ข้ามไปเนื้อหา

โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
SET:ROH
อุตสาหกรรมบริการ
ก่อตั้งพ.ศ. 2521
สำนักงานใหญ่2 ตรอกกัปตันบุช ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลักศานิต อรรถญาณสกุล (ประธานกรรมการบริหาร)
เว็บไซต์www.royalorchidsheraton.com

บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจบริหารกิจการโรงแรม จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล[1] โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มีห้องพักทั้งสิ้น 726 ห้อง

ประวัติ

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2521 กลุ่มอิตัลไทยต้องการดำเนินธุรกิจโรงแรม จึงจัดตั้งบริษัท อิตัลไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล ด้วย ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 80 ล้านบาท ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โรงแรม รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) ก่อสร้างโรงแรมรอยัล ออคิด และเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2525 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2526[2]

ต่อมา พ.ศ. 2528 บริษัททำสัญญาการจัดการบริหารงานโรงแรมกับ Sheraton Overseas Management Corporation และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน และทาวเวอร์" บริษัทได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2532 ใช้ชื่อหุ้นว่า ROH มีทุนจดทะเบียนรวม 937.5 ล้านบาท

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 กลุ่มสตาร์วูด โรงแรมและรีสอร์ตเวิลด์ไวด์ ประเทศสิงคโปร์ บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้น ROH ตามข้อเสนอซื้อขายหุ้น จำนวน 44% หรือ 93.75 ล้านหุ้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท โดยใน44% เป็นของผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ อิตัลไทย มิชิแกนอินเวสเม้นท์ และฮ่องกงแลนด์ ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือ คือ การบินไทย สัดส่วน 24% เอ็มบีเค ดีเวลลอปเมนท์ 25% และผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยกลุ่มอิตัลไทยตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมด

26 ตุลาคม พ.ศ. 2544 บริษัท เอ็มบีเค พร็อพเพอร์ตีส์ แอนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ได้เข้าซื้อหุ้นโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน 29-34% มูลค่า 718 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จึงประกอบด้วย บริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 44% บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด 29.865% และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 24%

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561 กลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จากบริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 44% และจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 24% รวมเป็น 68% อีกไม่กี่เดือนต่อมาบริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (MBK-HR) ขายหุ้นทั้งหมดของโรงแรมรอยัล ออคิด ที่ถืออยู่ 29.86% ให้กลุ่ม แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้[3]

ลักษณะการประกอบธุรกิจ

[แก้]
ด้านข้างโรงแรมคือริเวอร์ซิตี้

โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ตั้งอยู่บนที่ดินเลขที่ 2 ซอยกัปตันบุช ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา โดยทางบริษัทได้ทำการเช่าที่ดินดังกล่าวพร้อมอาคาร เครื่องจักรและเฟอร์นิเจอร์จากบรษัทไทย รอยัล ออคิด เรียลเอซเทท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท[4]

โรงแรมมีห้องพักจำนวน 726 ห้อง จากชั้น 5 ถึงชั้น 28 ประกอบด้วย

  • Deluxe Riverview Room 324 ห้อง
  • Deluxe Premium Riverview Room 240 ห้อง
  • Club Deluxe Riverview Room 95 ห้อง
  • Club Junior Suite 23 ห้อง
  • Club Executive Suite 43 ห้อง
  • Royal Orchid Presidential Suite 1 ห้อง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.
  2. "โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์" (PDF). มหาวิทยาลัยสยาม.[ลิงก์เสีย]
  3. "38 ปี โรงแรมรอยัล ออคิด สมบัติผลัดกันฟันกำไร". ผู้จัดการ.
  4. "แบบฟอร์ม 56-1". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.[ลิงก์เสีย]