ประยูร ภมรมนตรี
ประยูร ภมรมนตรี | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข | |
ดำรงตำแหน่ง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 (2 ปี 287 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | พระยาบริรักษ์เวชชการ |
ถัดไป | ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (2 ปี 144 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | แปลก พิบูลสงคราม |
ถัดไป | ทวี บุณยเกตุ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 เบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 (85 ปี) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | คณะราษฎร เสรีมนังคศิลา |
คู่สมรส | สุวรรณ ภมรมนตรี คุณหญิงราษี ภมรมนตรี จันทร์ทิพย์ ภมรมนตรี สมถวิล ภมรมนตรี เรณู ภมรมนตรี |
บุตร | 17 คน |
บุพการี | พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) แพทย์หญิงแอนเนลี ไฟร์ |
วิชาชีพ | ทหารบก, นักการเมือง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ยศ | พลโท |
พลโท ประยูร ภมรมนตรี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[1] เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเหลนของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) เสนาบดีพระคลังในรัชกาลที่ 3 พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้เสนอจัดตั้งโรงแรมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความเจริญของกรุงเทพมหานคร หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2496 และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทของรัฐบาลไทย คือ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด หรือ "โรงแรมเอราวัณ"[2]
ประวัติ
[แก้]พลโท ประยูร ภมรมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2441) ที่กรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน ขณะที่บิดารับราชการเป็นทูตทหารไทยประจำจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรของพันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารประจำจักรวรรดิเยอรมัน กับแพทย์หญิงแอนเนลี ชำนาญคุรุวิทย์ หรือนามเดิม แอนเนลี ไฟร์ สตรีชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นครูสอนภาษาเยอรมันให้กับนักเรียนในจักรวรรดิเยอรมันขณะนั้น[3] มีพี่สาวคือ อำพันธ์ และอรุณวดี ภมรมนตรี ประยูรมีพี่ชายฝาแฝด ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงรับขวัญเมื่อยามเกิด โดยประทานชื่อให้ว่า "ประยงค์-ประยูร" คู่กัน[4] ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับข้าราชการอีกหลายคนเมื่อวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2463 ขณะนั้นพลโทประยูรมียศเป็นนายร้อยโท[5]
ประยูรสมรสครั้งแรกกับสุวรรณ ภมรมนตรี อดีตนางข้าหลวงในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ[6] มีบุตร 2 คน คือ
- เยาวภา ตู้จินดา
- ยุวดี ภมรมนตรี
ต่อมาประยูรสมรสครั้งที่สองกับคุณหญิงราษี ภมรมนตรี (นามเดิม มากาเร็ต พิรัชโยธิน)[7] มีบุตร 3 คน คือ
- โยธิน ภมรมนตรี อดีตนักบิน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.การบินไทย
- ยุพาพรรณ ภมรมนตรี
- ไพชยนต์ ภมรมนตรี
ประยูรสมรสครั้งที่สามกับจันทร์ทิพย์ ภมรมนตรี มีบุตร 5 คน คือ
- ทิพยา กิติขจร เจ้าของร้านอาหาร สวนทิพย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รางวัลมิชลิน
- ยุคล ภมรมนตรี อดีตผู้บริหาร
- รัชยา ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
- เรืองยศ ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
- พล.ต. ยงยุทธ ภมรมนตรี
ประยูรสมรสครั้งที่สี่กับสมถวิล ภมรมนตรี (สกุลเดิม สุวรรณฑัต) มีบุตร 3 คน คือ
- วิไลวรรณ ภมรมนตรี
- ร.ต. จูลส์ ภมรมนตรี อดีต นักบินขับไล่ F16 ประจำกองทัพอากาศ
- ชาลี ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
ประยูรสมรสครั้งที่ห้ากับเรณู ภมรมนตรี (สกุลเดิม พิบูลภานุวัฒน์) รองนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2491[6] มีบุตรอีก 4 คน ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ
- ยอดมนู ภมรมนตรี อดีตพิธีกรร่วม รายการบ้านเลขที่ 5 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และอดีตผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
- ยิ่งมณี ภมรมนตรี
- ยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตพิธีกรหลายรายการ อดีตนักแสดงภาพยนตร์ไทย และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง
งานราชการ
[แก้]รับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่ง รองหุ้มแพร (เทียบเท่ายศ ร้อยโท) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบิดาและมารดานำเข้าเฝ้าถวายตัวตั้งแต่เด็ก ๆ อายุเพียง 7-8 ขวบ พร้อมกับพี่ชายฝาแฝด[8] และเป็นข้าหลวง ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลโทประยูรขณะมียศเป็นนายร้อยโทก็ได้รับพระราชทานยศนายพันตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2479[9]
งานการเมือง
[แก้]พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494[10] และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[11][12]
เคยเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง ในรัฐบาลชั่วคราว พ.ศ. 2494[13] และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐมนตรีคณะต่อมา (ครม.24)[14]
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กล่าวได้ว่าประยูรเป็นหนึ่งในสองสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ร้อยโทประยูรไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสในเวลาเดียวกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม [15] โดยก่อนจะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ร้อยโทประยูรได้ทำการรักษาตัวจากวัณโรคจนหายดีแล้วที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วจึงเดินทางไปปารีส ซึ่งเป็นเมืองที่จะเข้ารับการศึกษา ได้แวะเดินทางเข้าสู่เมืองลียงเพื่อพบกับควง อภัยวงศ์ เพื่อนนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่ควงจะแนะนำประยูรให้รู้จักกับปรีดีโดยจดหมายแนะนำตัว เพราะปรีดีขณะนั้นเป็นเสมือนผู้นำของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งคู่จึงได้รู้จักกันและคบหากันจนสนิทสนมกันในที่สุด อีกทั้งในการประชุมครั้งแรกของคณะราษฎร ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ที่ติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน ในต้นปี พ.ศ. 2470 นั้นก็เป็นบ้านพักของประยูรเอง และเริ่มต้นการประชุมในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 30 ของพลโทประยูรอีกด้วย [16]
ในระหว่างที่คณะราษฎรทั้งหมดได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ร้อยโทประยูรยังได้เป็นผู้ที่ชักชวนและประสานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และบุคคลอื่น ๆ ให้มาเข้าร่วมด้วยกับคณะราษฎร[3] และเมื่อมีการวางแผนการปฏิวัติ ทั้งหมดก็ได้หารือแผนการทั้งหมดที่บ้านพักของ พลโทประยูรบ้าง และบ้านพักของพระยาทรงสุรเดชบ้าง สลับกันไป โดยในเช้าวันที่ทำการเปลี่ยนแปลงนั้น ร้อยโทประยูรรับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลข ที่สำนักงานใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร โดยปฏิบัติการคู่กับนายควง อภัยวงศ์ ในฐานะที่ทั้งคู่รับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องให้เสร็จทันในเวลา 05.00 น. ท่ามกลางการคุ้มครองของทหารเรือและพลเรือนกลุ่มหนึ่งของคณะราษฎรราว 10 คนเท่านั้น[17] และจากนั้น ร้อยโทประยูรยังเป็นผู้ทำการควบคุมองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเสด็จจากวังบางขุนพรหมในฐานะองค์ประกัน ภายใต้การควบคุมของ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ ให้เข้าประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีปฏิสันธานบางประการกับ ร้อยโทประยูรด้วยถึงการกระทำในครั้งนี้ [18]
จากนั้น ร้อยโทประยูรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎรและยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอีกหลายกระทรวงด้วยกัน
ในเหตุการณ์ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีความเห็นแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งทำให้พระยามโนปกรณ์ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นั้น มีสมาชิกคณะราษฎรสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เช่น พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ มีชื่อของร้อยโทประยูรร่วมอยู่ด้วย[19]
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พลโท ประยูร ภมรมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมจากการถูกรถโดยสารประจำทางสาย 204 เฉี่ยวเสียหลักล้มลง ขณะเดินอยู่ในซอย แถวสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุ 85 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
ผลงานหนังสือ
[แก้]- บันทึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า (2518)
เกียรติยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2496 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[20]
- พ.ศ. 2495 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[21]
- พ.ศ. 2498 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[22]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)
- พ.ศ. 2487 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[23]
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)[24]
- พ.ศ. 2497 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)[25]
- พ.ศ. 2461 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[26]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2474 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- อิตาลี :
- ไรช์เยอรมัน :
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2485 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 1
ยศทหาร
[แก้]ยศกองอาสารักษาดินแดน
[แก้]- พ.ศ. 2500 : นายกองใหญ่ [29]
ยศข้าราชการพลเรือนของสยาม
[แก้]- รองอำมาตย์เอก[30][31]
- ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[32]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- ↑ ประวัติ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด หรือ "โรงแรมเอราวัณ"
- ↑ 3.0 3.1 2475: สองฝั่งประชาธิปไตย , สารคดี: ทีวีไทย พฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
- ↑ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, อัตชีวประวัติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของ "พลโท ประยูร ภมรมนตรี" ในวันพฤหัสที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525, กระดาษปอนด์, 223 หน้า
- ↑ "ข่าวในพระราชสำนัก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 1 สิงหาคม 1920.
- ↑ 6.0 6.1 ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566, หน้า 41
- ↑ ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566, หน้า 45
- ↑ เจาะใจ "แซม-ยุรนันท์" เกร็ดสาแหรกทายาท "คณะราษฎร"- ชิงสุกก่อนห่าม หรือจะรอถั่วสุกงาไหม จากมติชน
- ↑ "ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 365. 10 พฤษภาคม 1936.
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒
- ↑ นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. 2551[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
- ↑ ประกาศตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรีชั่วคราว (รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการ (จำนวน ๘ ราย)
- ↑ หน้า 15, อำนาจ ๒ โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ (กรุงเทพมหานคร, มีนาคม พ.ศ. 2555) ISBN 978-616-536-070-1
- ↑ นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์จำหน่ายด้วยตัวเอง, 2530. 740 หน้า. หน้า 163.
- ↑ 24 มิถุนายน (3), คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
- ↑ คอลัมน์: เรื่องเด่นประเด็นร้อน: บทเรียน24 มิถุนายน 2475 จากบ้านเมือง
- ↑ หน้า 11, บันทึกพระยาทรงสุรเดช (พ.ศ. 2524) โดย นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๘๓ ง หน้า ๕๓๓๗, ๙ ธันวาคม ๒๔๙๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๖๙ ง หน้า ๔๖๔๖, ๙ ธันวาคม ๒๔๙๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๓๖ ง หน้า ๑๑๑๙, ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา , เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐ ง หน้า ๑๘๕๒, ๒๖ กันยายน ๒๔๘๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๕๕ ง หน้า ๒๙๕๘, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๕ ง หน้า ๒๘๕๑, ๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๓๕ ง หน้า ๓๐๖, ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๖๑
- ↑ พระราชทานยศนายทหารบก
- ↑ "รับราชการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-01.
- ↑ "อาสารักษาดินแดน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-08-05.
- ↑ "รับราชการตำแหน่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-01.
- ↑ พลเรือนของสยาม[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บันทึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในคอลัมน์ ไข่มุกดำชวนอ่านหนังสือ โดย วีระ มุสิกพงศ์ จากนิตยสารข่าว โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 5 ฉบับที่ 215 วันเสาร์ที่ 11-วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2440
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2525
- บุคคลฝาแฝดจากประเทศไทย
- เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย
- บุคคลจากเบอร์ลิน
- สกุลภมรมนตรี
- สมาชิกคณะราษฎร
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- พรรคเสรีมนังคศิลา
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย
- รัฐมนตรีไทยที่ไม่ได้ประจำกระทรวง
- นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เลขาธิการคณะรัฐมนตรีไทย
- ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ อ.ป.ร.2
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน
- ทหารชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- อาชญากรสงครามชาวไทย
- ทหารบกชาวไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- ชาวไทยเชื้อสายเยอรมัน
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์