ข้ามไปเนื้อหา

ถนนคอนแวนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนคอนแวนต์
ถนนคอนแวนต์1.jpg
ถนนคอนแวนต์
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว0.546 กิโลเมตร (0.339 ไมล์; 1,790 ฟุต)
ประวัติ
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ แยกสาทร-คอนแวนต์ ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศเหนือ แยกคอนแวนต์ ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ถนนคอนแวนต์ เป็นถนนที่เชื่อมต่อถนนสาทรเหนือกับถนนสีลม ตั้งอยู่ในแขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีขนาดเขตทางกว้าง 15 เมตร ยาว 0.546 กิโลเมตร ขนาดช่องทางจราจร 2 ช่อง มีซอยย่อยคือ ซอยพิพัฒน์ 2 ซอยศาลาแดง 2

อาคารส่วนใหญ่ภายในซอยเป็นที่ตั้งของสำนักงานจำนวนมาก ทางเท้าทั้งสองฟากมีต้นไม้ให้ความร่มรื่น ทางเท้ากว้างระหว่าง 1.5–3.5 เมตร ในแต่ละพื้นที่ของทางเท้าถูกจับจองด้วยหาบเร่และแผงลอย มีความหนาแน่นในช่วงเที่ยง 12:00–13.00 น. และช่วงเย็น 16:30–17:30 น. ในช่วงเช้ามักเป็นหาบเร่ขายของกินเครื่องดื่ม ส่วนช่วงเย็นมีการตั้งโต๊ะให้มานั่งรับประทานอาหาร โดยเฉพาะช่วงหัวมุมถนนสีลมและกลางซอย ในช่วงกลางคืนมีหาบเร่แผงลอยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลางคืน ดำเนินไปเรื่อยจนประมาณตี 2 จึงเบาบางลง[1]

ประวัติ

[แก้]

ถนนคอนแวนต์ เดิมชื่อ ถนนสุรศักดิ์ ตามชื่อผู้ตัดถนนคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ตัดขึ้นใน พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2439 ปรากฎเป็นแนวถนนแต่ยังไม่ระบุชื่อถนน มีที่ดินแปลงใหญ่ที่ต่อมาคือ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อถนน[2]

สถานที่สำคัญ

[แก้]

ถนนคอนแวนต์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนในเครือของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (Soeurs De Saint Paul De Chartres) กลุ่มคณะนักบวชสตรีในคริสตศาสนาที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2441 เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลในประเทศไทย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2447[3]

ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์เป็นที่ตั้งของ "อารามคาร์แมล" หรือ "อารามชีมืด" เป็นอารามนักบวชหญิงในคณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าที่ตัดขาดจากโลกภายนอก อาศัยอยู่เฉพาะในเขตอาราม

นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH) หรือ Bangkok Nursing Home โรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสถานรักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ติดกับโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเป็นโบสถ์ไคร้สเชิชหรือคริสตจักรไคร้สเชิชกรุงเทพ โบสถ์ในนิกายแองกลิกัน มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2407 ที่ตั้งเดิมของโบสถ์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาอีก 40 ปี จึงย้ายมาที่นี่[4]

บริเวณหัวถนนคอนแวนต์ฝั่งถนนสีลม มีโครงการอาคารผสมระหว่างสำนักงาน และร้านค้าเชิงพาณิชย์ สูง 39 ชั้น ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดมากกว่า 6 ไร่ ชื่อว่า พาร์กสีลม (Park Silom) เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2566[5] แต่เดิมที่ดินนี้ประกอบไปด้วยอาคารสิวะดล อาคารสีบุญเรือง 1 และ 2

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชีวารัตน์ กลับคุณ. "แนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านธุรกิจสีลมช่วงถนนคอนแวนต์ถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  2. "ถนนคอนแวนต์". หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. "รู้จัก "โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์" ทำไมเรียกขานชื่อนี้?". นิว 18.
  4. หนุ่มลูกทุ่ง. "เดินเท้าย่านสีลม ชมกลิ่นอายตะวันตกย่านธุรกิจ". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. ""พาร์ค สีลม" มิกซ์ยูสระดับพรีเมียม ผนึกกำลังพันธมิตรระดับโลก พัฒนาสู่ "Third Space Retail" แห่งใหม่ย่านสีลม พร้อมเปิดให้บริการ มิ.ย.นี้ [PR]". brandbuffet.in.th.