร์บารอสซา: ฤดูร้อน 1941

[แก้]
ปฏิบัติการบาร์บารอสซาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941:
  ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 1941
  ถึงวันที่ 1 กันยายน 1941
  ถึงวันที่ 9 กันยายน 1941
  ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 1941

ปฏิบัติการบาร์บารอสซาเริ่มต้นขึ้นก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 เล็กน้อย ฝ่ายเยอรมันทำลายเครือข่ายสายโทรเลขในมณฑลทหารบกทางชายแดนด้านตะวันตกของสหภาพโซเวียตทั้งหมด เพื่อทำลายการติดต่อสื่อสารของโซเวียต[24] เวลา 3.15 น. ของวันนั้น 99 กองพล จากทั้งหมด 190 กองพลของเยอรมนี รวมถึงกองพลยานเกราะ 14 กองพล และกองพลยานยนต์ 10 กองพล เคลื่อนย้ายเข้าวางกำลังต่อสหภาพโซเวียตจากทะเลบอลติกถึงทะเลดำ นอกจากนี้ยังมี 10 กองพลของโรมาเนีย 9 กองพลน้อยของโรมาเนียและ 4 กองพลน้อยของฮังการีเข้าสมทบ[25]

เพื่อสถาปนาความเป็นเจ้าอากาศ ลุฟท์วัฟเฟอเริ่มการเข้าตีฉับพลันต่อสนามบินโซเวียต และทำลายกองสนามบินกองทัพอากาศโซเวียตที่เคลื่อนเข้าวางกำลังส่วนหน้าซึ่งประกอบด้วยอากาศยานที่ล้าสมัยส่วนใหญ่เป็นอันมากก่อนที่นักบินจะทันนำเครื่องขึ้นจากพื้นดิน[26] เป็นเวลากว่าเดือนที่การรุกสามทางหยุดไม่อยู่ เมื่อกำลังยานเกราะโอบล้อมกองทหารโซเวียตนับแสนในวงล้อมขนาดใหญ่ซึ่งถูกลดทอนโดยกองทัพทหารราบที่เคลื่อนที่ได้ช้ากว่า ขณะที่ยานเกราะยังรักษาการรุก ตามหลักนิยมบลิทซครีก

วัตถุประสงค์ของกองทัพกลุ่มเหนือ คือ เลนินกราด ผ่านรัฐบอลติก ประกอบด้วยกองทัพที่ 16 ที่ 18 และกลุ่มยานเกราะที่ 4 รูปขบวนนี้เคลื่อนที่ผ่านลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย และเขตปสคอฟและนอฟโกรอดของรัสเซีย ในลิทัวเนีย ลัตเวียและเอสโตเนีย พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้ก่อการกำเริบทอ้งถิ่น โดย "ปลดปล่อย" ลิทัวเนียเกือบทั้งประเทศ ลัตเวียตอนเหนือและเอสโตเนียตอนใต้ก่อนที่กองกำลังเยอรมันจะมาถึง[27][28]

สองกลุ่มยานเกราะ ของกองทัพกลุ่มกลาง ได้แก่ กลุ่มยานเกราะที่ 2 และที่ 3 เคลื่อนที่ไปทางเหนือและใต้ของเบรสท์-ลีตอฟสก์ และมาบรรจบกันทางตะวันออกของมินสค์ ตามด้วยกองทัพที่ 2 ที่ 4 และที่ 9 กำลังยานเกราะผสมถึงแม่น้ำเบเรสินาในหกวัน ซึ่งอยู่ห่างจากแนวเริ่มต้น 650 กิโลเมตร วัตถุประสงค์ต่อไป คือ ข้ามแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในวันที่ 11 กรกฎาคม จากนั้น เป้าหมายต่อไป คือ สโมเลนสก์ ซึ่งแตกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม แต่การต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียตในพื้นที่สโมเลนสก์ และความล่าช้าของเวร์มัคท์ในการรุกทางเหนือและทางใต้บีบให้ฮิตเลอร์หยุดการผลักดันตรงกลางที่กรุงมอสโกและหันกลุ่มยานเกราะที่ 3 ไปทางเหนือ ที่สำคัญ กลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกูเดเรียนถูกสั่งให้เคลื่อนไปทางใต้ในกลยุทธ์คีมยักษ์ร่วมกับกองทัพกลุ่มใต้ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยูเครน กองพลทหารราบของกองทัพกลุ่มกลางแทบไม่เหลือการสนับสนุนจากยานเกราะในการดำเนินการรุกคืบที่ล่าช้าไปยังกรุงมอสโก[29]

การตัดสินใจนี้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ภาวะผู้นำอย่างรุนแรง ผู้บังคับบัญชาสนามของเยอรมนีสนับสนุนการรุกไปยังกรุงมอสโกทันทีทันใด แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธพวกเขา โดยอ้างความสำคัญของทรัพยากรเกษตรกรรม เหมืองแร่และอุตสาหกรรมของยูเครน เช่นเดียวกับการระดมกำลังเพิ่มเติมของโซเวียตในพื้นที่โกเมลระหว่างปีกด้านใต้ของกองทัพกลุ่มกลางและปีกด้านเหนือของกองทัพกลุ่มใต้ที่ถูกหน่วงไว้ การตัดสินใจนี้ ที่ได้ชื่อว่า "ช่วงหยุดฤดูร้อน" ของฮิตเลอร์[29] เชื่อกันว่ามีผลกระทบร้ายแรงต่อผลของยุทธการมอสโก โดยยอมเสียความเร็วในการรุกคืบไปยังกรุงมอสโกไปโอบล้อมกองทหารโซเวียตขนาดใหญ่รอบเคียฟ[30]

แผนที่แนวรบตะวันตกเฉียงใต้ (ยูเครน) วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941

กองทัพกลุ่มใต้ ร่วมกับกลุ่มยานเกราะที่ 1 กองทัพที่ 6 ที่ 11 และที่ 17 ได้รับมอบหมายให้เคลื่อนที่ผ่านกาลีเซียเข้าสู่ยูเครน อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของพวกเขาค่อนข้างช้า และได้รับความสูญเสียอย่างหนักในยุทธการรถถังใหญ่ ด้วยฉนวนมุ่งสู่เคียฟถูกเข้าครองเมื่อถึงกลางเดือนกรกฎาคม กองทัพที่ 11 ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพโรมาเนีย 2 กองทัพ สู้รบผ่านเบสซาราเบียมุ่งสู่โอเดสซา กลุ่มยานเกราะที่ 1 เบนจากเคียฟช่วงหนึ่ง โดยรุกเข้าสู่หัวโค้งนีเปอร์ (มณฑลนีโปรเปตรอฟสก์ตะวันตก) เมื่อกลุ่มยานเกราะที่ 1 เชื่อมกับส่วนใต้ของกองทัพกลุ่มใต้ที่อูมัน กลุ่มฯ ก็จับเชลยโซเวียตได้ราว 100,000 นายในวงล้อมขนาดใหญ่ กองพลยานเกราะของกองทัพกลุ่มใต้ที่กำลังรุกคืบพบกับกลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกูเดเรียนใกล้กับโลฮ์วึตซาในกลางเดือนกันยายน โดยตัดกองทหารกองทัพแดงจำนวนมากในกระเป๋าทางตะวันออกของเคียฟ[29] เชลยโซเวียต 400,000 คนถูกจับเมื่อเคียฟยอมจำนนในวันที่ 19 กันยายน[29]

ระหว่างที่กองทัพโซเวียตร่นถอยอยู่หลังแนวแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำดวีนา สตัฟกาของโซเวียตมุ่งความสนใจไปกับการอพยพอุตสาหกรรมในภูมิภาคทางตะวันตกให้ได้มากที่สุด โรงงานถูกรื้อและบรรจุลงในรถไฟขนสินค้า และตั้งขึ้นใหม่ในพื้นที่ห่างไกลกว่าในเทือกเขาอูราล คอเคซัส เอเชียกลางและไซบีเรียตะวันออกเฉียงใต้ พลเรือนส่วนมากถูกทิ้งให้หนีมาทางตะวันออกเอง เพราะมีเพียงกรรมกรอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะถูกอพยพพร้อมอุปกรณ์ และประชากรจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลังกับความเมตตาของกองกำลังฝ่ายบุกครอง

โจเซฟ สตาลินสั่งการให้กองทัพแดงที่กำลังร่นถอยริเริ่มนโยบาย scorched earth เพื่อไม่ให้เยอรมนีและพันธมิตรได้เสบียงพื้นฐานขณะที่พวกเขาเคลื่อนมาทางตะวันออก เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้น กองพันทำลายถูกตั้งขึ้นในพื้นที่แนวหน้า มีอำนาจประหารชีวิตบุคคลต้องสงสัยอย่างรวบรัด กองพันทำลายเผาหมู่บ้าน โรงเรียนและอาคารสาธารณะ[31] ส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ ผู้ตรวจการกิจการภายในประชาชน (People's Commissariat for Internal Affairs - NKVD) สังหารหมู่นักโทษ โดยมีนักโทษต่อต้านโซเวียตหลายพันคนถูกประหารชีวิต[32]

มอสโกและรอสตอฟ : ฤดูใบไม้ร่วง 1941

[แก้]

จากนั้น ฮิตเลอร์ตัดสินใจกลับมารุกสู่กรุงมอสโกต่อ โดยได้มีการจัดกลุ่มยานเกราะเป็นกองทัพยานเกราะเพื่อการณ์นี้ ในปฏิบัติการไต้ฝุ่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน กองทัพยานเกราะที่ 2 เร่งรุดตามถนนลาดยางตั้งแต่โอริออล (ถูกยึดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม) ไปจนถึงแม่น้ำโอกาที่ปลัฟซโคเย ขณะที่กองทัพยานเกราะที่ 4 (ถูกโอนจากกองทัพกลุ่มเหนือมายังกองทัพกลุ่มกลาง) และกองทัพยานเกราะที่ 3 ล้อมกำลังโซเวียตในวงล้อมขนาดใหญ่สองวงที่เวียซมาและเบรียนสก์ กองทัพกลุ่มเหนือตั้งอยู่หน้าเลนินกราดและพยายามตัดเส้นทางรถไฟเชื่อมที่มกา (Mga) ไปทางตะวันออก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการล้อมเลนินกราดนาน 900 วัน เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไป กำลังผสมเยอรมัน-ฟินแลนด์เริ่มต้นบุกไปยังมูร์มันสก์ แต่ไม่อาจบุกไปได้เกินกว่าแม่น้ำซาปัดนายา ลิตซา ที่ซึ่งหยุดตั้งมั่นไว้

กองทัพกลุ่มใต้ผลักลงใต้จากแม่น้ำนีเปอร์ไปยังฝั่งทะเลอะซอฟ ทั้งยังเคลื่อนทัพผ่านฮาร์คอฟ คูสค์ และสตาลิโน กองทัพที่ 11 เคลื่อนเข้าสู่ไครเมียและเข้ายึดทั้งคาบสมุทรได้เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง (ยกเว้นซาวัสโตปอล ซึ่งสามารถต้านทานได้ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1942) วันที่ 21 พฤศจิกายน ฝ่ายเยอรมันยึดรอสตอฟ ประตูสู่คอเคซัส อย่างไรก็ดี แนวรบเยอรมันยังยืดยาวเกินไป และโซเวียตฝ่ายตั้งรับตีโต้ตอบหัวหอกของกองทัพยานเกราะที่ 1 จากทางเหนือ บีบให้กองทัพยานเกราะที่ 1 ต้องถอนตัวออกจากนครและถอยไปหลังแม่น้ำมีอุส (Mius) นับเป็นการร่นถอยสำคัญครั้งแรกของเยอรมนีในสงคราม

พลปืนใหญ่โซเวียตขณะปฏิบัติหน้าที่ ณ โอเดสซา ค.ศ. 1941

ขณะที่ฤดูหนาวใกล้เข้ามา ฝ่ายเยอรมันเริ่มต้นบุกครั้งสุดท้ายซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เมื่อฝ่ายเยอรมันพยายามโอบล้อมกรุงมอสโก วันที่ 27 พฤศจิกายน กองทัพยานเกราะที่ 4 บุกไปถึงรัศมี 30 กิโลเมตรจากเครมลิน เมื่อบุกไปถึงจุดพักสุดท้ายของแนวมอสโกที่ฮิมคี ขณะเดียวกันนั้น กองทัพยานเกราะที่ 2 แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ ก็ไม่อาจยึดตูลา นครโซเวียตแห่งสุดท้ายที่ขวางทางบุกสู่กรุงมอสโกได้ หลังการประชุมซึ่งจัดที่ออร์ชา ระหว่างพลเอก ฟรันซ์ ฮัลแดร์ หัวห้าเสนาธิการทหารบก และหัวหน้ากลุ่มกองทัพและกองทัพทั้งสาม ได้ตัดสินใจผลักดันไปยังกรุงมอสโก ซึ่งจอมพล เฟดอร์ ฟอน บอค หัวหน้ากองทัพกลุ่มกลาง ให้เหตุผลว่า จะเป็นการดีกว่าแก่พวกเขาที่จะเสี่ยงดวงในสมรภูมิแทนที่จะคอยให้ข้าศึกรวบรวมกำลังมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันที่ 6 ธันวาคม เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เวร์มัคท์อ่อนแอเกินกว่าจะยึดกรุงมอสโกได้ และการเข้าตีถูกหยุดพักไว้ จากนั้น จอมพลชาโปชนิคอฟเริ่มการตีโต้ตอบของเขา โดยใช้กองหนุนที่เพิ่งระดมมาใหม่ ๆ เช่นเดียวกับกองพลตะวันออกไกลที่ได้รับการฝึกอย่างดีที่เพิ่งย้ายมาจากทางตะวันออก หลังญี่ปุ่นรับประกันจะวางตนเป็นกลาง

การตีโต้ตอบของโซเวียต : ฤดูหนาว 1941

[แก้]
การตีโต้ตอบของโซเวียตในฤดูหนาว: 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ถึง 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1942:
  ดินแดนที่โซเวียตยึดคืน
  ดินแดนที่เยอรมันได้เพิ่ม

ช่วงฤดูใบไม้ร่วง สตาลินได้ย้ายเอากองกำลังโซเวียตใหม่และมีอาวุธอย่างดีจากไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลมายังกรุงมอสโก วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941 กำลังเพิ่มเติมเหล่านี้เข้าตีแนวรบเยอรมันรอบกรุงมอสโก โดยได้รับการสนับสนุนจากรถถังที-34 และเครื่องยิงจรวดคัทยูชาใหม่ กำลังโซเวียตใหม่นี้เตรียมพร้อมรับมือกับการสงครามฤดูหนาวดีกว่าข้าศึก และโซเวียตยังมีกองพันสกีอยู่หลายกองพัน ฝ่ายเยอรมันที่เหนื่อยล้าและหนาวจนแข็งถูกขับออกจากกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1942

โซเวียตเข้าตีอีกหนในปลายเดือนมกราคม โดยพุ่งเป้าไปยังรอยต่อระหว่างกองทัพกลุ่มเหนือและกลุ่มกลางระหว่างทะเลสาบเซลีเกียร์กับรซเฮฟ (Rzhev) และขับช่องว่างระหว่างสองกลุ่มกองทัพเยอรมัน ประกอบกับการรุกจากคาลูกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก มีการตั้งใจให้การรุกทั้งสองบรรจบกันที่สโมเลนสก์ แต่ฝ่ายเยอรมันชุมนุมพลและสามารถแยกการเข้าตีทั้งสองสายออกจากกัน จึงยังสามารถรักษาแนวยื่นออกไป (salient) ที่รซเฮฟไว้ได้ การส่งพลร่มโซเวียตลงสู่โดโรโกบุชที่เยอรมนียึดครองอยู่นั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และพลร่มที่รอดชีวิตเหล่านั้นจำต้องหลบหนีไปยังดินแดนที่พลพรรคยึดครองอยู่และกำลังก่อตัวขึ้นหลังแนวรบเยอรมัน ทางเหนือ ฝ่ายโซเวียตล้อมที่ตั้งทหารเยอรมันในเดเมียนสก์ ซึ่งต้านทานโดยมีการส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้นานถึงสี่เดือน และจัดวางกำลังอยู่หน้าโฮล์ม เวลิช และเวลีคี ลูคี

ในทางใต้ กองทัพแดงข้ามแม่น้ำโดเนตส์ที่อีซูย์ม และสถาปนาแนวรบยื่นเข้าไปในแนวรบเยอรมันได้กว่า 100 กิโลเมตร เจตนาเพื่อตรึงกองทัพเยอรมันกับทะเลอะซอฟ แต่เมื่อเริ่มพ้นฤดูหนาว ฝ่ายเยอรมันสามารถตีโต้ตอบและตัดกำลังโซเวียตที่ถลำเข้ามาลึกเกินได้ในยุทธการฮาร์คอฟครั้งที่สอง

ดอน วอลกาและคอเคซัส : ฤดูร้อน 1942

[แก้]
ปฏิบัติการสีน้ำเงิน: การรุกของเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942:
  ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1942
  ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 1942
  ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 1942
  ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942

แม้จะมีการวางแผนเข้ากรุงตีมอสโกอีกหน แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1942 การรุกกลับเปิดฉากไปอีกทางหนึ่ง กองทัพกลุ่มใต้เป็นฝ่ายริเริ่ม ยึดแนวรบด้วยยุทธการโวโรเนช จากนั้น ตามด้วยแม่น้ำดอนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แผนการใหญ่ คือ ยึดแม่น้ำดอนและวอลกาก่อน แล้วค่อยเคลื่อนเข้าคอเคซัสมุ่งสู่ทุ่งน้ำมัน แต่การพิจารณาทางปฏิบัติการและความโอหังของฮิตเลอร์ทำให้เขาสั่งการให้ดำเนินตามวัตถุประสงค์ทั้งสองพร้อมกัน รอสตอฟถูกยึดคืนได้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม เมื่อกองทัพยานเกราะที่ 1 เข้าร่วม และจากนั้น กลุ่มดังกล่าวเคลื่อนลงไปทางใต้มุ่งสู่ไมคอป ส่วนหนึ่งของแผนการนี้ มีการดำเนินปฏิบัติการชามิล แผนการซึ่งกลุ่มบรันเดนบูร์เกอร์คอมมันโดแต่งกายเป็นกองทหาร NKVD ของโซเวียต เพื่อบ่อนทำลายการป้องกันไมคอป และให้กองทัพยานเกราะที่ 1 เข้าสู่เมืองน้ำมันแห่งนี้โดยมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อย

ทหารราบเยอรมันและรถปืนใหญ่อัตตาจรสทูเก 3 ระหว่างการรุกสู่สตาลินกราด เดือนกันยายน ค.ศ. 1942

ขณะเดียวกัน กองทัพที่ 6 กำลังมุ่งหน้าสู่สตาลินกราด ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพยานเกราะที่ 4 เป็นเวลานาน เพราะถูกเปลี่ยนให้ไปช่วยกองทัพยานเกราะที่ 1 ข้ามแม่น้ำดอน เมื่อกองทัพยานเกราะที่ 4 เข้าร่วมการรุกสตาลินกราดอีกครั้ง การต้านทานของโซเวียต อันประกอบด้วยกองทัพที่ 62 ภายใต้การบังคับบัญชาของวาซีลี ชุยคอฟ ก็ได้เหนียวแน่นแล้ว การข้ามแม่น้ำดอนทำให้กำลังเยอรมันไปถึงแม่น้ำวอลกาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม แต่อีกสามเดือนถัดมา เวร์มัคท์จะต้องสู้รบในยุทธการสตาลินกราดแบบถนนต่อถนน

ส่วนทางใต้ กองทัพยานเกราะที่ 1 ไปถึงตีนเขาคอเคซัสและแม่น้ำมัลคา เมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม กองทหารภูเขาของโรมาเนียเข้าร่วมกับหัวหอกคอเคซัส ขณะที่กองทัพที่ 3 และ 4 ของโรมาเนียมีการวางกำลังใหม่ หลังภารกิจกวาดล้างชายฝั่งอะซอฟสัมฤทธิ์ผล โดยเข้าประจำที่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของสตาลินกราดเพื่อให้กองกำลังเยอรมันสู้รบอย่างเหมาะสม ความเป็นปรปักษ์ที่ดำเนินอยู่ระหว่างพันธมิตรอักษะโรมาเนียและฮังการีเหนือทรานซิลเวเนีย ทำให้กองทัพโรมาเนียในคุ้งดอนถูกแยกจากกองทัพฮังการีที่ 2 โดยกองทัพอิตาลีที่ 8 ดังนั้น พันธมิตรทั้งหมดของฮิตเลอร์จึงเข้ามามีส่วน รวมทั้งกองกำลังที่เผื่อไว้ของสโลวาเกียกับกองทัพยานเกราะที่ 1 และกรมของโครเอเชียที่ขึ้นสมทบกองทัพที่ 6

การรุกเข้าสู่คอเคซัสถูกหน่วง โดยฝ่ายเยอรมันไม่สามารถสู้รบผ่านมัลโกเบคไปยังกรอซนีอันเป็นจุดหมายหลักได้ จึงได้เปลี่ยนทิศทางการบุกให้เข้าสู่กรอซนีจากทางใต้ โดยข้ามแม่น้ำมัลคาเมื่อปลายเดือนตุลาคมและเข้าสู่นอร์ทออสเซเตีย ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน บริเวณชานเมืองออร์ดโฮนีคิดเซ หัวหอกของกองพลยานเกราะที่ 13 ถูกตัดออก และกำลังยานเกราะจำต้องร่นถอย การรุกเข้าสู่รัสเซียก็สิ้นสุดลง

สตาลินกราด : ฤดูหนาว 1942

[แก้]
ปฏิบัติการยูเรนัส แซทเทิร์น และมาร์ส: กองทัพโซเวียตตีโต้ตอบในแนวรบด้านตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943:
  ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 1942
  ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943
  ถึงเดือนมีนาคม 1943

ขณะที่กองทัพที่ 6 และกองทัพยานเกราะที่ 4 กำลังบุกไปยังสตาลินกราดอยู่นั้น กองทัพโซเวียตได้มารวมพลกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของนคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตหัวสะพานดอนซึ่งกองทัพโรมาเนียไม่ได้ลดทอน และกองทัพโซเวียตได้โจมตีมาจากหัวสะพานเหล่านี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 ในปฏิบัติการยูเรนัส สองแนวรบโซเวียตเจาะผ่านแนวรบโรมาเนียและมาบรรจบกันที่คาลัชเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งดักกำลังอักษะ 300,000 นายไว้เบื้องหลัง[33] การรุกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเขตรซเฮฟ ที่มีชื่อว่า ปฏิบัติการมาร์ส นั้น ควรจะรุกไปถึงสโมเลนสก์ แต่ล้มเหลว ด้วยความสามารถทางยุทธวิธีของเยอรมนี

ฝ่ายเยอรมนีเร่งส่งกองทหารไปยังรัสเซียด้วยความพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือสตาลินกราด หากการบุกต้องเลื่อนออกไปจนวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งจนถึงขณะนั้น กองทัพที่ 6 ในสตาลินกราดกำลังอดอยากและอ่อนแอเกินกว่าจะตีฝ่าออกมาบรรจบกับกำลังที่ส่งมาช่วย ปฏิบัติการพายุฤดูหนาว ด้วยกองพลยานเกราะที่ถูกย้ายมาสามกองพล ซึ่งเร่งรุดเคลื่อนที่จากโคเทลนีโคโวมุ่งสู่แม่น้ำอัคไซ แต่ถูกหยุดขณะอยู่ห่างจากจุดหมาย 65 กิโลเมตร เพื่อเบนความพยายามช่วยเหลือ ฝ่ายโซเวียตตัดสินใจขยี้ฝ่ายอิตาลีและขัดขวางความพยายามสับเปลี่ยนกำลังหากทำได้ ปฏิบัติการนั้นเริ่มเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ในปฏิบัติการดังกล่าว ฝ่ายโซเวียตสามารถทำลายอากาศยานจำนวนมากที่ส่งกำลังบรรเทาไปยังสตาลินกราด ขอบเขตการรุกของโซเวียตที่ค่อนข้างจำกัด แม้ในท้ายที่สุดจะยังพุ่งเป้าไปยังรอสตอฟ ยังให้เวลาฮิตเลอร์มองเห็นเหตุผลและดึงกองทัพกลุ่มเอออกจากคอเคซัสและกลับจากแม่น้ำดอน[34]

31 มกราคม ค.ศ. 1943 ทหารผู้รอดชีวิต 90,000 นาย จากทั้งหมด 300,000 นายของกองทัพที่ 6 ยอมจำนน ถึงขณะนั้น กองทัพฮังการีที่ 2 ก็ถูกกวาดล้างไปแล้วเช่นกัน ฝ่ายโซเวียตรุกจากแม่น้ำดอนไปทางตะวันตกของสตาลินกราดได้ไกล 500 กิโลเมตร โดยเคลื่อนผ่านผ่านคูสค์ (ยึดคืนได้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943) และฮาร์คอฟ (ยึดคืนได้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943) เพื่อรักษาที่ตั้งทางใต้ ฝ่ายเยอรมันจึงตัดสินใจสละแนวยื่นที่รซเฮฟในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีกองทหารเพียงพอที่จะตอบโต้อย่างฉับพลันได้สำเร็จในยูเครนตะวันออก การรุกโต้ตอบของมันสไทน์ ซึ่งได้รับการเสริมกำลังจากเหล่ายานเกราะเอสเอสที่มีรถถังทีเกอร์ เปิดฉากเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 และสู้รบไปตามทางจากโปลตาวาเข้าไปในฮาร์คอฟในสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม เมื่อหิมะที่ละลายในฤดูใบไม้ผลิขัดขวาง ทำให้แนวรบโซเวียตเกิดรอยนูนซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่คูสค์

คูสค์ : ฤดูร้อน 1943

[แก้]
การรุกของเยอรมนีที่ฮาร์คอฟและคูสค์: 19 กุมภาพันธ์ ถึง 1 สิงหาคม ค.ศ. 1943:
  ถึงวันที่ 18 มีนาคม 1943
  ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 1943

หลังความพยายายามยึดสตาลินกราดล้มเหลว ฮิตเลอร์มอบอำนาจการวางแผนในฤดูการทัพที่จะมาถึงแก่กองบัญชาการทหารสูงสุด และให้กูเดเรียนมีบทบาทเด่นตามเดิม โดยคราวนี้เป็นจเรกำลังยานเกราะ การถกเถียงในหมู่เสนาธิการเกิดการแบ่งขั้ว แม้แต่ฮิตเลอร์เองก็กังวลเกี่ยวกับความพยายามใด ๆ ในการบีบแนวยื่นที่คูสค์ เขาทราบว่า ในช่วงหกเดือน ที่ตั้งของโซเวียตที่คูสค์มีการเสริมกำลังอย่างหนาแน่นด้วยปืนต่อสู้รถถัง กับดักรถถัง ทุ่นระเบิด รั้วลวดหนาม สนามเพลาะ รังปืนกล ปืนใหญ่และปืนครก อย่างไรก็ดี หากสามารถเปิดการรุกบลิทซครีกครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายได้ครั้งหนึ่ง เช่นนั้น ฝ่ายโซเวียตจะเบาบางลง และจะได้หันความสนใจไปยังภัยคุกคามจากฝ่ายสัมพันธมิตรในแนวรบด้านตะวันตก การรุกจะมาจากแนวยื่นที่โอริออลทางเหนือของคูสค์ และจากเบลโกรอดทางใต้ ปีกทั้งสองจะมาบรรจบกันบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของคูสค์ และหากสำเร็จจะสามารถฟื้นฟูแนวรบของกลุ่มกองทัพใต้ ณ จุดเดียวกับที่เคยยึดครองในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1941-1942

แม้ฝ่ายเยอรมันจะทราบว่า กำลังพลสนับสนุนของกองทัพแดงเคยหมดลงในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1941 และ 1942 ฝ่ายโซเวียตยังมีการจัดหากำลังพลเพิ่ม โดยการเกณฑ์ทหารจากพื้นที่ซึ่งยึดคืนได้

ด้วยแรงกดดันจากบรรดานายพล ฮิตเลอร์จึงตกลงเข้าตีที่คูสค์ โดยทราบเพียงเล็กน้อยว่า ข่าวกรองของอับเวร์ต่อที่ตั้งของโซเวียตนั้นถูกบ่อนทำลายโดยการให้ข้อมูลผิด ๆ ของสตัฟกาและการทัพต่อต้านข่าวกรอง ซึ่งดำเนินโดยแหวนสายลับลูซีในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อฝ่ายเยอรมันเริ่มปฏิบัติการ หลังจากหยุดพักไปหลายเดือนเพื่อรอรถถังและยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ขณะนั้นฝ่ายโซเวียตก็ได้เสริมกำลังแนวยื่นที่คูสค์ด้วยกำลังยิงต่อสู้รถถังมากกว่าที่เคยรวมอยู่ที่เดียวทั้งก่อนและนับแต่นั้น

ทั้งสองฝ่ายส่งรถถังรวมเกือบแปดพันคันในยุทธการคูสค์ นับเป็นยุทธการรถถังใหญ่ที่สุดตลอดกาล

ทางเหนือ กองทัพที่ 9 ของเยอรมนีทั้งหมดถูกวางกำลังใหม่จากแนวยื่นรซเฮฟไปยังแนวยื่นที่โอริออล และเคลื่อนจากมาโลอาร์ฮันเกลสก์ไปยังคูสค์ แต่กองกำลังนี้ไม่ผ่านกระทั่งวัตถุประสงค์แรกที่ออลโฮวัตคา ที่อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นการรุกเพียง 8 กิโลเมตร กองทัพที่ 9 เสียหัวหอกไปกับสนามทุ่นระเบิดของโซเวียต จากนั้น การบุกถูกเปลี่ยนทิศทางไปยังโปนืยรี ทางตะวันตกของออลโฮวัตคา แต่กองทัพที่ 9 ไม่สามารถเจาะผ่านที่นี่เช่นกัน และต้องเปลี่ยนไปตั้งรับแทน ฝ่ายโซเวียตโจมตีกลับ วันที่ 12 กรกฎาคม กองทัพแดงสู้รบผ่านแนวแบ่งเขตระหว่างกองพลที่ 211 และที่ 293 ริมแม่น้ำจิซดรา และมุ่งสู่คาราเชฟ ที่อยู่หลังพวกตนและหลังโอริออล

การรุกทางใต้ ซึ่งมีกองทัพยานเกราะที่ 4 เป็นหัวหอก นำโดย พลเอกฮอท โดยมีเหล่ารถถังสามเหล่าสร้างความคืบหน้า เหล่ายานเกราะเอสเอสที่ 2 และกองพลกรอสส์ดอยท์ชลันด์ พันเซอร์เกรนาดีร์รุกไปตามแม่น้ำด้านหนึ่งของโดเนตส์บนตรงฉนวนแคบ ๆ ซึ่งต้องผ่านสนามทุ่นระเบิดและเหนือที่สูงเมื่อเทียบกันมุ่งสู่โอโบยัน การต้านทานอย่างดุเดือดทำให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการบุกจากทางตะวันออกเป็นตะวันตกของแนวรบ แต่รถถังยังรุกไป 25 กิโลเมตรก่อนเผชิญกับกำลังหนุนของกองทัพรถถังป้องกัน (Guards Tank Army) ที่ 5 ของโซเวียต นอกโปรโฮรอฟกา ยุทธการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม โดยมีรถถังราวหนึ่งพันคันอยู่ในการยุทธ์ หลังสงคราม นักประวัติศาสตร์โซเวียตยึดว่า ยุทธการใกล้กับโปรโฮรอฟกา เป็นยุทธการรถถังใหญ่ที่สุดตลอดกาล การรบปะทะที่โปรโฮรอฟกาเป็นความสำเร็จในการตั้งรับของโซเวียต แม้ต้องสูญเสียไปมากก็ตาม กองทัพรถถังป้องกันที่ 5 ของโซเวียต ซึ่งมีรถถังเบาและกลางราว 800 คัน เข้าตีเหล่ายานเกราะเอสเอสที่ 2 การสูญเสียรถถังของทั้งสองฝ่ายเป็นที่มาของการถกเถียงตั้งแต่นั้นมา แม้กองทัพรถถังป้องกันที่ 5 จะมิได้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่การบุกของเยอรมนีก็หยุดลง

เมื่อวันนั้นสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายสู้รบจนคุมเชิงกัน หากแม้จะคุมเชิงกันอยู่ในทางเหนือ มันสไทน์ยังตั้งใจเข้าตีต่อไปด้วยกองทัพยานเกราะที่ 4 แต่ฝ่ายโซเวียตสามารถตั้งรับการเข้าตีดังกล่าว และการรุกทางยุทธศาสตร์ของเยอรมนี ที่ชื่อว่า ปฏิบัติการซิทาเดล ก็หยุดลง ด้วยความประทับใจต่อปฏิบัติการตีโต้ตอบที่บรรลุผลทางใต้ กองทัพแดงจึงเริ่มปฏิบัติการการรุกอย่างรุนแรงในแนวยื่นโอริออลทางเหนือ และสามารถเจาะผ่านปีกของกองทัพที่ 9 ของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์ที่เป็นกังวลกับการยกพลขึ้นบกในซิซิลีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม จึงตัดสินใจหยุดการรุก แม้กองทัพที่ 9 ของเยอรมนีจะได้พื้นที่อย่างรวดเร็วในทางเหนือก็ตาม การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งสุดท้ายของเยอรมนีในสหภาพโซเวียตยุติลงด้วยการตั้งรับต่อการตีโต้ตอบใหญ่ของโซเวียตซึ่งกินเวลาถึงเดือนสิงหาคม การรุกที่คูสค์เป็นการรุกขนาดเดียวกับเมื่อครั้ง ค.ศ. 1940 และ 1941 ครั้งสุดท้ายที่เวร์มัคท์สามารถปฏิบัติได้ และการรุกในภายหลังล้วนแสดงเพียงเงาของอดีตอำนาจการรุกของเวร์มัคท์เท่านั้น

ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 1943–44

[แก้]

ฝ่ายโซเวียตรุกต่อไปยังแนวยื่นที่โอริออลของเยอรมนี การเบี่ยงเบนกองพลกรอสส์ดอยท์ชลันด์ที่มียุทธโธปกรณ์อย่างดีจากเบลโกรอดไปยังคาราเชฟก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ และมีการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ให้สละโอริออล (ซึ่งถูกกองทัพแดงยึดคืนได้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1943) และร่นถอยไปยังแนวฮาเกนที่อยู่หน้าเบรียนสค์ทางใต้ ฝ่ายโซเวียตทะลวงผ่านที่ตั้งเบลโกรอดของกองทัพกลุ่มใต้ และมุ่งหน้าสู่ฮาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างยุทธการอันเข้มข้นตลอดปลายเดือนกรกฎาคม เข้าสู่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 แม้รถถังทีเกอร์จะทำลายรถถังโซเวียตในด้านหนึ่ง แต่ไม่ช้าก็ถูกโอบล้อมในอีกด้านหนึ่งทางตะวันตก ขณะที่ฝ่ายโซเวียตเคลื่อนลงมายังเปสล (Psel) และฮาร์คอฟจะต้องถูกอพยพเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม

ทหารโซเวียตข้ามแม่น้ำนีเปอร์โดยใช้แพประดิษฐ์

กำลังเยอรมันริมแม่น้ำมีอุส ซึ่งขณะนี้ประกอบด้วยกองทัพยานเกราะที่ 1 และกองทัพที่ 6 ที่สถาปนาขึ้นใหม่ อ่อนแอเกินกว่าจะขับการเข้าตีของโซเวียตบนแนวรบของตนได้ เมื่อถึงเดือนสิงหาคม และเมื่อฝ่ายโซเวียตตีกองทัพทั้งสอง ก็จำต้องร่นถอยผ่านนิคมอุตสาหกรรมดอนบาส (Donbass) ไปจนถึงนีเปอร์ สูญเสียทรัพยากรทางอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมครึ่งหนึ่งที่เยอรมนีบุกครองสหภาพโซเวียตเพื่อใช้ประโยชน์ ถึงขณะนี้ ฮิตเลอร์ตกลงให้มีการร่นถอยใหญ่ไปยังแนวนีเปอร์ ซึ่งแนวดังกล่าวตั้งใจจะให้เป็นโอสท์วัลล์ ซึ่งเป็นแนวป้องกันคล้ายคลึงกับแนวซีกฟรีด ป้อมสนามตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี ปัญหาหลักของฝ่ายเยอรมัน คือ การป้องกันเหล่านี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้น และเมื่อกองทัพกลุ่มใต้ได้ถอนตัวจากยูเครนตะวันออกและเริ่มร่นถอยข้ามแม่น้ำนีเปอร์ช่วงเดือนกันยายน ฝ่ายโซเวียตก็ไล่หลังมาอย่างกระชั้นแล้ว ทหารหน่วยเล็ก ๆ พายเรือข้ามแม่น้ำกว้าง 3 กิโลเมตรอย่างทรหด และสถาปนาหัวสะพานขึ้น ความพยายามครั้งที่สองของฝ่ายโซเวียตที่จะยึดพื้นที่โดยใช้พลร่ม มีขึ้นที่คาเนฟเมื่อวันที่ 24 กันยายน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไร้โชคเช่นเดียวกับที่โดโรโกบุชเมื่อสิบแปดเดือนก่อน และพลร่มก็ถูกขับไล่ไปในเวลาอันสั้น แต่ก็หลังจากที่กำลังกองทัพแดงที่หนุนเข้ามาได้ใช้การกำบังที่พลร่มเหล่านี้เตรียมไว้ข้ามแม่น้ำนีเปอร์และครองสนามเพลาะอย่างปลอดภัย เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ฝ่ายเยอรมันพบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะยื้อแนวนีเปอร์เมื่อหัวสะพานของโซเวียตเติบโตขึ้น และเมืองสำคัญตามแม่น้ำนีเปอร์เริ่มแตก เริ่มจากซาโปโรเจียตามมาด้วยเนโปรเปตรอฟสก์ ในที่สุด ต้นเดือนพฤศจิกายน ฝ่ายโซเวียตฝ่าออกจากหัวสะพานทั้งสองฝั่งของเคียฟและยึดเมืองหลวงของยูเครน ซึ่งขณะนั้นเป็นนครใหญ่ที่สุดอันดับสามในสหภาพโซเวียต ไว้ได้

กองพลยานเกราะที่ 1 ขณะถูกส่งไปช่วยแก้ไขวงล้อมคอร์ชุน-เชียร์คัสซี ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944

ห่างจากเคียฟไปทางตะวันตกแปดสิบไมล์ กองทัพยานเกราะที่ 4 ซึ่งยังเชื่อว่ากองทัพแดงเป็นกองกำลังที่อ่อนแรง สามารถโต้ตอบฉับพลันที่จึยโตมีร์เป็นผลสำเร็จเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน บั่นทอนหัวสะพานของโซเวียตโดยการโจมตีจากด้านข้างอย่างห้าวหาญที่ดำเนินโดยเหล่ายานเกราะเอสเอสตามแม่น้ำเตเตเรฟ ยุทธการนี้ยังให้กองทัพกลุ่มใต้ยึดโครอสเตนคืน ตลอดจนมีเวลาหยุดพักบ้าง อย่างไรก็ดี ในวันคริสต์มาสอีฟ การล่าถอยเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อแนวรบยูเครนที่หนึ่ง (เปลี่ยนชื่อจากแนวรบโวโรเนช) เข้าตีพวกเขา ณ จุดเดียวกัน การเคลื่อนของโซเวียตดำเนินต่อตามเส้นทางรถไฟกระทั่งถึงพรมแดนโปแลนด์-โซเวียตครั้ง ค.ศ. 1939 เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1944 ทางใต้ แนวรบยูเครนที่สอง (เดิมชื่อแนวรบสเต็ปป์) ข้ามแม่น้ำนีเปอร์ที่เครเมนชุกและบุกต่อไปทางตะวันตก ในสัปดาห์ที่สองของเดือน แนวรบยูเครนที่สองเลี้ยวไปทางเหนือ บรรจบกับกำลังรถถังของวาตูติน ซึ่งได้แกว่งลงใต้จากการตีฝ่าเข้าสู่โปแลนด์และล้อมกองพลเยอรมนีสิบกองพลที่คอร์ซุน-เชฟเชนคอฟสกี ทางตะวันตกของเชียร์คัสซี การยืนกรานให้รักษาแนวนีเปอร์ของฮิตเลอร์ แม้อาจเผชิญกับโอกาสความพ่ายแพ้หายนะนั้น ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเขาเชื่อมั่นว่า วงล้อมเชียร์คัสซีจะสามารถตีฝ่าออกมาได้ และรุกไปยังเคียฟได้ด้วย แต่มันสไทน์กังวลมากกว่าถึงการสามารถรุกไปยังขอบวงล้อม และขอให้กำลังที่ถูกล้อมตีฝ่าออกมา จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขั้นแรกเสร็จสิ้น โดยยานเกราะกับวงล้อมเชียร์คัสซีถูกคั่นด้วยแม่น้ำกนีลอย ตีคิชเท่านั้น ภายใต้กระสุนปืนใหญ่และรถถังโซเวียตที่ไล่ติดตามมา กองทหารเยอรมันที่ถูกล้อม ซึ่งมีกองพลยานเกราะเอสเอสที่ 5 วีคิงรวมอยู่ด้วย ตีข้ามแม่น้ำจนรอดปลอดภัย แม้จะเสียกำลังพลไปครึ่งหนึ่งและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดก็ตาม พวกเขาสันนิษฐานว่าพวกโซเวียตจะไม่เข้าตีอีกย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ แต่ในวันที่ 3 มีนาคม แนวรบโซเวียตยูเครนเปลี่ยนไปรุก เมื่อโดดเดี่ยวไครเมียด้วยการแยกคอคอดเปเรคอปแล้ว กำลังของมาลีนอฟสคีก็รุกข้ามปลักโคลนไปยังพรมแดนโรมาเนีย โดยไม่หยุดริมแม่น้ำปรุต (Prut)

การรุกของโซเวียตตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1943 ถึง 31 ธันวาคม ค.ศ. 1944:
  ถึง 1 ธันวาคม 1943
  ถึง 30 เมษายน 1944
  ถึง 19 สิงหาคม 1944
  ถึง 31 ธันวาคม 1944

ความเคลื่อนไหวสุดท้ายหนึ่งในทางใต้ยุติฤดูการทัพ ค.ศ. 1943–44 ซึ่งรวมการรุกกว่า 500 ไมล์ ในเดือนมีนาคม 20 กองพลของเยอรมนี แห่งกองทัพยานเกราะที่ 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกฮันส์-วาเลนทิน ฮูเบอ ถูกโอบล้อมในวงล้อมฮูเบอ ใกล้กับคาเมเนตส์-โปดอลสคียี (Kamenets-Podolskiy) หลังการสู้รบอย่างดุเดือดสองสัปดาห์ กองทัพยานเกราะที่ 1 สามารถหลบหนีออกจากวงล้อมได้ โดยประสบความสูญเสียเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น เมื่อถึงจุดนี้ ฮิตเลอร์สั่งปลดนายพลที่โดดเด่นหลายคน รวมทั้งมันสไทน์ ในเดือนเมษายน กองทัพแดงยึดโอเดสซาคืนได้ ตามด้วยการทัพของแนวรบยูเครนที่ 4 ในการฟื้นฟูการควบคุมเหนือไครเมีย ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการยึดซาวัสโตปอลในวันที่ 10 พฤษภาคม

ตามแนวรบของกองทัพกลุ่มเหนือ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 กองกำลังนี้ถูกผลักดันมาจากแนวฮาเกนอย่างช้า ๆ โดยยึดดินแดนได้ค่อนข้างเล็กน้อย แต่การเสียเบรียนสก์และสโมเลนสก์ที่สำคัญกว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ทำให้เวร์มัคท์เสียหลักสำคัญของระบบการป้องกันของเยอรมนีทั้งระบบ กองทัพที่ 4 ที่ 9 และกองทัพยานเกราะที่ 3 ยังยึดพื้นที่อยู่ฝั่งตะวันออกของนีเปอร์บน คอยขัดขวางความพยายามของโซเวียตที่จะไปถึงวีเตบสค์ บนแนวรบของกองทัพกลุ่มเหนือ มีการสู้รบเพียงเล็กน้อยกระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 เมื่อแนวรบวอลฮอฟและแนวรบบอลติกที่สองโจมตีอย่างไม่คาดฝัน ในการทัพสายฟ้า ฝ่ายเยอรมันถูกผลักดันจากเลนินกราด และนอฟโกรอดถูกกองกำลังโซเวียตยึดคืน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพแดงถึงพรมแดนเอสโตเนียหลังการบุก 75 ไมล์ ทะเลบอลติกเหมือนจะเป็นเส้นทางเร็วที่สุดที่จะนำการสู้รบไปถึงแผ่นดินเยอรมนีในปรัสเซียตะวันออกและยึดควบคุมฟินแลนด์สำหรับสตาลิน[35] การรุกของแนวรบเลนินกราดสู่ทาลลินน์ เมืองท่าบอลติกที่สำคัญ ถูกหยุดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 กลุ่มกองทัพ "นาร์วา" ของเยอรมนี ซึ่งรวมทหารเกณฑ์เอสโตเนีย คอยปองกันการสถาปนาเอกราชใหม่ของเอสโตเนีย [36][37]

ฤดูร้อน 1944

[แก้]

นักวางแผนของเวร์มัคท์เชื่อว่า ฝ่ายโซเวียตจะเข้าตีอีกครั้งในทางใต้ ที่ซึ่งแนวรบอยู่ห่างจากลวีฟ 50 ไมล์ และเป็นเส้นทางที่ตรงสู่กรุงเบอร์ลินที่สุด ฉะนั้น จึงมีการดึงกำลังจากกองทัพกลุ่มกลาง ที่ซึ่งแนวรบยื่นลึกเข้าไปในสหภาพโซเวียต ฝ่ายเยอรมันได้ย้ายบางหน่วยไปยังฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านการบุกครองนอร์ม็องดีเมื่อสองสัปดาห์ก่อน การรุกเบลารุส (ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการบากราติออน) ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1944 เป็นการเข้าตีขนานใหญ่ของโซเวียต ประกอบด้วยสี่กลุ่มกองทัพของโซเวียต รวมกว่า 120 กองพล ซึ่งบดขยี้เข้าไปในแนวรบบาง ๆ ที่เยอรมนีถือครองอยู่ ฝ่ายโซเวียตพุ่งเป้าการเข้าตีขนานใหญ่ไปยังกองทัพกลุ่มกลาง มิใช่กองทัพกลุ่มเหนือยูเครนซึ่งฝ่ายเยอรมันคาดการณ์ไว้เดิม ทหารโซเวียตกว่า 2.3 ล้านนายเข้าร่วมรบต่อกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนี ที่มีกำลังพลไม่ถึง 800,000 นาย ณ เวลาแห่งการเข้าตี ฝ่ายโซเวียตได้เปรียบทั้งด้านกำลังพลและยุทธโธปกรณ์อย่างขาดลอย กองทัพแดงมีอัตราส่วนรถถังต่อข้าศึกถึงสิบต่อหนึ่ง และอากาศยานถึงเจ็ดต่อหนึ่ง กรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบลารุส ถูกยึดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ดักทหารเยอรมันราว 100,000 นาย สิบวันให้หลัง กองทัพแดงไปถึงพรมแดนโปแลนด์ก่อนสงคราม บาราติออนเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางทหารเดี่ยว ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในสงคราม ไม่ว่าจะวัดด้วยเกณฑ์ใดก็ตาม เมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 ฝ่ายเยอรมันมีทหารเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหายและเจ็บป่วยประมาณ 400,000 นาย ซึ่งในจำนวนนี้ถูกจับเป็นเชลย 160,000 นาย และรถถัง 2,000 คัน ตลอดจนยานพาหนะอื่น 57,000 คันถูกยึด ในปฏิบัติการดังกล่าว กองทัพแดงมีทหารเสียชีวิตและสูญหายราว 180,000 นาย (รวมทั้งสิ้น 765,815 นาย ทั้งการบาดเจ็บและป่วย และชาวโปแลนด์ 5,073 นาย)[38] เช่นเดียวกับปืนใหญ่และรถปืนใหญ่อัตตาจร 2,957 คัน การรุกที่เอสโตเนียเป็นเหตุให้ทหารโซเวียตสูญเสียกำลังพลอีก 480,000 นาย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 100,000 นาย[39][40]

การรุกลวอฟ–ซานโดเมียร์ซข้างเคียงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 และตีกำลังเยอรมันในยูเครนตะวันตกพ่ายอย่างรวดเร็ว ลวีฟถูกโซเวียตยึดครองอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เป็นครั้งแรกตั้งแต่พันธมิตรนาซี-โซเวียตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และการร่วมบุกครองโปแลนด์ ครั้งนี้ นครถูกยึดคืนโดยแนวรบยูเครนที่ 1 ได้ค่อนข้างง่าย ความหวังของชาวยูเครนที่จะได้รับเอกราชถูกทำลายท่ามกลางกำลังที่ท้วมท้นของโซเวียต เช่นเดียวกับรัฐบอลติก กองทัพผู้ก่อการกำเริบยูเครน UPA จะยังทำสงครามกองโจรต่อโซเวียตต่อไปถึงคริสต์ทศวรรษ 1950 ฝ่ายโซเวียตรุกต่อไปทางใต้เข้าสู่โรมาเนีย และ หลังรัฐประหารต่อรัฐบาลฝักใฝ่อักษะของโรมาเนีย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม กองทัพแดงก็ยึดกรุงบูคาเรสต์ได้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 12 กันยายน โรมาเนียและสหภาพโซเวียตลงนามสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่แท้จริงแล้วโซเวียตบังคับ การยอมจำนนของโรมาเนียทำให้เกิดช่องในแนวรบด้านตะวันออกทางใต้ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียบอลข่านทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของปฏิบัติการบากราติออนคุกคามที่จะตัดขาดและโดดเดี่ยวกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีที่กำลังต้านทานการรุกของโซเวียตสู่ทาลลินน์อย่างขมขื่น ในการเข้าตีอย่างดุร้ายที่เขา Sinimäed ประเทศเอสโตเนีย แนวรบเลนินกราดของโซเวียตไม่สามารถตีผ่านการป้องกันของหน่วยสมทบ "นาร์วา" ที่เล็กกว่าและมีการจัดการป้องกันอย่างดีในภูมิประเทศที่ไม่เหมาะแก่ปฏิบัติการขนาดใหญ่[41][42]

บนคอคอดคาเรเลียน ฝ่ายโซเวียตเปิดฉากการเข้าตีขนานใหญ่ต่อแนวรบฟินแลนด์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1944 (ประสานกับการบุกครองนอร์ม็องดีของฝ่ายสัมพันธมิตร) สามกองทัพถูกส่งไปรบกับฟินแลนด์ ซึ่งมีรูปขบวนปืนเล็กองครักษ์ (guards rifle) ที่มีประสบการณ์รวมอยู่ด้วยจำนวนมาก การเข้าตีเจาะแนวตั้งรับของฟินแลนด์ได้ที่ Valkeasaari เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และกองกำลังฟินแลนด์ร่นถอยไปยังแนวป้องกันอันดับรอง แนววีที การเข้าตีของโซเวียตได้รับการสนับสนุนจากการระดมยิงของปืนใหญ่หนัก การทิ้งระเบิดทางอากาศและกองกำลังยานเกราะ แนววีทีถูกเจาะเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน และหลังการตีโต้ตอบที่ล้มเหลวใน Kuuterselkä โดยกองพลยานเกราะฟินแลนด์ การป้องกันของฟินแลนด์จำต้องถูกดึงกลับไปยังแนววีเคที หลังการสู้รบอย่างหนักในยุทธการ Tali-Ihantala และ Ilomantsi ในที่สุดกำลังฟินแลนด์ก็สามารถหยุดการเข้าตีของโซเวียตได้

ในโปแลนด์ เมื่อกองทัพแดงมาถึง กองทัพป้องกันชาติโปแลนด์ (AK) เปิดฉากปฏิบัติการเทมเพสต์ ระหว่างการก่อการกำเริบโปแลนด์ กองทัพแดงหยุดที่แม่น้ำวิสตูลา ไม่สามารถหรือไม่มีเจตนาจะเข้ามาช่วยเหลือการต่อต้านของโปแลนด์ได้ ความพยายามของกองทัพโปแลนด์ที่ 1 ที่คอมมิวนิสต์ควบคุม ที่จะปลดปล่อยนครไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแดงและถูกกำราบในเดือนตุลาคมโดยได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ในสโลวาเกีย การก่อการกำเริบแห่งชาติสโลวาเกียเริ่มขึ้นด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างกำลังเวร์มัคท์ของเยอรมนีกับกองกำลังกบฏสโลวาเกียตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ค.ศ. 1944

ฤดูใบไม้ร่วง 1944

[แก้]

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ปี ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้โจมตีที่ดักลา พาสบริเวณชายแดนระหว่างสโลวาเกีย-โปแลนด์.สองเดือนต่อมา,กองทัพโซเวียตได้รับชัยชนะและเคลื่อนทัพเข้าสู่สโลวาเกีย.จำนวนความเสียหายทั้งหมดสูงมาก:ทหารกองทัพแดงเสียชีวิตไป 2 หมื่นนาย,รวมทั้งเยอรมันหลายพันนาย,ชาวสโลวักและชาวเช็ก.

ภายใต้จากการผลักดันของโซเวียตรุกทะเลบอลติก,กองทัพกลุ่มตอนเหนือได้ถอนตัวออกจากการสู้รบที่ซาเรมา,คูร์แลนด์และ Memel.

มกราคม–เมษายน 1945

[แก้]
การรุกของโซเวียตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1945 ถึง 11 พฤษภาคม 1945:
  ถึง 30 มีนาคม 1945
  ถึง 11 พฤษภาคม 1945

สหภาพโซเวียตเข้าสู่กรุงวอร์ซอในที่สุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1945 หลังถูกทำลายและละทิ้งโดยเยอรมนี เป็นเวลาสามวันบนแนวรบกว้างซึ่งประกอบด้วยสี่แนวรบกองทัพ กองทัพแดงเริ่มการรุกข้ามแม่น้ำนาแรฟและจากกรุงวอร์ซอ ฝ่ายโซเวียตมีจำนวนเหนือกว่าฝ่ายเยอรมนีโดยเฉลี่ย คือ กำลังพลประมาณห้าถึงหกต่อหนึ่ง ปืนใหญ่หกต่อหนึ่ง รถถังหกต่อหนึ่ง และปืนใหญ่อัตตาจรสี่ต่อหนึ่ง หลังผ่านไปสี่วัน กองทัพแดงเริ่มเคลื่อนที่ได้สามสิบถึงสี่สิบกิโลเมตรต่อวัน ยึดรัฐบอลติก ดันซิก ปรัสเซียตะวันออก พอซนาน และสถาปนาแนวรบห่างจากกรุงเบอร์ลินไปทางตะวันออกหกสิบกิโลเมตรตามแม่น้ำโอเดอร์ ระหว่างห้วงการรุกวิสตูลา-โอเอร์เต็ม ๆ (23 วัน) กองกำลังกองทัพแดงมีกำลังพลสูญเสียทั้งสิ้น 194,191 นาย (เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย) และเสียรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 1,267 คัน

วันที่ 25 มราคม ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์เปลี่ยนชื่อสามกลุ่มกองทัพ กองทัพกลุ่มเหนือเป็นกองทัพกลุ่มคูร์ลันด์ กองทัพกลุ่มกลางเป็นกองทัพกลุ่มเหนือ และกองทัพกลุ่มอาเป็นกองทัพกลุ่มกลาง กองทัพกลุ่มเหนือ (หรือกองทัพกลุ่มกลางเดิม) ถูกขับไปอยู่ในวงล้อมขนาดเล็กกว่าเดิมรอบเคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออก

การตีโต้ตอบที่จำกัด (มีชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการอายัน) โดยกองทัพกลุ่มวิสตูลาที่เพิ่งตั้งใหม่ ภายใต้การบังคับบัญชาของไรช์ซฟือแรร์-เอสเอส ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ล้มเหลวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และฝ่ายโซเวียตขับเข้าสู่โพเมราเนียและกวาดล้างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอเดอร์ ทางใต้ ความพยายามสามหนของเยอรมนีในการแก้ไขบูดาเปสต์ที่ถูกล้อมล้มเหลวและนครนั้นเสียให้แก่โซเวียตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันที่ 6 มีนาคม เยอรมนีตีโต้ตอบอีกครั้ง ฮิตเลอร์ยืนกรานภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการยึดแม่น้ำดานูบคืน วันที 16 มีนาคม การเข้าตีล้มเหลวและกองทัพแดงตีโต้ตอบในวันเดียวกัน วันที่ 30 มีนาคม โซเวียตเข้าสู่ออสเตรียและยึดกรุงเวียนนาได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน

OKW อ้าง ความสูญเสียของเยอรมนีที่ ทหารเสียชีวิต 77,000 นาย บาดเจ็บ 334,000 นาย และสูญหาย 292,000 นาย รวมทั้งสิ้น 703,000 นาย บนแนวรบด้านตะวันออกระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945[43]

วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1945 เคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออกเสียแก่กองทัพแดงในที่สุด แม้ส่วนที่เหลือยู่ที่กระจัดกระจายของกองทัพกลุ่มกลางยังต่อต้านที่สันดอนจะงอยวิสตูลาและคาบสมุทรเฮลกระท่งสิ้นสุดสงครามในยุโรป ปฏิบัติการปรัสเซียตะวันออก แม้มักถูกบดบังด้วยปฏิบัติการวิสตูลา-โอเดอร์และยุทธการเบอร์ลินในภายหลัง อันที่จริงแล้วเป็นหนึ่งในปฏิบัติการใหญ่ที่สุดและนองเลือดที่สุดโดยกองทัพแดงตลอดสงคราม ระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว (13 มกราคม - 25 เมษายน) กองทัพแดงมีกำลังพลสูญเสีย 584,788 นาย และเสียรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 3,525 คัน

การเสียเคอนิชส์แบร์คทำให้สตัฟกาปล่อยให้แนวรบเบลารุสที่ 2 ของพลเอกคอนสตันติน โรคอสซอฟสกีเคลื่อนที่มาทางตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอเอร์ ระหว่างสองสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ฝ่ายโซเวียตจัดการวางกำลังใหม่แนวรบอย่างเร็วที่สุดในสงคราม พลเอกเกออร์กี จูคอฟรวมกำลังแนวรบเบลารุสที่ 1 ของเขา ซึ่งถูกวางกำลังตามแม่น้ำโอเดอร์จากแฟรงก์เฟิร์ตทางใต้ไปจนถึงบอลติก เข้าไปในพื้นที่หน้าที่สูงซีโลว์ ขณะที่กองทัพแดงกำลังวางกำลังใหม่ ช่องว่างซึ่งเหลืออยู่ในแนวรบและส่วนที่เหลือของกองทัพที่ 2 ของเยอรมนีซึ่งถูกปิดกันในวงล้อมใกล้ดันซิก จัดการหลบหนีข้ามแม่น้ำโอเดอร์ได้ ทางใต้ พลเอกอีวาน โคเนฟย้ายส่วนใหญ่ของแนวรบยูเครนที่ 1 ออกจากอัปเปอร์ซีเลเซียตะวันตกเฉียงเหนือไปยังแม่น้ำนีสเซอ[44] แนวรบโซเวียตสามแนวรบรวมกันมีกำลัง 2.5 ล้านนาย (รวมทั้งทหาร 78,556 นายแห่งกองทัพโปแลนด์ที่ 1) รถถัง 6,250 คัน อากาศยาน 7,500 ลำ ปืนใหญ่และปืนครก 41,600 กระบอก เครื่องปล่อยจรวดคัทยูชาติดตั้งบนรถบรรทุก 3,255 คัน และยานยนต์ 95,383 คัน[44]

ยุติสงคราม : เมษายน–พฤษภาคม 1945

[แก้]

สิ่งที่โซเวียตยังเหลือต้องทำ คือ เปิดฉากการรุกเพื่อยึดเยอรมนีตอนกลาง (ซึ่งจะมาเป็นเยอรมนีตะวันออกหลังสงคราม) การรุกของโซเวียตมีวัตถุประสงค์สองข้อ เพราะความแคลงใจของสตาลินเกี่ยวกับเจตนาของสัมพันธมิตรตะวันตกที่จะส่งมอบดินแดนที่ตนยึดครองในเขตยึดครองโซเวียตหลังสงคราม การรุกจึงจะเป็นแนวรบกว้างและจะเคลื่อนที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ไปทางตะวันตก เพื่อพบกับสัมพันธมิตรตะวันตกให้เลยไปทางตะวันตกที่สุด แต่วัตถุประสงค์ข้อที่สำคัญกว่า คือ ยึดกรุงเบอร์ลิน ทั้งสองวัตถุประสงค์นี้เติมเต็มซึ่งกันเพราะการครอบครองดินแดนจะไม่สามารถพิชิตได้โดยเร็วหากกรุงเบอร์ลินไม่ถูกยึด อีกการพิจารณาหนึ่ง คือ กรุงเบอร์ลินมีเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และโครงการระเบิดอะตอมของเยอรมนี[45]

การรุกเพื่อยึดเยอรมนีตอนกลางและกรุงเบอร์ลินเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ด้วยการโจมตีแนวรบเยอรมนีตรงแม่น้ำโอเดอร์และนีซเซ หลังการสู้รบอย่างหนักหลายวัน แนวรบเบลารุสที่ 1 และแนวรบยูเครนที่ 1 เปิดช่องผ่านแนวรบเยอรมนีและกระจัดกระจายทั่วเยอรมนีตอนกลาง จนถึงวันที่ 24 เมษายน ส่วนต่าง ๆ ของแนวรบเบลารุสที่ 1 และแนวรบยูเครนที่ 1 สำเร็จการล้อมกรุงเบอร์ลินและยุทธการเบอร์ลินเข้าสู่ขั้นสุดท้าย วันที่ 25 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 2 เจาะผ่านแนวของกองทัพยานเกราะที่ 3 ของเยอรมนีทางใต้ของสเทททิน ตอนนี้จึงมีอิสระในการเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกมุ่งสู้กลุ่มกองทัพที่ 21 ของอังกฤษ และทางเหนือสู่ท่าบอลติกสทรัลซุนด์ กองพลปืนเล็กยาวองครักษ์ที่ 58 ของกองทัพองครักษ์ที่ 5 ติดต่อกับกองพลทหารราบที่ 69 ของกองทัพที่ 1 ใกล้กับทอร์เกา ประเทศเยอรมนี ใกล้กับแม่น้ำเอลเบอ[46][47]

วันที่ 29 และ 30 เมษายน เมื่อกำลังโซเวียตสู้รบเข้าไปยังใจกลางกรุงเบอร์ลิน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สมรสกับเอวา เบราน์ และจากนั้นทำอัตวินิบาตกรรมโดยทานไซยาไนด์และยิงตัวตาย เฮลมุท ไวด์ลิง ผู้บัญชาการการป้องกันกรุงเบอร์ลิน ยอมจำนนนครแก่โซเวียตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม[48] ทั้งหมด ปฏิบัติการเบอร์ลิน (16 เมษายน – 2 พฤษภาคม) กองทัพแดงเสียกำลังพล 361,367 นาย (เสียชีวิต สูญหาย บาดเจ็บและป่วย) และรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 1,997 คัน ความสูญเสียของเยอรมนีในสงครามยังเป็นไปไม่ได้ที่จะค้นความจริงอย่างน่าเชื่อถือ[49]

เมื่อเวลา 2.41 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดกำลังรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร (SHAEF) เสนาธิการเยอรมนี พลเอก อัลเฟรด โยลด์ ลงนามในตราสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่กำลังเยอรมนีทั้งหมดแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีวลีว่า "ทุกกำลังภายใต้การควบคุมของเยอรมนีจะยุติปฏิบัติการที่ยังดำเนินอยู่เมื่อเวลา 23.01 น. ตามเวลายุโรปกลางของวันที่ 8 พฤษภาคม 1945" ไม่นานก่อนเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้น จอมพล วิลเฮล์ม ไคเทล ย้ำการลงนามในกรุงเบอร์ลินที่กองบัญชาการของจูคอฟ เป็นการยุติสงครามในทวีปยุโรป[50]

กองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนีปฏิเสธที่จะยอมจำนนในขั้นต้นและยังสู้รบต่อไปในเชโกสโลวาเกียกระทั่งวันที่ 11 พฤษภาคม[51]

ผลลัพธ์

[แก้]

ความสูญเสีย

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]

I. ^ โดยรวมแล้ว ชาติพันธมิตรของเยอรมนีได้ให้ความสนับสนุนทางด้านกำลังคนและยุทโธกรณ์จำนวนมากแก่ทหารในแนวหน้า นอกจากนี้ยังได้มีการเกณฑ์ทหารมาจากต่างประเทศอีก โดยหน่วยทหารที่มีชื่อเสียงได้แก่ กองพลสีน้ำเงินของสเปน

II. ^ กองทัพโปแลนด์ทางตะวันออกและรัฐใต้ดินโปแลนด์สู้ร่วมกับกองทัพแดง (นับตั้งแต่ ค.ศ. 1943) จากสหภาพโซเวียตจนถึงเบอร์ลิน สหภาพโซเวียตยังได้เกณฑ์หน่วยทหารต่างชาติ (เชโกสโลวาเกีย โรมาเนียและรัฐบอลติก[52] สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังได้ให้ความช่วยเหลือบางส่วนแก่สหภาพโซเวียต และยังได้รับความช่วยเหลือทางทหารเล็กน้อยจากเชโกสโลวาเกีย

III. ^ ตามข้อมูลของ จี. ไอ. คริโวเชเยฟ[53] ในแนวรบด้านตะวันออก ประเทศฝ่ายอักษะและคู่สงครามร่วมของเยอรมนีสูญเสียทหาร 1,468,145 นาย (เสียชีวิตหรือสูญหาย 668,163 นาย) เฉพาะเยอรมนีประเทศเดียวสูญเสียทหารไป 7,181,000 นาย (เสียชีวิตหรือสูญหาย 3,604,800 นาย) และมีเชลยศึกเสียชีวิตไป 579,900 คนในการควบคุมของโซเวียต ดังนั้น จำนวนทหารที่เสียชีวิตและสูญหายในแนวรบด้านตะวันออก (ค.ศ. 1941-1945) ของฝ่ายอักษะจึงอยู่ที่ 4.8 ล้านนาย กว่าครึ่งของการสูญเสียชีวิตทหารทั้งหมดของฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง (รวมทั้งเขตสงครามเอเชียแปซิฟิก) ฝ่ายสหภาพโซเวียตสูญเสียทหารไป 10.5 ล้านนาย (รวมทั้งเชลยศึกในการควบคุมของเยอรมนี ตามข้อมูลของวาดิม เอียร์ลิคมัน[54]) จำนวนทหารเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายรวมกันราว 15 ล้านนาย มากกว่าเขตสงครามอื่น ๆ ในสงครามโลกครั้งที่สองมาก ในแหล่งข้อมูลเดียวกัน[54] จำนวนพลเรือนโซเวียตที่เสียชีวิตในพรมแดนหลังสงครามอยู่ที่ 15.7 ล้านคน จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในประเทศยุโรปกลางอื่นและความสูญเสียพลเรือนเยอรมันไม่รวมอยู่ด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Beevor, Stalingrad. Penguin 2001 ISBN 0-14-100131-3 p183
  2. Toomas Alatalu. Tuva. A State Reawakens. Soviet Studies, Vol. 44, No. 5 (1992), pp. 881-895.
  3. Die Ostfront 1941–1945 (เยอรมัน)
  4. Der Rußlandfeldzug (เยอรมัน)
  5. 2. Weltkrieg (เยอรมัน)
  6. Bellamy 2007, p. xix
  7. Mälksoo, Lauri (2003). Illegal Annexation and State Continuity: The Case of the Incorporation of the Baltic States by the USSR. Leiden, Boston: Brill. ISBN 9041121773.
  8. Robert Gellately. Reviewed work (s) : Vom Generalplan Ost zum Generalsiedlungsplan by Czeslaw Madajczyk. Der "Generalplan Ost." Hauptlinien der nationalsozialistischen Planungs- und Vernichtungspolitik by Mechtild Rössler ; Sabine Schleiermacher. Central European History, Vol. 29, No. 2 (1996), pp. 270–274
  9. John Connelly. Nazis and Slavs: From Racial Theory to Racist Practice, Central European History, Vol. 32, No. 1 (1999), pp. 1–33
  10. Jonathan Steinberg. The Third Reich Reflected: German Civil Administration in the Occupied Soviet Union, 1941-4. The English Historical Review, Vol. 110, No. 437 (June 1995), pp. 620–651
  11. "The Wannsee Conference Protocol". source: John Mendelsohn, ed., _The Holocaust: Selected Documents in Eighteen Volumes._ Vol. 11: The Wannsee Protocol. Literature of the Holocaust, university of pennsylvania. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
  12. Gerlach, Christian (1998). "The Wannsee Conference, the Fate of German Jews, and Hitler's Decision in Principle to Exterminate All European Jews". The Journal of Modern History. 70 (4): 759–812. doi:10.1086/235167.
  13. Powell, Elwin Humphreys. The Design Of Discord' p. 192
  14. Gerhard Weinberg: The Foreign Policy of Hitler's Germany Diplomatic Revolution in Europe 1933–36, Chicago: University of Chicago Press, 1970, pages 346.
  15. 15.0 15.1 Jurado, Carlos Caballero and Ramiro Bujeiro, The Condor Legion: German Troops in the Spanish Civil War, Osprey Publishing, 2006, ISBN 1841768995, page 5–6
  16. Robert Melvin Spector. World Without Civilization: Mass Murder and the Holocaust, History, and Analysis, pg. 257
  17. Michael Lind. Vietnam, the necessary war: a reinterpretation of America's most disastrous military conflict. Simon and Schuster, 2002. ISBN 0684870274, 9780684870274, p. 59
  18. Bolloten, Burnett (1991). The Spanish Civil War: revolution and counterrevolution. University of North Carolina Press. p. 483. ISBN 0807819069.
  19. Max Beloff. Soviet Foreign Policy, 1929–41: Some Notes. Soviet Studies, Vol. 2, No. 2 (October 1950), pp. 123–137
  20. Albert Resis. The Fall of Litvinov: Harbinger of the German-Soviet Non-Aggression Pact. Europe-Asia Studies, Vol. 52, No. 1 (January 2000), pp. 33-56
  21. Teddy J. Uldricks. Stalin and Nazi Germany, Slavic Review, Vol. 36, No. 4 (December 1977), pp. 599-603
  22. Michael Jabara Carley. End of the 'Low, Dishonest Decade': Failure of the Anglo–Franco–Soviet Alliance in 1939. Europe-Asia Studies, Vol. 45, No. 2 (1993), pp. 303–341
  23. Derek Watson. Molotov's Apprenticeship in Foreign Policy: The Triple Alliance Negotiations in 1939. Europe-Asia Studies, Vol. 52, No. 4 (June 2000), pp. 695-722
  24. Zhukov, Georgy (1972). Vospominaniya i razmyshleniya. Moscow: Agenstvo pechati Novosti.
  25. Zhilin, P.A. (ed.) (1973). Velikaya Otechestvennaya voyna. Moscow: Izdatelstvo politicheskoi literatury. {{cite book}}: |first= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  26. Shirer (1990), p.852
  27. Tartu in the 1941 Summer War เก็บถาวร 2011-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. By Major Riho Rõngelep and Brigadier General Michael Hesselholt Clemmesen (2003). Baltic Defence Review 9
  28. Peeter Kaasik; Mika Raudvassar (2006). "Estonia from June to October, 1941: Forest Brothers and Summer War". ใน Toomas Hiio; Meelis Maripuu; Indrek Paavle (บ.ก.). Estonia 1940–1945: Reports of the Estonian International Commission for the Investigation of Crimes Against Humanity. Tallinn. pp. 495–517.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 Alan F. Wilt. Hitler's Late Summer Pause in 1941. Military Affairs, Vol. 45, No. 4 (December 1981), pp. 187–191
  30. Russel H. S. Stolfi. Barbarossa Revisited: A Critical Reappraisal of the Opening Stages of the Russo-German. Campaign (June–December 1941). The Journal of Modern History, Vol. 54, No. 1 (March 1982), pp. 27–46)
  31. Indrek Paavle; Peeter Kaasik (2006). "Destruction battalions in Estonia in 1941". ใน Toomas Hiio; Meelis Maripuu; Indrek Paavle (บ.ก.). Estonia 1940–1945: Reports of the Estonian International Commission for the Investigation of Crimes Against Humanity. Tallinn. pp. 469–493.
  32. Robert Gellately. Lenin, Stalin, and Hitler: The Age of Social Catastrophe. Knopf, 2007 ISBN 1400040051 p. 391
  33. Shirer (1990), p.925–926
  34. Shirer (1990), p.927–928
  35. David M. Glantz (2002). The Battle for Leningrad: 1941–1944. Lawrence: University Press of Kansas. ISBN 978-0-7006-1208-6.
  36. Estonia. Sept.21 Bulletin of International News by Royal Institute of International Affairs Information Dept.
  37. "The Otto Tief government and the fall of Tallinn". Estonian Ministry of Foreign Affairs. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-21. สืบค้นเมื่อ 2012-06-23.
  38. G. I. Krivosheev. Soviet Casualties and Combat Losses. Greenhill 1997 ISBN 1-85367-280-7
  39. Mart Laar (2006). Sinimäed 1944: II maailmasõja lahingud Kirde-Eestis (Sinimäed Hills 1944: Battles of World War II in Northeast Estonia) (ภาษาเอสโตเนีย). Tallinn: Varrak.
  40. Ian Baxter (2009). Battle in the Baltics 1944–1945: the fighting for Latvia, Lithuania and Estonia: a photographic history. Solihull, West Midlands: Helion & Company Ltd.
  41. Estonian State Commission on Examination of Policies of Repression (2005). The White Book: Losses inflicted on the Estonian nation by occupation regimes. 1940–1991 (PDF). Estonian Encyclopedia Publishers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-01-14. สืบค้นเมื่อ 2013-01-01.
  42. Toomas Hiio (1999). Combat in Estonia in 1944. In: Toomas Hiio, Meelis Maripuu, Indrek Paavle (Eds.). Estonia 1940–1945: Reports of the Estonian International Commission for the Investigation of Crimes Against Humanity. Tallinn.
  43. Hastings, Max, Armageddon: The Battle for Germany 1944–1945, Vintage Books USA
  44. 44.0 44.1 Ziemke, Berlin, see References page 71
  45. Beevor, Berlin, Page 138
  46. Beevor, Berlin, pp. 217–233
  47. Ziemke , Berlin, page 81-111
  48. Beevor, Berlin, pp. 259–357, 380–381
  49. Khrivosheev 1997, pp. 219, 220.
  50. Ziemke, occupation, CHAPTER XV:The Victory Sealed Page 258 last paragraph
  51. Ziemke, Berlin, p. 134
  52. Romuald J. Misiunas, Rein Taagepera. The Baltic States: Years of Dependence. 1940–1990. Hurst&Company, London, U.K. 1993
  53. Soviet Casualties and Combat Losses. Greenhill 1997 ISBN 1-85367-280-7
  54. 54.0 54.1 Poteri narodonaseleniia v XX veke : spravochnik. Moscow 2004. ISBN 5-93165-107-1

บรรณานุกรม

[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]